‘ว่าไว้วิสัยโลก โศลกสารสโมสร
เป็นสร้อยสถาวร ประดับเกษกษัตรีย์
– กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ฉบับกรุงธนบุรี’
สถาบันใดใดในสังคมก็ล้วนมีความสัมพันธ์ต่อกัน สถาบันศาสนาเองก็เช่นกัน พุทธศาสนา ศิลปะวิทยาการ การเมืองของสิ่งที่สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และบางครั้งก็ซ้อนทับ ส่งเสริมกัน
ในต่างประเทศสมัยก่อนศาสนาแทบจะเข้ามามีบทบาทกับรัฐและการปกครอง สำหรับของทางเอเชียเอง ศาสนาไม่ว่าจะเป็นพุทธ หรือพราหมณ์นั้นก็ยืนหยัดเคียงคู่กับการเมืองอยู่มาตั้งแต่ครั้งเก่าก่อน มีแนวคิดเช่น ธรรมราชและมหาจักรพรรดิราชและทศพิธราชธรรม ยิ่งบ้านเราการสร้างสรรค์งารการกวีอันเป็นการทำนุบำรุงเมืองให้เฟื่องฟูทั้งในด้านการผลิตงานประดับพระนคร และดำรงธรรมให้กับสังคมก็ดูจะเป็นสิ่งที่สถาบันพระศาสนาดำรงและเคียงคู่กับ ‘การเมือง’ มาอย่างยาวนาน
ในสมัยก่อนนั้น การกวีและงานศิลปะโดยเฉพาะศิลปะการประพันธ์ส่วนหนึ่งย่อมสัมพันธ์กับวัดและวัง ด้วยความที่วัดเป็นศูนย์รวมความรู้ เป็นพื้นที่เล่าเรียนศึกษาวิชาการอ่านเขียน และที่สำคัญคือ การศึกษาอ่านเขียนในครั้งก่อนนั้นก็มักมีงานประพันธ์ต่างๆ เข้ามาร่วมสั่งสอนทั้งเพื่อง่ายกับการท่องจำ เป็นเทคนิคการสอน และสัมพันธ์กับวัฒนธรรมมุกขปาฐะ หรือการถ่ายทอดต่างๆ ด้วยการท่องบ่น พูดสอน ดังนั้นโคลงกลอนต่างๆ ก็เลยเป็นทั้งศาสตร์ เนื้อหา และเป็นเครื่องมือในการสอนโดยพร้อมกัน
เบื้องต้นนั้นจึงไม่แปลกที่ใต้ร่มกาสาวพัตร์ ในรั้ววัด ในขอบขัณฑ์นั้นจะเป็นพื้นที่ที่ผลิตสร้างผลงานวรรณคดีจำนวนมาก ในส่วนของ ‘การเมือง’ ในกรณีนี้นอกจากการเมืองที่ทางสถาบันศาสนาเข้าไปมีความสัมพันธ์อย่างซับซ้อนนั้น ด้วยความที่พื้นที่วัดและวังเป็นพื้นที่ที่ใกล้ชิดกัน
ในสมัยโบราณก็เลยมีทั้งกวีที่เป็นบุคคลสำคัญเข้าสู่เขตสังฆาวาสทั้งด้วยศรัทธาในพระศาสนา เพื่อลี้ภัยการเมือง หรือหลายครั้งภิกษุในพระศาสนาในฐานะสถาบันที่เคียงคู่และร่วมชี้นำสังคมนั้น ก็มีการแต่งเพื่อถวายคำสอนโอวาทเพื่อดำรงสันติ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างทางโลกและทางธรรมที่มีความซับซ้อนและมีความสถาพรของสังคมเป็นที่ตั้ง
ในวันที่ทั้งงานศิลปะและสถาบันศาสนา กวีนิพนธ์และพระสงฆ์กำลังอยู่ในความสนใจ ด้วยการเติบโตและทับซ้อนกันของพื้นที่ทั้งสองที่แท้จริงแล้วเป็นสองสิ่งที่สัมพันธ์ส่งเสริมกันมาอย่างเนิ่นนาน The MATTER จึงชวนย้อนกลับไปอ่านผลงานงานกวีของบุรพกวี ที่สร้างสรรค์ขึ้นขณะบวชอยู่ หรือบางท่านบางองค์ก็ครองสมณเพศไปพร้อมกับมีความสนใจและความชำนาญในทางกลอน
จากงานของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ที่ครอบคลุมหลากหลายทั้งทางโลก เช่น ตะเลงพ่ายและในทางธรรม เจ้าของวรรค ‘สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้งยามสาย’ เพลงยาวถวายโอวาทที่สุนทรภู่แต่งขึ้นขณะบวช หรือในครั้งอยุธยาที่เจ้าฟ้ากุ้งก็บวชหนีราชภัยและใช้เวลาขณะบวชนั้นแต่งนันโทปนันทสูตรคำหลวง มาจนถึงพระสงฆ์ในยุคสมัยใหม่ เช่น ท่านพุทธทาสที่ก็ใช้งานกวีนิพนธ์สมัยใหม่ เพื่อสอนคติธรรมให้คมคายเข้าใจง่ายด้วย
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
ก่อนอื่นต้องหยุดความคิดว่าเป็นสงฆ์แล้วต้องทำหรือไม่ทำอะไร ต้องแยกแยะออกจากเด็ดขาด บางเรื่องเช่นงานการกวี ศิลปศาสตร์ และการชี้นำสังคมในหลายกลุ่มหลายมิติก็เป็นสิ่งที่พระสงฆ์ในฐานะบุคคลสำคัญและบุคคลในสังคมย่อมกระทำได้
ทีนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิต (ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่ากรมพระปรมานุชิต) เป็นอีกหนึ่งกวีเอก ที่โดยตัวพระองค์เองเป็นทั้งพระบรมวงศ์ เป็นผู้ที่เข้าสู่ร่มพระศาสนา ในขณะเดียวกันก็ทรงเป็นกวี ที่เชี่ยวชาญแตกฉานในหลายศาสตร์ รวมถึงอักษรศาสตร์ และทรงฝึกฝนผลิตงานเชิงอักษรศาสตร์เป็นบทกวีล้ำค่าขึ้นประดับความยิ่งใหญ่ของเมือง ร่วมสั่งสอนชี้นำ กล่อมเกลาผู้คน
กรมสมเด็จพระปรมาฯ ทรงเป็นพระบรมวงศ์ เป็นพระโอรสในรัชกาลที่ 1 ทรงผนวชตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์เป็นสามเณร และผนวชเป็นพระภิกษุในรัชกาลที่ 2 หลังจากนั้นก็ทรงอยู่ในพระศาสนาและได้รับสถาปนาพระยศในรัชกาลต่อๆ ทรงรับเป็น พระมหาสังฆปรินายกก่อนจะสิ้นพระชนม์ลงในรัชกาลที่ 4 ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดและเล็งเห็นคุณูปการของกรมสมเด็จ จึงทรงสถาปนาพระยศขึ้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ย้อนหลังจากสิ้นพระชนม์ได้ 68 ปี
งานพระนิพนธ์ในกรมสมเด็จพระปรมาฯ แน่นอนว่าทรงเป็นหนึ่งในรัตนกวีของกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงนิพนธ์งานทั้งทางโลกและทางธรรม ทรงเจนจัดในคำประพันธ์โบราณและทรงพระนิพนธ์ออกมาได้อย่างหมดจดงดงาม
งานสำคัญที่เราต้องเคยได้ยิน เช่น ลิลิตตะเลงพ่าย งานที่ย้อนกลับไปใช้พงศาดารสมัยอยุธยา คือเรื่องราวของพระนเรศวรแต่งขึ้นเป็นงานกึ่งเฉลิมพระเกียรติและแสดงฝีพระหัตถ์ในทางโคลงและร่าย ในตะเลงพ่ายนั้นแน่นอนว่าเป็นงานที่ครบรสทางวรรณคดี มีการประณามพจน์ ยอพระเกียรติ มีฉากสงครามที่ใช้จังหวะคำประพันธ์ ทั้งยังสอดแทรกกวีรสที่พูดถึงความสัมพันธ์ในขนบแบบนิราศ พูดถึงอารมณ์ความรู้สึกการจากจรซึ่งทั้งหมดนั้นทรงสืบสานงานกาพย์กลอนให้สถาวรต่อไป
