CPTPP ตัวอักษรย่อที่วนเวียนกลับมาให้เราเห็นกันบ่อยๆ จนเริ่มคุ้นชิน
หลายคนทราบกันดีแล้วว่า CPTPP เป็นชื่อข้อตกลงการค้านึง ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมกันอย่างหนักหน่วง ด้วย #NoCPTPP ที่พ่วงท้ายมาด้วยจำนวนวันของการประท้วง
ล่าสุด วันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาผลกระทบการเข้าร่วม CPTPP นี้แล้ว ซึ่งกลุ่มคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP ก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดยกำหนดเวลาให้ศึกษา 30 วัน
ถึงอย่างนั้น ก็มีข้อกังวลว่า เวลาที่ให้พิจารณาอาจจะสั้นเกินไปเมื่อเทียบกับเนื้อหาของความตกลง CPTPP ที่มีความยาวและมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา รวมถึง อาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลในการไปยื่นหนังสือขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ให้ทันในเดือนสิงหาคมนี้ด้วย
The MATTER เลยขอพาทุกคนไปร่วมกันพินิจพิจารณาผลกระทบต่างๆ เพื่อสำรวจว่า ตอนนี้เราต้องจับตาดูเรื่องอะไรกันบ้าง
CPTPP คืออะไร?
เริ่มกันที่ ที่มาของคำว่า CPTPP ซึ่งมีชื่อเต็มๆ ว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือก็คือ ข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก
CPTPP เป็นข้อตกลงที่ปรับใหม่จากข้อตกลงทางการค้าเดิมที่ชื่อ TPP (Trans-Pacific Partnership) หรือก็คือ ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ที่ครอบคลุมในหลายประเด็น เช่น เรื่องการค้า การลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
ตอนแรก ในสมัยของอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา สหรัฐฯ ก็เคยอยู่ร่วมในข้อตกลงนี้ แต่เมื่อปี พ.ศ.2560 สหรัฐฯ ก็ถอนตัวออกไป โดยโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ให้เหตุผลว่า ข้อตกลงดังกล่าวกระทบกับการจ้างงานของชาวสหรัฐฯ
หลังจาก TPP เปลี่ยนชื่อใหม่มาเป็น CPTPP ความแตกต่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ขนาดเศรษฐกิจ ซึ่งหากว่ากันตามตัวเลขของธนาคารโลก จะพบว่า ขนาดเศรษฐกิจรวมของ CPTPP หลังการถอนตัวไปของสหรัฐฯ นั้น เล็กลงไปจากเดิมถึง 38% ของเศรษฐกิจโลก
การถอนตัวไปของสหรัฐฯ ทำให้ญี่ปุ่นกลายมาเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการเดินหน้า CPTPP เมื่อเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2561 โดยมุ่งเป้าไปที่การสลายการกีดกันทางการค้า รักษาระบบการค้าเสรี และเพื่อให้สหรัฐฯ กลับมาร่วมเจรจาอีกครั้ง
ตอนนี้ มีประเทศสมาชิกอยู่ทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ซึ่งลงนามกันไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ปี พ.ศ.2561 โดยมี 7 ประเทศที่ให้สัตยาบันเข้าร่วมแล้ว นั่นคือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และเวียดนาม
หากรวมจำนวนประชากรของประเทศที่เข้าร่วมข้อตกลงนี้ เท่ากับว่า มีสมาชิกของ CPTPP รวมกันกว่า 500 ล้านคนเลยทีเดียว
แล้วเราจะได้หรือเสียอะไร จากการเข้าร่วม CPTPP
ตามคำบอกเล่าของรัฐบาล ถ้าเราเข้าร่วม CPTPP รายได้จากการส่งออกของประเทศก็จะเพิ่มสูงขึ้นหลายหมื่นล้านบาท
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ถ้าไทยไม่เข้าร่วมจะเสียโอกาส เพราะประเทศอื่นๆ ในอาเซียน อย่างเวียดนามและสิงคโปร์ก็เข้าร่วมแล้ว ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การส่งออกไปประเทศกลุ่ม CPTPP ขยายตัวถึง 7-9% ขณะที่การส่งออกของไทยโตเพียง 3% เท่านั้น
อรมน เสริมด้วยว่า COVID-19 เป็นปัจจัยเร่งให้ระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนเปลี่ยนไป โดยที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เพราะเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตของโลก และมีศักยภาพในการผลิตสินค้าที่มีกำลังการผลิตเพียงพอเกินความต้องการในประเทศ และสามารถเติบโตจนเป็นผู้ส่งออกสินค้าที่ติดอันดับโลก และมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อาหาร รถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ได้เป็นจำนวนมาก
ถ้างั้น ทำไมถึงมีกระแสต่อต้าน CPTPP กันล่ะ?
