หมดเวลาสนุกแล้วสิ วัยเรียนได้ผ่านพ้นไป ชีวิตกำลังก้าวเข้าสู่วัยทำงาน แต่กว่าจะได้งานก็ต้องผ่านด่านสุดหิน นั่นคือการสัมภาษณ์ ยิ่งถ้าต้องสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ สำหรับเด็กจบใหม่บางคนอาจจะงงๆ ยังไม่รู้ว่าต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง
Young MATTER มีคำแนะนำดีๆ จากคุณอัญชลี เจริญวงศ์ Executive Director ฝ่ายธุรกิจ Recruitment & HR Consulting ของบริษัท Tricor Thailand ที่จะเป็นแนวทางการเตรียมตัวไปสัมภาษณ์ให้เป๊ะ ให้ปัง และที่สำคัญคือได้งาน! ลองเอาไปใช้กับการสัมภาษณ์งานภาษาไทยยังได้เลย
Young MATTER : ก่อนจะไปสัมภาษณ์งานเราควรเตรียมพร้อมอย่างไรบ้าง?
เริ่มแรกเราต้องรู้จักตัวเองก่อน ว่าเราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เราเก่งเรื่องไหน เรามีความสามารถเป็นพิเศษในเรื่องอะไร เราอยากทำงานลักษณะแบบไหน เช่น อยากทำงานที่พบปะผู้คน หรือทำงานอยู่กับที่ พอเรารู้ตัวเองแล้วมันจะส่งผลต่อเรื่องการเขียน Resume ได้ด้วย เพราะบางทีเราไปดู Resume บนอินเทอร์เน็ตเยอะแยะเลย แต่นั่นอาจไม่ใช่ตัวเราก็ได้
ต่อมาลองทำ test ดูว่าตัวเองมีทักษะอะไรบ้าง และอยู่ในระดับไหน ซึ่ง test นี้สามารถเข้าไปลองทำใน Google ได้ (www.personalityperfect.com) แล้วลองให้เพื่อน คุณพ่อ คุณแม่ และอาจารย์เช็กเรา โดยใช้คำถามเซ็ตเดียวกัน เราเองก็ต้องใจกว้างพอที่จะยอมรับ เพราะบางทีคนอื่นๆ อาจจะบอกว่า เรายังพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่เรากลับติ๊กว่า โห เราพูดรู้เรื่อง เพราะฉะนั้นมันจะมีช่องว่างบางอย่างที่ทำให้รู้ว่าเราแข็งแรงหรือไม่แข็งแรงในเรื่องนั้นๆ ลองไปถามคนใกล้ชิด บอกว่าถ้ารักเรา ให้บอกเราตรงๆ หรือไม่ก็ไปหา test ทำเอง แล้วค่อยมาเติมว่าทักษะที่แท้จริงของเราคืออะไร
Young MATTER : เราจำเป็นต้องรู้ background ของบริษัทนั้นๆ มากขนาดไหน ถึงจะเพียงพอในการตอบคำถาม?
ส่วนใหญ่บริษัทต่างๆ มักมีเว็บไซต์ของเขา เราควรเข้าไปดูว่าเขาขายอะไร ทำอะไรบ้าง ที่เราควรดูอีกอย่างคือ Common Value หรือค่านิยมของบริษัทนั้นๆ เวลาเขาถามเรื่องพวกนี้เราจะตอบได้โดยที่เราอิน พอเราอินจะอธิบายได้ เขาจะรู้สึก เอ้อ! อย่างนี้ไม่ต้องสอนมาก มีอะไรบางอย่างที่เข้ากับที่นี่ได้ เข้ากับวัฒนธรรมที่นี่ได้ ต่อมา เราต้องมีสมมติฐานของเราในการเตรียมตัวว่าเราจะเตรียมยังไง ทำความเข้าใจสินค้า บริษัท และเรื่องการทำงาน ลองตั้งคำถามดูว่า ถ้าเราไปสัมภาษณ์เขาจะถามอะไรเราบ้าง
Young MATTER : อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด เมื่อถึงวันสัมภาษณ์?
