ขึ้นทศวรรษใหม่เราก็อยากจะให้เกิดอะไรใหม่ๆ ชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เศรษฐกิจเองก็เกี่ยวข้องกับชีวิต เป็นเรื่องของปากท้องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ก่อนเริ่มปี ค.ศ.2020 ไทยเจอกับความท้าทายทางเศรษฐกิจในหลายด้าน ทั้งการส่งออกที่ดูจะไม่ได้โตอย่างที่คาดไว้ ไปจนถึงความเหลื่อมล้ำที่หลายคนให้ความกังวล เมื่อประเด็นเก่ายังค้างคาและโอกาสใหม่ๆ ไม่เคยรอท่า คำถามที่ตามมาคือ เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนต่อ?
แม้จะดูน่าเป็นห่วง แต่ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) บอกกับ The MATTER ว่า ประเทศไทยยังเติบโตอยู่ในแง่เศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะโตช้าหรืออยู่อัตราที่ต่ำ สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราไปต่อได้คือการเตรียมพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพิ่มความสามารถจากสิ่งที่มีอยู่
แน่นอนว่า ปัญหาหนี้ควรเรือน การค้าขายกับต่างประเทศ middle income trap ก็ต้องให้ความสำคัญและจัดการไปในเวลาเดียวกัน
ไปฟังแบบละเอียดกันเลยดีกว่าว่า ต้นทศวรรษ 2020 นี้ เราต้องเจอกับอะไรบ้าง
ทำไมเราถึงต้องสนใจเศรษฐกิจในทศวรรษนี้
จริงๆ ผมว่าเศรษฐกิจมันเกี่ยวข้องกับปากท้องผู้คนอยู่แล้ว และภาวะเศรษฐกิจมันก็จะบอกว่าโอกาสในการเจริญเติบโตของประเทศโดยรวมเป็นยังไง และโอกาสที่แต่ละคน แต่ละธุรกิจจะโตในแง่ของเศรษฐกิจ มันมีโอกาสที่จะโตขนาดไหน
ถ้าย้อนกลับไปไกลๆ ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 เราอาจจะชินว่าสมัยนั้นเราโต 7–9% สมัยนั้นบูมมาก จะทำอะไรก็มีโอกาสได้กำไร โอกาสขยายกิจการค่อนข้างเยอะ หลังจากเราเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 เราโตเฉลี่ยสัก 5% เราก็จะเห็นแนวโน้มแล้วว่า จากเคยโต 7% มาเหลือโต 5% แต่ก็ยังโตขยายไปเรื่อยๆ
ในช่วงประมาณสัก 6–7 ปีที่ผ่านมา ถ้าเราคิดค่าเฉลี่ยในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย เราโตเหลืออยู่ประมาณ 3% โดยภาพรวมผมกำลังสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยกำลังค่อยๆ เปลี่ยนตัวเองจากประเทศที่เคยโตเร็วมาก 7–9% มาเหลือ 5–6% วันนี้อาจจะเหลือประมาณ 3% ต้นๆ ฉะนั้นภาพที่อาจจะเห็น คือ มันกระทบต่อภาพรวมในแง่ของโอกาสทางธุรกิจ และโอกาสที่ทุกคนจะขยายในแง่ของกิจการของตัวเองด้วย
ตอนนี้เศรษฐกิจไทยเป็นยังไงบ้าง
จริงๆ ก็ต้องบอกว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะแย่ขนาดนั้น เราไม่ได้อยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ถ้าวัดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ วัดจากรายได้ของประชาชนโดยรวมเนี่ย ยังขยายตัวอยู่ เพียงแต่ปัญหาที่เราเจอคือขยายตัวช้า อยู่ในโหมดโตช้า และเราเจอปัญหาใหญ่ก็คือว่า เราไม่รู้จะเอาอะไรมาโต เราหา engine of growth ของเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยเจอว่าปีหน้าจะเอาอะไรมาโต
ถ้าเราย้อนกลับไปปี ค.ศ.2018 ตอนนั้นเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นกลับขึ้นมา ครึ่งแรกของปี ค.ศ.2018 เศรษฐกิจไทยโต 4.8% ซึ่งตอนนั้นบอกว่า โห เศรษฐกิจไทยโตค่อนข้างดี 3 ตัวผลักดันสำคัญ (driver) คือ การส่งออก การท่องเที่ยว และยอดขายรถ คือดีหมดเลย
พอมาปี ค.ศ.2019 สิ่งที่เราเห็นคือ engine of growth หรือตัวผลักดันให้เศรษฐกิจโตเร็วๆ เนี่ย หายไปทีละตัว ส่งออกเริ่มติดลบ ยอดขายรถยนต์โตช้าลง แล้วก็เริ่มติดลบในช่วงปลายปี การท่องเที่ยวยังโตอยู่ แต่ก็เริ่มโตในอัตราที่ช้าลง
พอเข้ามาปี ค.ศ.2020 ปัญหาที่เรายังนึกไม่ค่อยออกก็คือว่าแล้วจะเอาอะไรมาโตดี เพราะเรานึกไม่ออกว่าจะเอาอะไรมาเป็น engine of growth ถึงแม้เราไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจไทยแย่ขนาดถดถอย คือมันไม่ได้หด แต่ขยายตัวในอัตราที่อาจจะใช้คำว่า ต่ำกว่าศักยภาพ หลายๆ คนเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยควรเติบโตได้สัก 3% นิดๆ แต่ ค.ศ.2019 จบปีน่าจะโตได้สัก 2.4–2.5%