คำตอบก็คือ เพราะ CPTPP ยังมีข้อน่ากังวลอีกหลายเรื่อง โดยเรื่องที่ถูกหยิบมาเป็นประเด็นถกเถียงกันมากที่สุด ก็คือ การผูกขาดเมล็ดพันธุ์
ต้องอธิบายก่อนว่า ถ้าเราเข้าร่วม CPTPP เราก็จำเป็นต้องเข้าร่วมภาคีในอนุสัญญา UPOV 1991 หรือก็คือ สหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งแปลว่า ไทยจะต้องแก้ไขกฎหมายภายในบางอย่าง และปัญหาก็คือ อนุสัญญา UPOV 1991 นี้ ไม่อนุญาตให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้เองได้ โดยต้องขึ้นทะเบียนสายพันธุ์ใหม่ทุกพันธุ์พืช
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ยกตัวอย่างเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวว่า โดยปกติ เกษตรกรส่วนมากจะเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ ขณะที่อีกครึ่งนึงจะซื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งน้อยครั้งมากที่เกษตรกรจะซื้อเมล็ดพันธุ์กับบริษัท เพราะงั้นการเข้าร่วม CPTPP ก็จะทำให้เราได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ไปเยอะมาก ขณะเดียวกัน มูลค่าที่เกษตรกรจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์เพิ่ม อยู่ที่ 3-5 เท่า จากราคาเดิมที่แพงอยู่แล้ว
ขณะที่ วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวในการอภิปรายญัตติด่วนเรื่องนี้ ในวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า การที่ไทยต้องเข้าร่วม UPOV 1991 จะทำให้เกิดปัญหาหลายๆ อย่างตามมา เพราะเหมือนกับดักล่อลวงให้ประเทศกำลังพัฒนาแบบไทย กลายเป็นเครื่องมือของบริษัททุนเมล็ดพันธุ์พืช ก็คือให้เกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ของนายทุนปลูกปีนี้ แล้วเก็บเมล็ดไปปลูกต่อปีหน้าเพื่อกินเอง
แต่ปัญหาคือ เกษตรกรจะไม่สามารถเก็บเมล็ดไปปลูกต่อปีหน้าเพื่อขายผลผลิตได้ เพราะจะถูกนายทุนฟ้องได้
“ยกตัวอย่าง นาข้าว 2 แปลงอยู่ติดกัน แปลงหนึ่งใช้พันธุ์พืชนายทุน อีกแปลงไม่ได้ใช้ แล้วลมหรือแมลงพาพันธุ์พืชของนายทุนข้ามมา กลายเป็นพันธุ์พืชผสมใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีสารพันธุกรรมของพันธุ์พืชนายทุนอยู่ ต่อไปถ้าเกษตรกรจะขายข้าวพันธุ์พืชผสม จะกลายเป็นว่าเกษตรกรจะสามารถถูกนายทุนฟ้องร้องได้”
วรภพกล่าวว่า นี่คือการเปิดช่องให้บริษัททุนใหญ่เมล็ดพันธุ์ใช้เป็นเครื่องมือฟ้องร้อง ข่มขู่เกษตรกร ไล่ฟ้องทั้งเกษตรกร และผู้ประกอบการแปรรูปเกษตร จนกว่าเกษตรกรจะกลัว จนกว่าผู้ประกอบการแปรรูปกังวล หรืออธิบายง่ายๆ ว่า จนกว่าเกษตรกรไทยจะหันมาซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทนายทุนทุกครั้ง
แต่ก็มีข้อโต้แย้งในเรื่องเมล็ดพันธุ์ว่า เกษตรกรไม่ได้เสียผลประโยชน์ทั้งหมด เพราะก็มีบางคนที่มองว่า ยังมีส่วนที่เพิ่มโอกาสให้กับเกษตรกรอยู่บ้าง โดยใน UPOV 1991 มาตรา 15 ก็มีข้อยกเว้นบางอย่างให้เกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไปทำอะไรต่อได้ โดยกำหนดข้อยกเว้นไว้ว่า ต้องไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า แต่เป็นการทำไปโดยส่วนตัว เป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการทดลอง หรือเพื่อการปรับปรุงพันธุ์อื่นๆ
ซึ่งแปลว่า ไม่ใช่เมล็ดพันธุ์ทั้งหมดที่จะถูกห้ามใช้ เพราะถ้าเป็นมีพันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์เก่าที่มีอยู่แล้ว ก็จะจดทะเบียนกับ UPOV 1991 ไม่ได้
อีกเรื่องหนึ่ง ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยครั้ง คือเรื่องของการเข้าถึงยา
