การเรียนร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย หลายครั้งไม่ได้มาอย่างสันติ แต่ผ่านประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ ดิ้นรน เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน
ในประเทศเกาหลีใต้ก็เช่นกัน ซึ่งกว่าจะมาเป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งอย่างทุกวันนี้ ก็ได้ผ่านกระบวนการเรียกร้อง ชุมนุม และการต่อสู้กับระบอบเผด็จการ และการกดขี่จากรัฐบาล โดยในปีนี้เองก็ถือเป็นปีที่ครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในกวางจู ที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของเกาหลีใต้ และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งในประเทศด้วย
แต่ถึงแม้ว่าจะผ่านมาถึง 4 ทศวรรษ แต่เหตุการณ์ในครั้งนั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในโศกนาฎกรรมครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้เอง ก็ยังคงมีเรื่องที่ถูกปกปิด ยังมีประชาชนที่ถูกอุ้มหาย กลายเป็นเรื่องราวที่ยังไม่คลี่คลาย และยังมีการต่อสู้ เรียกร้องเพื่อค้นหาความจริงในเหตุการณ์ครั้งนี้อยู่ด้วย
สถานการณ์การเมืองในเกาหลีใต้ ระบอบเผด็จการที่หล่อหลอมให้เกิดเหตุการณ์ลุกฮือ
เหตุการณ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในกวางจู แม้จะมีการนับเริ่มต้นของเหตุการณ์นี้ ตั้งแต่วันที่ 18 – 27 พฤษภาคม ปี 1980 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลา 10 วันของการล้อมปราบประชาชน จนกลายเป็นหนึ่งโศกนาฎกรรมที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของเกาหลีใต้ แต่จริงๆ แล้วความพยายามในการเคลื่อนไหวต่อต้านระบอบเผด็จการ และเรียกร้องประชาธิปไตย ก็เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัย ปธน.คนก่อน คือ นายพลปาร์ก จุงฮี
ยุคของปาร์ก จุงฮี เรียกได้ว่าเป็นช่วงของการรัฐประหารที่ยาวนานที่สุด หลังจากที่เขาขึ้นครองอำนาจด้วยการรัฐประหารในปี 1961 และอยู่ในตำแหน่งยาวนานถึง 18 ปี ภายใต้ระบบยูชิน ด้วยรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้น และยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ที่ปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐาน และเสรีภาพของประชาชน
แม้ในช่วงเดือนตุลาคมปี 1979 ปธน.ปาร์ก จุงฮี จะถูกลอบสังหาร แต่ระบบยูชินของเขากลับยังไม่ล่มสลาย ประเทศก็ยังไม่ถูกเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แต่การตายของเขากลับนำไปสู่การประกาศกฎอัยการศึก รวมไปถึงความพยายามของนายทหารระดับสูงที่ต้องการรักษาอำนาจ จนนำมาสู่การรัฐประหารอีกครั้งในเดือนธันวาคม ปีเดียวกันนั้นเอง โดยชอน ดูฮวาน หัวหน้ากองกำลังรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้มีอิทธิพลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การลุกฮือในกวางจู
