ณ เวลา 14:46 ของวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ.2011 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น มีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่นอกชายฝั่งคาบสมุทรโอชิกะ ภูมิภาคโทโฮคุ
แรงสั่นสะเทือนขนาด 9 แมกนิจูด สร้างความเสียหายตั้งแต่เกาะฮอกไกโดไปจนถึงตอนกลางของเกาะฮอนชู ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานก็ได้เกิดคลื่นใหญ่สึนามิสูงกว่า 40 เมตรตามมาใน จ.อิวาเตะ ฟุกุชิม่า มิยากิ และอิบารากิ
ความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้หยุดอยู่เพียงแผ่นดินไหวและสึนามิ แต่ยังมีเหตุเพลิงไหม้ ดินโคลนถล่ม การหยุดชะงัดของระบบการสื่อสารและคมนาคมอันเป็นผลกระทบจากภัยพิบัติ
รวมไปถึงการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่า ไดอิชิ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 18,537 ราย บ้านเรือนเสียหาย 398,879 หลังคาเรือน
ทั้งหมดทั้งมวลส่งผลให้เหตุการณ์ในครั้งนัั้นกลายเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้ง ‘รุนแรงที่สุด’ ในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น
เมื่อเกิดแผ่นดินไหวหรือภัยพิบัติอื่นๆ ในประเทศญี่ปุ่น สื่อที่ผู้ชมนิยมใช้ในการติดตามสถานการณ์คงหนีไม่พ้น NHK องค์กรสื่อสาธารณะของญี่ปุ่นที่เริ่มก่อตั้งในปี ค.ศ.1926 และให้บริการครอบคลุมทั้งสถานีโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และสื่อออนไลน์ ด้วยความเป็นองค์กรสื่อสาธารณะที่เกาะติดสถานการณ์โดยไม่มีโฆษณาคั่น อีกทั้งภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ
ที่ผ่านมาพบว่า NHK นั้นมีการนำเสนอเรื่องราวในมิติที่หลากหลาย เพราะนอกจากการรายงานข่าวอย่างทันต่อเหตุการณ์แล้ว NHK ยังได้นำเสนอสารคดีต่าง ๆ อาทิ สารคดีชุด โบไซ (Bousai) ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งไม่ได้กำจัดอยู่เพียงแค่แผ่นดินไหว แต่ยังกล่าวถึงปัญหาอุทกภัยและระบบการสื่อสาร
ข้อมูลจาก NHK Broadcasting Culture Research Institute ระบุว่า NHK มีการรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.2011 ระหว่างปี ค.ศ.2014 – 2020 เฉลี่ยประมาณ 346 ชั่วโมงต่อปี นับว่ามีการรายงานมากที่สุดจากบรรดาช่องโทรทัศน์ทั้งหมดของญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของ NHK โดยจะกล่าวถึงมากเป็นพิเศษในช่วงต้นปีก่อนวันที่ 11 มีนาคม ซึ่งเป็น ‘วันครบรอบ’ ของเหตุการณ์ภัยพิบัตินี้
ในปี ค.ศ.2021 ซึ่งครบรอบ 10 ปีของโศกนาฏกรรมดังกล่าว NHK ได้นำเสนอผลงานภาพยนตร์สารคดี 2 ชิ้น ได้แก่ 3/11 – สึนามิ: 3 วันแรก (3/11 – The Tsunami: The First 3 Days) และ 3/11 – สึนามิ: ปีแรก (3/11 – The Tsunami: The First Year)
โดยมีเนื้อหาเป็นเรื่องราวในเชิงลึกที่เกิดขึ้นใน ‘3 วันแรก’ ที่เน้นถ่ายทอดภาพชีวิตของผู้คนในที่เกิดเหตุตั้งแต่เช้าก่อนจะเกิดภัยพิบัติ ระหว่างเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ ไปจนถึงการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของประชาชนเพื่อเอาตัวรอด ในขณะที่ยังคงมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายระลอก และใน ‘1 ปีแรก’ จะเน้นหนักไปที่การติดตามผลกระทบของภาคประชาชนที่มีมากกว่าแค่ชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมกับตั้งคำถามว่าหลังจากนี้ผู้ประสบภัยจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร
ประชาชนหน่วยย่อยที่ใหญ่ที่สุด
‘3 วันแรก’ สำคัญอย่างไร – ทำไมต้องเป็น 3 วันแรก?
เรื่องนี้ต้องมองย้อนไปถึงการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลญี่ปุ่นที่แนะนำให้ประชาชน ‘ช่วยเหลือตัวเอง’ ให้อยู่รอดภายใน 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน เมื่อเกิดภัยพิบัติ
เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีร้ายแรงถึงชีวิตก่อน ในส่วนของการช่วยเหลือด้านอื่นๆ รัฐบาลจะสามารถทำได้อย่างเต็มรูปแบบหลังจากผ่านไป 3 วัน
อ. นรีนุช ดำรงชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านญี่ปุ่นศึกษา จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติคนที่อยู่ใกล้เรามากที่สุดก็คือตัวเราเอง การรู้จักช่วยเหลือตัวเองจึงเป็นกุญแจสำคัญของญี่ปุ่นที่จะทำให้ทุกชีวิตปลอดภัย หากมองย้อนกลับไปที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวฮันชินอาวาจิ (แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมืองโกเบ) ในปี ค.ศ.1995 จะพบว่าประชาชนซึ่งติดอยู่ในสิ่งก่อสร้างนั้น กว่า 66.8% รอดมาได้จากการช่วยเหลือตัวเองหรือครอบครัวช่วยพาออก ในขณะที่ 30.7% เป็นเพื่อนและผู้ผ่านทางมาช่วยเหลือ มีเพียง 1.7% ที่ต้องรอให้หน่วยกู้ภัยช่วยพาออก
เมื่อเป็นเช่นนั้นสังคมญี่ปุ่นจึงมีหลักการที่เรียกว่า ‘จิโจะ(自助)’ ‘เคียวโจะ(共助)’ และ ‘โคโจะ(公助)’ หรือการ ‘ช่วยเหลือตัวเอง’ ‘ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน’ และ ‘ช่วยเหลือจากรัฐบาล’
“เหตุที่ประเทศญี่ปุ่นมีการปลูกฝังเรื่องการช่วยเหลือเองตัวและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นสำคัญ เพราะเป็นเรื่องยากที่ภาครัฐจะสามารถยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติได้ในทันที” อ.นรีนุชกล่าว
แม้บางครั้งภาพลักษณ์ของสังคมญี่ปุ่นในสายตาคนนอกจะเป็นแบบ ‘ต่างคนต่างอยู่’ แต่สารคดีของ NHK ทั้ง 2 ชิ้นกลับนำเสนอภาพที่แตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งหลังจากรอดมาได้ด้วยตัวเองแล้ว ผู้ประสบภัยต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันซึ่งสอดคล้องกับหลักการเคียวโจะ
หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อปี ค.ศ.2011 จึงปรากฏภาพรัฐบาลท้องถิ่นที่มีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือมากกว่ารัฐบาลกลาง ที่สื่อถึงความแข็งแรงของการเมืองระดับท้องถิ่นอีกด้วย
ในวันที่สิ้นหวังเราก็ยังเดินไปข้างหน้า
หนึ่งในจุดเด่นของสารคดี NHK ทั้ง 2 ชิ้น คือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นแม้ในภาวะที่ทุกอย่างดูน่าสิ้นหวัง บ้านเรือนเสียหาย มีคนมากมายได้รับบาดเจ็บ แต่เราทุกคนจะก้าวไปข้างหน้าอย่างมี ‘ความหวัง’ สะท้อนให้เห็นผ่านภาพความพยายามของประชาชนที่อยากกลับไปยังบ้านของตนหลังการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือภาพการร่วมมือกันของประชาชนเพื่อฟื้นฟูชุมชนให้กลับมาปกติอย่างเร็วที่สุด
