“เบื่อหน่าย เหนื่อยล้า จนต้องยอมยกธงขาว”
คือประโยคที่คิดไว้ในหัวก่อนจะเขียนบทความนี้ แต่ช่วงเวลา 4 ปีที่ใช้ในการตาม ‘ข่าวๆ เดียว’ แม้จะเปลี่ยนที่ทำงานมา 3 ครั้ง ไม่แน่ใจว่าจะใช้คำว่า ‘ยอมแพ้’ ได้ไหม – แม้ผลลัพธ์ท้ายที่สุด จะลงเอยด้วยการยุติการทำข่าวที่ว่า ไม่ได้ติดตามจนถึงที่สุด
ในยุคออนไลน์ที่ต่อให้หลายๆ คนบอกว่ายอดไลก์-ยอดแชร์ไม่สำคัญต่อไปอีกแล้ว แต่ตัวเลขเหล่านี้ก็ถูกใช้ชี้วัดว่าชิ้นงานที่คุณทำได้รับฟีดแบ็กดีมากน้อยแค่ไหน การจะตามข่าวใดข่าวหนึ่งที่อยู่นอกกระแส กระทั่งถูกมองว่า “คนเขาเลิกสนใจไปหมดแล้ว!” เป็นเรื่องที่ท้าทายทั้งกับตัวองค์กรสื่อนั้นๆ และตัวนักข่าวเป็นอย่างยิ่ง
แต่ก็มีนักข่าวจำนวนไม่น้อย ตามข่าวที่อยู่นอกกระแสนั้นแหละเป็นเวลาหลายปี ตามต่อเนื่องอย่างเงียบเชียบ ไม่บอกใคร และไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์
บ้างตามเรื่องความเดือดร้อนชาวบ้าน เหมือง ป่าไม้ สายน้ำ ที่ดินทำกิน คดีที่เลือนหาย ปัญหาสังคมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข การศึกษาที่ไม่พัฒนา – แต่สำหรับผม เรื่องที่ตามก็คือความไม่โปร่งใสในการก่อสร้างโครงการอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
และวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 คือวันครบ 4 ปี นับแต่ผมเริ่มตามโครงการของกองทัพบก (ทบ.) ที่อาศัยเงินบริจาคจากประชาชนนี้ ท่ามกลางข้อสงสัยที่ยังไม่คลี่คลายจนถึงปัจจุบัน
ทั้งๆ ที่ นายกรัฐมนตรีทหารเก่า อดีตข้าราชการของ ทบ.เอง ก็พูดบ่อยๆ รวมถึงให้นโยบายไว้ว่า รัฐบาลรัฐประหารของตนจะต่างจากรัฐบาลชุดก่อนๆ เพราะ “โปร่งใส ตรวจสอบได้”
และนี่ก็คือเรื่องราวที่เกิดขึ้น ตลอด 1,460 วันที่ผ่านมา
ซึ่งจะช่วยพิสูจน์ว่า วาทกรรมข้างต้นเป็นคำพูดที่น่าเบื่ออย่างที่สุด
ปฐมบท: “จะเอาให้ตายกันเลยใช่ไหม!”
เหตุที่ยึดวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2558 เป็นวันเริ่มต้นการทำข่าวอุทยานราชภักดิ์ เพราะเป็นวันที่ผมได้ไปถามกับ ผบ.ทบ.ในขณะนั้น คือ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ด้วยตัวเอง ในการแถลงข่าวถึงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย ทบ. ว่าโครงการดังกล่าวมีข้อไม่โปร่งใสหรือไม่ โดยเฉพาะกระแสข่าวเรื่องการเรียกรับค่าหัวคิว 20 ล้านบาท ไปจนถึงค่าก่อสร้างต่างๆ ที่ถูกมองว่าราคาสูงเกินจริง โดยเฉพาะรูปหล่ออดีตพระมหากษัตริย์ทั้ง 7 พระองค์
คำถามเดียวของผมในงานแถลงข่าวเป็นการย้อนสิ่งที่ พล.อ.ธีรชัยตอบไปก่อนหน้านี้ว่าพร้อมเปิดเผยข้อมูลรายรับ-รายจ่ายในโครงการทั้งหมด ..ถ้าเช่นนั้นจะไปขอดูได้ที่ไหน
แต่คำตอบที่ได้รับก็คือ “จะเอาให้ตายเลยไหม! จะเอาขนาดประหารชีวิต 7 ชั่วโคตรไหม! ถามอย่างนี้” แปลง่ายๆ ก็คือ ไม่ให้ดู
จากนั้นผมก็ลงเส้นทางเงินในโครงการนี้ทั้งหมด -ที่ส่วนใหญ่มาจากเงินบริจาค- ซึ่งเวลานั้นยังไม่มีสื่ออื่นทำข้อมูลนี้อย่างเป็นระบบ โดยรวบรวมจากข้อมูลที่ปรากฎในเว็บไซต์ของ ทบ. ของสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 และจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ ทบ. (ด้วยสมมุติฐานว่า คนบริจาคน่าจะอยากแสดงตัว โดยเฉพาะผู้ที่บริจาคเงินหลักสิบล้าน-ร้อยล้าน) รวมเป็นเงินเกือบ 500 ล้านบาท
รวมไปถึงตรวจสอบรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ทั้งหมด เพราะต่อให้เงินส่วนใหญ่จะมาจากการบริจาค (ก่อนจะพบว่ามีการใช้งบกลาง 64 ล้านบาท ซึ่งแย้งกับที่ผู้มีอำนาจพยายามโต้ว่า ไม่ได้มีการใช้เงินแผ่นดิน) แต่ผู้ใช้เงินยังเป็นหน่วยงานราชการ ต้องแสดงราคากลางตามกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับปี พ.ศ.2542 มาตรา 103/7 แต่ก็ได้ข้อมูลมาไม่ครบถ้วน ได้มาเพียงค่าปูพื้น ทำรั้ว ติดตั้งหินอ่อน ทำป้าย และทำป้าย รปภ.เท่านั้น
ยังขาดค่าหล่อพระรูปอดีตพระมหากษัตริย์ 7 พระองค์ ที่เป็นข้อมูลสำคัญในโครงการนี้ไป – และมีข่าวลือว่ามีการเรียกรับค่าหัวคิวเป็นเงินแปดหลัก
นำไปสู่การเดินทางไปที่ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร ทบ. ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2558 เพื่อใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2542 ยื่นขอข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว 2 รายการ ได้แก่
- การใช้จ่ายทั้งหมดของ ทบ. ภายในปีงบประมาณที่โครงการนี้ก่อสร้าง (สมัย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เป็น ผบ.ทบ. ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ.2557 – เดือนกันยายน พ.ศ.2558)
- ราคากลางการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับโครงการอุทยานราชภักดิ์ทั้งหมด
กรณีแรก จะค่อยๆ ได้รับเอกสารจนครบถ้วน และไม่พบข้อมูลที่มีพิรุธอะไร แต่กรณีหลังอาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นแห่งวิบากกรรมส่วนตัว เพราะกว่าจะได้เอกสารแต่ละแผ่น ต้องทวงแล้วทวงอีก มีการประวิงเวลา อ้างหน่วยงานโน้น-หน่วยงานนี้ และท้ายสุดไปจบที่ศาลปกครอง
แต่ที่สุดแล้ว ก็ไม่ได้เอกสารที่ขอไป
เพียงแต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างทาง กลับน่าสนใจซะยิ่งกว่าผลลัพธ์ (ที่ไม่ได้รับอะไร) เสียอีก
เป็น 4 ปืที่มีค่า และตอบคำถามกับตัวเองได้ว่า ทำไมถึงยังทำอาชีพสื่อสารมวลชนต่อไป
มัจฉิมบท: รัฐมนตรีวิ่งหนี กับศัพท์ใหม่ “ค่าที่ปรึกษา”
ในระหว่างที่ตามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้อยู่ หลายคนบอกว่า ข้าพเจ้ามองโลกในแง่ดีเกินไป (พูดสั้นๆ คือ “โลกสวย”) ที่คิดว่า ท้ายที่สุดแล้ว ทบ.จะยอมให้เอกสารเหล่านั้นมา
แต่ตอนนั้น ส่วนตัวมีความเชื่อมั่นประหลาดๆ เชื่อมั่นว่า ผู้มีอำนาจในยุครัฐประหารเวลานั้นจะพยายามแสดงให้ดูว่าตัวเองดีกว่ารัฐบาลชุดก่อนหน้าอย่างไร และหน่วยงานซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของผู้มีอำนาจในขณะนั้น จะยึดในวลีที่คนในหน่วยงานชอบไปพูดกับใครต่อใคร “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” – คำว่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ จะเป็นคำสัตย์ที่ต้องปฏิบัติตาม ไม่ใช่แค่ลมปาก เหมือนที่ใครๆ เขากล่าวหาสิ
แต่วันเวลาที่ผ่านมา อาจช่วยพิสูจน์แล้วว่า ตัวเองคิดผิด (เจ็บแล้วจำด้วยล่ะ!)