กระแสต่อต้านเผด็จการ และกฎอัยการศึกมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษา ที่ในตอนแรกจะเป็นการเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัย แต่ได้ยกระดับเป็นการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยในเมืองกวางจูเอง ก็มีการเดินขบวน เรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษามาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งได้มีการออกแถลงการของบรรดานักศึกษาที่เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก
โดยในคืนวันที่ 16 พฤษภาคม 1980 ก่อนการเข้าล้อมปราบของทหาร มีการบันทึกว่า มีนักศึกษา นักเรียน และประชาชนเข้าร่วมเดินขบวนมากถึง 50,000 คน โดยคาดว่าประชาชนเองต่างก็ไม่คาดคิดว่าจะเจอกับการล้อมปราบที่รุนแรงในไม่กี่วันต่อมา
การสูญเสีย ความรุนแรง โศกนาฎกรรมใน 10 วันของการล้อมปราบ
จุดเริ่มต้นของการล้อมปราบประชาชน เกิดขึ้นตั้งแต่คืนที่ 17 พฤษภาคม เมื่อรัฐบาลประกาศขยายกฎอัยการศึกทั่วประเทศ และมีคำสั่งให้กองทหารส่งกำลังเข้าไปในเมืองใหญ่ๆ ของเกาหลีใต้ ทั้งโซล ปูซาน แดกู และกวางจู ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการล้อมปราบในครั้งนี้ ทั้งผู้ชุมนุมในเมืองต่างๆ เอง แม้จะมีการนัดหมายชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย แต่เมื่อเจอกับกองทหารต่างก็ล่าถอย จนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ แตกต่างจากกวางจู ที่เจอการต่อต้านจากประชาชน จนเกิดเป็นการใช้กำลังขึ้นมา
การปะทะระหว่างทหาร และผู้ชุมนุม ซึ่งในช่วงแรกเป็นนักศึกษา เกิดขึ้นตั้งแต่ 18 พฤษภาคม ที่วันแรกของการล้อมปราบ เมื่อนักศึกษาไม่ยอมล่าถอยจากการชุมนุม และยืนยันจะรวมตัวกันตามนัดหมาย ทำให้ทหารไม่พอใจ และเริ่มทุบตีนักศึกษาที่ไม่มีอาวุธ โดยหลังจากนั้นเองความรุนแรงในการล้อมปราบก็ทวีมากขึ้นเรื่อยๆ มีการจับกุมผู้ชุมนุม ใช้กำลัง และอาวุธ เชื่อว่าผู้เสียชีวิตคนแรก คือ คิม กยองชอล ชายหูหนวกวัย 29 ปี ที่บังเอิญผ่านไปบริเวณนั้น และถูกกระบองตีจนเสียชีวิต
หลังจากนั้น ตลอด 10 วัน ความรุนแรงของการปะทะระหว่างผู้ชุมนุม และกองทัพได้ทวีมากขึ้นเรื่อยๆ จนเรียกได้ว่า กลายเป็นสงครามกลางเมือง ทั้งจากแค่นักศึกษาที่มารวมตัว ก็มีพลเรือนซึ่งมาร่วมด้วยมากขึ้นเรื่อยๆ มีการยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม การบุกเข้าไปปล้นสะดมในบ้านเรือนประชาชน ทั้งประชาชนที่ถูกจับกุมเอง ยังถูกจับถอดเสื้อผ้าสภาพกึ่งเปลือย มีผู้บาดเจ็บวันละหลายร้อยคน และมีศพผู้เสียชีวิตที่ถูกทิ้งไว้กลางถนน
มีการบันทึกว่า จำนวนประชาชนออกมาชุมนุมทวีคูณมากขึ้นหลังการล้อมปราย โดยมีมากถึงหลายหมื่นที่ออกมาชุมบริเวณถนนกึมนัม ในวันที่ 20 พฤษภาคม มีคนขับแท็กซี่ และรถบัสที่เข้าร่วม พยายามใช้ยานพาหนะฝ่ากองทัพไป และในวันนั้นเองก็มีการรายงานว่า เป็นวันที่ทหารเริ่มยิงกระสุนนัดแรกออกไป แต่ถึงอย่างนั้นฝ่ายทหาร และผู้บังคับบัญชาก็ได้แถลงว่า ฝ่ายผู้ชุมนุมได้เปิดฉากยิงก่อน จึงต้องยิงตอบโต้เพื่อป้องกันตัว
