“Cogito, ergo sum” แปลว่า “I think, therefore I am” หรือ แนวคิดเรื่องการใช้ชีวิตให้คุ้มที่พูดกันเท่ๆ ว่า “Carpe diem” ไปจนถึงคำที่เราอาจจะเจอบ่อยๆ เช่น “vice versa” ในภาษาพูดและเขียนอันหมายความถึงการมองหรือการเป็นไปในด้านกลับ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นวลีจากภาษาละตินที่ยังคงมีชีวิตมาจากอดีตอันไกลโพ้น แม้แต่ในบ้านเราเอง ถ้อยคำและความคิดจากภาษาที่ดูห่างไกลนั้น อันที่จริงก็อาจจะอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด
แน่นอนว่าภาษาละตินเป็นรากอันสำคัญของภาษาและอู่อารยธรรมของตะวันตก วลีและถ้อยคำภาษาละตินอันที่จริงเป็นสิ่งที่แทบจะปรากฏอยู่ทุกหนแห่งเพียงแค่เราลองสังเกตดู เราก็อาจจะพบร่องรอย กระทั่งพบภูมิปัญญาความคิดที่ยังคงความหมายบางอย่างอยู่ วลีเช่นชีวิตสั้นศิลปะยืนยาว ความรักชนะทุกสิ่ง หรือกระทั่งคำขวัญเช่นจงเตรียมพร้อมนั้น ก็ล้วนเป็นการสืบทอดวลีหรือคำขวัญที่มาจากภาษาละตินที่อาจจะเก่ามากบ้างเช่นมาจากยุคคลาสสิก หรือบ้างก็มาจากยุคที่หลังกว่านั้นเช่นยุคสมัยใหม่
ถ้าเรามองไปในพื้นที่ต่างๆ เราจะเห็นว่าพื้นที่สมัยใหม่ เช่น สถาบันทางการศึกษา สถาบันทางการทหาร ไปจนถึงระดับการบริหารรัฐในโลกตะวันตกนั้น มักจะมีการใช้คำขวัญหรือภาษิตภาษาละตินในการยึดถือหรือสร้างจริยธรรมบางอย่างให้กับองค์กรหรือสถาบันนั้นๆ ส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับการที่วัฒนธรรมตะวันตก เชื่อถือและย้อนกลับไปหาภูมิปัญญาอันยิ่งใหญ่และนำกลับมาปัดฝุ่นให้กลายเป็นแนวทางหรือพันธกิจในการทำงานกระทั่งใช้ชีวิต และแน่นอนว่าการกลับไปฟื้นวิธีคิดจากกรีกและลาตินในช่วงหลังยุคกลางนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคติและแนวทางที่ค่อนไปในทางโลกย์ พูดถึงการอยู่ในโลกใบนี้อย่างปุถุชน ดิ้นรน และแสวงหาแนวทางที่เหมาะควรตามวิถีของโลกสมัยใหม่ ตลอดจนงานเขียนสำคัญหลายชิ้นก็ถูกเขียนขึ้นด้วยภาษาละตินหรือมีภาษาละตินประกอบ
ในโอกาสขึ้นปีใหม่นี้ The MATTER จึงชวนไปรู้จักวลี—หรือคำขวัญ—ภาษาละตินที่ทั้งชวนให้ฉุกคิด หรืออาจจะเป็นถ้อยคำที่เราแสนจะคุ้นเคยว่าแท้ที่จริงแล้วมีที่มาที่ไปจากที่ไหน โดยถ้อยคำทั้งหลายนี้ล้วนเป็นคำขวัญที่เป็นที่นิยมและเราเองก็อาจจะใช้ยึดถือเป็นแนวทางหรือใช้เพื่อร่วมทำความเข้าใจโลกใบนี้ด้วยได้บ้าง ซึ่งแม้ว่าภาษาละตินจะเป็นภาษาที่ตายไปแล้ว แต่ถ้อยคำเหล่านี้ก็ยังถูกใช้งานได้ในภาษาต่างๆ นอกจากในแง่ความคิดแล้ว การใช้วลีเหล่านี้สอดแทรกลงไป มันก็เท่และทำให้ทักษะภาษาของเราซับซ้อนมากขึ้นด้วย
