เมื่อศัตรูของมนุษย์ไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่อาจเป็นมนุษย์ด้วยกันเอง
Sinners (2025) หนังแอ็กชั่นสยองขวัญ ซึ่งกำลังเป็นกระแสและถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์ เรื่องราวไม่ได้พูดถึงเพียงความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับแวมไพร์เท่านั้น ทว่ายังมีประเด็นเรื่องการแบ่งแยก ชนชาติ และสีผิว แฝงมาให้ผู้ชมได้ขบคิดไปพร้อมกับบรรยากาศอันน่าสะพรึงกลัวด้วย
นอกจากประเด็นเรื่องของคนดำอันเป็นแก่นสำคัญของหนัง ยังมีอีกกลุ่มชนชาติที่ได้รับการเอ่ยถึงอยู่ไม่น้อยทั้งในตัวหนังและบนโลกออนไลน์ อย่างชาวไอริช กลุ่มชนชาติที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน แต่กลับต้องเผชิญกับการแบ่งแยกและกีดกันไม่ต่างกัน
เพราะแม้จะเป็นคนขาวเหมือนกัน แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะได้รับการยอมรับว่า ‘เป็นคนขาว’ ดังนั้น คำว่า ‘Other White’ จึงถูกสร้างขึ้นมา แล้วอะไรทำให้พวกเขาต้องแตกต่าง The MATTER ชวนไปดูถึงนิยามของคำดังกล่าวกัน
Other White กับการนิยามคนขาวที่แตกต่างกัน
แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงคนขาว เราไม่ได้หมายถึงคนที่มีผิวสีขาว แต่เรากำลังหมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์คอเคเซียน หรือ Caucasoid ตามทฤษฎีชาติพันธุ์มนุษย์ (Human Race) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักของผู้คนในแถบยุโรป, เอเชียตะวันตก (ตะวันออกกลาง), เอเชียใต้ และอาจรวมไปถึงบางพื้นที่บริเวณแอฟริกาเหนือ
แม้จะถูกเรียกโดยรวมว่า คนขาว แต่ใช่ว่าคนขาวทุกคนจะยอมรับกันเองเสียเมื่อไหร่ การแบ่งแยกและกีดกันจึงกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่และหลายกลุ่มคน พวกเขาได้ใช้คำว่า ‘Other White’ ไม่เพียงเพื่อนิยามใคร แต่ยังเป็นการจัดจำแนกและแบ่งกลุ่มคนขาวให้มีความแตกต่างกันมากยิ่งขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม คำดังกล่าวไม่ได้มีจุดเริ่มต้นหรือที่มาที่ไปอย่างชัดเจน แต่มักปรากฏให้เห็นตามเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจ หรือตรวจสอบประชากรภายในพื้นที่ต่างๆ ตัวอย่างเช่น เอกสารสำรวจสำมะโนประชากรของสกอตแลนด์ในปี 2011 ซึ่งมีระบุแยกเอาไว้ระหว่างคนขาว (ชาวสกอตแลนด์) คนขาว (ชาวอังกฤษ) คิดเป็น 91.8% ของประชากรทั้งหมด และคนขาวอื่นๆ หรือ Other White (ในที่นี้รวมตั้งแต่ชาวไอริช ชาวโปแลนด์ ชาวยิปซี และคนขาวอื่นๆ) คิดเป็น 4.2% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
คำว่า Other White อาจดูเหมือนเป็นเพียงการแบ่งกลุ่มชาติพันธุ์เชิงเทคนิคสำหรับจุดประสงค์บางอย่าง ขณะเดียวกันก็อาจสะท้อนให้เห็นถึงการกีดกันกลุ่มคนบางกลุ่มออกไป ด้วยการสร้างนิยามความเป็นอื่นขึ้นมา เพราะจากข้อมูลหรือการใช้คำเหล่านี้นั้น อาจนำไปสู่การสร้างเส้นแบ่งระหว่างมนุษย์ได้
ชาวไอริชกับประวัติศาสตร์การเป็นคน (ที่ยังไม่) ขาว
เพื่อให้ทุกคนได้เห็นนิยามของคำว่า Other White อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้าได้ชัดเจนขึ้น ในกรณีนี้เราจะขอพาไปดูผ่านประวัติศาสตร์ของชาวไอริช หรือชาวไอร์แลนด์ เพราะพวกเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มคนขาวที่ถูกกีดกันจากคนขาวด้วยกันเอง แม้ตำแหน่งที่ตั้งจะไม่ได้ห่างไกลจากยุโรปภาคพื้นทวีป หรือแทบติดกับอังกฤษแบบข้ามทะเล แต่ชาวไอริชกลับต้องเผชิญกับการถูกมองว่าเป็นอื่นมาเป็นเวลายาวนาน
แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องราวการถูกกีดกันของชาวไอริช เราขอเริ่มกันที่ต้นกำเนิดของประเทศไอร์แลนด์แบบรวบรัดกันสักนิด เพราะพื้นที่ประเทศไอร์แลนด์ปัจจุบันนั้น ถูกผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนผู้ปกครองมาหลายกลุ่มชนชาติ เริ่มต้นตามความเชื่อดั้งเดิมในไอร์แลนด์ มีกลุ่มคนซึ่งถูกขนานนามว่า ‘Tuatha Dé Danann’ ชนเผ่าของเทพีดานู (เทพีตามตำนานปกรณัมของไอร์แลนด์) อาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้มาเป็นเวลานาน กระทั่งชาวเกลส์ (Gaels) จากชนเผ่าเคลต์ (Celts) เข้ามายึดและปกครองดินแดนนี้
ต่อมาราวๆ ศตวรรษที่ 8 เกาะไอร์แลนด์ถูกรุกรานอีกครั้งโดยชาวไวกิ้งจากแถบสแกนดิเนเวีย จนก่อให้เกิดสงครามที่กินเวลาไปกว่า 2 ทศวรรษ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วชาวไวกิ้งก็ได้พ่ายแพ้ไป ทว่าความวัวยังไม่ทันหายดี ราวๆ ศตวรรษที่ 12 ชาวนอร์มันจากเกาะอังกฤษก็ได้บุกรุกและทำสงครามกับไอร์แลนด์ เพื่อหวังจะปกครองดินแดนแห่งนี้ และในปี 1300 ชาวนอร์มันจึงสามารถควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่บนเกาะได้
หนึ่งในปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นระหว่างอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ คือความไม่ลงรอยกันทางศาสนา ชาวไอริชส่วนใหญ่นับถือนิกายคาทอลิก ส่วนอังกฤษนับถือนิกายโปรเตสแตนต์ จากการเปลี่ยนศาสนาในช่วงสมัยของกษัตริย์เฮนรี่ที่ 8 นอกจากนี้ในปี 1542 พระองค์ยังได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์แห่งไอร์แลนด์ พร้อมบีบบังคับให้ชาวไอร์แลนด์ล้มเลิกประเพณี ภาษา และวัฒนธรรมดั้งเดิม ตลอดจนเปลี่ยนให้ไอร์แลนด์มานับถือคริสต์นิกายเดียวกับฝั่งอังกฤษด้วย
การเข้ามาของอังกฤษกลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความขัดแย้งระหว่าง 2 ชนชาติ แถมในช่วงปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ของอังกฤษ (ปี 1688–1689) ชาวไอริชยังถูกตั้งข้อหากบฏ เนื่องจากเข้าข้างพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ผู้เป็นคาทอลิกด้วย อีกทั้งในปี 1800 ยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติสหภาพ’ ซึ่งเป็นการควบรวมอังกฤษและไอร์แลนด์เข้าด้วยกันภายใต้สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ ทั้งหมดนี้จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงรอยร้าวในความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศให้เห็นเด่นชัดมากขึ้น
ความอดอยากครั้งใหญ่ของชาวไอริช (An Gorta Mór) หรือช่วงสภาวะขาดแคลนอาหาร เกิดขึ้นในช่วงปี 1845–1849 ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงหลายด้านในไอร์แลนด์ หนึ่งในนั้นคือ การอพยพย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ของชาวไอริชไปสู่สหรัฐอเมริกา โดยข้อมูลจากหอสมุดรัฐสภา (Library of Congress) ระบุว่า ในช่วงทศวรรษ 1840 ชาวไอริชคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของผู้อพยพทั้งหมดย้ายไปยังประเทศนี้