เข้ามาปี ค.ศ.2020 เราคาดว่าน่าจะดีกว่าปี ค.ศ.2019 เล็กน้อยแต่ก็ยังต่ำกว่าศักยภาพอยู่ดี มันเป็นปัญหาตรงนี้มากกว่า ไม่ใช่เศรษฐกิจมันแย่ถึงขนาดรายได้ของทุกจะต้องหดตัว เพียงแต่ว่ารายได้และกิจกรรมทางเศรษฐกิจโตต่ำกว่าที่มันควรจะเป็น
อะไรทำให้ engine of growth ทั้ง 3 ตัว โตลดลง หรือไม่สามารถเอามากระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้แล้ว
จริงๆ มองได้ สองเรื่องใหญ่ๆ อยากให้ดูว่าอะไรทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอในปี ค.ศ.2019 ผมว่ามันก็เป็นผลรวมมาจากเศรษฐกิจภายนอก ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจภายนอกก็มีความเสี่ยง เช่น สงครามการค้า ความไม่แน่นอนต่างๆ ซึ่งทำให้การค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลง ประเทศไทยอาจจะมี GDP ที่มาจากการส่งออกทั้งสินค้าและบริการรวมกันอาจจะสัก 70% กว่าๆ ในแง่ของผลรวมเราอาจจะต้องหักลบการนำเข้าด้วย จริงๆ เราสัมพันธ์กับเศรษฐกิจข้างนอกค่อนข้างเยอะ พอข้างนอกเขาค้าขายกันน้อยลง เราก็ขายของได้น้อยลง นี่ก็เป็นประเด็นที่หนึ่ง
ค่าเงินที่เราเห็นว่าแข็งค่าขึ้นก็เป็นประเด็น ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน ต้นทุนของเราที่เราพยายามไปแข่งขันกับชาวบ้าน มันก็เริ่มได้รับผลกระทบ อาจจะลามไปถึงการท่องเที่ยว ที่เมื่อก่อนเขาบอกว่าเมืองไทยเป็น destination ที่ดีและถูกที่สุด ตอนนี้ก็อาจจะถูกที่สุดอยู่ แต่ก็ถูกน้อยลงเมื่อเทียบกับคนอื่นและเทียบกับในอดีต ทำให้ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวมีการเจริญเติบโตที่ช้าลง ติดลบในด้านการส่งออก และเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ
อีกประเด็นหนึ่งที่เราเห็นก็คือว่า ในช่วงระยะหลังๆ เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฏจักร เป็นประเด็นระยะสั้น เช่น การขึ้นลงของเศรษฐกิจโลก เรายังเจอภาวะที่ประเด็นวัฏจักรหรือประเด็นระยะสั้นแย่ แล้วยังเจอการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างซึ่งเป็น headwind ขนาดใหญ่ ค่อยๆ ม้วนลงมา เจอภาวะที่ไม่ดีพร้อมๆ กัน คือใช้คำว่า headwind หรือลมต้าน พอเจอลมต้านจากประเด็นระยะสั้นและประเด็นระยะยาวเกิดขึ้นกับเราพร้อมๆ กัน ตรงนี้ก็เป็นความท้าทายว่าเราจะเอาอะไรมาโตดี ซึ่งเป็นปัญหามาจนถึงทุกวันนี้
แล้วเงินลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจตอนนี้ไปอยู่ไหนแล้ว
อยากฉายภาพให้เห็นว่า เมื่อตะกี้เราพูดถึงประเด็นเชิงโครงสร้าง ถ้าถามว่าอะไรเป็นประเด็นเชิงโครงสร้างที่สำคัญที่เมืองไทยกำลังเจออยู่ ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 เราเคยเป็นประเทศที่ลงทุน 40% ของ GDP ทุกวันนี้เหลือประมาณใกล้ๆ 20% จะบอกว่าสมัยก่อนลงเยอะเกินไปก็ได้ แต่ตอนนี้ปัญหาคือเราลงน้อยเกินไป เราทำบุญน้อย คือเรากินบุญเก่าเยอะ ถ้าถามว่าแล้วทำไมเราถึงลงทุนน้อย ผมว่ามันคือกระแสเชิงโครงสร้าง สองกระแสใหญ่ๆ ที่เรากำลังเจอ
อันที่หนึ่ง คือการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเชิงประชากร เราเป็นประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งต้นเหตุหลักๆ ก็คืออัตราการเกิดน้อย คนสูงอายุอยู่นานขึ้น และสัดส่วนที่อยู่นอกวัยทำงานหรือคนวัยเกษียณเพิ่มมากขึ้น ในขณะเด็กที่เกิดใหม่มีน้อยลง
นอกเหนือจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เชิงสังคมอื่นๆ แล้ว ประชากรวัยทำงานของประเทศไทยผ่านจุดสูงสุดมาแล้วและกำลังจะลดลง ซึ่งให้เกิดสองปัญหาใหญ่ๆ ปัญหาที่ 1) ตลาดมันกำลังจะโตช้าและกำลังเล็กลง ถ้าเกิดว่าผมเป็นธุรกิจที่จะต้องลงทุนเพิ่ม ผมก็ต้องดูก่อนว่าตลาดมันต้องใหญ่พอที่จะโตให้ผม แต่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ขนาดของตลาดในแง่จำนวนของคนที่มีกำลังจ่าย วัดจากประชากรวัยทำงาน มันช้าลงหรือกำลังจะหดลงไปเรื่อยๆ ถ้าผมเห็นว่าผมทำได้ดีกว่าคนอื่นผมอาจจะลงทุนเพิ่ม ถ้าผมเป็น winner กินตลาดของคนอื่นไปได้ ก็ต้องมีคนเป็น loser แน่ๆ ซึ่ง loser ก็ต้องลดการลงทุนลง เพราะฉะนั้นรวมๆ กันแล้ว เนื่องจากตลาดเล็กลง การลงทุนโดยรวมเลยอาจจะโตช้า โตได้ยากขึ้น เราจะเห็นว่าธุรกิจที่เป็นธุรกิจใหญ่ๆ เขาก็เริ่มไปลงทุนต่างประเทศ เริ่มเห็นแล้วว่าขนากของตลาดในประเทศอาจจะโตยากขึ้น เพราะฉะนั้นโอกาสในการลงทุนต่างประเทศเลยจำเป็นขึ้น