“Amor Vincit Omnia”
[Love Conquers All. | ความรักชนะทุกอย่าง]
เราทุกคนต่างเคยได้ยิน และเคยอยากจะเชื่อถ้อยคำสำคัญเรื่องรัก ในโลกนี้จะมีอะไรแข็งแรงเกินความรัก แน่นอนความรักชนะทุกอย่าง จริงหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ แต่แน่นอนความรักเป็นสิ่งอันทรงอำนาจ เป็นเครื่องนำทางมนุษย์ไปสู่อะไรหลายอย่าง ทีนี้วลีอันโด่งดังนี้มาจากบทกวีโบราณ เก่าขนาดเป็นยุคก่อนคริสตกาล คือปรากฏในบทกวีของเวอร์จิล กวีชาวโรมันอันยิ่งใหญ่ ความรักชนะทุกสิ่งนี้ปรากฏใน Eclogue บทกวีที่เชื่อว่าเวอร์จิลเขียนขึ้นเป็นชิ้นแรก ตัวเรื่องเล่าถึงชายคลั่งรักที่กำลังเป็นบ้าจริงๆ แม้ทวยเทพจะไต่ถาม แต่ชายคลั่งรักนั้นก็ยืนยันที่จะยังอยู่ในรักแม้จะต้องรวดร้าวแค่ไหน ในกลอนบทท้ายๆ ตัวพระเอกก็ได้กล่าวอมตะวาจาว่า ความรักชนะทุกสิ่ง ขึ้นมาในตอนจบ ซึ่งถ้อยคำนี้หลังจากนั้นนับพันปีก็กลับมามีชีวิตอีกครั้งไม่ว่าจะในงานเขียน The Divine Comedy ที่ในเรื่องให้เวอร์จิลนำทางดันเตไปเที่ยวนรก ไปจนถึงการกลายเป็นภาพวาดเรื่องชัยชนะของความรัก เป็นภาพคิวปิดในแบบต่างๆ
“Dum spiro, spero”
[While I breathe, I hope. | อย่าหมดหวังถ้ายังมีลมหายใจ]
ยังมีหวัง ถ้ายังมีลมหายใจ ฟังดูทรงพลัง วลีนี้ก็มีที่มาเก่าแก่เช่นกัน หลักฐานเก่าแก่ของคนที่พูดเนื้อความในทำนองนี้คือกวีกรีกโบราณชื่อ Theocritus ถ้อยคำในบทกวีกล่าวว่า “เมื่อยังมีชีวิต ก็ยังมีความหวัง คนตายเท่านั้นที่หมดสิ้นซึ่งความหวัง” (While there’s life there’s hope, and only the dead have none.) แต่ต่อมาคนที่ทำให้วลีนี้ดังขึ้นคือ ซิเซโร (Cicero) นักปกครองชื่อดัง ในจดหมายที่ซิเซโรเขียนถึงสหายคนสำคัญได้ใช้วลีนี้โดยเขียนในความหมายทำนองเดียวกันคือ “Aegroto, dum anima est, spes esse […]” (While there is life there is) ภายหลังวลีดังกล่าวก็ได้รับการดัดแปลงให้ไพเราะขึ้น เป็นวลีที่ถูกนำไปใช้ในหลายที่โดยเฉพาะคำขวัญประจำเมืองจากความรักษาความหวังและการมองโลกในแง่ดี เช่น รัฐนอร์ทแคโรไลนาที่นำไปประดับบนตราประจำเมือง หรือที่เมืองเซนต์แอนดรูวส์ที่สกอตแลนด์ก็ใช้เป็นคำขวัญประจำเมืองด้วย
“Ut ameris, amabilis esto”
