ก้าวเข้าห้องสัมภาษณ์งานทีไร คำตอบที่ซ้อมมาอย่างดี สคริปต์ที่เตรียมไว้ในหัว ก็วิ่งหนีหายไปไม่ยอมเข้ามาพร้อมกับเราด้วย เลยมักจะเกิดอาการประหม่าเสียจนมีช่องว่างเดดแอร์ระหว่างการถามตอบ คำถามยอดฮิตที่เรามักได้ยินมีอะไรบ้าง? “ทำไมคุณถึงควรได้ทำตำแหน่งนี้?” “บอกข้อดีข้อเสียของตัวเองมาหน่อยสิ” “มองตัวเองในอีก 5 ปีข้างหน้าไว้อย่างไรบ้าง?” อาจจะไม่ใช่คำถามที่ชี้เป็นชี้ตายในข้อเดียว แต่ผู้สัมภาษณ์อาจกำลังอยากรู้อะไรบางอย่างในเรื่องราวพวกนั้นของเรา ถึงเลือกที่จะถามเจาะจงลงมาที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง
คำถามเหล่านั้นที่พอจะทำให้เราจำกัดเนื้อหาลงมาได้ อาจทำให้เราตอบได้อย่างไม่ไขว้เขวนัก แต่ถ้าคำถามปลายเปิด ที่เปิดกว้างดั่งมหาสมุทรอย่าง “ลองเล่าเรื่องของตัวเองมาหน่อยสิ” เราจะอะไรดีนะ เรื่องสมัยเรียนได้ไหม เรื่องที่ทำงานเก่าได้หรือเปล่า หรืออยากรู้อะไรกันแน่น
จริงๆ มันไม่ใช่การถามไถ่ไทม์ไลน์ชีวิต ว่าเราเป็นลูกเต้าเหล่าใคร ชอบกินอะไร ชอบทำอะไร แต่การเล่าเรื่องตัวเองในทีนี้ คือการบอกอ้อมๆ ว่า “ขายตัวเองให้ฟังหน่อยสิ คุณมีดีอะไรบ้าง” ท่ามกลางผู้สัมภาษณ์ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเราในบริษัทนั้น กำลังพูดคุยกับคนหน้าใหม่ที่อยู่ตรงหน้า เพื่อดูว่าคนนี้เนี่ย เขามีอะไรบ้าง เข้ากับที่นี่ได้แค่ไหน และควรรับเข้ามาเป็นหนึ่งในพวกเราหรือเปล่า? การขายตัวเองจึงไม่ใช่แค่เล่าว่าเราช่างเก่งกาจ เรียนก็ดี ทำงานก็เด่น เล่นกีฬาเป็นเลิศ เหมือนเป็นพอร์ตโฟลิโอ้เคลื่อนที่
ผู้เชี่ยวชาญด้าน public speaking อย่างไอลีน สมิธ (Eileen Smith) ผู้ก่อตั้ง Spokesmith บริษัทให้คำปรึกษาด้านนโยบาย การบริหาร และการพูดในชีวิตประจำวันอย่างมืออาชีพ ได้แนะนำว่า การที่เขาให้เราเล่าเรื่องของตัวเองให้ฟังเนี่ย เป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้พูดคุยอย่างลงลึกมากขึ้น สร้างความคุ้นเคยต่อกัน รวมไปถึงความน่าเชื่อถือของเราเองอีกด้วย
คำถามนั้นจึงไม่อาจมีไกด์ตายตัวว่า ต้องตอบเรื่องนี้นะ ห้ามตอบเรื่องนี้นะ เทคนิคการตอบคำถามนี้ จึงเป็นการสร้างความประทับใจในการตอบมากกว่า มาดูกันว่าเทคนิคนี้มีอะไรบ้าง
รู้ว่าพวกเขาต้องการคนแบบไหน
คนฟังต้องหาวแน่นอน ถ้าหากเรามัวแต่ตอบด้วยการเล่าเรื่องราวไทม์ไลน์ชีวิต ว่าเข้างานที่ไหนตำแหน่งอะไร แบบไร้ชั้นเชิงในการเล่า ในช่วงแรกที่เราและเขายังไม่ได้รู้จักกันมากนัก เราสามารถเล่าเรื่องของตัวเองได้ ว่าเรามีหน้าที่อะไร เชี่ยวชาญด้านไหน แต่การเล่าไปเรื่อยๆ แบบไม่มีปลายทาง อาจทำให้เราไม่รู้ว่าเราต้องไปจบที่ตรงไหน เล่าแค่ไหนถึงจะพอ
อย่าลืมถอดรหัสความสนใจจากการพูดคุยว่า พวกเขาสนใจเรื่องไหนของเราเป็นพิเศษ หรือดูว่าพวกเขาต้องการคนแบบไหน และใส่สิ่งนั้นที่เรามีลงไป หากเขาชอบคนจัดการเวลาได้ดี อย่าลืมเล่าว่า เรามีตารางให้กับตัวเองและโปรเจ็กต์ยังไง ถ้าเขาชอบคนเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อย่าลืมเล่าถึงหน้าที่แสนพิเศษ ความไว้วางใจที่เราได้รับเพราะความสามารถ
เพราะคำตอบเหล่านี้ของเรา ถึงเรื่องความสามารถ เรื่องเฉพาะด้าน อาจนำไปสู่คำถามที่เจาะลึกลงไปมากกว่านั้น เพราะสนใจในสิ่งที่เรากำลังเสนอและเป็นสิ่งที่เขากำลังตามหาเช่นกัน และยิ่งทำให้เราขายตัวเองได้มากขึ้นและง่ายขึ้นอีกด้วย เพราะคำถามจะไม่ใช่ปลายเปิดอีกต่อไปแล้ว
สร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวเอง
แม้การเล่าเรื่องความสามารถของเรา จะเป็นเหยื่อล่อชั้นดีให้ผู้ฟังติดกับ แต่ถ้าหากเราเล่าอยู่บนความคิดเห็นของเราเพียงคนเดียว เป็นมุมมองที่มองมาที่ตัวเองเพียงอย่างเดียว อาจทำให้ความสามารถนั้นไม่ดูน่าเชื่อเท่าไหร่นัก อาจเป็นเพียงแค่คนที่มั่นใจในตัวเอง แต่ไม่ใช่คนที่ใครๆ ก็ประจักษ์ในความสามารถ
การสร้างความน่าเชื่อถือจึงสำคัญ เพราะถ้าไปนั่งบอกว่า เราเก่งแบบนั้นแบบนี้ อาจจะดูง่ายไปเสียหน่อย (หมายถึงใครๆ ก็พูดได้นั่นแหละ) แต่ถ้าหากเรามีหลักฐานยืนยันว่าที่เราบอกว่าเราเก่งนั้นไม่ได้โม้จริงๆ จะช่วยยืนยันสิ่งที่เราพูดทั้งในเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ ให้น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น
อาจเริ่มจากประสบการณ์การทำงาน หน้าที่ โปรเจ็กต์ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขามองหาอยู่ โปรเจ็กต์ใหญ่ในบริษัทหนึ่ง หน้าที่พิเศษที่ได้รับเพราะความสามารถมันเข้าตาอีกที่หนึ่ง เล่าว่า เราเริ่มต้นทำสิ่งนั้นได้ยังไง เราใช้ความรู้ด้านไหนของเราทำ เรารู้อะไรเกี่ยวกับมันบ้าง
พูดเสริมในเนื้อหาไปด้วยเพื่อยืนยันว่าเราเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งนั้นจริงๆ รวมไปถึงความไว้วางใจที่ได้รับก็สามาถช่วยยืนยันว่าเรามีความสามารถที่จับต้องได้ มากกว่าการพูดโฆษณาโน้มน้าวใจเฉยๆ
ทำไมสิ่งนี้ถึงสำคัญ?
หากเล่าไปแล้วว่าเราช่างเก่งกาจในด้านไหน แต่เขาดูยังไม่ค่อยตอบสนองกับสิ่งที่เราทำได้สักเท่าไหร่ อย่าลืมย้ำเตือนเขาว่าสิ่งที่เรามีเนี่ย มันสำคัญยังไงกับบริษัท “ที่คุณจำเป็นต้องมี…ก็เพราะว่า…”
หากนั่นยังไม่พอ ลองเล่าถึงปัญหาที่ตามมาถ้าหากเขาขาดคนที่มีความสามารถในด้านนั้นไป อาจเล่าถึงทีมที่เราเคยเจอ โปรเจ็กต์ที่ไปต่อไม่ได้ ให้เป็นตัวอย่างเพื่อเสริมน้ำหนักในสิ่งที่เรากำลังสื่อสารออกไป นอกจากจะช่วยย้ำเตือนถึงความสำคัญแล้ว ยังทำให้เห็นด้วยว่าเรามีความรู้ความเข้าใจในการมองภาพรวมของบริษัทด้วย ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ของตัวเองจบแล้วจบกัน
และนี่เป็นบทส่งท้ายของการตอบคำถามนี้อย่างสวยงาม ว่าทำไมเราถึงจำเป็นต่อพวกเขา เรามีดียังไงและเราสำคัญยังไง นอกจากได้พูดถึงความสามารถของเราแล้วยังได้สร้าง awareness ให้เขารู้สึกว่าต้องมีเราอีกด้วย
การตอบคำถามถึงเรื่องราวของเราเอง อย่างที่บอกว่ามันไม่ใช่แค่การเล่าเรื่องชีวิตทั่วไป แต่เป็นการขายของว่าเราดียังไง เจ๋งยังไง และให้มีชั้นเชิงมากขึ้นไปอีก เราต้องหาว่าพวกเขาต้องการอะไร แล้วขายตรงนั้นเป็นพิเศษ เพื่อสร้างความต้องการขึ้นมา
โดยทั้งหมดนี้อาศัยการเตรียมตัวและความมั่นใจในตัวเอง อย่าลืมฝึกซ้อมถึงการเล่าเรื่องของตัวเอง ประสบการณ์การทำงานต่างๆ ความสามารถที่มี เพราะสุดท้ายแล้ว นี่เป็นคำถามและคำตอบพื้นฐานที่อาจจะครอบคลุมการสัมภาษณ์ไว้ในคำถามเดียว
อ้างอิงข้อมูลจาก