ช่วงนี้เรายังอยู่ในบรรยากาศการถกเถียงเรื่องความสวยงามและความล้ำสมัยของสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะการกลับมาของ World Expo ที่จัดขึ้น ณ เมืองโอซาก้า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทุกประเทศ รวมถึงภาคส่วนต่างๆ จะได้แสดงความก้าวหน้าผ่านตัวนิทรรศการ และที่สำคัญคือการออกแบบอาคารในพื้นที่งานนั้นๆ
ถ้าเรามองย้อนไป กระบวนการขับเคลื่อนวงการสร้างสรรค์ ซึ่งส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับ World Expo ด้วยคือ การ ‘ประกวดแบบ’ หรือ design competition โดยหนึ่งผลผลิตสำคัญจาก World Expo คือ หอไอเฟล ที่เป็นงานออกแบบที่เริ่มจากการจัดประกวดการออกแบบสิ่งก่อสร้าง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของงานที่เป็นการฉลองครบรอบ 100 ปีการปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี 1889 ซึ่งบริษัทของกุสตาฟ ไอเฟล ได้ชนะการประกวดนี้ในปี 1887
สำหรับกรณีไทยพาวินเลียนที่โอซาก้า ทางเพจเฟซบุ๊ก Maipatana ระบุว่า “โครงการนี้เป็นประกวดแบบ แต่ไม่ใช่แค่ประกวดแบบอาคารนะ ประกวดแผนงานทั้งหมดเลย” หมายถึง มีการจัดการแข่งขันโดยรวมทั้งภาพรวมนิทรรศการ แผนงาน และการออกแบบอาคารทั้งระบบ
เวลาเราพูดถึงการออกแบบสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะการปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างสาธารณะ ไปจนถึงการแสดงออกทางความคิด การเสนอไอเดียต่างๆ การจัดประกวดแบบจึงถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญ ที่ไม่ได้จำกัดแค่ในวงการสถาปัตยกรรม แต่ยังรวมถึงวงการสร้างสรรค์ในภาพรวมด้วย
ในวันที่เราหันมาสนใจความก้าวหน้าด้านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ The MATTER จึงชวนย้อนดูประเด็นเรื่องการประกวดแบบ ซึ่งเป็นกิจกรรมอันยาวนานของวงการศิลปะและการออกแบบ จากการประกวดแข่งขันทางสถาปัตยกรรมตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 15 (ราวปี 1410) ที่เมืองฟลอเรนซ์ไม่สามารถก่อสร้างโดมขนาดใหญ่ของมหาวิหารได้ ใช่แล้วโดมสีขาวที่เราเห็นในเกมอัสแซสซินส์ ครีด นั่นแหละ เรื่อยมาจนถึงการประกวดแบบล่าสุด ที่สนุกถึงขนาดเปลี่ยนพื้นที่โบสถ์เก่าเป็นสระว่ายน้ำ
สร้างมหาวิหารด้วยเปลือกไข่
การประกวดแบบเป็นกิจกรรมที่ฟังดูสมัยใหม่ แต่จริงๆ เป็นกิจกรรมเก่าแก่ของโลกตะวันตก หนึ่งในการประกวดแบบสำคัญคือ การที่กรีกทำการฟื้นฟูเมืองหลังจากที่ถูกเซิร์กซีส (Xerxes) กษัตริย์เปอร์เซียเข้ายึดครองกรุงเอเธนส์ ภายหลังเมื่อขับไล่เปอร์เซียออกไปได้ สภากรุงเอเธนส์ก็เริ่มฟื้นฟูและก่อร่างเมืองขึ้นใหม่ ด้วยการจัดประกวดให้สถาปนิกและวิศวกรเสนอโครงสร้างงานออกแบบขนาดใหญ่ เพื่อแสดงถึงชัยชนะ จุดสำคัญของการแข่งขันในครั้งนั้นอยู่ที่การซ่อมแซม และสร้างวิหารของเทพีอาธีน่าที่พังเสียหาย จนกลายเป็นหัวใจของอะโครโพลิส (Acropolis)
หลังจากนั้น การประกวดแบบจึงกลายเป็นกิจกรรมสำคัญของโลกตะวันตก ซึ่งถือเป็นการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วม การสนับสนุนศิลปินและช่างฝีมือ แม้การประกวดแบบจะเริ่มถดถอยลงในยุคกลาง และก็สามารถกลับมาเฟื่องฟูได้อีกครั้งในสมัยเรเนซองส์ เป็นยุคสมัยที่นอกจากจะฟื้นฟูอารยธรรมของกรีกโรมันกลับขึ้นมาแล้ว มนุษย์ยังร่วมกันนำเอาศิลปะ สถาปัตยกรรม และงานออกแบบทะลุขีดจำกัดที่เคยมีมาด้วยการประกวดแบบนี้