ช่วงเวลาเดียวกัน กระแสสังคมก็กดดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ ทั้งกระทรวงกลาโหม สตง. และ ป.ป.ช. – แม้ผลจะออกมาอย่างที่ทุกคนทราบกันแล้วว่า ทุกอย่างโปร่งใส ไม่มีอะไรผิดปกติ การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามระเบียบ แถมยังเกิดคำศัพท์ใหม่ๆ เรื่องเงิน 20 ล้านบาท ที่มีการเรียกรับจากโรงหล่อที่เข้ามาทำพระบรมรูปอดีตพระมหากษัตริย์ทั้ง 7 พระองค์จริง แต่เซียนพระได้บริจาคคืนในภายหลัง
ที่ผู้ว่าฯ สตง.ในเวลานั้น บอกว่านี่ไม่ใช่ค่าหัวคิว แต่เป็น “ค่าที่ปรึกษา” ต่างหาก
และในระหว่างที่ขั้นตอนขอข้อมูลเดินหน้าไปตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ทาง ทบ.ก็ส่งหนังสือมาชะลอการให้ข้อมูลอยู่เรื่อยๆ ทั้งบอกว่าตอนนี้ สตง.ตรวจสอบอยู่ หรือตอนนี้ ป.ป.ช.ตรวจสอบอยู่ จนที่สุดก็อ้างว่า กระทรวงกลาโหมบอกแล้วว่าไม่มีการทุจริต โดยนัยกลายๆ คือ จะไม่ให้เอกสารดังกล่าว ผมเลยต้องไปยื่นอุทธรณ์ให้สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเข้ามาช่วย
คู่ขนานกัน ตามปกติถ้าหน่วยงานรัฐจะขอเรี่ยไรหรือรับบริจาคจากประชาชน ในวงเงินเกิน 500,000 บาท ต้องทำตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2544 โดยยื่นขออนุญาตกับคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรฯ หรือ กคร. ที่มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ที่ได้มอบหมาย) เป็นประธาน – หากมีการเรี่ยไรหรือรับบริจาคโดยไม่ได้ขออนุญาต ผู้เกี่ยวข้องจะถูกลงโทษทางวินัย และเงินที่ได้มาจะถูกแช่แข็ง (freeze) ไว้ ห้ามนำไปใช้อีก
ซึ่งผมพบข้อมูลว่า ทบ.ไม่ได้ยื่นขออนุญาตตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีนี้!
จึงไปดักรอสอบสอบถามจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องถึง 3 ครั้งว่าจะทำอย่างไรต่อไป / ครั้งแรก ตอบว่าไม่ทราบ ไม่เกี่ยวข้อง / ครั้งที่สอง ผมพิมพ์เอกสารคำสั่งแต่งตั้งให้รัฐมนตรีคนดังกล่าวเป็นประธาน กคร.ไปให้ดู เจ้าตัวเห็นเอกสาร ถึงได้หยุดยอมรับว่าเกี่ยวข้อง แต่ขอเวลาตรวจสอบหน่อย / ครั้งที่สาม หลังเจอหน้าอีกครั้ง รัฐมนตรีรีบเดินเร็วๆ กึ่งวิ่งขึ้นรถยนต์หนีไป
ทราบภายหลังว่า ในรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการอุทยานราชภักดิ์ของกระทรวงกลาโหม ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล เป็นประธาน ก็ตั้งข้อสังเกตถึงการเรี่ยไรโดยไม่ได้ขออนุญาตด้วย
แต่ก็ไม่มีใครลุกขึ้นมาทำอะไรต่อไป
หรือทำอะไรบางอย่างไปแล้ว ก็ไม่เข้าใจว่า เหตุใดถึงไม่เปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ
ปัจฉิมบท: ไปจบลงที่ศาล
“ให้ได้อยู่แล้ว ลองไปยื่นขอข้อมูลดูเลย” คือคำพูดของ พล.อ.ชัยชาญ หลังงานแถลงข่าวผลตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการอุทยานราชภักดิ์ของกระทรวงกลาโหม ในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2558 หลังผมสอบถามว่าจะขอผลสอบฉบับเต็มนี้ได้หรือไม่ แต่ลองทายดูว่าจนถึงปัจจุบัน ผมได้รับเอกสารดังกล่าวแล้วหรือไม่ ..ถูกต้อง! ยังไม่ได้มาเลยสักแผ่น
“โปร่งใส ตรวจสอบได้” ในหน่วยงานลายพราง อาจเป็นคำที่ไม่ค่อยมีผลในเชิงปฏิบัติเท่าใดนัก