[To be loved, be lovable. | ถ้าอยากเป็นที่รัก ก็จงเป็นคนน่ารัก]
ง่ายๆ แบบนี้เลยเนอะ ถ้าคุณอยากจะถูกรัก อยากจะเป็นที่รัก แต่ไม่มีตรงไหนที่จะรักได้ลง มันก็ไม่รอด วลีที่เรียบง่ายนี้มาจากกวียุคคลาสสิกอีกแล้ว สัจธรรมแสนง่ายนี้เป็นถ้อยคำของ โอวิด (Ovid) กวีคนสำคัญชาวโรมัน เขียนไว้หนังสือว่าด้วยความรักในชื่อตรงไปตรงมาชื่อ The Art of Love หรือ Ars Amatoria บทกวีชุดนี้เป็นคล้ายๆ ตำราว่าด้วยศิลปะของความรัก หลายช่วงโอวิดก็จะใช้พวกตัวอย่างเป็นตัวละครจากตำนานมาอธิบายเรื่องความรักและการการสร้างความรัก ในช่วงเกิดวลีที่ง่ายๆ นี้ อันที่จริงโอวิดกำลังชี้ให้เห็นว่า ในการจะรักกันได้ คนสองคนต้องมีเงื่อนไขบางอย่าง และต้องเริ่มจากลักษณะที่รักได้ (loveable) ซึ่งเป็นเรื่องที่นิยามยาก แต่เป็นบางอย่างที่พ้นไปจากการพึงใจกันจากรูปลักษณ์ภายนอก อันที่จริงงานเขียนชิ้นนี้น่าสนใจในแง่ทั้งการอ้างอิงเรื่องความรักความสัมพันธ์ในหลายๆ เงื่อนไข ไปจนถึงการสำรวจในเชิงปรัขญาและแนวทางเพื่อการรักอย่างมีคุณภาพ
“Acta non verba”
[Deeds, not words. | การกระทำสำคัญกว่าคำพูด]
การกระทำสำคัญกว่าคำพูด วลีนี้ชัดเจนและหลายครั้งก็เป็นความจริงว่าการกระทำหนักแน่นมากกว่า สำหรับวลีนี้อาจจะไม่ได้เก่าแก่มาก แต่เป็นคำขวัญของวิทยาลัยพาณิชย์นาวี The United States Merchant Marine Academy (USMMA) วิทยาลัยหนึ่งของโรงเรียนเตรียมทหารของสหรัฐอเมริกา ภายหลังในหลายเกมที่เกี่ยวกับสงครามก็มีการสลักคำขวัญนี้ลงไปในอาวุธ หรือเป็นคำขวัญประจำทีม สำหรับ “Acta non verba” อาจจะเขียนว่า “Facta non verba” ซึ่งหลายโรงเรียนในสหรัฐอเมริกาใช้เป็นคำขวัญและมีความหมายแบบเดียวกัน
“Carpe noctem”
[Seize the night. | ใช้ราตรีให้เต็มที่]
วลีนี้เป็นวลีที่ล้อวลีว่า “Carpe Diem” หนึ่งในคำขวัญและวิธีการใช้ชีวิตที่สำคัญมากๆ ตัวแนวคิด Carpe Diem หมายถึงการเก็บเกี่ยวความสุขในทุกๆ วัน ทำนองใช้ชีวิตให้คุ้มค่า แปลตรงตัวว่า “Seize the day” อันที่จริงวลีและแนวคิดนี้ก็มีที่มาเก่าแก่เหมือนกันคือมาจากกวีนิพนธ์ของฮอร์เรส กวีโรมันในบทกวีชุด Odes ทำนองเป็นบรรสรรเสริญที่พูดเรื่องประเด็นต่างๆ เช่น ความรัก มิตรภาพ โดยหนึ่งในนั้นก็ได้มีแนวคิดเรื่องการใช้ชีวิตโดยใช้วันเวลาให้คุ้มค่า แนวคิดนี้สัมพันธ์กับอีกวลีที่เราอาจคุ้นหูคือ “Memento mori” หรือจงจดจำว่าเจ้าคือมนุษย์ (mortal) คือเราตายได้ และจะตาย จงใช้ชีวิตให้ดี ส่วนคำว่า “Carpe noctem” ก็เป็นวลีล้อว่าใช้เวลากลางคืนให้คุ้ม ไม่ว่าจะไปปาร์ตี้ ทำงาน หรือทำอะไรก็ตาม