ปัญหาที่ 2) จะเห็นว่าเรากำลังเจอเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในรอบ 5–6 ปีที่ผ่านมา ใช้คำว่า disrupt โมเดลทางธุรกิจหลายกลุ่ม หลายอุตสาหกรรม ไม่แปลว่าว่ากลุ่มนั้นๆ จะแย่ แต่เราเริ่มเห็นแล้วว่าคนที่รับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ มี winner ใหม่เกิดขึ้นมา มันก็มีคนที่แพ้ในกระแสนั้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสื่อ อุตสาหกรรมค้าปลีก-ค้าส่ง มาเต็มไปหมดเลยทั้ง modern trade ทั้ง e-commerce ตอบได้ว่ามีคนชนะ มีคนได้ประโยชน์แน่นอน ในขณะเดียวกันก็มีคนเสียประโยชน์ที่ปรับไม่ทัน
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทำให้เกิดกระแสนี้มากขึ้นเรื่อยๆ คนที่เคยอยู่ในค้าปลีก-ค้าส่ง เคยขยายกิจการได้เรื่อยๆ วันนี้ก็ถูกธุรกิจอื่นมากระทบมากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้มันเลยเป็นภาพที่เราเห็นว่ามีธุรกิจใหม่เกิดขึ้น และธุรกิจเก่ากำลังแฟบลง ดังนั้น ทั้งการลงทุนโดยรวม ทั้งการใช้จ่ายโดยรวม มันก็อาจจะไม่ได้ขยายตัว เพราะมี winner มี loser เกิดขึ้น ตรงนี้เลยเป็นภาพที่ค่อนข้างสำคัญ ขึ้นอยู่กับว่าการปรับตัวของแต่ละกิจการ แต่ละอุตสาหกรรมจะทำยังไง
เศรษฐกิจโลกเองก็กระทบกับเรามาก
ใช่ครับ ประเด็นระยะยาวก็กระทบกับเราด้วยเหมือนกัน แต่ถ้าถามว่าอะไรทำให้เราเปลี่ยนจากประเทศที่โตใกล้ 5% เมื่อปี ค.ศ.2018 กลายมาเป็นโต 2% กว่าๆ ส่วนใหญ่แล้วเนี่ยมันเกิดจากประเด็นภายนอก ประกอบกับว่าในช่วงที่ผ่านมาเราแทบจะไม่พัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งในแง่ของการบริโภคและการลงทุน พอเศรษฐกิจภายนอกไม่ดี แล้วเราจะเอาอะไรมาโตแทนเศรษฐกิจภายนอกเนี่ย มันเลยเหนื่อย
ค.ศ.2018 มีตัวช่วย ตัวที่ใหญ่ที่สุดก็คือยอดขายรถ ซึ่งอันนั้นก็อาจสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นทั้งในเรื่องของวัฎจักรการขายรถที่พีคเมื่อปี ค.ศ.2011 ตอนรถยนต์คันแรก หลังจากนั้นยอดขายรถก็แย่ลงมา หลังๆ ก็ค่อยๆ ดีขึ้นจนพีคเมื่อปี ค.ศ.2018 หลายคนก็บอกว่านี่ไง 7 ปีพอดี รถคันแรกหมดพอดี ต้องซื้อพอดี แล้วหลังจากนี้ก็อาจจะถอยลงไปอีก
หลายคนก็บอกว่าสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นการกระจายรายได้ด้วย คนบ่นกันมากเรื่องการบริโภคพื้นฐาน การบริโภคสินค้าในชีวิตประจำวัน สินต้าจำพวก nondurable หรือสินค้าไม่คงทน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยาสีฟัน ยาสระผม สบู่ลดลง ในขณะที่การบริโภคพวก durable สินค้าคงทนทั้งหลาย เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ ค่อนข้างดีมากในปี ค.ศ.2018 แต่ภาวะปัจจุบัน เราก็เริ่มเห็นแล้วว่ามันก็แผ่วลงไป ก็เป็นประเด็นเรื่องของภาพรวม แล้วก็การกระจายด้วย
ทำไมไทยเราที่อยู่ในประเทศเล็กๆ ถึงต้องสนใจเศรษฐกิจโลก
ก็ต้องบอกว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ใช้คำว่าเราเป็น small open economy คือเป็นประเทศเล็กที่เปิด และอย่างที่เห็นคือเรามีความสัมพันธ์กับข้างนอกค่อนข้างมาก จากตัวเลขเฉพาะยอดการส่งออกมีถึงกว่า 60% และอีก 10% มาจากการท่องเที่ยว แสดงว่ารายได้หรือเงินที่มันไหลเข้ามาในประเทศมาจากต่างประเทศค่อนข้างเยอะ
เราไม่ได้เป็นเศรษฐกิจที่ค้ากันเองขายกันเองในประเทศ ไม่ได้เป็นประเทศที่ปิดแล้วไม่คุยกับใครเลย เราเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการที่เราขยายไปในต่างประเทศ อุตสาหกรรมหลายอย่างเราเป็นคนขายอันดับหนึ่งของโลก เป็นแหล่งผลิตหลายอย่างซึ่ง supply โลกได้หลายอย่าง ตั้งแต่สินค้าเกษตรบางชนิดเราส่งออกอันดับหนึ่งของโลก สินค้าอุตสาหกรรมบางชนิดเราก็มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ค่อนข้างใหญ่มาก ไม่ว่าจะเป็นพวกอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นปิโตรเคมีคัล ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หรือแม้กระทั่งเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือรถยนต์ เพราฉะนั้น เราเนี่ย integrate กับสังคมและเศรษฐกิจโลก และเราก็พึ่งพาสังคมและเศรษฐกิจโลกค่อนข้างเยอะ
