ในโอกาสที่ Disney+ Hotstar ได้เข้ามาสนิทสนมกับพวกเรามากขึ้น เป็นเวลาเดียวกับที่เราต่างต้องการความปลุกปลอบ ถ้าถามว่าเมนเจ้าหญิงดิสนีย์หรือตัวละครไหนที่ชอบมากที่สุด และอยากให้ตัวละครไหนมีตัวตนออกมาร่วมสู้กับเราด้วยจริงๆ ผู้เขียนคงจะเลือก มู่หลาน
มู่หลาน (Mulan) เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นยาวลําดับที่ 36 ของดิสนีย์ ถือว่าประสบความสำเร็จใน box office กวาดรายได้ไป 304 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นที่รู้กันว่ามู่หลานไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าหญิง แต่เป็นนักรบ ซึ่งคติที่ได้จากเรื่องนี้เด่นๆ เลยคือความกตัญญูและความกล้าหาญ ซึ่งกล้าในที่นี้หมายถึงทั้งความกล้าในการปลอมตัวออกรบแทนพ่อ ช่วยชาติจากการรุกรานของศัตรู และยังมีความกล้าในการออกจากกรอบเพื่อเป็นตัวของตัวเองอีกด้วย
ที่จริงแล้วเรื่องของมู่หลานสร้างขึ้นมาจากตำนานพื้นบ้านของจีนโบราณ ซึ่งบันทึกไว้หลากหลายรูปแบบแตกต่างกัน แต่เวอชั่นดั้งเดิมที่สุดคือในสมัยราชวงศ์เว่ยเหนือ (ประมาณปี ค.ศ.386–534) เรียกว่าลำนำมู่หลาน (木兰辞, Mùlán Cí) ซึ่งต้นฉบับมีสั้นมากเพียง 392 ตัวอักษรเท่านั้น หลังจากนั้น มู่หลานก็ถูกประพันธ์ใหม่ในรูปแบบอื่นๆ แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย
ในสมัยราชวงศ์ถังเรื่องมู่หลานโด่งดังมาก สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะสถานะของผู้หญิงได้รับการยอมรับมากขึ้น (สมัยนั้นเป็นช่วงหนึ่งที่จีนมีจักรพรรดินี นอกจากนี้ยังมีความเชื่อทางลัทธิเต๋าที่พูดถึงสถานะผู้หญิงผู้ชายว่ามีความเท่าเทียมกันอีกด้วย) เลยจะเห็นตัวเอกที่เป็นหญิงปรากฏขึ้นในวรรณคดีหลายเรื่อง
มู่หลานเป็นหนึ่งในนางเอกที่เรื่องราวของเธอมีการนำไปเล่าเพื่อปลุกขวัญและให้กำลังใจทหารที่กำลังจะออกรบ
สมัยปลายราชวงศ์หมิงบทละครเรื่องมู่หลานได้รับความนิยมมาก ส่วนในสมัยราชวงศ์ชิงมู่หลานกลายมาเป็นตัวละครหนึ่งในวรรณกรรมสุย–ถัง แต่ละเวอร์ชั่นเนื้อหาของมู่หลานจะถูกดัดแปลงไปค่อนข้างมาก รายละเอียดค่อนข้างต่างกัน ตอนจบก็ไม่เหมือนกันเลย
บางสำนวนเล่าว่า มู่หลานไม่ได้แอบหนีออกไปรบแต่มีการบอกลาคนที่บ้านไว้ก่อน แม่ของมู่หลานยังมอบเข็มกับด้ายให้ติดตัวไปด้วย บางฉบับเล่าว่าตลอดระยะเวลา 12 ปี ในกองทัพ มู่หลานไม่เคยถูกจับได้เลยว่าเป็นหญิง แต่เลือกบอกความจริงเองในภายหลัง
