เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมามีการประกาศจากวาติกันให้แม่ชีเทเรซ่าเป็นนักบุญ ถ้าใครเคยดูหนังหรืออ่านนวนิยายของแดน บราวน์ คงจะมีความรู้สึกว่า หูย เท่เนอะ เพราะนึกภาพวาติกันในฐานะศูนย์กลางของคริสตจักร มีฉากสุดอลังการงานสร้าง มีระเบียบพิธีต่างๆ นานา ที่เคร่งครัดและศักดิ์สิทธิ์ มีเสาหินอ่อน เสียงระฆัง เสียงสวด กลิ่นกำยานลอยมาเลย
การที่ศาสนจักรในฐานะจุดเชื่อมต่อบนโลกมนุษย์กับสวรรค์ มีประกาศที่ดูเป็นเรื่องที่เวรี่สรวงสวรรค์อย่างการประกาศให้เป็นนักบุญ เลยฟังดูแล้วแบบ หื้มมม เจ๋งอะ ใหญ่โตอะ ศักดิ์สิทธิ์ ขนลุกเลย
จะว่าไป นักบุญ หรือ saint นี่ ฟังดูแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจ แล้วการประกาศให้เป็นนักบุญที่เรียกว่า canonization นี่คือยังไง ใครเป็นนักบุญได้บ้าง มีขั้นตอนยังไง เกี่ยวอะไรกับปืนใหญ่(cannon) ไหมนะ
‘นักบุญ’ คือ???
นักบุญมีความหมายกว้างๆ และพบว่าการพูดถึงนักบุญในศาสนาต่างๆ โดยรวมแล้วหมายถึงบุคคลในแต่ละศาสนาที่มีจริยวัตรหรือเป็นผู้ที่ประกอบคุณความดีเป็นที่ประจักษ์ เป็นบุคคลได้รับการยกย่องเป็นพิเศษในศาสนานั้นๆ โดยนัยนักบุญเป็นเสมือนตัวแทนที่ทางศาสนายกย่องขึ้นเป็นแบบอย่างแก่ศาสนิกชน ส่วนใหญ่มักมีนัยของความศักดิ์สิทธิ์ มีการแสดงปาฏิหาริย์เข้ามาประกอบด้วย
สำหรับคริสตศาสนาทางคาทอลิก นักบุญ หมายถึง ผู้ที่สถิตอยู่บนสรวงสวรรค์ร่วมกับพระผู้เป็นเจ้า การเรียกขานว่านักบุญ จึงใช้คำว่า Canonization คำว่า Canon ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการประกาศแล้วมีการยิงปืนใหญ่เฉลิมฉลอง(นั่นมันcannon โว้ย) แต่ความหมายของ Canon หมายถึงสารบบ เป็นการรับรู้ว่าโอเคท่านต่อไปนี้นะคือผู้ที่สถิตอยู่ในสารบบร่วมกับพระเจ้า เราก็ควรให้ความเคารพและเผื่อว่าท่านจะวิงวอนของพรอะไรกับพระเจ้าแทนคริสตชนบนโลก
ความจริงศาสนจักรไม่ได้ทำหน้าที่แต่งตั้งหรือทำให้ใครกลายเป็นนักบุญ ศาสนจักรเป็นเหมือนตัวกลางระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ หน้าที่ของศาสนจักรคือประกาศการรับรู้ว่า เออ ต่อไปนี้ท่านผู้นี้ได้ขึ้นไปสู่สวรรค์แล้วนะ ซึ่งก็จะมีเกณฑ์ว่าถ้าเป็นไปตามแบบนี้ๆๆๆ นะ ท่านผู้นี้เมื่อสิ้นไปแล้วต้องได้ขึ้นสวรรค์อย่างแน่นอน
4 ขั้นตอนสู่การเป็นนักบุญ
โดยทั่วไปแล้วการเสนอว่าท่านผู้นี้เป็นนักบุญรึเปล่า ก็จะพิจารณาจากการประกอบคุณงามความดีในขณะที่ยังมีชีวิต ซึ่งแค่นั้นก็ไม่ประจักษ์เนอะ เลยต้องมีสัญญาณต่างๆ ที่มันศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ คือการแสดงปาฏิหารย์ซึ่งถ้ายืนยันว่าแสดงปาฏิหาริย์เกินสองครั้งขึ้นไป แปลว่านี่ล่ะ แน่นอนละ