ภายหลังด้านประชาชนเองก็เริ่มปล้นอาวุธจากสถานีตำรวจรอบกวางจูเพื่อป้องกันตัว และโจมตีทหารเช่นกัน แต่ถึงอย่างนั้นก็มีการส่งกองกำลังทหารเข้ามาที่กวางจูขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการบันทึกว่ามีทหารที่เข้ามามากถึง 3,400 นาย มีการรายงานถึงการยิงกระสุนจากเฮลิคอปเตอร์ โดยบันทึกของกองทัพได้เรียกปฏิบัติการล้อมปราบครั้งนี้ว่า ปฏิบัติการซังมู ชุงจัง ที่เริ่มตั้งแต่การยกระดับ ส่งทหารเข้ามาในพื้นที่ ปิดล้อมกวางจู สร้างความสงบในพื้นที่ และการเก็บกวาดพื้นที่กวางจู ซึ่งสามารถยึดครองทั้งกวางจูให้อยู่ภายใต้อำนาจของกองทัพได้สำเร็จในเช้ามืดของวันที่ 27 พฤษภาคม หรือวันที่ 10 ของการล้อมปราบนี้
พยานผู้เห็นเหตุการณ์บอกว่า ทหารได้ใช้กระบองตีทั้งผู้ประท้วงและผู้สังเกตการณ์ ซึ่งมีทั้งภาพถ่ายและบันทึกวิดีโอภายในเป็นเครื่องยืนยันว่า ทหารได้ใช้ดาบปลายปืนทำร้ายประชาชนจริง
ผู้เห็นเหตุการณ์และมีประสบการณ์ในการล้อมปราบนี้ ได้พยายามถ่ายทอดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นออกมาด้วยสื่อต่างๆ รวมถึงภายหลังเอง ได้มีความพยายามสร้างภาพยนตร์ที่อิงจากเหตุการณ์จริงนี้หลายเรื่อง รวมถึงสารคดี และหนังสือ โดยพอล คอตไรท์ ชาวอเมริกันผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘Witnessing Gwangju’ ที่เล่าประสบการณ์ของเขาในช่วงที่ทำงานอยู่ในเกาหลีใต้ และได้ไปอยู่ในกวางจูช่วง 13 วันระหว่างการล้อมปราบและการชุมนุมว่า เป็นช่วงเวลาที่นำมาซึ่งความเจ็บปวดในชีวิตของเขา
ในหนังสือของคอตไรท์เล่าเหตุการณ์ในตอนหนึ่งว่า “มีเสียงกึกก้องดังอยู่ตลอด มีเสียงของผู้หญิงที่ตะโกนว่า ‘พวกมันฆ่าเขา!’ ซึ่งพวกเราได้แต่ตัวแข็ง และหันกลับมามองชายหนุ่มคนนึงที่นอนอยู่บนพื้นอย่างไม่ขยับนิ่ง มีเลือดไหลไปข้างๆ หัวเขา พร้อมทหารที่ยืนอยู่เหนือร่างของเขาในท่าทางคุกคามอยู่ พร้อมการโกนใส่กลุ่มฝูงชนของทหารอีกนายว่า ออกจากพื้นที่เดี๋ยวนี้!”
เจอร์เกน ฮินส์ปีเตอร์ ช่างภาพชาวเยอรมนี นักข่าวต่างประเทศคนแรก ที่ลอบเข้าไปในกวางจู และได้บันทึกภาพวิดีโอในเหตุการณ์นี้ ซึ่งภาพฟุตเทจของเขาได้กลายเป็นหลักฐานสำคัญมากที่เปิดเผยความจริงที่โหดร้ายในเหตุการณ์นี้ ที่ส่วนใหญ่ถูกปิดบังจากรัฐบาลเผด็จการ เขาได้เล่าว่า มีญาติ และเพื่อนๆ มาตามหาบุคคลที่รักกัน พวกเขาเปิดโลงศพที่มากมายเรียงกันเป็นแถว “ในชีวิตของเขา แม้จะเคยบันทึกภาพในจากสงครามเวียดนามมา แต่ก็ไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน” เขาเล่า
ฝั่งรัฐบาลเอง ได้เรียกการล้อมปราบในครั้งนี้ว่า เป็นไปเพื่อการปราบจลาจลซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคง โดยในช่วงนั้นสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองของเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ยังไม่สงบ ก็มีการสร้างวาทกรรมว่ากลุ่มผู้ชุมนุมถูกปลุกระดม และยุยงจากเกาหลีเหนือ ไปถึงการมองว่าเป็นกลุ่มกบฏที่ได้รับการสนับสนุนจาก คิม แดจุง ผู้นำพรรคฝ่ายค้านซึ่งมีบ้านเกิดคือกวางจูด้วย