นอกจากตะเลงพ่ายแล้วก็ยังร่วมแต่งสมุทรโฆษคำฉันท์ เป็นงานนิทานนิยายเรื่องยิ่งใหญ่ที่กวีสำคัญ 3 คนแต่งต่อเนื่องกันขึ้นประดับเป็นปิ่นให้กับพระนครได้สำเร็จ งานพระนิพนธ์ในกรมสมเด็จฯ นั้นครบถ้วนแทบจะทุกประเภททั้งงานบันเทิงคดี และงานในทางธรรมเช่นปฐมสมโพธิกถา ร่ายยาวมหาเวสสันดร งานแนววรรณกรรมคำสอน เช่น กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ไปจนถึงงานประพันธ์ที่ใช้ในพระราชพิธีอย่าง ลิลิตกระบวนพยุหยาตราพระกฐินสถลมารคและชลมารค ฉันท์ดุษฏีสังเวยกล่อมช้าง เป็นต้น
เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร
เจ้าฟ้ากุ้งเป็นกวีเอกของกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ฝากถ้อยคำ ‘พระเสด็จโดยแดนชลฯ’ ใช้เห่เรือจนมาถึงแผ่นดินปัจจุบัน โดยศักดิ์และโดยเรื่องราวเจ้าฟ้ากุ้ง หรือพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
โดยพระประวัติเท่าที่ทราบก็พบว่าเป็นเจ้าฟ้าที่ทรงโลดโผดเข้ากับพระนิพนธ์ที่ฉูดฉาดงดงาม และในเบื้องปลายทรงมีความขัดแย้งในเรื่องการสืบราชบัลลังค์ ทรงได้รับสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า คือมีสิทธิรับสืบราชสมบัติต่อไป ด้วยความโลดโผนและความยุ่งขิงกับการเมืองนั้นทำให้เกิดกรณีขัดแย้ง ต้องทรงบวชหนีราชอาญา และในที่สุดทรงถูกทูลฟ้องว่าเล่นชู้กับนางสนมและลงพระราชอาญาประหารชีวิตในท้ายที่สุด
ในความซับซ็อนของการสืบสายราชสมบัติ ชีวิตช่วงหนึ่งของเจ้าฟ้ากุ้งต้องบวชเพื่อรักษา ในตอนนั้นมีเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่งคือ เจ้าฟ้านเรนทรที่ทรงผนวชอยู่ โดยศักดิ์เจ้าฟ้านเรนทรทรงเป็นโอรสองค์ใหญ่ในพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ และเป็นผู้สมควรรับสืบทอดราชบัลลังค์ แต่ช่วงปลายรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระมีความขัดแย้งขึ้น เจ้าฟ้านเรนทรจึงปฏิเสธราชบัลลังค์และยกให้พระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศผู้เป็นอาแทน
ในช่วงก่อนเจ้าฟ้ากุ้งได้รับสถาปนาเป็นวังหน้า ตัวเจ้าฟ้ากุ้งเองก็ทรงไม่วางใจเจ้าฟ้านเรนทรเกรงว่าจะเข้าแย่งราชสมบัติจึงได้วางแผนลอบทำร้ายขณะที่เจ้าฟ้านเรนทรเดินทางมาเยี่ยมพระเจ้าอยู่หัวขณะประชวร เจ้าฟ้ากุ้งก็ดักชักดาบฟันเจ้าฟ้านเรนทรโดนจีวรขาด แต่ตัวเจ้าฟ้านเรนทรทรงไม่เป็นไรในขณะที่เจ้าฟ้ากุ้งแล่นหนีไปเรียบร้อย เมื่อเจ้าฟ้าเนรนทรเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวและทรงถามหาเหตุผ้าสังฆาฎิขาด ก็ทรงทูลว่ากรมขุนเสนาพิทักษ์เธอหยอกเล่น
หลังจากพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศทราบก็กริ้วหนัก เจ้าฟ้ากุ้งที่กลัวราชภัยตอนนั้นก็เลยหนีไปพึ่งพระราชชนี ทำไปทำมาก็ทรงได้รับคำแนะนำว่าให้นำพระราชโอรสบวชเพื่อหลบพระราชภัย พระชนนีก็ทรงนำพระโอรสไปผนวชที่วัดโคกแสง
จนสองปีต่อมาพระราชนนีทรงประชวรหนักจึงทูลขอให้พระเจ้าอยู่หัวพระราชอภัยโทษแก่เจ้าฟ้ากุ้ง และทรงยินยอม เจ้าฟ้ากุ้งจึงได้ลาผนวชและกลับมาดำรงพระยศจนได้รับเป็นวังหน้า และตกเป็นคดีถูกกล่าวหาว่าลอบรักกับเจ้าฟ้าสังวาลย์ มเหสีอีกพระองค์ของพระราชบิดา การณ์นั้นจึงถูกลงพระราชอาญา ถอดยศและเฆี่ยน 180 ทรงสิ้นพระชนม์ในการลงโทษนั้นเอง
ขณะออกผนวช เจ้าฟ้ากุ้งก็ทรงนิพนธ์วรรณกรรมศาสนาขึ้นสองชิ้นคือ นันโทปนันทสูตรคำหลวง และพระมาลัยคำหลวง แน่อนนว่าคงด้วยท่านเป็นกวี เมื่ออยู่ในพระศาสนาก็ต้องแสดงฝีมือทั้งด้านกวีและความรู้ในคัมภีร์พุทธ แต่นักวิชาการ เช่น ประคอง เจริญจิตรธรรมก็เสนอว่า นอกจากจะแสดงฝีมือทางการกวีแล้ว ยังใช้เพื่อแสดงความสำนึกและขอพระราชทานอภัยโทษจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศด้วย
นันโทปนันทสูตรเล่าถึงพญานาคราชที่มีจิตใจหยาบ ประกอบด้วยมิจฉาทิฐิแต่พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า สัตว์หรือคนไม่ว่าจะมีมิจฉาทิฐิเพียงใดก็สามารถสั่งสอนได้จึงส่งพระโมคคัลลานะไปสั่งสอน พระยานันโทปนนันทนาคราชจึงละจากมิจฉาทิฐิได้ และเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อขอขมาพร้อมยอมรับพระรัตนไตรเป็นสรณะ เรื่องราวตรงนี้ก็สอดคล้องกับพระประวัติว่า เมื่อเจ้าฟ้ากุ้งบวชแล้วแม้จะมีมิจฉาทิฐิเพียงก็ก็สามารถขัดเกลาจากดุร้ายเข้าสู่การมีสัมมาทิฐิได้ในขณะที่พระมาลัยคำหลวงเป็นงานที่เน้นอานิสงค์ของการให้ทาน ซึ่งก็คล้ายจะหมายใจทูลแก่พระราชบิดาเป็นนัยจากการเลือกงานพระนิพนธ์ทั้งสองชิ้น
ภิกษุอินทร์
กฤษณาสอนน้อง เป็นเรื่องที่ถูกนำมาแต่งขึ้น โดยมักแต่งอยู่ในพระศาสนา เป็นลักษณะของคำสอนผู้หญิงโดยอ้างอิงจากเรื่องงนางกฤษณาจากมหาภารตะ วรรณคดีสำคัญของอินเดีย ทีนี้ในบรรดาวรรณคดีโบราณของเรา ก็ปรากฏการนำกฤษณามาสอนหญิงอยู่หลายสำนวน บ้างก็เก่าขนาดอยุธยา และฉบับหลังคือพระนิพนธ์ของกรมสมเด็จพระปรมาฯ