ดังนั้น การเป็นนักบุญมันเหมือนภาวะหลังจากสิ้นชีวิตเนอะ กระบวนการการยืนยันว่าท่านนี้เป็นนักบุญแน่ๆ เลยมักทำหลังจากที่บุคคลนั้นสิ้นชีวิตไปแล้ว ส่วนใหญ่จะประมาณ 5 ปี การพิจารณาและประกาศการเป็นนักบุญกินเวลานานหลายปีไปจนถึงใช้เวลาเป็นศตวรรษ(คือพิจารณากันเป็นร้อยปีกว่าจะยืนยันและยอมรับ)
ขั้นตอนในปัจจุบันคือมีการเสนอกรณีให้กับบิชอป แล้วก็มีขั้นตอนการตรวจสอบเพื่อยกสถานะของผู้ที่ได้รับการพิจารณา โดยรวมคือการส่งคณะไปตรวจสอบโดยละเอียด ตั้งแต่กรณีที่ผู้นั้นมีชีวิตอยู่ ชีวิตส่วนตัว ไปจนถึงการส่งทีมแพทย์ไปตรวจสอบ โดยกระบวนการหรือขั้นตอนสู่การเป็นนักบุญมีทั้งสิ้น 4 ขั้น
1. ผู้รับใช้พระเป็นเจ้า(Servant of God) – คือเมื่อคนที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาการเป็นนักบุญ ประมาณว่าบิชอปเห็นว่า เฮ้ย คนนี้โอเคนะ ขั้นตอนที่เริ่มรวบรวมข้อมูลว่ามีการใช้ชีวิตยังไง สร้างคุณงามความดีมั้ย คือพอได้รับการคัดเลือกเพื่อเข้าพิจารณา ก็จะได้รับการเรียกว่าเป็นผู้รับใช้พระผู้เป็นเจ้า
2. ผู้น่าเคารพ(Venerable) – ขั้นที่สอง อันนี้ยังเป็นระดับบนโลกอยู่ ประมาณว่าโอเค คนนี้นะ มีคุณธรรมจริยธรรมดีจริง อุทิศปฏิบัติตัวเป็นเยี่ยงอย่าง เป็นผู้ศรัทธาจริงๆ ทุกอย่างประจักษ์ คณะกรรมการก็จะเสนอพระสันตปาปาให้ประกาศคุณความดี (heroic virtue) ของคนนั้น สถานะของบุคคลนั้นจากผู้รับใช้พระผู้เป็นเจ้าก็มีคำเรียกใหม่ว่าเป็นผู้น่าเคารพ หรือ Venerable
3.บุญราศี(Blessed) – ขั้นนี้เริ่มมีความศักดิ์สิทธิ์เข้ามาพิจารณาด้วย คือ โอเคยืนยันว่าผู้นี้เป็นผู้มีจริยวัตรดีแล้วยังได้รับพรจากพระเจ้าด้วย ซึ่งสัญญาณของการได้รับพรคือการที่มีปาฏิหาริย์หรือเหตุการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้น เมื่อพิสูจน์เป็นที่ประจักษ์แก่พระสันตปาปาได้ ก็จะถือว่าท่านผู้นั้นมีสถานะเป็นบุญราศี คือเป็นผู้ที่ได้รับพร (Blessed) ขั้นตอนนี้เป็นกระบวนการที่เรียกว่า Beatification เป็นการประกาศการรับรู้จากทางศาสนจักรว่าผู้นี้ได้เข้าสู่สวรรค์แล้ว
4. นักบุญ(Saint) – เมื่อมีการพิสูจน์ถึงเหตุการณ์อัศจรรย์เป็นครั้งที่ 2 ได้ ก็จะถือว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์โดยสมบูรณ์ ทางศาสนจักรจึงประกาศสถานะนักบุญให้กับบุคคลนั้น ถ้าเป็นปาฏิหาริย์ในการรักษาก็จะมีการส่งทีมแพทย์ไปเก็บข้อมูลและยืนยันว่าการรักษานั้นไม่มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์จริงๆ
ซึ่งนอกจากปาฏิหาริย์เกี่ยวกับการรักษาแล้ว ยังมีการไปดูความอัศจรรย์อื่นๆ ประกอบ เช่น ร่างสังขารของบุคคลนั้นว่าไม่เน่าเปื่อย เลือดที่เคยแห้งกลับกลายเป็นของเหลวในวันสำคัญต่างๆ หรือมีว่าร่างกายหลังเสียชีวิตแล้วกลับมีกลิ่นหอมแทนกลิ่นเน่าเหม็น