หนึ่งในงานประกวดแบบครั้งสำคัญที่ทำให้เรามีมรดกโลกคือ การสร้างมหาวิหารแห่งกรุงฟลอเรนซ์ (Florence Cathedral) มหาวิหารสีขาวที่มาพร้อมโดมขนาดใหญ่ใจกลางเมือง โดยกรุงฟลอเรนซ์นั้นเป็นเมืองศูนย์กลางสำคัญของการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ และเป็นเมืองที่มีการอุปถัมภ์ศิลปินและช่างฝีมือแขนงต่างๆ อย่างแข็งขัน
ในแง่ประวัติศาสตร์ มหาวิหารแห่งเมืองฟลอเรนซ์มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาก เนื่องด้วยเริ่มการก่อสร้างในช่วงรอยต่อระหว่างยุคกลางสู่ยุคสมัยใหม่ตอนต้น ซึ่งนับเวลาสิริรวมถือกันว่าใช้เวลาก่อสร้างยาวนานถึง 142 ปี ด้วยทั้งเปลี่ยนผู้อุปถัมภ์ ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และมีการออกแบบโดยมีสถาปนิกและช่างฝีมือเข้าร่วมมากมาย
แต่จุดสำคัญที่สุดของมหาวิหารแห่งเมืองฟลอเรนซ์คือ การที่มหาวิหารที่ใช้สถาปัตยกรรมแบบโกธิกนี้ ออกแบบให้มีโดมขนาดใหญ่เป็นหัวใจของมหาวิหารโดยสร้างกำแพงและพื้นที่อาคารขึ้นไปแล้ว แต่เทคโนโลยีและความรู้ทางสถาปัตยกรรมในขณะนั้น (คือปี 1400-1420) ยังไม่สามารถสร้างโดมที่มีขนาดใหญ่เท่าที่วางไว้ได้
อันที่จริงในยุคนั้น การเป็นศูนย์กลางของการฟื้นฟูศิลปวิทยาการมาจากความมั่งคั่ง และผู้สนับสนุนสำคัญที่เราอาจเคยได้ยินคือ ตระกูลเดอ-เมดีซี (De’ Medici) ทีนี้ในช่วงนั้น เมืองฟลอเรนซ์รวมถึงการสร้างมหาวิหารเป็นพื้นที่การประกวดแบบแข่งขันในหลายจุดของการร่วมก่อสร้าง มีการแข่งขันใหญ่ๆ 2 ครั้ง โดยมีผู้เข้าแข่งขันซึ่งถือเป็นระดับปรามาจารย์ 2 ท่าน คือ โลเรนโซ กีแบร์ตี (Lorenzo Ghiberti) ปรมาจารย์และช่างผู้เชี่ยวชาญด้านทองคำ และ ฟีลิปโป บรูเนลเลสกี (Filippo Brunelleschi) ผู้ซึ่งต่อมาได้สมญาว่าเป็นบิดาของสถาปัตยกรรมเรเนซองส์ สำหรับการแข่งขันสำคัญแรกนั้น กีแบร์ตีคือผู้ชนะ และได้รับงานทำประตูสำริดไป
การแข่งขันครั้งที่ 2 ที่ถือเป็นการแข่งขันระดับตำนาน- ซึ่งตรงนี้เองก็อาจเป็นตำนานเรื่องเล่าด้วยส่วนหนึ่ง ในตำนานนี้เล่าถึงการประกวดทางสถาปัตยกรรม เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการสร้างโดมยักษ์นี้ โดยในการแข่งขันเล่าขานว่า ฟีลิปโป บรูเนลเลสกี ซึ่งอยู่ในที่ประชุมของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างบรรดาช่าง สถาปนิก และขุนนาง เดินเข้ามาโดยไม่มีแปลนอะไรเลย แต่นำไข่ไก่เข้ามาแค่ใบเดียว
ในที่ประชุมบรูเนลเลสกีเสนอให้ทุกคนทำไข่ไก่ให้ตั้งขึ้นได้ แต่ก็ไม่มีใครทำได้สำเร็จ จนบรูเนลเลสกีได้ทำการตอกไข่ไก่ แล้วจึงนำเปลือกไข่ 2 ฝั่งมาวางซ้อนกัน ตรงนี้เองเลยเป็นการสรุปแนวคิดของการสร้างโดมขนาดใหญ่ ด้วยการสร้างโดมซ้อนกัน 2 ชั้น แล้วใช้โครงสร้างไม้ที่ออกแบบเหมือนกระดูกมาพยุงโดมทั้ง 2 ไว้ ซึ่งนวัตกรรมทางสถาปัตยกรรมดังกล่าวก็ใช้ได้จริง บรูเนลเลสกีจึงชนะการประกวดแบบในปี 1418 และได้เริ่มก่อสร้างโดมขึ้นในปี 1420 สุดท้ายแล้ว อาคารมหาวิหารรวมถึงโดมดังกล่าวก็ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 1436
เปลี่ยนวิหารเป็นสระว่ายน้ำศักดิ์สิทธิ์?
การประกวดแบบเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลา เป็นวิธีการที่วงการสร้างสรรค์ใช้มองหาคำตอบ หรือแนวทางใหม่ๆ ด้วยการเปิดประกวดแบบอยู่เสมอ ซึ่งเป็นการประกวดที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ด้วยความที่เราพูดถึงพื้นที่ทางศาสนา ล่าสุดที่เนเธอแลนด์ นำโดยสตูดิโอสำคัญสัญชาติเนเธอแลนด์ของโลกอย่าง MVRDV ได้ชนะการประกวดแบบในการรีโนเวตโบสถ์เก่าแก่ โดยไม่ได้เปลี่ยนโบสถ์ให้กลายเป็นพื้นที่ศาสนา แต่ปรับให้เป็นพื้นที่สาธารณะชุมชนด้วยการทำ ‘สระว่ายน้ำ’ แถมใช้ชื่อว่า น้ำมนต์ หรือ Holy Water
หัวใจสำคัญของการปรับปรุงโบสถ์ที่ล้ำหน้าและน่าสนใจนี้ คือการเข้าแข่งขันประกวดแบบนี่แหละ โดยโปรเจ็กต์ Holy Water เป็นการปรับปรุงโบสถ์ที่ชื่อว่า St. Francis of Assisi Church ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเฮเลิร์น (Heerlen) ของเนเธอแลนด์ ตัวโบสถ์นั้นเป็นสถาปัตยกรรมคริสต์ที่สร้างขึ้นในยุคศตวรรษที่ 20 โดยมีจุดเด่นคือโถงและการก่ออิฐสีแดงที่สวยงาม
ความน่าสนใจคือ ข้อเสนอของการเปลี่ยนพื้นที่โบสถ์เก่าในครั้งนี้ ฟังดูเปลี่ยนแปลงการใช้งานของโบสถ์ไปโดยสิ้นเชิง แต่ผู้ออกแบบกลับระบุว่า การปรับการใช้พื้นที่ในครั้งนี้เป็นการ ‘ฟื้นบทบาททางสังคม’ ของพื้นที่โบสถ์ นั่นคือการเป็นพื้นที่ชุมชนที่ชุบชีวิตให้พื้นที่ในกำแพงอิฐเหล่านี้มีชีวิตอีกครั้ง
ในการฟื้นฟูนี้ นอกจากจะเปลี่ยนโถงหลักเป็นสระว่ายน้ำแล้ว ยังออกแบบให้สระว่ายน้ำมีลักษณะเหมือนกระจก ที่สะท้อนความโอ่โถงและสถาปัตยกรรมของโบสถ์ จนบางมุมดูคล้ายกับว่า ผู้คนกำลังเดินอยู่บนผิวน้ำ โดยตัวสระว่ายที่ออกแบบใหม่นี้ จะเน้นการใช้งานเพื่อตอบรับผู้ใช้งานที่หลากหลายในทุกช่วงอายุ
ทั้งนี้ ทางทีมออกแบบยังระบุว่า ส่วนประกอบของโบสถ์ที่เปราะบางจะมีการรักษาไว้อย่างดี และการปรับปรุงพื้นที่ใหม่จะเน้นการเคารพพื้นที่เดิม ซึ่งจุดนี้น่าสนใจว่า การทำให้พื้นที่มีชีวิตอีกครั้ง และการปรับปรุงโบสถ์เป็นสระว่ายน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูเมืองในภาพกว้าง นั่นคือมีการฟื้นฟูบริบทรอบๆ ไปด้วยกัน ซึ่งถือเป็นการขยายและนิยามความหมายใหม่ ให้กับการใช้งานในพื้นที่ที่เสื่อมโทรมไปแล้วให้กลับมาน่าสนใจ และตอบสนองกับบริบท หรือความต้องการของชุมชนโดยรอบอีกครั้ง
ทั้งหมดนี้คือการย้อนกลับไปดูพลังของการประกวดแบบ การเปิดการแข่งขัน และการรับแนวความคิดใหม่ๆ ที่หลายครั้งทำให้ความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะพื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่สาธารณะของเรา ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างน่าสนใจ
อ้างอิงจาก