ไทยสามารถอยู่คนเดียวได้ไหม ถ้าไม่พึ่งเศรษฐกิจโลก
จริงๆ คำตอบ คือ ไม่ได้ ผมว่ามันช้าเกินไปแล้ว เราลองนึกภาพว่าวันนี้เราใช้ของที่ไม่นำเข้าเลยได้ไหม? ของเกือบทุกชนิดลองไปเปิดดูในบ้านเรานะ Made in China หมดเลย ดังนั้น ยังไงเราก็ต้องพึ่งพาเขา ถ้าเราไม่ได้ขายให้เขา เราก็ต้องซื้อจากเขา เราก็ต้องมี competitive advantage (ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ) หรือว่าความสามารถในการแข่งขันอะไรบางอย่างซึ่งเขาอยากจะได้จากเราด้วย
วันนี้ถ้าถามว่าเราปิดประเทศเลย ไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าเลย เศรษฐกิจไทยจะเป็นยังไง? ถ้าเราไปดูต่างจังหวัด ไปดูเชียงใหม่จะเห็นว่าโรงแรมขนาดเล็กขึ้นมาเต็มไปหมดเลย ซึ่งตรงนั้นก็พึ่งพาเศรษฐกิจข้างนอกเหมือนกัน หรือแม้กระทั่งคนที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ก็ต้องบอกว่าโรงงานอุตสาหกรรมสเกลจำนวนมากก็เป็นการผลิตเพื่อส่งออก ถ้าเราไม่พึ่งพาเขาแล้วคนที่ทำงานอยู่จะไปไหน หรือคนที่ทำธุรกิจอยู่จะทำยังไง
แม้กระทั่งภาคเกษตร บางอย่างเช่นข้าวเราผลิตเพื่อการส่งออก ประมาณเท่ากับที่เราบริโภคภายในประเทศ ถ้าเราไม่ขายข้าวให้คนอื่น ข้าวจะอยู่กับเราถึงสองเท่า เราทำให้ทุกคนกินข้าวสองเท่าได้รึเปล่า? ถ้าเกิดทำไม่ได้แล้วชาวนาจะขายยังไง
เรา integrate กับเศรษฐกิจโลกจนเรากลับตัวลำบาก เราต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลกทั้งการส่งออกและการนำเข้า ซึ่งทำให้ทุกคนมี workfare หรือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
เท่ากับว่าในการค้าระหว่างต่างประเทศ เราก็ไม่ได้ถูกเอาเปรียบ
ในแง่ของการค้าเสรี เราควรจะค้าขายจนทุกคนแฮปปี้ ถ้าคุณไม่แฮปปี้คุณก็ไม่ต้องไปค้าขายกับเขา ถ้าเกิดคุณสามารถผลิตของได้ถูกกว่าที่คุณนำเข้า คุณก็ไม่ต้องนำเข้า แต่เนื่องจากปัญหาคือคุณทำไม่ได้ คุณเลยต้องนำเข้า หรือถ้าเกิดเราผลิตของแล้วเราทำได้ดีกว่าคนอื่น เราก็ควรจะขายให้คนอื่น
ถ้าเกิดเราดูวันนี้ถามว่าเราได้ประโยชน์ไหม ต้องบอกว่าเราได้ประโยชน์ค่อนข้างเยอะ เศรษฐกิจไทยที่โตขึ้นมาในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา เราได้ประโยชน์จากการที่เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างเยอะ และสเกลของสินค้าที่เราผลิตจำนวนมาก เราก็ได้ประโยชน์จากการที่เราขายให้คนอื่นด้วย แล้วถ้าเกิดดูตัวเลขสุทธิ เราก็เกินดุลการค้า เราเกินดุลบัญชีเงินสะพัด มองแบบคร่าวๆ เรารับรายได้จากต่างประเทศ มากกว่าที่เราต้องไปจ่ายเขา
เงินบาทแข็งค่ากระทบกับเรายังไงบ้าง
ค่าเงินบาทถ้ามองดีๆ มันคือราคาเปรียบเทียบของสิ่งของ สมมติเรามีราคาเป็นบาทอยู่แล้ว เราจะเอาไปขายต่างประเทศในราคาเท่าไหร่ ก็เอาไปคูณด้วยอัตราแลกเปลี่ยน พอเวลาที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ผลกระทบมีสองด้าน ด้านที่หนึ่ง คือ สินค้าที่เราเอาไปขายให้คนอื่น สมมติว่าเดิมค่าเงินบาทอยู่ที่ 40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้าเราอยากขายของชิ้นหนึ่งราคา 1,000 บาท เวลาเราเอาไปแปลงหน่วย ถ้าเราต้องการจะได้รับเงิน 1,000 บาท เราก็อาจจะขายอยู่ที่ประมาณ 25 ดอลลาร์
พอค่าเงินมันแข็งค่าขึ้นจาก 40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ของที่เราอยากจะขาย ถ้าต้องขาย 25 ดอลลาร์ เราได้เงินไม่พอแล้ว เพราะ 25 x 30 เราได้เงินเหลือ 750 เอง ถ้าเราอยากได้ 1,000 บาทเท่าเดิม เราก็ต้องไปขึ้นราคาของ จาก 25 ก็ต้องขึ้นมาสัก 30 ดอลลาร์สหรัฐฯนิดๆ ถ้าเราต้องการเก็บราคาเป็นบาทเท่าเดิม สินค้าของเราจะแพงขึ้นในค่าเงินอื่น
หรือถ้าเราไปแข่งกับชาวบ้านแล้วราคาตลาดโลกมันอยู่ที่ 25 ดอลลาร์สหรัฐฯ เราก็ต้องรับรายได้เป็นบาทที่น้อยลง ซึ่งก็จะกระทบความสามารถในแง่ของการแข่งขัน เพราะของอย่างเดียวกันเนี่ย เราไม่ได้ทำอะไรเปลี่ยนเลย ต้นทุนเรา 1,000 บาท อยู่ดีๆ พอจะเอาไปขายข้างนอก เราขายแข่งกับชาวบ้านไม่ได้แล้ว คือของเราแพงขึ้น เราก็อาจจะเสียตลาดไป นี่คือผลกระทบด้านที่หนึ่ง ใครที่อยู่ในธุรกิจหรือทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกจะไม่ชอบเงินบาทแข็ง เพราะว่าจะกระทบต่อรายได้ แต่หลายคนก็บอกว่ามันไม่ได้กระทบขนาดนั้น เพราะเรามีวัตถุดิบที่นำเข้ามาซึ่งมีราคาถูกลง พอประกอบกับการขายของได้ถูกลง ก็คงโอเค แต่ว่ากำไรจะหายไปส่วนหนึ่ง นี่เลยเป็นฝั่งที่กระทบในทางที่เหนื่อยขึ้นเวลาเงินบาทแข็งค่า