ฉบับโบราณเล่าว่ามู่หลานพันเท้าและถอดผ้าพันออกเพื่อไปรบและตั้งใจว่าเมื่อกลับมาจะพันเท้าต่อเพื่อจะได้แต่งงานกับผู้ชายที่ดี (แต่เมื่อพิจารณาแล้ว ขนบพันเท้าเกิดขึ้นหลังจากยุคมู่หลาน และถ้ามู่หลานเคยพันเท้าจริงก็ไม่น่าจะออกไปรบไหว) บางฉบับเล่าว่าคุณพ่อของมู่หลานเสียชีวิตก่อนที่เธอจะเดินทางกลับมาถึงบ้าน ฉบับยุคหลังๆ เล่าว่าเป็นมู่หลานเองที่เสียชีวิต สาเหตุไม่ใช่เพราะรบกับข้าศึกแต่เป็นเพราะถูกบังคับให้เป็นนางสนมเลยเลือกที่จะฆ่าตัวตาย (ยิ่งเล่ายิ่งดาร์ก)
สำหรับใครที่เป็นแฟนหนังหรือซีรีส์จีนน่าจะคุ้นเคยกับการรีเมคของมู่หลานที่มีหลากหลายเวอร์ชั่น คล้ายๆ กับรีเมคแม่นาคพระโขนงหรือบ้านทรายทองของบ้านเรา นับคร่าวๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1920 เป็นต้นมา มีมู่หลานเกือบจะถึง 20 เวอร์ชั่นแล้ว ฉะนั้นผู้คนจึงค่อนข้างคุ้นเคยกับมู่หลาน เหมือนที่เราคุ้นเคยกับพจมานและพี่มากแม่นาค
นอกจากเวอร์ชั่นดิสนีย์หรือจากซีรีส์แล้ว ที่เมืองจีนเรื่องมู่หลานยังบรรจุอยู่ในบทเรียนของนักเรียนชั้น ม.ต้น ด้วย อารมณ์เดียวกับที่เด็กไทยเรียนนิทานพื้นบ้านหรือวรรณกรรมต่างๆ แต่สำหรับเรื่องมู่หลานในบทเรียนจะไม่เหมือนในอนิเมชั่น ไม่ได้มีมังกรออกมาหรือมีอิทธิฤทธิ์อภินิหาร แต่ข้อคิดที่นักเรียนจะได้คือเรื่องความกล้าหาญ ความจงรักภักดี ความกตัญญู การไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก การยึดถือในความถูกต้อง และที่เน้นย้ำมากคือ ความสำคัญของครอบครัว
เรื่องมู่หลานถือเป็นวรรณกรรมที่มีสัญลักษณ์แทรกอยู่ตลอดเรื่อง เช่นชื่อของนางเอกเอง มู่หลาน คือชื่อของดอกไม้—ดอกแมกโนเลีย (magnolia) เป็นดอกไม้ที่แทนความงามของผู้หญิงแต่แฝงไว้ด้วยความแข็งแกร่ง เพราะตัวกลีบดอกหนาและทนทานมาก ส่วนความหมายของดอกไม้ชนิดนี้ก็ลึกซึ้งและเข้ากับตัวมู่หลานมากๆ เพราะมันมีความหมายว่า ความมีคุณธรรมสูง มีจิตใจสูง สง่างามและความพยายามอย่างไม่ลดละ
คำพูดจากจักรพรรดิในเนื้อเรื่องเองก็กล่าวชมมู่หลานว่า ”ดอกไม้ที่บานสะพรั่งในความทุกข์ยากเป็นดอกไม้ที่หายากและสวยงามที่สุด” คําพูดนี้เปรียบว่า มู่หลานเป็นดอกไม้ที่หายาก เธอได้กลายเป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่งหลังจากการผจญภัยอันยิ่งใหญ่ โดยในแอนิเมชั่นจะเห็นดอกแมกโนเลียปรากฏในเรื่องหลายครั้ง ทั้งในรูปแบบเครื่องประดับหรือในฉากต่างๆ เช่นในเพลง Reflection ที่โด่งดังมากโดยเนื้อเพลงแสดงถึงการสะท้อนตัวตนและการค้นหาตัวเอง