หนึ่งในหลายเวอร์ชั่นเราก็มีกฤษณาสอนน้องที่สันนิษฐานว่า เขียนขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งน่าสนใจและเป็นที่จับตาคือ ยุคทางวรรณคดีดังกล่าวค่อนข้างสั้น การเมืองไม่มั่นคง ที่นี้กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ฉบับกรุงธนฯ ในตัวงานมีระบุผู้แต่งสองคนคือ พระยาราชสุภาวดีและพระภิกษุอินท์ แต่งขึ้นขณะรับราชการที่เมืองนครศรีธรรมชาติ
เรื่องราวของพระภิกษุอินทร์มีรายละเอียดน้อยมาก มีกล่าวถึงในคำฉันท์ตอนท้ายว่า ‘นางกฤษณานารถ ก็มีเรื่องบริบูรณ์ สมุดเดิมก็เศร้าสูญ สลายลบบ่เป็นผล เชิญเราชิโนรส พระนามอินทนิพนธ พจนารถอนุสนธิ จำหลักฉันทจองกลอน’ ในคำนำของกรมศิลปากรก็อธิบายว่า น่าจะหมายความถึงเรื่องกฤษณาสอนน้องคงมีมาตั้งแต่ครั้งอยุธยา เสียกรุงแล้วก็สูญหาย กวีทั้งสองจึงร่วมกันแต่งซ่อมขึ้น แต่ตอนหลังก็มีข้อเสนอ เช่น รื่นฤทัย สัจจพันธุ์กล่าวว่า เมื่อสอบทานกับต้นฉบับกฤษณาสอนน้องในยุคพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศพบว่า คำฉันท์นั้นเหมือนกัน ทั้งสองก็เลยอาจจะไม่ใช่แต่งขึ้นใหม่ในสมัยกรุงธน แต่เป็นผู้คัดลอกซ่อมกลับขึ้นมาใหม่เท่านั้น
สุนทรภู่
สุนทรภู่เป็นกวีสำคัญที่ระยะหลังในวงการศึกษาวรรณคดีก็มีข้อเสนอ ความเข้าใจใหม่ๆ ของมหากวีของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ใช้คำประพันธ์คำกลอนและทำมาหากินด้วยการแต่งนิทานคำกลอน สิ่งหนึ่งที่นักวิชการมักพูดถึงคือ ชีวิตที่ขึ้นๆ ลงๆ ของสุนทรภู่ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นก็สัมพันธ์กับการเปลี่ยนผ่านรัชกาล การเป็นคนโปรด ไม่โปรดด้วยเหตุต่างๆ สุดจะสันนิษฐานกัน
มีช่วงชีวิตตอนหนึ่งที่นักวิชาการเสนอว่าหลังเปลี่ยนรัชกาลจากรัชกาลที่ 2 สู่รัชกาลที่ 3 มีนัยว่าสุนทรภู่นั้นอาจตกอับจถูกถอดยศ เช่น ในตอนที่รัชกาลที่ 3 ทรงประชุมแต่งโคลงจารึกวัดโพธิ์ทรงไปเสาะหากวี ซึ่งก็ได้กวีไม่ค่อยมีฝีมือมาประชุมแต่ง ทั้งๆ ที่สุนทรภู่เป็นกวี มีชื่อ มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนสุนทรโวหาร เมื่อสิ้นรัชกาลแล้วก็ไม่ปรากฏอยู่ในบรรดาศักดิ์และไม่ปรากฏเข้ารับราชการงานหลวง
หลักฐานคะเนว่า สุนทรภู่จึงออกบวชเมื่ออายุได้ 41 ปีที่วัดราชบูรณะ ซึ่งจะบวชเมื่อไหร่ ตลอดจนสาเหตุว่าทำไมถึงไม่เป็นที่โปรด และมีเหตุขัดข้องจนต้องรอนแรมออกจากพระนครนั้นนักวิชาการทางวรรณคดีก็เสนอโต้แย้งกันโดยยังไม่มีข้อสรุปแต่อย่างใด
ทีนี้ บ้างก็ว่าสุนทรภู่มีเหตุให้ต้องบวช เนื่องจากถูกปลดออกจากบรรดาศักดิ์และงานราชการในช่วงรัชกาลที่ 3 นั้นก็อาจจะเกิดทั้งจากว่า ยังไม่ได้บวชตามประเพณีประกอบกับอาจจะมีปัญากับญาติเลยบวชเพื่อเป็นทางรอด กอปรกับเชื่อว่า เมื่อบวชเป็นพระแล้วจะได้รับการอุปถัมภ์ก็ไม่มีใครติเตียน เรื่องก็ดูจะสอดคล้องกันเพราะหลังสุนทรภู่บวช เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ก็ทรงนำพระโอรสพระองค์น้อย คือเจ้าฟ้ากลางและเข้าฟ้าปิ๋ว ในตอนนั้นพระชันษาได้ 11 ขวบและ 8 ขวบ เข้าเป็นศิษย์ของสุนทรภู่
ในขณะบวชนั้นสุนทรภู่ก็เลยแต่งเพลงยาวถวายโอวาทเพื่อสอนพระโอรสทั้งสอง ซึ่งในเพลงยาวนั้นก็เป็นการถวายคำสอนที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิต การเป็นขัตติยะวงศ์ที่ดี ตลอดจนข้อคิดในการดำเนินชีวิตต่างๆ บางบทเราก็คุ้นหูกันดีเช่น ‘อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก…แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย’ ซึ่งหลากเกิดเหตุทำให้สุนทรภู่ต้องออกจากวัดราชบูรณะก็แต่งงานกวีประกอบไปด้วย เช่น นิราศภูเขาทองมีความตอนออกจากวัดอย่างโทรมนัสว่า ‘อาวาสราชบุรณะพระวิหาร แต่นี้นานนับทิวาจะมาเห็น’ และจบวรรคนั้นว่า ‘จึ่งจำลาอาวาสนิราศร้าง มาอ้างว้างวิญญาณ์ในสาคร’
พุทธทาสภิกขุ
ท่านพุทธทาสเป็นอีกหนึ่งผู้ชี้นำที่ท่านเองก็ได้รับเอาวิธีการสอนธรรมะ และเล็งเห็นถึงพลังของภาษา กาพย์กลอนต่างๆ ดังเช่นที่กวีและนักกลอนต่างใช้เป็นเครื่องมือในการสอนทั้งในโลกและในทางธรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่หลักธรรมคำสอน
ท่านพุทธทาสเป็นพระที่ใช้วิธีการร่วมสมัย ใช้องค์ความรู้ต่างๆ เพื่อทำให้ธรรมะเข้าถึงได้ เข้าใจได้ นำธรรมเข้าสู่ผู้คน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และอาจด้วยอิทธิพลของความคิดแบบเซ็น ที่มักใช้กุศโลบายต่างๆ เข้ามาร่วมแสดงหลักธรรม เช่น นิทาน บทกวีขนาดสั้น ทำให้ท่านพุทธทาสมีผลงานบทกวีมากมาย ขนาดว่าท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ว่า พระราชชัยกวี – กวีแห่งเมืองไชยา
ท่านพุทธทาสเล่าถึงปูมหลังของท่านว่า ชอบกาพย์กลอนมาตั้งแต่วัยเยาว์ ท่านได้รับอิทธิพลเรื่องกาพย์กลอนมาจากบิดาและอา ท่านเล่าว่าพ่อและอาของท่านชอบแต่งกลอนทั้งยังแต่งไปประกอบอยู่ในวัด เช่น แต่งประกอบเวลาสร้างของถวายวัด ไปจนถึงแต่งล้อความเชื่อต่างๆ ลงนิยสารในทางพุทธ อิทธิพลนี้จึงส่งมาถึงท่านพุทธทาส ทำให้ชอบและหัดกวีนิพนธ์ตั้งแต่ก่อนบวช
เมื่อบวชแล้วก็ยิ่งมีความรู้ทางภาษาจากการศึกษาบาลี มีความแตกฉานทางคำประพันธ์มากขึ้นไป และท่านเองก็เห็นว่าภาษานี้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารธรรมะอย่างสำคัญ จึงได้ศึกษาและลักเลียนแต่งคำประพันธ์ที่บุรพกวี อย่าง กระสมเด็จพระปรมา และครูเทพได้ประพันธ์ไว้