“Semper paratus”
[Always ready. | จงเตรียมพร้อม]
ฟังแล้วนึกออกทันที “Semper paratus” แปลเป็นภาษาไทยว่าจงเตรียมพร้อม และวลีนี้เป็นคำขวัญที่หลายที่นำไปใช้รวมถึงลูกเสืออเมริกัน The American Boy Scouts (ABS) ก่อตั้งในปี ค.ศ.1910 ตัวคำขวัญนี้ถูกใช้ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและลาดตระเวน เช่น ยามชายฝั่งสหรัฐอเมริกา (United States Coast Guard) มีการแต่งเพลงมาร์ชในชื่อเดียวกัน และแน่นอนคำขวัญนี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของคติลูกเสือของไทยด้วย
Oderint dum metuant
[Let them hate, so long as they fear. | ปล่อยให้พวกเขาเกลียดท่าน ตราบเท่าที่ยังกลัวเกรงท่านอยู่]
วลีนี้อาจะฟังแล้วสับสนเล็กน้อย แต่สำหรับโลกที่ยังไงก็มีคนเกลียดเรา สิ่งที่วลีนี้หมายถึง คือ มันมีผู้คนที่เกลียดชังก็ปล่อยไป ในความเกลียดนั้นมีความกลัวปะปนอยู่ ตัววลีนี้มาจากยุคคลาสสิกและเกี่ยวข้องกับอำนาจและการปกครอง ตัววลีเดิมอ้างอิงกลับไปที่บทละครของกวีชื่อ ลูเซียส อัชชัส (Lucius Accius) และถูกนำมาอ้างอิงอีกครั้งโดยเซเนกา (Seneca) ที่เคยไปดูละครนักปรัชญาและนักรัฐศาสตร์ในความเรียงชื่อ On Anger ตัววลีดังกล่าวสัมพันธ์กับทรราชย์ที่บอกว่าตัวเองจะถูกเกลียดก็ไม่เป็นไร แต่คนที่เกลียดเขานั้นอย่างน้อยก็มีความกลัวด้วย ในแง่นี้ถ้าไม่นับเรื่องการใช้อำนาจที่รุนแรง หลายครั้งความรู้สึกบางอย่างเช่นความเกลียดชังก็มีควมรู้สึกอื่นๆ เจือปนอยู่ด้วย ถ้าเราถูกใครบางคนเกลียด แปลว่าเราเองก็มีอิทธิพลต่อคนคนนั้นอยู่
“Astra inclinant, sed non obligant”
[The stars incline us, they do not bind us. | ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน]
ขออภัยที่แปลฟังดูเป็นกำลังภายใน อันที่จริงภาษิตสั้นๆ นี้เป็นภาษิตเก่าแก่แต่ไม่ปรากฏที่มาชัดเจน ถ้าเรานึกภาพว่าภาษิตละตินที่มักมาจากยุคคลาสสิกนั้น แต่ทว่ากลับมีความยอกย้อนบางอย่าง ในที่นี้คำว่า ‘Astra inclinant’ ก็หมายถึงการกำหนดของดวงดาว ของโชคชะตา ที่ยุคนั้นน่าจะเชื่อว่าเราเองถูกชะตากำหนดมาแล้ว แต่ภาษิตนี้กลับให้ความหมายตรงข้าม คือ ชะตากำหนดก็จริง แต่มนุษย์อย่างเรานั้นก็ไม่ได้ถูกผูกมัดด้วยดวงดาวไปซะทั้งหมด เราเองกุมชะตาชีวิตตัวเองได้ ตรงนี้เองก็อาจจะแสดงความทะนงตนของมนุษย์ในการควบคุมชีวิตด้วยเจตจำนงของตัวเอง ถ้าเป็นในปัจจุบันก็อาจจะว่ามูเตลูได้ แต่ส่วนสำคัญคือตัวเราที่จะนำพาชีวิตของเราเอง ใช่ดวงดาว