10 วันของการล้อมปราบนั้น ถือเป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรง และสร้างความสูญเสียทั้งร่างกาย และจิตใจอย่างมาก ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดว่ามีผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ไปถึงผู้สูญหายจากเหตุการณ์นี้จำนวนเท่าไหร่ โดยคณะกรรมการรวบรวมประวัติของเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม 18 ในกวางจู ได้บันทึกว่า มีพลเรือนเกาหลีเสียชีวิตมากกว่า 150 ราย สูญหาย 81 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ถูกลักพาตัว จับกุม กว่า 5,500 ราย (การนับรวม ณ วันที่ 24 มิถุนา 2014) ทั้งยังมีการเสียชีวิตของทหารและเจ้าหน้าที่อีกกว่า 40 ราย และบาดเจ็บกว่า 250 ราย
ครบรอบ 40 ปี แต่การต่อสู้เพื่อเปิดเผยความจริงยังคงอยู่
เหตุการณ์จบลงด้วยการยึดครองของกองทัพ และเกาหลีใต้เองยังอยู่ใต้ระบบการปกครองของทหารต่อไป โดยประชาชนเกาหลีใต้ต้องใช้ความพยายามมากกว่า 20 ปีในการเรียกร้องให้รัฐบาลสืบหาความจริง และต่อสู้เพื่อให้ผู้อยู่เบื้องหลัง และออกคำสั่งล้อมปราบมาลงโทษ
โดยในปี 1995 สภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านกฎหมายพิเศษเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยวันที่ 18 พฤษภาคม เพื่อนำเอาผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้มาลงโทษ ซึ่งในปี 1996 ชอน ดูฮวาน อดีตปธน. ได้ถูกศาลตัดสินประหารชีวิต (ต่อมาถูกลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต) และอดีตปธน.โร แทอูเอง ก็ถูกตัดสินจำคุก 22 ปี (ถูกลดโทษเหลือ 17 ปี) จากการออกคำสั่งจัดการล้อมปราบผู้ชุมนุมที่เข้มงวด และใช้ความรุนแรงเกินความจำเป็น รวมถึงข้อหารับสินบน และทุจริตอื่นๆ
แต่หลังถูกคุมขังไปเพียง 250 วัน ทั้งคู่ก็ได้รับอภัยโทษจาก ปธน.คิม ยองซัม ด้วยเหตุผลว่าเพื่อความปรองดองในสังคม ทั้งชอนเอง ยังไม่เคยแสดงความรู้สึกผิดและเสียใจ ในการออกมาขอโทษประชาชนที่ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ ทำให้ประชาชนจำนวนมากยังไม่พอใจกับการตัดสินครั้งนี้
นอกจากนี้ เหตุการณ์ในครั้งนั้นยังเกิดในช่วงรัฐบาลเผด็จการ ทำให้มีการปกปิดความจริง ไปถึงการปฏิเสธมีส่วนร่วมของผู้สนับสนุนกองทัพในยุคนั้น รวมถึงยังมีการค้นหาร่างผู้เสียชีวิตของผู้ที่หายสาบสูญจากเหตุการณ์ ซึ่งยังมีอีกจำนวนมากที่ยังไม่พบศพถึงทุกวันนี้
ชเว จองจา และจาง กียง ยังคงตามหาสามี และพ่อของเขาที่หายสาบสูญไปจากเหตุการณ์ครั้งนี้ หลังจากที่เขาออกจากบ้าน เพื่อไปซื้อน้ำมันเพื่อเติมในฮีทเตอร์ แต่ไม่เคยกลับมาอีกเลย ชเวเล่าว่า หลังเหตุการณ์สงบลง เธอได้ออกตามหาสามีด้วยการเปิดโลงศพต่างๆ แต่หลังจากเปิดไปได้ 3 โลงศพ เธอก็ไม่สามารถทนต่อไปได้ “ใบหน้าถูกปกคลุมไปด้วยเลือด ไม่มีคำพูดใดๆ ที่จะอธิบายพวกเขาได้ เพราะมันไม่สามารถจดจำใบหน้านั้นได้เลย” โดยทุกวันนี้ เธอยังคงต้องใช้ยาเพื่อรักษาบาดแผลทางจิตใจ และโกรธแค้นทุกครั้งเมื่อเห็นชอน ดูฮวันปราตัวทางโทรทัศน์