เพลงถือเป็นจุดเด่นหนึ่งของการ์ตูนและหนังของดิสนีย์ โดยมักเล่าเรื่องผ่านบทเพลง ซึ่งนอกเหนือจากเพลงจะเพราะติดหูแล้ว เนื้อร้องยังมีความหมายแฝงไว้มากมาย อย่างในเรื่องมู่หลาน คำร้องก็มีสัญลักษณ์หรือคำสอนที่สื่อถึงรากฐานขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมหรือความเชื่อของจีน ในบทความนี้ผู้เขียน ขอหยิบยกมาสัก 3 เพลง ที่น่าสนใจมาแบ่งปันกับทุกท่าน
Honor to Us All (นำศักดิ์ศรีให้เรา)
Honor to Us All (นำศักดิ์ศรีให้เรา) พูดถึงการเตรียมตัวเป็นเจ้าสาวเพื่อให้แม่สื่อหาคู่ให้ ในเพลงนี้เราจะเห็นถึงขนบในสมัยโบราณตามความเชื่อลัทธิขงจื๊อ สำหรับการแต่งงานบทบาทของฝ่ายชายคือเป็นผู้ปกป้องและหาเลี้ยงครอบครัว ในขณะที่ภรรยาจะต้องซื่อสัตย์และสนับสนุนสามีของเธอในทุกวิถีทาง (บทบาทผู้หญิงจะมีกรอบที่ค่อนข้างชัดเจน เพราะในฐานะลูกสาวก็เชื่อฟังคำบิดา พอแต่งงานก็ตามสามีและบุตรชาย)
ในเพลงจะเห็นถึงสัญลักษณ์ของการเตรียมตัวเป็นเจ้าสาวไม่ว่าจะเป็น แอปเปิล เหรียญหยินหยาง สร้อยหยก จิ้งหรีด หรือการแต่งหน้าแบบสีสันสดใสสุดๆ ซึ่งทุกอย่างมีที่มาที่ไปรายละเอียด เช่น
แอปเปิล ภาษาจีนคือคำว่า 苹果 (píngguŏ) พ้องกับคำว่าสงบสุข 平安 (píng’ān) ฉะนั้นการให้แอปเปิลเลยเป็นการอวยพรให้เจ้าสาวพบเจอกับความสงบสุข จริงๆ แล้วนอกจากพิธีแต่งงานก็ยังสามารถให้แอปเปิลเป็นของขวัญในวาระอื่นได้
เหรียญหยินหยาง ตรงตัวเลยคือแสดงถึงความสมดุล แต่รายละเอียดขอยกไปเล่าในเพลงต่อไป (เพลง Lesson Number One, บทเรียนข้อที่หนึ่ง)
สร้อยหยก หมายถึง ความงาม ความโชคดี ความมั่งคั่ง และความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต ส่วนใหญ่นอกจากหยกจะมีเครื่องประดับทองร่วมด้วย
อันที่จริงขนบความเชื่อเรื่องเครื่องประดับในพิธีแต่งงาน นอกจากของจีน ทางชาติตะวันตกก็มีเหมือนกัน โดยมีความเชื่อว่าเจ้าสาวควรสวมใส่ ‘บางสิ่งที่เก่า บางสิ่งที่ใหม่ บางสิ่งที่ยืมมา และบางสิ่งที่เป็นสีฟ้า’ ในวันแต่งงานเพื่อความโชคดี โดยแต่ละอย่างล้วนมีความหมายแฝง สิ่งที่เก่าสื่อถึง ครอบครัวและวัฒนธรรมประเพณีที่ดีมาตั้งแต่เก่าก่อน ของใหม่เปรียบเสมือนชีวิตใหม่ของเจ้าสาว ของที่ยืม—อาจจะยืมจากเจ้าสาวที่แต่งงานมาก่อนและมีความสุขในชีวิต สำหรับของสีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ความบริสุทธิ์และความรักของทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาว
สัญลักษณ์ต่อไปที่เห็นในเพลงและเป็นตัวละครตัวหนึ่งที่อยู่เคียงข้างมู่หลานตลอดเรื่อง คือ จิ้งหรีด โดยจิ้งหรีดนั้นสื่อถึงความโชคดี เชื่อกันว่าจิ้งหรีดทําให้เรามีความสุข
ในอนิเมชั่นจิ้งหรีดมีชื่อว่า Cri-Kee เป็นตัวละครฝ่ายดีที่คอยช่วยเหลือและอยู่ข้างมู่หลาน ในหนังมู่หลานที่ออกมาในปี ค.ศ.2020 จะเห็น Cri-Kee ในเวอร์ชั่นคน เล่นเป็นทหารตัวน้อยๆ เคียงข้างมู่หลาน
กลับมาพูดเรื่องความโชคดีของจิ้งหรีดกันต่อ นอกจากในจีน จิ้งหรีดยังถือเป็นสัญลักษณ์ความโชคดีหรือความสุขแบบค่อนข้างสากลด้วย สำหรับชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันส่วนใหญ่ถือว่า จิ้งหรีดแสดงถึงความสุข สัญชาตญาณ และพลังความเชื่อ โดยความสามารถของจิ้งหรีดในการกระโดดเปรียบเสมือนพลังในการก้าวกระโดดผ่านสถานการณ์ที่ยากลําบาก สำหรับในยุโรป จิ้งหรีดถือเป็นลางดีและผู้พิทักษ์ ถ้ามีใครพลั้งมือฆ่าจิ้งหรีดในบ้านหรือสวนขึ้นมาจะถือว่าเป็นโชคร้าย ในอังกฤษมีความเชื่อว่าจิ้งหรีดคือผู้ดูแลครอบครัวภายในบ้าน ช่วยปกป้องพวกเขาจากวิญญาณชั่วร้าย และแม้แต่ในบทประพันธ์ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ ยังมีบทที่พูดถึงจิ้งหรีดและความสุข โดยในบทละครเรื่อง Henry V มีบทพูดที่กล่าวว่า “เป็นสุขเหมือนจิ้งหรีด”
เรื่องการแต่งหน้าก็ถือได้ว่าเป็นหัวข้อยอดฮิต เมื่อดูอนิเมชั่นหรือดูหนัง คนอาจจะงงมากว่าสมัยนั้นแต่งหน้าสีสันจัดจ้านประหนึ่งนกแก้วจริงๆ หรือ จุดนี้ต้องเล่าย้อนไปถึงขนบความงามตามสมัยจีนโบราณยุคราชวงศ์ถัง ซึ่งถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองยุคหนึ่งของจีน ความงามยุคนั้นคือความกลม เจ้าเนื้อหน่อยๆ เพราะแสดงถึงความสมบูรณ์ การแต่งหน้าสมัยนั้นจะผัดหน้าให้ขาว ให้กลมเหมือนพระจันทร์ หน้าผากจะผัดด้วยสีเหลืองเปรียบเหมือนมีรัศมีเรืองรอง คิ้วมีหลายสีทั้งสีเขียว เรียกว่าคิ้วเขียวมรกต หรือติดฟอยล์ทองเข้าไปด้วยก็มี แก้มแดงปากแดง ฮิตทาลิปหลายแบบมากบางทีทาแค่เล็กๆ ตรงกลางปาก แลดูคล้ายเชอร์รี่หรือคล้ายกลีบดอกไม้ ที่ระหว่างคิ้วก็ประดับด้วยลวดลายต่างๆ เรียกว่า 花鈿 (huadian) ที่นิยมที่สุดจะเป็นลายดอกท้อ เพราะมีตำนานเล่าว่ามีองค์หญิงองค์หนึ่งหลับไปใต้ต้นท้อ และมีดอกท้อตกลงมาตรงกลางหน้าผาก พอตื่นขึ้นมาเลยเหลือรอยดอกไม้ไว้ คนในวังเห็นแล้วชอบมากเลยทำตามกันเป็นแฟชั่น