“Illegitimi non carborundum”
[Don’t let the bastards grind you down | อย่าปล่อยให้คนเฮงซวยทำให้เรารู้สึกห่วย]
วลีนี้เป็นคำขวัญที่อาจจะประจำใจใครนับจากนี้ อันที่จริงไม่เชิงเป็นภาษิตละตินเก่า แต่เป็นเหมือนคำขวัญที่ล้อวลีละติน คำว่า ‘carborundum’ ไม่ใช่ภาษาละติน แต่หมายถึงสารประกอบซิลิคอนคาร์ไบด์ (silicon carbide) การใส่คำนี้มาเหมือนกับจะล้อภาษิตละติน “Nil desperandum” (Do not despair.) ที่ออกเสียงคล้ายกัน ความหมายโดยรวมก็ทำนองว่า อย่าให้คนเลี่ยๆ มาทำให้เราร่วงลงกับพื้น—ทั้งในเชิงกายภาพคือโดนซัดจนหมอบหรือในเชิงความรู้สึกที่อย่าเอาคนเฮงซวยมาใส่ใจ ตัววลีเริ่มต้นจากโค้ดลับในหน่วยข่าวกรองอังกฤษ และนายพลท่านหนึ่งก็เอาทั้งวลีคือ “Illegitimi non carborundum” เป็นคำขวัญประจำตัว ภายหลังก็ถูกนำไปใช้ซ้ำกระทั่งในเคมเปญหาเสียงของ แบร์รี โกลด์วอเตอร์ (Barry Goldwater) กลายเป็นส่วนหนึ่งของเพลงร้องเล่นของนักศึกษาฮาร์วาร์ดที่เอาวลีละตินที่มาต่อกันแล้วไม่ได้มีความหมายอะไร แต่สุดท้ายคตินี้คือ อย่าไปยอม
“Sapientia potentia est”
[Wisdom is power. | ความรู้คืออำนาจ]
ส่งท้ายด้วยวลีเรียบง่ายแต่มีที่มาที่ค่อนข้างเป็นรากฐานความรู้ และการมีอำนาจของมนุษย์เราในโลกสมัยใหม่ วลีว่าความรู้คืออำนาจนั้นมักจะอ้างกลับไปที่งานเขียนของ เซอร์ ฟรานซิส เบคอน ในงานเขียนชื่อ Meditationes Sacrae สมัยนั้นนักวิทยาศาสตร์ใช้ภาษาละตินในการบันทึกงาน ในงานเขียนดังกล่าวเบคอนเขียนวลีว่า “Ipsa scientia potestas est” แปลในทำนองเดียวกันว่า “Knowledge itself is power.” โดยประโยคที่รู้จักกันในปัจจุบันคือ “Scientia potentia est’ มาจาก Leviathan ของ โทมัส ฮอบส์ ผู้ซึ่งเคยเป็นเลขาของ ฟรานซิส เบคอน ว่าด้วยเรื่องการปกครอง ทฤษฎีการเมือง ซึ่งตอนหลังเราอาจจะคุ้นๆ เรื่องอำนาจกับความรู้จากงานทฤษฎีร่วมสมัยของ มิเชล ฟูโกต์ แต่โดยรวมคือในโลกสมัยใหม่ อำนาจมากจากความรู้ มาจากสติปัญญา จากการเข้าใจในสรรพวิชาและธรรมชาติ ไม่ใช่พละกำลัง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan