“Carpe Diem” หรือ “คาเปเดียม” คือคำที่เราได้ยินและพูดกันติดปากจากหนังเรื่อง Dead Poets Society
นี่คือหนึ่งในหนังที่ถูกเปิดฉายในมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง ทั้งในวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิชาภาพยนตร์โดยตรง และวิชาอื่นๆ ในสายสังคมศาสตร์ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นประตูบานแรกๆ ที่ชวนให้นักเรียน-นักศึกษาไทยจำนวนไม่น้อย ได้หันมาคิดคำนึง และตั้งคำถามกับชีวิตตัวเองว่า ในทุกวันนี้เรามีชีวิตของตัวเองจริงๆ มากน้อยแค่ไหนบ้าง?
Dead Poets Society เป็นหนังจากสหรัฐฯ ออกฉายอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มิถุนายน 1989 นำแสดงโดยนักแสดงมากฝีมืออย่าง โรบิน วิลเลี่ยมส์ รับบทเป็นครูคีทติ้ง ที่แม้จะถูกนักเรียนหลายคนมองว่ามีนิสัยพิลึก แต่เขาก็มีวิธีการสอนที่คล้ายกับหย่อนเมล็ดพันธุ์แห่งความสงสัย อันเรียกว่า ‘การตั้งคำถาม’ ให้กับเด็กเรียนในห้อง
“โอ้กัปตัน กัปตันของข้า” คือคำพูดในห้องเรียนที่กลายเป็นสิ่งติดอยู่ในหัวใจเด็กๆ นักเรียนและผู้ชมอย่างเราๆ มาเสมอ เช่นเดียวกับ ฉากการลุกขึ้นไปยืนบนโต๊ะ อันสื่อถึงชวนให้นักเรียนมองโลกในมุมใหม่ๆ
“ทำไมผมถึงขึ้นมายืนบนนี้ ใครรู้บ้าง” คีทติ้งถาม
“คุณอยากสูงขึ้นน่ะสิ” นักเรียนตอบ
“ผมยืนขึ้นบนโต๊ะของผม เพื่อเตือนตัวเองว่าต้องมองสิ่งต่างๆ ในมุมที่แตกต่างออกไปอยู่เสมอ ผมเห็นโลกต่างไปมากจากข้างบนนี้ พวกคุณไม่เชื่อผมเหรอ ลองมาลองยืนดูตรงนี้กันสิ” คีทติ้ง ชวนให้นักเรียนคิดว่า แม้ว่าเราจะมั่นใจว่ารู้จักบางสิ่งบางอย่างดีแล้ว แต่มันก็สำคัญเหมือนกันที่จะมองมันในมุมอื่นๆ บ้าง แม้ว่าความแตกต่างนั้นจะฟังดูแย่ๆ หรือทื่อๆ ในสายตาคนอื่นก็ตามที
ไม่เพียงแค่ชวนตั้งคำถาม คีทติ้งยังมีคำพูดติดปากว่า “คาเปเดียม” แน่นอนว่าความหมายของมันค่อนข้างลึกซึ้ง แต่ถ้าแปลแบบง่ายๆ มันก็คือการฉกฉวยวันเวลา ณ ปัจจุบันนี้ให้ดีที่สุด ทำชีวิตที่มีอยู่นี้ให้มันมีคุณค่าและพิเศษ โดยการตั้งคำถามนี่แหละ คือประตูสำคัญที่จะทำให้เราทำช่วงเวลาอันสำคัญอย่างที่ว่านั้นเกิดขึ้นได้
ชีวิตเราเป็นของเราแค่ไหน? ความฝันของเราคืออะไร? มันคือความฝันของเราจริงๆ หรือเป็นความฝันที่พ่อแม่กันแน่? สิ่งเหล่านี้คือคำถามที่คีทติ้งทิ้งเอาไว้กลางใจนักเรียนของเขา คีทติ้งไม่มีคำตอบให้ เพราะมันคือคำถามที่นักเรียนต้องถอดความหมายด้วยตัวเอง แม้ว่ามันจะยาก และอาจนำไปสู่ความเจ็บปวดที่ต้องเผชิญก็ตาม
“Find your own walk” คือคำตอบคีทติ้งพอจะช่วยแนะทางให้กับนักเรียนได้
มาถึงวันนี้ Dead Poets Society ได้มีอายุครบ 30 ปีแล้ว น่าสนใจว่ามรดกสำคัญที่หนังมอบไว้ให้นั้น ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ในยุคสมัยปัจจุบัน เมื่อการศึกษาในหลายๆ แห่ง กำลังติดอยู่กับวงจรของการแข่งขัน โรงเรียนกำลังใช้คะแนนชี้วัดในปลายภาคเรียน ว่าเป็นคุณค่าหนึ่งเดียวที่สำคัญที่สุด แต่กระบวนการที่ชวนให้นักเรียน-นักศึกษา เช่นเดียวกับความคาดหวังจากทางครอบครัว ที่ต้องการเห็นคะแนนและเป็นปลายทางเดียวของเด็กๆ
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีวัยรุ่นและครูอีกจำนวนไม่น้อย ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Dead Poet Society ในการลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่หัวใจมันเรียกร้อง แม้ว่ามันจะยากเย็น และเราอาจจะไม่มีทางรู้เลยว่ามันมีราคาที่ต้องจ่ายแพงแค่ไหนก็ตาม
แต่ถ้าไม่ลองดูสักครั้ง ก็คงจะไม่รู้ เรามักได้ยินประโยคทำนองว่า ชีวิตเกิดมาครั้งเดียวต้องใช้ให้คุ้มค่ากันอยู่บ่อยๆ แต่การใช้ให้คุ้มค่าในความหมายนี้ อาจรวมถึงการได้ตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อด้วยเหมือนกัน