เมื่อปีที่แล้วตอนมู่หลานเข้าโรง ถึงแม้ในจีนผลตอบรับรายได้ของหนังจะไม่ค่อยดี แต่ว่าเกิดเทรนด์แต่งหน้าตามมู่หลานที่เป็นไวรัลขึ้นมา เป็นแฮชแท็ก #花木兰仿妆 (แต่งหน้าเลียนแบบมู่หลาน) #花木兰仿妆大赛 (ประกวดแต่งหน้าเลียนแบบมู่หลาน) เป็นเทรนด์ที่ฮิตมากในจีนช่วงนึง มีคนแต่งตามเยอะเลย ทั้งสาวๆ เด็กๆ ไปจนหนุ่มๆ ก็ยังมี บางคนแต่งแนวสวยบางคนแต่งแนวฮาค่ะ รวมกันมียอดวิวหลายร้อยล้านวิว
นอกจากจีน ในต่างประเทศก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเมกอัพเทรนด์ที่ค่อนข้างตื่นตะลึงอยู่เหมือนกัน เช่นยุคของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 (ขอเรียกสั้นๆ ว่า ควีน) ก็ฮิตทาหน้าสีขาวโพลน จริงๆต้นกำเนิดมาจากการที่ควีนป่วยด้วยโรคฝีดาษ พอหายเลยต้องแต่งหน้าหนาๆ กลบทับรอยแผล แต่สิ่งที่ควีนใช้ทาหน้าดันมีส่วนผสมของตะกั่วอยู่ด้วย ใช้ไปนานๆ ก็เป็นพิษค่ะ แต่สมัยนั้นผู้คนยังไม่รู้ เมื่อเห็นควีนแต่งแบบหน้าขาว เลยเกิดเป็นเทรนด์ขึ้นมา ผู้หญิงเลยแต่งหน้าขาวกันทั่วโดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง เพราะเชื่อว่าหน้าขาวคือสัญลักษณ์ของความเยาว์วัย ความอุดมสมบูรณ์และยังบ่งบอกฐานะได้อีกด้วย
I’ll Make A Man Out Of You (สร้างนายเป็นชายแท้)
เพลงนี้เปิดตอนที่มู่หลานปลอมตัวเข้าร่วมกองทัพเรียบร้อยแล้ว เป็นเพลงที่เกี่ยวกับฝึกทหารใหม่ที่เพิ่งเข้ามาร่วมกองทัพ ตอนแรกแต่ละคนยังไม่สมเป็นชายชาติทหารเท่าไหร่เลยต้องเจอการฝึกแบบจัดหนัก เป็นเพลงที่เสริมความฮึกเหิมให้ฝึกตน ให้แข็งแก่รงขึ้นเพื่อเอาชนะข้าศึก ความพีกของเพลงนี้คือ สำหรับเวอร์ชั่นภาษาจีนร้องโดยปรมาจารย์กังฟูเฉินหลง แล้วยังมีทั้งเวอร์ชั่นจีนกวางตุ้ง และจีนแมนดารินด้วย (แอบกระซิบว่าใครชอบดูหนังกังฟูไปเปิด MV ดูได้เลย เท่สุดๆ ทั้งกระบอง ทั้งชุดหมัดมาเต็ม)
เนื้อร้องในแต่ละเวอร์ชั่นก็บางส่วนแตกต่างกัน ในเวอร์ชั่นอังกฤษเราน่าจะคุ้นหูกันถึงคำเรียกเผ่าตัวร้ายในเรื่องที่เป็นชนเผ่าทางเหนือว่า ฮัน (The Huns) “To defeat the Huns” (จงเอาชนะพวกฮัน) ซึ่งถ้าดูเวลาในประวัติศาสตร์ตามเนื้อเรื่องมู่หลานแล้วชนเผ่าที่บุกจีนช่วงยุค ค.ศ.400 คือเผ่าซยงหนู 匈奴 (Xiongnu) ชนเผ่านักรบที่ถือได้ว่าเป็นอริสำคัญของประเทศสมัยต้นประวัติศาสตร์ ฉะนั้นพอมาฟังเวอร์ชั่นจีนจะเห็นชัดเลยว่ามีการเปลี่ยนเนื้อร้องให้ใกล้เคียงตำนานมู่หลานมากขึ้น เป็นเนื้อร้องว่า “rang xiong nu jue wang” แปลประมาณว่า ทําให้พวกซยงหนูหมดสิ้นไปซะ และหากใครฟังเวอร์ชั่นไทยจะเห็นว่าใช้คำว่า ‘ศัตรู’ แทน ไม่มีบอกชื่อเผ่า