ผลงานของท่านพุทธทาสมีงานเชิงกวีที่ค่อนข้างหลากหลาย เกือบทั้งหมดเป็นการสารธรรมะในประเด็นต่างๆ ด้วยรูปแบบคำประพันธ์ต่างๆ ที่เกือบจะครบทุกประเภท ทั้งกลอนท่านก็แต่งทั้งกลอนแปดในบทกวีชื่อ ‘ภัทเทกรัตต์’ หรือใน ‘ 24 ฉากของชีวิต’ ก็แต่งเป็นกลอนดอกสร้อย โคลงก็แต่งทั้งโคลงดั้น โคลงสี่ คือเสียงจากป่าช้าและคาถาธรรมบทคำโคลงตามลำดับ ฉันท์ท่านก็แต่งทั้งสัททุลลวิกกีฬิตฉันท์และมาณวกฉันท์ ซึ่งท่านเองก็ได้พูดถึงการใช้บทกวีเพื่อสอนธรรมในกวีนิพนธ์ชื่อ ‘มุ่งรสธรรม’ ความตอนหนึ่งว่า ‘ขอแต่เพียง ให้อรรถ แห่งธรรมะ ได้แจ่มจะ ถนัดเห็น เป็นปฐม’
นอกจากงานประพันธ์ที่ว่าด้วยคำสอนแล้ว ในปี พ.ศ.2484 ท่านพุทธทาสได้เดินทางไปเที่ยวเองลพบุรีตามคำเชิญของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ในครั้งนั้นท่านพุทธทาสก็ได้แต่งนิราศลพบุรี เขียนเป็นกลอนแปดและมีขนบลีลาแบบนิราศ คือเป็นบันทึกการเดินทาง โดยในคำกลอนทั้ง 345 บทนั้นท่านก็ได้แต่งขึ้นอย่างอิสระ แต่ก็ได้ระบุขมวดไว้ว่าเป็นนิราศไร้รัก บันทึกการเดินทางไปวัดที่ลพบุรีแบบวันเดียว
ซึ่งนอกจากจะบันทึกการเดินทางแล้วท่านเปลี่ยนการใคร่ครวญ หรือการบันทึกความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามขนบนิราศเดิมมักแทรกความโศกเศร้าจากการพลัดพราก ท่านก็นำการพลัดพรากนั้นทบทวนไปสู่ธรรมมะ ซึ่งงานชิ้นนี้ท่านระบุไว้ตอนท้ายว่า แต่งเพื่อเป็นของขวัญในน้ำใจมอบให้อาจารย์สัญญา ในเนื้อความนั้นมีจุดน่าสนใจที่ท่านเทียบพุทธศาสนาเข้ากับการเมืองด้วยความว่า
‘คือพุทธศาสนา ถ้าจะดู เป็นคอมมูนิสมฺ
ก็ไม่ผิด ดูได้ คล้ายตรงเผง
หรือจะดู เป็นโชชลิสมฺ ติดตาเต็ง
ก็พอเล็ง ดูได้ ไม่ขัดตา
ทั้งเป็นคอน เซอเวตีฟ รีบเล็งดู
คือหนักอยู่ ในธรรม- เนียมรักษา
ทั้งอาจเป็น ลิเบอราล พร้อมกันมา
คือใจกล้า แก้ไข ไม่มืดมัว
.
จะว่าเป็น ดีมอแคร็ต ก็ว่าได้
คือประชา- ธิปไตย มิใช่ชั่ว
หรือดูเป็น ดิคเตเต้อร์ ก็น่ากลัว
เพราะพระองค์ ทรงตัว เหนือวินัย.’
ซึ่งในที่สุดคล้ายว่าท่านก็กล่าวว่า พุทธศาสนานี้สัมพันธ์ความเข้ากับลัทธิอย่างใดก็ได้ ดังนั้นจึงขมวดจบว่า
‘ฉะนั้นศาส- นาเรา เข้าได้จบ
ไม่เคยกระทบ กับใคร ในโลกนี้
เว้นแต่เขา แกล้งมา อย่างกาลี
ซึ่งอาจมี ได้บ้าง ในบางตอน
.
ด้วยเหตุนี้ พวกเรา อย่าเขลาหลง
รีบเรียนให้ เห็นตรง พระองค์สอน
จะรู้ว่า เป็นอะไร ได้แน่นอน
เมื่อบั่นรอน กิเลสเย็น เป็นนิพพาน.’
อ้างอิงข้อมูลจาก