ดังนั้น จากประวัติศาสตร์อันยาวนานของชาวไอริช ทุกคนน่าจะเริ่มเห็นถึงสาเหตุของการแบ่งแยกและการกีดกันระหว่างคนขาวด้วยกันเอง ไม่ว่าจะด้วยความแตกต่างทางศาสนา ทั้งกับชาวไอริชฝั่งยุโรปเอง หรือกระทั่งฝั่งสหรัฐฯ รวมถึงการมาอยู่ในสหรัฐฯ ในฐานะผู้อพยพเอง โดยประชากรในเมืองบอสตันที่เพิ่มขึ้นกว่า 30% ส่งผลให้การจ้างงาน การจัดสรรปันส่วน ที่อยู่อาศัย และความสัมพันธ์ระหว่างประชากร เกิดความตึงตัว
ตัวเลขข้างต้นถูกระบุเอาไว้ในงานศึกษาของโนเอล อิกเนเทียฟ (Noel Ignatiev) นักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาวไอริช ผ่านหนังสือ How the Irish Became White (1995) แถมยังอธิบายเอาไว้อีกว่า ชาวไอริชมักถูกพรรณนาว่ามีเชื้อชาติที่แตกต่างไปจากประชากรผิวขาว ตลอดจนผู้ที่มีเชื้อสายแองโกล-แซกซอนด้วย
อีกหนึ่งหลักฐานที่สอดคล้องไปกับคำอธิบายของโนเอลคือ หนังสือแนววิทยาศาสตร์เทียม (pseudoscience) อย่าง Comparative Physiognomy (1852) ของเจมส์ เรดฟิลด์ (James Redfield) ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความเกลียดชังต่อชาวไอริช โดยมีการบรรยายลักษณะและเปรียบเทียบโครงสร้างหน้าของชาวไอริชกับสุนัข แถมยังบรรยายว่าโครงหน้าลักษณะดังกล่าวทำให้ชาวไอริชมีนิสัยดุร้ายและขี้ขลาด
แนวคิดดังกล่าวยังได้ถูกปลูกฝัง และกลายมาเป็นอคติของชาวอเมริกาต่อชาวไอริช ในช่วงเวลาถัดมาซึ่งเป็นยุคที่เกิดภาพการ์ตูนล้อเลียนขึ้น ชาวไอริชเองจึงตกเป็นอีกหนึ่งกลุ่มคนที่ถูกนำเสนอ โดยมักถูกวาดออกมาให้มีลักษณะใบหน้าที่แตกต่างจากคนขาวทั่วไป ตลอดจนอุปนิสัยที่จะเป็นคนพูดจากระโชกโฮกฮาก ดุร้าย และเสียงดัง
ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่ผ่านไปนานโข ช่วงยุคหลังมานี้คงเป็นคนขาวเหมือนกันไม่มีแบ่งแยกแล้ว ทว่าความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะยังมีชาวไอริชอีกจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าตนถูกกีดกันทั้งในสหรัฐฯ และอังกฤษ ลุค ฮอลแลนด์ (Luke Holland) ได้นำเสนอเรื่องราวความไม่เป็นคนขาวของชาวไอริชไว้ใน The Irish Times สำนักข่าวสัญชาติไอริช เมื่อปี 1999 ว่าตัวเขาในฐานะคนไอริชยังคงถูกมองจากคนอื่นว่า ไม่ใช่คนขาวเหมือนชาติอื่น แต่เป็นชาวไอริช
อีกทั้งในเนื้อหาของลุค ฮอลแลนด์ ยังได้อ้างอิงข้อมูลจากคณะกรรมการเพื่อความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ (CRER) ของสหราชอาณาจักร ซึ่งระบุเอาไว้ว่า ไอริชถือเป็น ‘ชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษ’ และมักถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงานหรือในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะคนที่เกิดในสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (Republic of Ireland) ที่ได้รับผลกระทบหนักกว่าคนที่มาจากไอร์แลนด์เหนือ
นั่นจึงสะท้อนให้เห็นว่า แม้จะผ่านมากว่าศตวรรษ แต่การแบ่งแยก การกีดกัน ตลอดจนการผลักให้ชาวไอริชเป็นอื่นในสังคม หรือ Other White ยังอาจมีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงปฏิบัติ
ท้ายสุดแล้วการแบ่งแยกและกีดกันระหว่างบุคคล ไม่ว่าจะมาจากเรื่องของเชื้อชาติ สีผิว ความเชื่อ หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องตระหนักกันอย่างจริงจัง เพราะการแบ่งแยกเหล่านี้นี่แหละ คือต้นตอสำคัญซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงมากขึ้นในอนาคต
และคงจะดีกว่า ถ้าเราทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งแยกให้ใครต้องเป็นอื่นในสังคม
อ้างอิงจาก