สิ่งแรกอย่าลืมถามชื่อคนที่โทรมานัดเรา เพื่อจะได้ไปเจอเขาแล้วติดต่อถูก เขาจะโทรมา pre screening ก็อาจจะถามเป็นภาษาอังกฤษนิดๆ หน่อยๆ เพื่อดูว่าเราสื่อสารได้มั้ย เช่น “Tell me about yourself” พอวันที่ต้องสัมภาษณ์ลองถามตัวเอง “What story should I talk about” เรามีเรื่องอะไร จะไปเล่า ไปบอกเขา และให้เตรียมคำถามที่เป็น common question เช่น “Why should we hire you?” “What would you say about your personality?” ถ้าเราทำส่วนนี้ได้ ก็ได้คะแนนไปส่วนหนึ่ง แล้วก็ศึกษาแผนที่บริษัท วางแผนการเดินทางให้ดี สิ่งที่ไม่ควรทำที่สุดคือไปสาย อีกเรื่องคือเสื้อผ้าหน้าผม ขึ้นอยู่กับองค์กรว่าเราไปนั้นเป็นองค์กรรูปแบบไหน เราไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องใส่เสื้อผ้าแพง แต่ก็ขอให้ดูสุภาพ
ที่สำคัญอีกอย่างคือไปสัมภาษณ์ด้วยหน้าตายิ้มแย้ม ไม่หน้านิ่วคิ้วขมวด พยายามคิดบวก ตื่นเช้ามาต้องบอกตัวเองว่า “ฉันทำได้ วันนี้เราจะเจอแต่เรื่องดีๆ เรามีสติ ตอบคำถามได้ พี่ๆ ใจดี” บิลด์ตัวเองให้รู้สึก positive เพราะผู้สัมภาษณ์ก็คาดหวังที่จะได้คนทำงานที่ EQ ดีด้วย
เรื่องภาษาก็เช่นกัน เราดูจากหลายองค์ประกอบขึ้นอยู่กับองค์กรว่าใช้คะแนนภาษาอังกฤษจากข้อสอบชุดไหน เมื่อผ่านเกณฑ์ตรงนี้เราก็จะดูเรื่องสัมภาษณ์ประกอบกัน แต่เคยมีเคสที่ A ได้คะแนนสอบ 650 เรามองว่า จะไหวหรือเปล่า แต่ก็ลองเรียกมาสัมภาษณ์ ส่วน B ได้คะแนนสอบ 700 เราก็เรียกมา ปรากฏว่าตอนสัมภาษณ์ B พูดไม่ได้เลย ส่วน A ภาษาดีมากๆ ตรงนี้เป็นเรื่องของการเตรียมตัวเรื่องคำถามด้วย ประกอบกับ B เล่าให้ฟังว่าที่เขาเคยไปติว คือติวข้อสอบเป็นข้อจำ แต่สื่อสารไม่ได้ ในขณะ A เตรียมตัวเรื่องคำถามมา ส่วนการทำข้อสอบในวันนั้น เขาทำไม่ทัน ซึ่งตรงนี้เราจะดูประกอบกัน
Young MATTER : ส่วนใหญ่แล้ว องค์กรทั่วไปคาดหวังอะไรจากนักศึกษาจบใหม่?
สิ่งแรกเลยคือ ‘มาตรงเวลา’ ทั้งในวันสัมภาษณ์และทำงาน ถ้าทำงานแล้วก็ต้องรักษาเวลา เขาคาดหวังว่าจะต้องเป็นคนรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่คำว่า Responsible (รับผิดชอบ) นะ แต่มันคือ Reliable (ไว้ใจได้) คือถ้าฝากงานไว้แล้วคุณทำ หรือฝากให้เฝ้าอะไรไว้ คุณทำได้ เขาจะได้รู้สึกว่าไว้ใจได้ เชื่อใจได้ มีความกระตือรือร้น ต่อมาคือ เรียนรู้เร็ว เรียนรู้สิ่งใหม่ ไม่ใช่ว่าเราเรียนจบมาได้ใบประกาศแล้วเราเลิกเรียน เพราะเรื่องใหม่ๆ มันเกิดขึ้นตลอดเวลา ให้คิดซะว่ามาเรียนรู้แล้วก็ได้ตังค์ด้วย “The more you do, The more you learn”
ต่อมาคือทำงานร่วมกับคนอื่นได้ เป็น teamwork และให้ keep your ego in check เดินเข้าประตูออฟฟิศมาต้องบอกตัวเองว่ามาทำงานนะ เราอาจจะเด็กที่สุดในทีม เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีอะไรสงสัยหรือไม่เข้าใจก็ควรถาม และไม่มีอะไรเสียหายถ้าเราจะ humble คือสุภาพอ่อนน้อม เราไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องไหว้ทุกคน แต่ต้องมีอัธยาศัยที่ดี มารยาทเป็นสิ่งสำคัญ พวก magic words ทั้งหลาย เช่น Hello, Sorry, Thank you, Excuse me พูดได้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย
เวลาสัมภาษณ์จบ เขาอาจจะถามว่ามีอะไรสอบถามเพิ่มเติมหรือไม่ ตรงนี้ควรจะถาม เช่น ถ้าไปทำ marketing อาจจะถามว่า “ไม่ทราบว่าขายผ่านช่องทางไหนสร้างรายได้มากที่สุด” แบบนี้คนสัมภาษณ์จะชอบมาก เพราะดูเราสนใจ เขาอาจจะถามกลับมานิดหน่อย ชวนเราคุย หรือเด็กบางคนไม่ถาม เราก็จะถามนำ เช่น “What do you want to know more about our company?” เราถามไกด์ให้ เผื่อเด็กจะมีสติ เพราะบางทีพวกเขาตื่นเต้น และการเตรียมตัวเรื่อง Common Question มาก็เป็นเรื่องที่ดี เช่น “Tell me about yourself?” “Why should we hire you?” “What do you know about the job?” “Why do you want this job?” “Strength and Weakness?” และฝึกการฟัง ทักษะการพูดได้จาก เว็บไซต์ VOA, BBC, อ่านจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยต่างประเทศและลองฝึกฝนกับเพื่อนๆ
Young MATTER : นอกเหนือจาก Common Question แล้ว มีคำถามอื่นๆ อีกไหม ที่อาจจะเจอในการสัมภาษณ์?
มีค่ะ เพราะอยากดูความคิดความอ่านของเขาด้วย เช่น “What’s your dream job?” เขาอาจจะ เอ๊ะ ไม่ได้เตรียมมา แต่ถ้าเขาเตรียม Resume ด้วยตัวเอง เค้าก็จะอธิบายได้ เราก็จะถามต่อว่า how does… เช่น บอกว่าอยากทำงานในดิสนีย์แลนด์ มาสมัครในตำแหน่ง Marketing Officer เราจะถามว่า “How does this job fit in your career plan” แค่อยากเห็นความคิดของเขา
“How do you view yourself If I ask your teacher, your family, what do you think they would talk about you” สิ่งที่จะตอบเขาจะต้องคิด ถ้าเขาทำ test มา เขาจะรู้จักตัวเอง จะตอบเรื่องพวกนี้ได้ดี
“Why did you choose your university?” ตัดสินใจด้วยคุณเองหรือตามเพื่อน ตามครอบครัว “Then what did you learn from university?” มันไม่ใช่เรื่องภาษาอังกฤษแล้ว เป็นเรื่อง Thinking มากกว่า
“What is your success story?” เราไม่ได้คาดหวังว่าคุณต้องเป็นผู้ค้นพบเฟซบุ๊ก หรือเป็นบิลเกตต์ แต่มันต้องมีสักเรื่องที่คุณทำแล้วมันประสบความสำเร็จ และภาคภูมิใจ
“Have you ever made a mistake?” ทุกคนเคยมีทำผิดพลาดกันมาทั้งนั้น ใครไม่เคยพลาดแสดงว่าไม่เคยทำอะไร ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะตอบว่าเคย เราก็จะถามต่อว่า “How do you handle failure?”
“Give me an example of how you set goal and how did you go there?” คำถามเราจะรู้ว่าคนนี้วางแผนเป็นมั้ย เช่น อยากมีเงินแสน แล้วจะมีวิธีที่จะทำให้ได้ตรงนั้นอย่างไร
“What do you do if you disagree with someone at work?” ตรงนี้เราอยากดูความคิดการแก้ปัญหาหากไม่เข้าใจกับคนที่ทำงาน จะดู attitude ของเขา อาจจะตอบว่า ต้องหาสาเหตุของการ disagree หาทางที่จะยอมรับกันและกันได้ Ego เก็บใส่กระเป๋าไว้
สุดท้ายแล้ว เรามองว่าเด็กทุกคนมีความตั้งใจ เราจะสนใจที่ตัวเด็กว่าคิดเป็นหรือเปล่า มี attitude ที่ดีหรือไม่ เพราะเรื่อง EQ ก็สำคัญ แต่สิ่งหนึ่งคือ พวกเขาจะต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าพวกเขาชอบอะไร ถนัดอะไร แล้วมันจะผ่านไปได้ดี ตั้งแต่การสัมภาษณ์จนถึงเข้ามาทำงาน