แต่ถ้าเรามองอีกฝั่งหนึ่งก็มีคนได้ประโยชน์ สมมติว่าถ้าเราอยากจะซื้อของชิ้นหนึ่งราคา 1,000 ดอลลาร์ วันที่อัตราแลกเปลี่ยน 40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ของชิ้นนั้นจะราคา 40,000 บาทในประเทศไทย ถ้าเงินบาทแข็งเหลือ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ของ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่าเดิม จาก 40,000 จะเเหลือ 30,000 บาท
เพราะฉะนั้นใครที่อยู่ในภาคการบริโภค หรือใครอยากใช้ของนำเข้าเยอะๆ หรือว่าใครที่อยู่ในภาคธุรกิจนำเข้าสินค้ามาใช้ในประเทศ หรือใครที่เป็นนักลงทุน เป็นคนที่ลงทุนขยายกิจการ เช่น ซื้อเครื่องจักร หรืออะไรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าก็จะได้ประโยชน์จากค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น
แต่บังเอิญเราเป็นประเทศที่สุทธิแล้วส่งออกมากกว่านำเข้า ผลกระทบที่เกิดขึ้นถ้านับเป็นตัวเงิน มันกระทบฝั่งที่เป็นผู้ส่งออกเยอะกว่าในรูปของเงินบาท เพราะฉะนั้น เวลาค่าเงินมันแข็งมากขึ้น มันกระทบต่อคนไม่เท่ากัน จริงๆ แล้วถ้าเกิดเรามองดู กระทบมากกว่าคนที่ทำธุรกิจส่งออกอีก
เพราะถ้ามาลองคิดดูอีกสองประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง คือ ถ้าเราเป็นคนปลูกข้าว เราบอกว่า เฮ้ย ผมเป็นชาวนา ผมไม่ได้ส่งออกข้าว แต่อย่าลืมว่าข้าวเป็นสินค้าที่ส่งออกได้ ถึงเราไม่ได้ส่งออกเอง แต่มีคนเอาไปส่งออกให้เรา ราคาข้าวในตลาดโลกก็ต้องสัมพันธ์กับข้าวในตลาดเมืองไทย ถ้าเกิดคนที่เอาข้าวไปส่งออก ส่งออกได้ราคาน้อยลง เขาก็มาซื้อข้าวในประเทศในราคาที่ถูกลง เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในภาคเกษตรก็ถูกกระทบทั้งโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ไม่รู้ จากอัตราแลกเปลี่ยนที่มันแข็งค่าขึ้น
อีกกลุ่มหนึ่งก็คือกลุ่มที่ผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคในประเทศ แต่มีคู่แข่งอยู่ต่างประเทศ เช่น สินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ บอกว่าเราผลิตเพื่อเอามาขายให้กับคนไทยเท่านั้น แต่พอค่าเงินแข็งปุ๊บสิ่งที่เกิดขึ้น คือ ของจากต่างประเทศที่มาจากเมืองจีน พอนำเข้ามาแล้วถูกกว่าผลิตในประเทศ คนที่ผลิตเพื่อขายในประเทศก็อาจจะไม่ได้รับผลตรงๆ แต่ถูกกระทบแน่ๆ
สิ่งที่จะเห็นก็คือว่า พอค่าเงินบาทแข็งมากๆ กระทบทั้งการส่งออก เวลาเราส่งออกแข่งกับชาวบ้าน กระทบกับคนที่ผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานการผลิตที่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งถ้าพูดถึงความสามารถในการแข่งขัน แข่งขันยากขึ้นเมื่อเทียบกับตลาดโลก แข่งขันยากขึ้นกับสินค้าที่ผลิตจากต่างประเทศ ฝั่งการผลิตก็ถูกกระทบจริงๆ ในขณะที่ผู้บริโภคแฮปปี้ เพราะซื้อสินค้านำเข้าและสินค้าในประเทศในราคาที่ถูกลง
ทำไมคนถึงรู้สึกว่าตัวเองมีกำลังซื้อน้อย รู้สึกว่าของแพง
ผมว่าจริงๆ คนจะใช้จ่ายอะไรขึ้นอยู่กับว่าเรามีรายได้ในกระเป๋ารึเปล่า เทียบกับความคาดหวังและรายได้ที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็ต้องยอมรับว่าปี ค.ศ.2019 ระหว่างที่เศรษฐกิจไทยมันชะลอตัวลงมา จากที่ปี ค.ศ.2018 ที่เศรษฐกิจโตได้ค่อนข้างดี เราเห็นรายได้ของคนถูกกระทบจริงๆ ทั้งในแง่ของภาพรวม แล้วก็ในแง่ของการกระจาย
ผมอยากให้ลองมอง 2 มิติ คือมิติในภาพรวมว่ามันขยายขนาดไหน เวลาเราพูดว่า GDP โต 2.5% หรือ 2.8% อันนี้คือภาพรวม แต่ขณะเดียวกันมันก็มีเรื่องมิติของการกระจาย ที่ว่าโดยรวมโต 2.8% มันไปตกอยู่กับใครบ้าง
ซึ่งถ้าเรามองในมิติแรกก่อน จะเห็นว่าหลังจากที่เราเริ่มเห็นปัญหาเศรษฐกิจในปี ค.ศ.2019 การส่งออกเริ่มชะลอตัวลง การผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มชะลอตัวลง การใช้กำลังการผลิตของโรงงานต่างๆ เริ่มน้อยลง เริ่มให้ OT น้อยลง เริ่มเลิกจ้างคน แสดงว่ามีคนจำนวนมากได้รับผลกระทบ ในแง่ที่ว่าเงินในกระเป๋าหายไปจริงๆ แสดงว่าเงินที่เคยหมุนเวียนในระบบเร็วๆ เพราะคนทำงานโรงงานมีรายได้ ตอนนี้มันก็มีน้อยลง ดังนั้น การใช้จ่ายการหมุนเวียนของภาพเศรษฐกิจก็เริ่มได้รับผลกระทบ