Lesson Number One (บทเรียนข้อที่หนึ่ง)
เพลงนี้เป็นเพลงที่ผู้เขียนชอบมากเพลงหนึ่ง เป็นเพลงเปิดเรื่องของอนิเมชั่นมู่หลานภาคสอง ที่มู่หลานสอนเด็กๆ ถึงพื้นฐานการฝึกยุทธ์ เนื้อร้องสื่อให้เห็นถึงด้านตรงข้ามของสรรพสิ่งว่าไม่สามารถมีเพียงสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวแต่ว่าต้องมีทั้งสองสิ่งเพื่อความสมดุล เช่น แผ่นดินกับท้องฟ้า กลางวันและกลางคืน เสียงและความเงียบ ความมืดและความสว่าง และยังสอนว่า ต้องแกร่งเหมือนก้อนหิน ต้องยืนหยัดได้เหมือนต้นโอ๊ก แต่ในขณะเดียวกันก็นุ่มนวลอ่อนโยนเหมือนก้อนเมฆ และเป็นเสมือนไผ่ที่เอนลู่ลม
เพลงนี้ได้รับอิทธิพลแนวคิดมาจากลัทธิเต๋า ซึ่งพูดถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลของหยินและหยาง รวมถึงสรรพสิ่งที่มาเป็นคู่ ผู้อ่านอาจจะคุ้นตากับสัญลักษณ์หยินหยางที่เป็นวงกลมครึ่งขาวครึ่งดำ มีจุดสลับสี หยิน (สีดำ) มีลักษณะเป็นพลังงานภายในที่เป็นผู้หญิง นุ่มนวล หนาวเย็น ลึกลับ ในทางกลับกันหยาง (สีขาว) มีลักษณะเป็นพลังงานภายนอก แสดงถึงผู้ชาย มีความร้อนแรง มั่นคง สดใส
หยินหยางเป็นการเติมเต็มอย่างพอดี แสดงถึงความเสมอภาค ในเรื่องยังมีฉากที่คุณพ่อคุณแม่มู่หลานถอดสร้อยหยินหยางมอบให้กับมู่หลานและท่านแม่ทัพชาง และบอกว่าถึงแม้ทั้งสองจะมีความต่างแต่ก็เกื้อหนุนกันและกันให้สมบูรณ์ โดยให้สร้อยหยางกับมู่หลาน และมอบสร้อยหยินกับแม่ทัพ
จะเห็นได้ว่า อนิเมชั่นมู่หลานภาคแรกจะเอนไปทางความเชื่อลัทธิขงจื๊อที่เป็นแนวทางในการใช้ชีวิต มีคำสอนวิถีปฎิบัติตน การวางตัวที่เหมาะสมในสังคม แต่พอมาภาคสองจะเน้นความเชื่อลัทธิเต๋า ซึ่งจะเน้นความสมดุลของมนุษย์และธรรมชาติมากขึ้น
นอกจากมู่หลานยังมีเจ้าหญิงอีกหลายคนในดิสนีย์ที่น่าไปทำความรู้จัก ขอทิ้งท้ายด้วยประโยคจากเรื่องมู่หลานฝากเป็นกำลังใจผู้อ่าน
ในอนิเมชั่นภาคแรก จักรพรรดิกล่าวว่า “ข้าวเมล็ดเดียวสามารถเปลี่ยนน้ำหนักตาชั่งได้ คนคนหนึ่งก็เป็นความแตกต่างระหว่างชัยชนะและความพ่ายแพ้ได้” คำพูดนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของทุกๆ คน ที่สามารถเปลี่ยนแปลงเรื่องราวต่างๆ ได้ เฉกเช่น มู่หลาน