ขออธิบายถึงถึงตัวละครสำคัญของเรื่อง อย่างคำว่า ‘ยาชื่อสามัญ (Generic drugs)’ ก่อน ซึ่งหมายถึง ยาที่ผลิตขึ้นโดยให้มีคุณสมบัติด้านเภสัชวิทยาและคุณสมบัติทางการรักษาเหมือนกับยาต้นแบบ (Original drugs)
แต่ข้อแตกต่างก็คือ ยาชื่อสามัญจะมีราคาถูกกว่ามาก เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายในการศึกษาค้นคว้าหาตัวยาและในด้านเภสัชกรรมของตัวยานั้นๆ ซึ่งกรรณิการ์วิเคราะห์ว่า การเข้ามาของ CPTPP จะทำให้ยาชื่อสามัญเข้าถึงตลาดได้ช้าที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้
ปกติแล้ว เรามีมาตรการบังคับใช้สิทธิ (compulsory licensing) หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า CL ซึ่งเป็นการที่รัฐมีสิทธิในการงดการคุ้มครองสิทธิบัตรอะไรก็ได้ถ้าสิ่งนั้นมีความจำเป็น ซึ่งเราก็ใช้การ CL ยามาตลอด ทำให้เราสามารถผลิตยาเองได้ และเป็นเหตุผลให้ยาราคาถูก เพราะไม่ต้องไปซื้อต่อจากบริษัทยาข้ามชาติ
พอไม่ต้องซื้อยาจากบริษัทยาข้ามชาติ บริษัทเหล่านี้ ก็คือผู้เสียเปรียบในเรื่องนี้นั่นเอง
แต่การมาของ CPTPP จะทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป โดย เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้ประสานงานรณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เล่าว่า ข้อตกลง CPTPP ทำให้ขั้นตอนในการขึ้นทะเบียนยาซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพราะต้องไปขอขึ้นทะเบียนยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งที่โดยปกติแล้ว อย. มีหน้าที่ตรวจเช็กความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยาต่างหาก
“นี่เป็นขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งทำให้มันยากขึ้น แล้วก็เป็นการขยายการผูกขาด โดยไม่ได้ใช้สิทธิบัตร แต่ใช้เรื่องของการขึ้นทะเบียนยาเข้ามา”
ขณะเดียวกัน กรรณิการ์ก็เล่าว่า CPTPP เป็นการประวิงเวลาให้ยาชื่อสามัญเข้าถึงตลาดช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยถ้ายาชื่อสามัญเข้าตลาดได้ช้า ยาต้นแบบก็จะขายได้เจ้าเดียว ทำให้ยามีราคาแพง ซึ่งในช่วงเวลาปกติ ถ้ามียาชื่อสามัญเข้ามาแข่ง ยาต้นแบบก็ต้องลดลงราคาลงมาเกินครึ่งหนึ่ง เพื่อมาแข่งขันกับยาตัวใหม่ที่ออกมา
นอกจากนี้ CPTPP ยังทำให้รัฐไม่กล้าประกาศ CL อีกด้วย เพราะจะเสี่ยงต่อการถูกฟ้อง และกลายเป็นคดีความระหว่างประเทศขึ้นมาได้
ในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ อรมณชี้แจงว่า CPTPP เปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถขอยกเว้น และขอระยะเวลาปรับตัวจากการปฏิบัติตามความตกลงได้ ซึ่งข้อกังวลที่บอกว่า ไทยจะต้องขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยา คุ้มครองข้อมูลการทดสอบยา และไม่สามารถบังคับใช้สิทธิ CL ได้นั้น CPTPP ได้ถอดเรื่องนี้ออกไปแล้ว ตั้งแต่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากการเจรจา เราจึงไม่ต้องดำเนินการใดๆ เพิ่มเติมในเรื่องนี้
ไม่เพียงแต่เมล็ดพันธุ์และยาเท่านั้น ยังมีผลกระทบด้านอื่นๆ ที่มาจาก CPTPP อีก โดยกรรณิการ์ กล่าวถึงการออกนโยบายสาธารณะของรัฐบาล เช่น การล็อกดาวน์ การห้ามส่งออกหน้ากาก ซึ่งเป็นนโยบายที่จำเป็นสำหรับช่วงวิกฤต แต่ CPTPP ก็ขอนิยามการลงทุนที่มากกว่าเราเคยให้การคุ้มครองการลงทุนประเภทอื่นๆ
“ในกรณีของ CPTPP คุณไม่ต้องมาลงทุนสร้างงาน สร้างกิจการอะไรเลย คุณแค่ถือหุ้น โดยเนื้อความ CPTPP ระบุว่า ต้องคุ้มครองกันตั้งแต่ก่อนเข้ามาลงทุน ซึ่งไม่มีนิยามมาก่อนเลยว่าก่อนลงทุน หน้าตามันเป็นยังไง แค่ซื้อใบเสนอราคาจะถือว่าก่อนลงทุนแล้วหรือเปล่า?”
เมื่อมีการรับรองว่าจะลงทุน ก็แปลว่า บริษัทเอกชนมีสิทธิที่จะฟ้องร้องรัฐบาลได้ หากรัฐบาลทำอะไรให้กระทบกับการลงทุน ซึ่งกรรณิการ์กังวลว่า นี่อาจเป็นจุดที่ทำให้รัฐบาลเป็นกังวลในการออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือคนในช่วงฉุกเฉินได้
รวมถึง เรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เราได้ ซึ่งหลังจากช่วง COVID-19 เป็นต้นมา ก็มีหลายคนที่มองว่า ควรจะให้แต้มต่อกับผู้ประกอบการไทยเสียก่อน แต่กรรณิการ์มองว่า เวียดนามซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกที่ต่อรองเงื่อนไขนี้ได้ เพราะมีเศรษฐกิจขนาดเล็กกว่าไทย และมี GDP ต่ำกว่าเรา
“เราอาจจะมีอาหารถูกๆ เข้ามามากขึ้น แต่อาจไม่ได้อาหารที่มีคุณภาพเพิ่มเลย”
ยิ่งกว่านั้น กรรณิการ์ยังเล่าว่า มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคจะถูกทำให้อ่อนลงในทุกๆ เรื่อง เช่น เรื่องของการใช้เครื่องสำอางที่จะกลายเป็นว่า เราจะไม่สามารถตรวจเช็กได้ว่า เครื่องสำอางต่างๆ ปลอดภัยหรือไม่ ได้ขึ้นทะเบียนจริงๆ หรือเปล่า
หรือเรื่องของเครื่องมือแพทย์ที่จะให้เราสามารถรับเครื่องมือแพทย์มือสอง มาประกอบใหม่ได้ แต่เฉลิมศักดิ์ก็กังวลถึงคุณภาพของเครื่องมือแพทย์เหล่านี้ ซึ่งอาจอ่านค่าผู้ป่วยผิด และส่งผลต่อการวินิจฉัยโรคต่อได้
“มันอาจะต้องมาดูว่า GDP ที่เพิ่มขึ้นมาเท่านี้ แลกกับค่ายาที่เพิ่มมากขึ้น หรือสิ่งอื่นๆ ที่เราต้องเสียเพิ่มนี้ มันคุ้มค่าแล้วหรือไม่”
รวมถึง กรณีที่รัฐระบุว่า CPTPP จะเป็นการช่วยเพิ่มการส่งออกของไทยนั้น เฉลิมศักดิ์เล่าว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไม่มีอะไรรับประกันได้ง่า การเข้าร่วม CPTPP จะทำให้สภาพเศรษฐกิจไทยดีขึ้นได้
“แล้วก็ยิ่งเรามี FTA เรียบร้อยแล้วกับ 9 ประเทศใน 11 ประเทศสมาชิกของ CPTPP โดยมี 2 ประเทศที่เราไม่มี FTA และข้อตกลงนี้ ยังไม่มีสหรัฐฯ ที่เป็นประเทศยักษ์ใหญ่ด้วย แล้วเราจะส่งออกให้ใคร ถ้าเสียเยอะขนาดนี้ สู้ไปเจรจาอีกสองประเทศต่างหากไม่ง่ายกว่าเหรอ?”
กระแสการทำข้อตกลงการค้าในต่างประเทศ
ประเทศที่เป็นหัวหอกหลักในการขับเคลื่อน CPTPP ก็คือ ญี่ปุ่น ซึ่งจะได้ขยายการส่งออกสินค้าจำนวนมากให้กับหลากหลายประเทศที่เป็นสมาชิก ทั้งยังได้ผลประโยชน์จากเรื่องของการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชจากต่างประเทศอีกด้วย
ขณะเดียวกัน แคนาดา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศใหญ่ที่เป็นสมาชิก CPTPP ก็ได้ผลประโยชน์จากการที่ญี่ปุ่นเป็นแม่งานในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน โดยมีการประเมินว่า ญี่ปุ่นจะเป็นตลาดสำคัญที่ทำให้แคนาดาได้ประโยชน์ในเรื่องต่างๆ เช่น การแชร์ความรู้ทางเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ
สำหรับประเทศไทยเองก็มีการเปรียบเทียบกระแสสังคม กับข้อตกลงการค้าอื่นๆ เช่นกัน
อย่างกรณีของข้อตกลง RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือก็คือ ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค ซึ่งมีสมาชิกเป็น 10 ประเทศอาเซียน และอีก 6 ประเทศ ซึ่งเฉลิมศักดิ์มองว่า ข้อตกลงนี้ก็เหมือนกับข้อตกลง FTA ขนาดใหญ่เช่นเดียวกับ CPTPP แต่ RCEP กลับไม่มีแรงต้านทานจากประชาชนเลย
เฉลิมศักดิ์เล่าว่า การทำ RCEP ไม่มีกระแสต่อต้าน เพราะกระบวนการในการเข้าร่วมดีกว่าเยอะ ด้วยการเปิดฟังประชาพิจารณ์หลายรอบก่อนเริ่มการเจรจา และระหว่างการเจรจาก็มีประชุม และมีการรายงานกลับมา ซึ่งในการประชุมกลุ่มตัวแทนครบทุกกลุ่ม ทำให้ข้อมูลครบถ้วน รอบด้าน และสามารถเจรจาออกมาได้ดี
“ประเด็นที่เป็นข้อกังวล ถูกยกออกไปแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง UPOV 1991 เรื่องสิทธิบัตรยา เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหว ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น หลายประเด็น คนที่อยากได้คือสหรัฐฯ แต่พอออกไปแล้ว ประเทศอื่นก็พยายามที่จะสวมรอย เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งอยากได้เรื่องของเมล็ดพันธุ์ เพราะประเทศญี่ปุ่นมีธุรกิจเมล็ดพันธุ์เยอะ”
กรณีของ RCEP เราใช้เวลาร่วม 5 ปี ในการเจรจาต่อรอง ทั้งยังเป็นการเข้าไปพูดคุยกันตั้งแต่แรก ซึ่งทำให้เฉลิมมศักดิ์มองว่า เป็นจุดที่ทำให้เราเจรจาต่อรองได้เยอะ ต่างจาก CPTPP ซึ่งเราเพิ่งมาคุยทีหลัง ในช่วงที่ประเทศอื่นๆ เขาตกลงกันได้แล้ว ทำให้ยากที่จะเจรจาขอเงื่อนไขต่างๆ ได้
ขณะเดียวกัน กรรณิการ์ ก็อธิบายเพิ่มว่า เราสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาวให้กับประเทศได้ โดยไม่จำเป็นต้องเอาเรื่องที่น่ากังวลทั้งหมดนี้ ไปผูกมัดกับผลประโยชน์ระยะสั้นที่ยังไม่รู้ว่าจะได้ผลหรือไม่
และยังเสริมด้วยว่า ความตกลงในลักษณะของ CPTPP ไม่ใช่สิ่งที่เป็นมาตรฐานใหม่ ตามที่รัฐบาลกล่าวเลย กระแสความตกลงที่เกิดขึ้น หลังจากการมาของ COVID-19 ด้วยว่า หลายประเทศเริ่มกันมาสนใจการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น อย่างในกลุ่มประเทศ EU เอง ก็เริ่มพูดถึงเรื่องของการลงทุนยา และเรื่องการเปิดโอกาสให้ทำ CL ได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยได้ยินจากกลุ่ม EU มาก่อน
“เราต้องคิดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโลกใหม่ แต่ตอนนี้ รัฐบาลไทยไม่มีความคิดใหม่ๆ เลย ขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนไป” กรรณิการ์ กล่าวทิ้งท้าย
อ้างอิงจาก