ประเด็นที่สอง ถ้าไปดูอีกส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนใหญ่ของเศรษฐกิจไทยเลยก็คือ ภาคการเกษตร ก็ต้องยอมรับว่าถึงแม้ทุกวันนี้ภาคการเกษตรจะไม่ถึง 10% ของ GDP แต่คนที่อยู่ในภาคเกษตรยังเป็น 30% ของแรงงานส่วนใหญ่ (labor force) แสดงว่าคนจำนวนมากอยู่ในภาคเกษตร แม้ว่าจะส่งผลต่อ GDP ไม่เยอะ แต่ส่งผลต่อคนที่อยู่ในภาคการเกษตรเยอะ และยังส่งผลต่อเนื่องในแง่ของภาคธุรกิจต่อเนื่อง เช่น ถ้าภาคเกษตรไม่ดี ก็ส่งผลต่อร้านขายปุ๋ย ร้านขายเครื่องจักร ร้านขายผลิตภัณฑ์การเกษตร ต่อเนื่อง
เราจะเห็นในช่วง 4–5 ปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าการเกษตรแย่มาตลอดเลย ราคาสินค้าการเกษตรเคยพีคประมาณปี ค.ศ.2012–2013 หลังจากนั้นก็ค่อยๆ แย่ลงมาเรื่อยๆ ปลายปีที่แล้วต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ เราก็จะเห็นปัญหาเรื่องของภัยแล้ง ผลกระทบแบบนี้นอกจากรายได้ในภาคอุตสาหกรรม คือกระทบคนทำงานโรงงานแล้ว คนที่ทำงานในภาคเกษตรและคนที่ทำงานในภาคที่ต่อเนื่องกับภาคการเกษตรก็ได้รับผลกระทบ
มันเริ่มเห็นภาพว่าคนจำนวนมากเนี่ยได้รับผลกระทบต่อรายได้ของเขา ก็เกิดความไม่มั่นใจในแง่ที่ว่า ในเมื่อเงินไม่ได้หมุนแบบเดิม แต่ภาระยังมีเหมือนเดิม เช่น ภาระในการใช้จ่าย ภาระในการจ่ายคืนหนี้ ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่ายอดหนี้มันสูงขึ้นเรื่อยๆ คนก็เริ่มไม่มั่นใจในการเอาเงินกลับมาใช้ เราเริ่มเห็นว่าการบริโภคโดยรวมของคนทั้งประเทศมันเริ่มโตช้าลง
เห็นว่าหนี้ครัวเรือนถึงสูงขึ้น
เรื่องหนี้อาจจะมองได้ 2–3 มิติ ต้องบอกก่อนว่าจริงๆ หนี้ไม่ได้เป็นตัวร้ายขนาดนั้น ถ้าเกิดมองในแง่ของเศรษฐศาสตร์ หนี้คือการขอยืมรายได้ในอนาคตมาใช้ สมมติว่า ใครที่เริ่มทำงาน รู้ว่าตัวเองมีศักยภาพที่จะทำงานและได้เงินเดือนไปเรื่อยๆ แต่วันนี้ไม่มีทรัพย์สินพอที่จะซื้อบ้าน วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดก็คือ ยืมรายได้จากตัวเองในอนาคตมาเป็นเงินก้อน ก็คือกู้เพื่อจะมีเงินไปซื้อบ้านในวันนี้ เสร็จแล้วก็ค่อยๆ ผ่อนคืนไปเรื่อยๆ หนี้เลยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
แต่ภาวะหลังๆ เราเริ่มจะเห็น หนี้ที่เกิดจากการกระตุ้นให้ใช้เพิ่มขึ้น ในภาวะที่ดอกเบี้ยถูกหรือสภาพคล่องสูง เราเริ่มเห็นภาวะที่แบงก์ชาติเริ่มให้ความกังวล อย่างเช่น สินเชื่อเงินทอน หมายความว่า คุณอยากซื้อบ้าน/รถ แทบจะไม่ต้องควักเงินดาวน์เลย เผลอๆ ได้เงินคืนกลับไปด้วย กแบบนี้ทำให้หลายๆ คนกังวลว่า ภาวะหนี้มันอาจถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้น
และอาจจะมีหนี้ในอีกมิติหนึ่ง อย่างที่บอกคือ คนที่มีภาระเยอะ ต้องส่งลูกเรียน ต้องใช้นู่นนี่นั่น ก็อาจจะมีความกังวลเลยต้องไปสร้างหนี้ขึ้นมา ในภาวะที่เงินในกระเป๋าเริ่มถูกกระทบ ความจำเป็นที่จะต้องไปสร้างหนี้เพื่อมาจ่ายภาระก็อาจจะสูงขึ้น
เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงหนี้โดยรวมอาจจะบอกไม่ได้ว่ามันเกิดจากอะไร แต่ที่แน่ๆ เลยเนี่ย เวลามองในภาพรวมแล้วเห็นหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น คนก็จะเริ่มกังวลว่า เอ๊ะ ถ้ารายได้ไม่ได้เพิ่มเท่ากับหนี้ที่เพิ่ม แสดงว่าภาคครัวเรือนโดยเฉลี่ยก็อาจจะมีภาระที่ต้องจ่ายคืนหนี้เพิ่มมากขึ้น ก็จะเกิดปัญหาตามมาเต็มไปหมดเลย เช่น ชักหน้าไม่ถึงหลัง ถ้ามันมีปัญหาจ่ายคืนไม่ได้จริงๆ ผลกระทบต่อสถาบันการเงินคืออะไร ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคมคืออะไร ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ก็จะมีเพิ่มมากขึ้น
ในช่วงต้นทศวรรศใหม่นี้เราพอจะคาดหวังให้รัฐบาลทำอะไรได้บ้างเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ
ผมคิดว่าอย่างที่คุยกันความท้าทายที่หลักๆ เลย คือ 2–3 ประเด็น เรื่องเราจะ address ความสามารถในการแข่งขันยังไง ในวันที่เรามีคนน้อยลง ลองนึกภาพนะครับพอมีคนน้อยลง ถ้าเศรษฐกิจไทยเป็นเครื่องจักร เราโยน input ที่สำคัญเข้าไป คือ คน ซึ่งมีมิติทั้งปริมาณและคุณภาพ ใส่เข้าไปในเครื่องจักรนี้ แล้วก็โยนเงินโยนวิธีการลงทุนใส่เข้าไป ผลิตออกมาเป็น output อาจจะวัดด้วย GDP อาจจะวัดด้วยอะไรก็แล้วแต่ มองไปในอีก 20 ปีข้างหน้า ปริมาณของคนที่จะโยนเข้าไปในเครื่องจักรเครื่องนี้มันน้อยลงแน่นอน
ฉะนั้นคำถามคือ แล้วเราจะทำยังไงให้การเจริญเติบโตมันโตได้ เพราะถ้าเศรษฐกิจมันไม่โตอย่างที่บอกคือ ลองนึกภาพว่าเรามีพาย เราอยากจะตัดแบ่งพายให้ทุกคนกิน แล้วพายมันไม่โตแล้ว ดังนั้น บางคนก็อาจจะต้องกินพายที่ชิ้นเล็กลงเรื่อยๆ ในขณะที่บางคนอยากจะกินชิ้นใหญ่มากชึ้นเรื่อยๆ เพราะบางทีพายโตเร็วๆ เนี่ย ถึงคุณได้สัดส่วนน้อยลง คุณอาจจะได้ชิ้นพายที่ใหญ่ขึ้นก็ได้ เพราะขนาดพายมันใหญ่ขึ้น
ทีนี้พอพายมันโตช้า มันก็อาจจะเริ่มมีปัญหาอื่นๆ ตามขึ้นมา เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ปัญหาการเมืองเต็มไปหมดเลย โจทย์ที่สำคัญ คือ ด้วยคนที่น้อยลง จะทำยังไงให้เศรษฐกิจมันโตได้ ซึ่งประเด็นที่สำคัญ คือ ประสิทธิภาพ เราจะทำยังไงให้คนหนึ่งคนผลิตของได้เยอะขึ้น ซึ่งเราอาจจะต้องลองดูภาพใหญ่ เราอาจจะต้องแก้กันตั้งแต่ว่าเราจะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างไร ธุรกิจจะโฟกัสยังไง และอย่างที่สองคือ แล้วคุณภาพของ input ที่เราจะใส่เข้าไป เช่น เราบอกว่าจำนวนคนในวัยทำงานน้อยลง จะทำยังไงให้คุณภาพของคนที่ใส่เข้าไปมันดีขึ้น เพื่อให้เครื่องจักรเครื่องนี้ ผลิตของได้เยอะขึ้น
ถ้าเราก็ดูจาก คะแนนการศึกษาอะไรต่างๆ มันเป็นความท้าทายที่สำคัญ มองไประยะยาวยังไงก็ต้องแก้ประเด็นนี้ ถ้าเราไม่แก้เราก็จะเหนื่อย เราเห็นแล้วว่าประเทศอื่นแซงเราไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนเราเคยภูมิใจว่าเราเป็นประเทศที่มีการศึกษาดี วันนี้จากคะแนนมันเริ่มไม่ใช่แล้ว มิติของการกระจายก็เหมือนกัน ถ้าโรงเรียนในกรุงเทพฯ ดี โรงเรียนในต่างจังหวัดไม่ดี เราจะทำยังไงให้โอกาศมันเท่ากัน
ต่อมาคือการเปลี่ยนแปลงเรื่องของเทคโนโลยี เราพร้อมรับมือกับเทคโนโลยีขนาดไหน แล้วเราจะเข้าไปสู่กับเขายังไง นี่ก็เป็นเรื่องสำคัญ สุดท้ายผมว่าที่สำคัญ คือ ความสามารถในการแข่งขันโดยรวม ยังไงเราก็ต้องทำให้เราสามารถแข่งกับคนอื่นได้
ซึ่งเรามียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อยู่แล้ว?
ไม่แน่ใจว่าเป็นข้อดีหรือข้อเสีย จริงๆ ยุทธศาสตร์ควรจะเป็นสิ่งที่เอาไว้เป็น guiding principle เป็นภาพรวม มันไม่ควรจะเป็นแบบต้องทำอันนี้ เพราะอย่างที่เราเห็นนะครับ ตอนร่างยุทธศาสตร์ชาติเนี่ย PM2.5 ยังไม่ได้เป็นปัญหาขนาดนี้ เผลอๆ ในนั้นอาจจะไมมีเรื่องนี้ด้วย คือเรามีปัญหาอื่นๆ ตามขึ้นมาเต็มไปหมดเลย หรือน้ำทะเลจะหนุนสูงในอีก 10 ปีข้างหน้า เราอาจจะเจอปัญหาน้ำเค็มไปหมดแล้ว
ถ้าเรามั่วแต่ fix อะไรโดยที่ไม่พยายามทไปปรับ หรือไปเปลี่ยน หรือคิดว่าทำสิ่งใดที่เราควรจะทำที่สุด แล้วเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นการเมือง หรือเอามาบีบว่าต้องทำแบบนี้เท่านั้น เพราะไม่งั้นเดี๋ยวจะเกิดผลกระทบแบบนี้ ผมว่ามันควรจะเป็นการใส่เข้าไปเพื่อให้คนพอจะเห็นภาพว่าเราควรจะเดินทางไปทางไหน ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มาตีกรอบว่าเราจะต้องเดินทางนี้เท่านั้น เราต้องทำให้มันยืดหยุ่นพอที่จะรู้ว่าเราควรรับมือกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรมากกว่า
แล้วเราที่เป็นคนธรรมดาจะเตรียมตัวรับมือกับเศรษฐกิจในตอนนี้และอนาคตได้ยังไงบ้าง
ผมว่าทุกปัญหามันมีโอกาสเสมอ แต่ละคนถ้าถามว่าใครทำบทบาทอะไร ถ้าเป็นคนที่ทำธุรกิจ สิ่งที่วันนี้ต้องทำเลยก็คือต้องรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นจากปัญหาอะไร แล้วเราจะแก้มันยังไงดี ถ้ามันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเทคโนโลยี หรือการเปลี่ยนแปลงเรื่องของโมเดลทางธุรกิจ วันนี้เราคิดข้ามช็อตไปหรือยัง สมมติยอดขายเราตก สาเหตุที่ทำให้ยอดขายเราตกมันเป็นปัญหาระยะสั้น หรือเศรษฐกิจไม่ดี หรือปัญหาระยะยาว คือมันมีคู่แข่งที่เราไม่เคยคิดว่าจะมีมาก่อนในอดีต