“การจัดงานเทศกาลจะแสดงให้เห็นว่าเรากำลังพัฒนาไปอีกขั้น” เสียงจากผู้ประสบภัยที่กำลังหารือกันว่าจะยังคงจัดงานเทศกาลโอบ้ง (お盆) อยู่หรือไม่
แน่นอนว่าการยืนหยัดจัดงานเทศกาลนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ประสบภัยต่างพร้อมที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า
นอกจากนี้เทศกาลโอบ้งซึ่งเป็นเทศกาลเซ่นไหว้ดวงวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ยังสะท้อนความพยายามที่จะก้าวต่อไปโดยไม่ลืมผู้ที่เสียชีวิตและสูญหายด้วยเช่นกัน สารคดี 3/11 – สึนามิ: ปีแรก ได้พาเราไปสำรวจความงดงามของมนุษย์ที่จับมือก้าวต่อไป ตอกย้ำเคียวโจะ การพึ่งพาซึ่งกันและกันของประชาชน
ในขณะเดียวกันก็ยังตอกย้ำพลังใจของผู้คนซึ่งไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค แม้ท่ามกลางสถานการณ์ที่ชวนสิ้นหวัง
“ความเสียหายและการสูญเสียนับเป็นข้อมูลเชิงลบ แต่เขาไม่ได้สื่อสารในแง่ลบ เพราะสิ่งที่จำเป็นที่สุดเมื่อเกิดการสูญเสียขึ้นคือความหวัง” อ.นรีนุชเสริม
ดึงทุก ‘คนนอก’ ให้เป็น ‘คนใน’
สังคมญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมหนึ่งที่เรียกว่า ‘อุจิ-โซโตะ’ หรือความเป็น ‘คนใน-คนนอก’ ซึ่งซ่อนอยู่กับวิถีชีวิตและแนวคิดของสังคมญี่ปุ่นในทุกมิติ หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือภาษาที่มีการแบ่งเขาแบ่งเรา เช่น พ่อของเราคือ ‘จิจิ(ちち)’ ส่วนพ่อของคนอื่นคือ ‘โอโต้ซัง(お父さん)’ ซึ่งเป็นคำที่ต่างกันอย่างชัดเจน
สังคมญี่ปุ่นจึงมีเส้นแบ่งที่ชัดเจน ระหว่าง ‘เรื่องของเรา’ และ ‘เรื่องของคนอื่น’
สารคดีของ NHK ทั้ง 2 เรื่องนี้ จึงมีความท้าทายในการดึงให้คนนอกภูมิภาคโทโฮคุก้าวข้ามเส้นเข้ามาเป็นคนใน และมองเรื่องภัยพิบัติในครั้งนั้นเป็นเรื่องของตัวเองด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการใช้ภาพวิดีโอจากผู้ประสบภัยจริงๆ มาประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพระหว่างการเกิดภัยพิบัติที่ให้มุมมองของผู้ประสบภัยกับผู้ชมและก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมกันต่อเหตุการณ์ เช่น ความกลัวหรือกังวลต่อภัยพิบัติ
อ. รุจิรัตน์ อิชิกาว่า จาก School of Cultural and Creative Studies มหาวิทยาลัย Aoyama Gakuin เล่าเสริมว่า สื่อญี่ปุ่นมักจะนำเสนอวรรคทองของผู้ประสบภัยอย่าง “ได้รู้เลยว่าคุณค่าของชีวิตปกติธรรมดาคืออะไร” หรือ “ชีวิตปกติธรรมดาช่างมีคุณค่า” อยู่บ่อยครั้งคล้ายกับในสารคดีนี้ ซึ่งไม่เพียงถ่ายทอดความรู้สึกของพวกเขา แต่ยังสร้างความรู้สึกร่วมให้กับผู้ชมที่กำลังมีชีวิตธรรมดาอยู่ การดึงคนนอกให้ข้ามเส้นมาเป็นคนในจึงเป็นจุดสำคัญของสารคดี ในการทำให้เรื่องภัยพิบัติที่ดูเป็นเรื่องไกลตัวของคนอื่น กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวของเรา
“ถ้าเราเป็นคนนอก เราจะรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องของคนอื่นที่ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ การที่ทุกคนเข้ามาเป็นคนในจะทำให้เขาไม่มองว่าภัยพิบัติเป็นเรื่องไกลตัว” อ.รุจิรัตน์กล่าว
อีกจุดเด่นในการดึงคนนอกให้มาเป็นคนในคือ การที่สารคดีชุดนี้ได้แปลคำบรรยายออกไปกว่า 12 ภาษาในเว็บไซต์ของ NHK ทั้งยังได้รับการเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไม่ได้เพียงแค่คนญี่ปุ่นที่เข้ามาเป็น ‘คนใน’ เพียงกลุ่มเดียว แต่ยังรวมไปถึงคนทั่วโลกให้ตระหนักถึงความรุนแรงของภัยพิบัติที่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเพียงที่เดียว
สร้างความจดจำ ตอกย้ำให้เป็นบทเรียน
นอกจาก NHK สื่ออื่นๆ ของประเทศญี่ปุ่นยังคงพูดถึงเหตการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ปี ค.ศ.2011 อยู่สม่ำเสมอ ทำให้คนยังคงจดจำเหตุการณ์ในวันนั้นได้ เพราะเรื่องของแผ่นดินไหวหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ใช่เรื่องของอดีต แต่เป็นเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต
สิ่งที่มนุษย์สามารถทำได้ในวันนี้จึงเป็นการนำอดีตมาเป็นบทเรียน เพื่อเรียนรู้และปรับตัวอยู่เสมอ
ย้อนมองกลับไปถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่โกเบ เมื่อปี ค.ศ.1995 มีบ้านเรือนได้รับความเสียหายกว่า 200,000 หลังคาเรือน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 6,434 ราย ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการรับมือกับภัยแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นและได้สร้างบทเรียนให้กับการก่อสร้างอาคาร จนมีการออกกฎหมายส่งเสริมสิ่งก่อสร้างที่ทนต่อแผ่นดินไหวและมาตรการพิเศษสำหรับการรับมือกับแผ่นดินไหว ทำให้ประเทศญี่ปุ่นสูญเสียที่น้อยลงเมื่อเกิดแผ่นดินไหวหลังจากนั้น
แต่แล้วเหตุการณ์ในปี ค.ศ.2011 ก็ให้บทเรียนครั้งใหญ่แก่สังคมญี่ปุ่นว่าต้องพัฒนามาตรการในการรับมือกับภัยธรรมชาติต่อไป ทุกภาคส่วนของญี่ปุ่นจึงจริงจังมากขึ้นที่จะปลูกฝังเรื่องเกี่ยวกับภัยพิบัติกับประชาชนโดยเฉพาะแผ่นดินไหว ให้การตื่นตัวและเตรียมพร้อมกับภัยพิบัติซึบซับไปในชีวิตของทุกคน แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม
เป็นความพยายามที่จะจดจำการสูญเสียที่เกิดขึ้น เพื่อเรียนรู้ นำไปสู่การแก้ไขพัฒนา และสร้างสังคมที่เข้มแข็งต่อภัยพิบัติ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก
- อ.รุจิรัตน์ อิชิกาว่า จาก School of Cultural and Creative Studies มหาวิทยาลัย Aoyama Gakuin
- อ.นรีนุช ดำรงชัย จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
- อ.เจษฎา ศาลาทอง จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- Japan Education
- หนังสือ ญี่ปุ่นอย่างที่เป็น ลำดับที่ 10 การสื่อสารภัยพิบัติในญี่ปุ่น