ซึ่งในช่วงปลายปี 2019 ได้มีการพบร่างผู้สูญหายเพิ่มเติมอีก 40 รายบริเวณคุกเก่าในกวางจู ซึ่งมีการคาดว่าอาจเป็นศพที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ล้อมปราบในปี 1980 ขณะที่ยังมีญาติผู้สูญหาย 242 ราย ที่ให้
นอกจากเหตุการณ์การสังหารแล้ว ยังมีการพูดถึงความรุนแรงจากการข่มขืน และล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงโดยกองทัพทหารด้วย ซึ่งจากการสอบสวนของรัฐบาลเมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีการยืนยันว่า มีประชาชนอย่างน้อย 17 ราย ซึ่งมีทั้งวัยรุ่น และหญิงตั้งครรภ์ที่ถูกข่มขืน ซึ่งเมื่อปี 2018 นี้เอง ก็เพิ่งมีการออกมาโค้งคำนับขอโทษจาก รมต.กลาโหม ที่กล่าวถึงสิ่งที่นายทหารก่อไว้ว่า เป็นความเจ็บปวดที่ไม่สามารถบรรยายได้ต่อสตรีผู้บริสุทธิ์ในเมืองกวางจู
แต่ถึงอย่างนั้น คิม ซันอ๊กเหยื่อจากการถูกข่มขืนก็กล่าวต่อการขอโทษของรัฐบาลว่า ไม่ว่าจะขอโทษอีกกี่ล้านครั้งก็ไร้ค่า หากทหารที่มีความผิดยังไม่ถูกลงโทษอย่างถูกต้องด้วย
แม้จะผ่านมาถึง 40 ปีแล้ว แต่ยังมีการต่อสู้เพื่อเปิดเผยความจริงในเหตุการณ์ โดยหลัง มุน แจอิน ปธน.เกาหลีใต้ปัจจุบัน ได้รับเลือกตั้งในปี 2017 เขาได้สั่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง และรื้อฟื้นคดีสังหารหมู่กวางจูขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อค้นหาความจริง และนำตัวผู้เกี่ยวข้องมารับโทษ
สัปดาห์ที่ผ่านมา มุนเองยังได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ MBC ถึงการไต่สวนข้อเท็จจริงว่า “มันยังไม่ได้รับการเปิดเผยว่าใครเป็นคนสั่งให้ยิง และใครเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้” และเราควรมีการระบุเหยื่อทั้งหมดในการสังหารหมู่ และค้นหาว่ามีการยิงอย่างไร บิดเบือนความจริงอย่างไร ทั้งเขายังกล่าวว่า “จุดประสงค์ของการสอบสวนไม่ใช่เพื่อลงโทษผู้รับผิดชอบ แต่เพื่อแสวงหาการปรองดองและความสามัคคีบนพื้นฐานของความจริง” ทั้งในมุน ยังกล่าวในงานรำลึก 40 ปี เหตุการณ์ในวันนี้ว่า เชื่อว่า “การพ่ายแพ้ในวันนั้นจะกลายเป็นชัยชนะของวันพรุ่งนี้” ด้วย
นอกจากนี้ คิม ยองฮุน ตัวแทนของครอบครัวผู้เสียชีวิตก็ได้กล่าวในพิธีว่า “แม้ว่าบางคนจะกล่าวว่า มีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย และสถาบันหลายอย่าง แต่สำหรับเราที่สูญเสียครอบครัว ความเจ็บปวด และความเศร้าโศกที่ได้รับเมื่อ 40 ปีที่แล้ว มันยังไม่ดีขึ้น”
ทั้งในฐานะผู้สูญเสีย พวกเขายังคาดหวังในการเปิดตัวคณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริง และหวังว่าความจริงจะถูกเปิดเผยในวันหนึ่งด้วย
อ้างอิงจาก
The May 18 History Compilation Committee of Gwangju. (สิงหาคม 2015).18 พฤษภาคมการลุกขึ้นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่เมืองกวางจู