ความยากคือ เราจะมองทุะลุผ่านประเด็นระยะสั้นได้อย่างไร แล้วก็มองข้ามไปว่า แล้วประเด็นระยะยาวด้วยความท้าท้ายที่วิ่งเข้ามาเรื่อยๆ เนี่ย เราจะไปมองหาโอกาสกับมันอย่างไรดี แม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงเรื่องของโครงสร้างประชากร สัดส่วนผู้สูงอายุจะเยอะขึ้น ส่วนคนทำงานจะน้อยลง เด็กจะน้อยลง วันนี้โมเดลธุรกิจควรจะต้องเปลี่ยนไปยังไง ซึ่งอันนี้ผมว่ามันเป็นความท้าทายหลักๆ เลย
อีกอย่างหนึ่งก็คือ การเตรียมพร้อมสำหรับสังคม และสำหรับตัวเศรษฐกิจเอง ถ้าการเปลี่ยนแปลงพวกนั้นมา เราจะเตรียมพร้อมกับมันยังไง แต่ถ้าเป็นเด็กหรือเป็นคนรุ่นใหม่ ประเด็นที่สำคัญ คือ การหาความรู้ การเตรียมตัวว่า สถานการณ์ที่มันเปลี่ยนไป ทักษะของคนที่จะทำงานในตลาดแรงงานแบบใหม่ใน 10 ปีข้างหน้า ทักษะที่ต้องใส่เข้าไปคืออะไร อะไรที่จะเตรียมเราให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ผมว่าสิ่งที่สำคัญมากเลย คือ การศึกษา สมมติถ้าใครยังเรียนอยู่ก็อย่าหวังว่าสถาบันการศึกษาจะทำให้เข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตได้ ใครเรียนจบมาแล้วก็ยิ่งสำคัญใหญ่เลยว่าเราจะมีทักษะอะไร เพราะไม่อย่างนั้นเราก็สู้เด็กรุ่นหลังไม่ได้ เราก็จะเป็นที่ต้องการน้อยลง
จากที่ฟังดูเหมือนว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ผมว่ามันหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันมีการเปลี่ยนแปลงที่ขยับมาเรื่อยๆ ใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ ผมใช้คำว่า business as usual is not an option ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงเลย คือทำเหมือนเดิมไปเรื่อยๆ มันจะรอดยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราไม่ได้เปลี่ยน คู่แข่งเราไม่ได้เปลี่ยน แต่โลกมันเปลี่ยน อย่างที่เราเห็นก็คือ การแข่งขันที่เข้ามา บางทีก็ไม่ได้มาจากคู่แข่งเดิมๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใหม่ๆ ธุรกิจที่โผล่ขึ้นมา ผมว่ามันทำให้เราหลีกเลี่ยงไม่ได้กับการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
เรามีความหวังอะไรบ้าง
จริงๆ ความหวังผมว่าก็เยอะนะครับ สมมติถ้ามองเราในฐานะประเทศ ไม่รู้ว่าเป็นข้อดีรึเปล่านะ เราก็ยังเป็นประเทศรายได้ปานกลาง เรามีช่องว่างที่จำเป็นต้องโต ซึ่งถ้าเราไม่โต เราจะโดนคนอื่นตามมาแน่ๆ เราก็อาจจะเห็นเทรนด์ที่หลายๆ คนพูดถึง อย่างเช่นเราเห็นตัวอย่างการพัฒนา เราไม่ได้เป็นประเทศแรกที่เจอปัญหาพวกนี้ เช่น aging society, middle income trap มีตัวอย่างดีๆ ที่เราสามารไปลอกเขามาได้ เราตามญี่ปุ่นเป๊ะๆ ประมาณ 20 ปีเลย คือ โครงสร้างประชากร ปัญหาการลงทุนหาย เงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยต่ำ ค่าเงินแข็ง เรามีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หรือว่าปัญหา aging society ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวันเคยเจอมาหมดแล้ว เราเห็นตัวอย่างว่าเขารอดออกมาได้ยังไง คำถามคือเราพร้อมที่จะไปกับเขาไหม
อย่างที่สอง ในฐานะประเทศเราก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น เพราะเราบังเอิญเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค และเป็นภูมิภาคที่ยังโตอยู่ เราเป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างดี ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมอะไรต่างๆ เราก็ยังเป็นจุดศูนย์กลางการท่องเที่ยว ศูนย์กลางธุรกิจได้อยู่ แม้ว่าในช่วงนี้อาจจะเจอความท้าทายในเรื่องของ headwind ไปบ้าง แต่ว่าเราก็ยังมีที่ให้ยืน พร้อมกับเพื่อนบ้านเราที่ยังโตอยู่ได้ค่อนข้างดี ก็น่าจะเป็นความหวังได้ค่อนข้างดี
อีกอันประเด็นหนึ่ง คือ ในประเทศอื่นๆ กำลังเลื่อนระดับจากรายได้ปานกลางเนี่ย กระแสที่มาค่อนข้างเยอะคือ urbanization หรือการเกิดเมือง พอคนมีรายได้สูงขึ้น รูปแบบในการบริโภคก็จะเปลี่ยนไป จากที่อยู่ในบ้านไกลๆ ก็มาอยู่รวมกันมากขึ้น รูปแบบการใช้เงินอะไรต่างๆ มันก็เกิดโอกาสใหม่ๆ ค่อนข้างเยอะ นี่คือประสบการณ์ที่คนอื่นเคยเจอมาก่อน ถ้าถามว่าเรามีโอกาสไหมก็มีนะครับ แต่ว่าคำถามคือ เราจะมองโอกาสพวกนั้นยังไง แล้วเราจะสามารถจับโอกาสพวกนั้นได้ยังไง