กรณีราคากลางโครงการอุทยานราชภักดิ์ ที่สุดแล้วผมก็ต้องไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก ฟ้องไปแล้วศาลตีกลับมาว่า ผมยังดำเนินการตามขั้นตอนใน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารไม่ถูกต้อง เพราะยังไม่ได้ยื่นตรวจสอบความมีอยู่จริงของเอกสาร ทำให้เสียเวลาไปเปล่าๆ 8-9 เดือน และครั้งที่สอง ได้ยื่นฟ้องไปวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2560 โดยศาลรับไว้ไต่สวนเป็นคดีดำหมายเลข 139/2560
การไต่สวนในศาลปกครอง ส่วนใหญ่จะเป็นการยื่นเอกสารเพิ่มเติม ทั้งตัวผมเองในฐานะผู้ฟ้อง และ ทบ.ในฐานะผู้ถูกฟ้อง
ที่น่าสนใจก็คือ คำชี้แจงของ ทบ.จะไปในทางว่า หลังเริ่มต้นโครงการนี้ก็เชิญโรงหล่อต่างๆ มาตกลงราคากัน โดยนัยยะคือโครงการนี้จะไม่มีการจัดทำราคากลางแต่อย่างใด (แล้วเหตุใดถึงมี ‘ค่าที่ปรึกษา’ ทั้งๆ ที่โครงการนี้มีการแจกงานให้แต่ละโรงหล่อแต่แรกอยู่แล้ว เป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป) ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช. (ที่มีมติ 9:0 ไม่รับไต่สวนคดีนี้) ที่บอกว่ามีราคากลาง แต่ถ้าเปิดเผยไป “เกรงว่าทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เพราะราคากลางในการว่าจ้างโรงหล่อพระมาดำเนินการปั้นพระบรมราชานุสาวรีย์ทั้ง 7 พระองค์ มีราคาไม่เท่ากัน ราคาถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับอิริยาบถ”
ในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2562 ศาลปกครองกลางตัดสินให้ยกฟ้องในคดีนี้
แม้ว่าตามกฎหมายจะให้อุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลปกครองสูงสุดได้ ภายใน 30 วัน แต่ผมก็ไม่เลือกใช้วิธีการดังกล่าว
เพราะระยะเวลา 4 ปี กับปฏิกิริยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็ตอบคำถามไปจนไม่จำเป็นที่จะต้องถามอะไรอีกต่อไปแล้วว่าความ “โปร่งใส ตรวจสอบได้” ในยุคของรัฐบาลทหาร แตกต่างจากยุคก่อนหน้านี้หรือไม่ หรือเป็นเพียงลมปากที่พูดออกมา โดยไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อคำพูดที่ว่าใดๆ
เช่นเดียวกับคำพูดอื่นๆ เช่น “ปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง” “ไม่คิดสืบทอดอำนาจ” “ไม่อยากอยู่ในตำแหน่งนี้ต่อไป” “คนจนจะหมดประเทศ” ฯลฯ ที่ผ่านมา 4-5 ปี สาธารณชนน่าจะได้คำตอบแล้วว่า ผู้เกี่ยวข้องพร้อมจะปฏิบัติตามสิ่งที่พูดเพียงใด
คดีอุทยานราชภักดิ์ ไม่เพียงช่วยเปิดแผลให้คนกล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารมากยิ่งขึ้น ยังช่วยฉีกหน้ากากความโปร่งใส ที่ผู้มีอำนาจใช้ห่มคลุมตัวเองว่าแตกต่างจากผู้มีอำนาจคนก่อนๆ ไปจนหมดสิ้น
แม้จะไม่ได้เอกสารตามที่ร้องขอ แต่ 4 ปีที่พยายามตามหา หากจะช่วยให้สังคมได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้มีอำนาจในรัฐบาลทหาร และบางส่วนสืบทอดอำนาจมายังรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็ถือว่าคุ้มค่าเหนื่อย ถึงระหว่างทางจะเกิดคำถามกับตัวเองอยู่เรื่อยๆ ว่า ทำแบบนี้ไปทำไม ทำไปเพื่ออะไร และคุ้มค่าไหมที่จะทำแบบนี้ต่อไป
ขอให้กำลังใจกับผู้พยายามตามความความจริงทุกคนว่า แม้เราอาจไม่รู้จักกัน แต่คุณไม่โดดเดี่ยว และสิ่งที่คุณทำจะเป็นประโยชน์กับสังคม ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
สุดท้ายนี้ ขอบ่นเบื่อคำว่า “โปร่งใส ตรวจสอบได้” อีกครั้ง ถ้าใครไม่พร้อมจะปฏิบัติตามคำๆ นี้ ก็อย่าพูดออกมาเลย โกหกประชาชนผู้เสียภาษี (ผู้มีพระคุณของพวกคุณ) ซะเปล่าๆ