ภาษีก็เหมือนความรัก ซับซ้อนและชวนเข้าใจผิดเสมอ
แต่ทันทีที่เปิดไฟฟ้าในบ้าน ทันทีที่เปิดน้ำอาบ ทันทีที่ก้าวขึ้นแกร็บแท็กซี ทันทีที่ซื้อชีทไบต์เวฟจากเซเว่นอีเลฟเว่น ทันทีที่… กิจกรรมทั้งหมดทั้งมวลนี้เราจ่ายภาษีทั้งหมดทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว
น่าแปลกใจ ทั้งที่ภาษีเป็นเรื่องรอบตัวแท้ๆ แต่เรื่องภาษีก็มีความยากในตัวของมัน และมักจะมีข้อข้องใจ เข้าใจผิดมากมายเกิดขึ้น
The MATTER ลิสต์คำถามคาใจ (หลายคน) และเรื่องเข้าใจผิดบ่อยๆ เกี่ยวกับภาษี ไปถาม มิก – ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้ง iTax แพลตฟอร์มช่วยคำนวณภาษีเพื่อให้คนไทยเสียภาษีอย่างคุ้มค่าที่สุด
ไหน มีคำถามไหนคาใจใครบ้างนะ
เด็กๆ หรือผู้ไม่มีรายได้ ไม่ใช่ผู้จ่ายภาษี?
ไม่จริง ทุกครั้งที่เราซื้อของ จะมีภาษีทางอ้อม ภาษีบริโภคหรือภาษีหัก ณ ที่จ่าย 7% เสมอ
ภาษีแทรกซึมในหลายจุด มันอยู่ในทุกวัน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็แล้วแต่ ภาษีบริโภคก็คือ ฉันจ่ายเพราะฉันใช้ อย่างเช่น คุณซื้อสตาร์บัคแก้วหนึ่ง หรือซื้อของที่ไหนก็ตาม มันก็มีภาษีมูลค่าเพิ่มหมด ในเชิงเทคนิกแสดงว่า ทุกคนเสียภาษี คือมันเก็บ ณ เวลาที่จ่ายเงิน ณ เวลาที่ควักเงินออกไป และมันรวมในราคาสินค้าอยู่แล้ว ดังนั้นเราไม่สามารถบอกคนขายได้ว่า เออ ฉันขอจ่ายแค่ 100 บาท อีก 7 บาทไม่จ่าย
เราสามารถซื้อกองทุน ประกันต่างๆ เพื่อสามารถลดหย่อนภาษีให้เหลือ 0 ได้?
การลดหย่อนภาษีเหลือ 0 ทำได้ แต่ไม่ใช่กับทุกคน และบางทีต้องดูด้วยว่าเราจะเอาเหลือ 0 ต้องดูด้วยว่าเงินเย็นเรามากพอจะทำแบบนั้นหรือไม่ เราเอาความโกรธไปสู้เพราะไม่อยากจ่ายภาษี บางทีอาจจะโกรธตัวเองก็ได้ เพราะไม่เหลือเงินกินข้าวแล้ว
การลดหย่อนภาษีนั้น สมมติซื้อกองทุน 3 หมื่นบาท แล้วคิดว่าจะได้ลดหย่อน 3 หมื่นเลย อันนี้ไม่จริง จะได้ลดหย่อนเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับจ่ายภาษีแพงหรือถูก
ถ้าเสียภาษี 10% ซื้อกองทุน 3 หมื่น เราจะลดหย่อนได้ 3,000 บาท
เสียภาษี 5% ก็จะได้ลดหย่อน 1,500 บาท
ถ้าเสีย 30% ก็จะได้ลดหย่อน 9,000 บาท
ดังนั้นการลดหย่อนภาษี คนยิ่งรวย ก็จะยิ่งได้ประโยชน์จากค่าลดหย่อนมากกว่า
สมมติ ถ้าจะลดหย่อนครบ 30,000 บาท โดยที่เราจ่ายภาษี 10% ก็ต้องซื้อกองทุน 3 แสนบาท แต่ก็จะมีเพดานภาษีบอกไว้อีกว่านำมาลดหย่อนได้ไม่เกินกี่บาท เช่น กองทุนห้ามซื้อเกิน 2 แสนบาท เป็นต้น
รายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี ไม่ต้องยื่นภาษี จริงไหม?
ถ้าทำงานประจำ เงินเดือนเฉลี่ยไม่เกินหมื่นบาท ไม่ต้องยื่น เพราะเกณฑ์คือ 120,000 บาท/ปี ที่คุณต้องยื่นภาษี ดังนั้นถ้าเงินเดือนเกิน 10,000 บาท/เดือน กฎหมายบังคับว่าต้องยื่นภาษี แต่ต้องจ่ายหรือเปล่าขึ้นกับว่ารายได้คุณเยอะแค่ไหน
ซึ่งมันจะมีเลข Magic Number คือ 26,833.33 บาท ถ้าหากเงินเดือนคุณไม่เกินเท่านี้ ยื่นไปเถอะไม่ต้องจ่ายภาษีหรอก
การไม่ยื่นภาษีนั้นผิดกฎหมาย ถ้าโดนปรับก็คือ 200 บาท แต่ในทางปฏิบัติเขาไม่มาเก็บหรอก 200 บาท ไปไล่บี้ก้อนใหญ่กว่านั้นดีกว่า แต่เราควรทำให้เป็นนิสัย มันเป็นหน้าที่ที่เราต้องยื่นภาษี
คนชอบคิดว่ายื่นภาษีผิดในปีนั้นๆ แล้ว จะแก้ไขไม่ได้ตลอดกาล
ตามกฎหมายมีไทม์แมชชีนให้ 3 ปีย้อนหลัง ถ้ายื่นอะไรผิดไปสามารถยื่นแก้ไขได้ภายใน 3 ปี แปลว่าปีที่แล้ว ถ้าลืมค่าลดหย่อนไป 1,000 บาท ยื่นแก้ไขก็ยังทันนะ สามารถปรินต์ฟอร์มกรอกข้อมูลออกมา แล้วกรอกรายละเอียดภาษีปีนั้นใหม่
สมมติได้เงินคืนภาษีมาแล้ว 1 หมื่นในปีนั้น แต่รวมลดหย่อนใหม่ควรได้คืน 12,000 บาท ต้องได้คืนอีก 2,000 บาท เราก็สามารถกรอกใหม่แล้วยื่นเพื่อเอาเงินคืนกลับไปได้ เช่นกันกับเราได้ลดหย่อนมาเกิน(กรณีคำนวณผิด ยื่นรายได้ไม่ครบ) เราสามารถทำเอกสารใหม่เพื่อคืนเงินสรรพากรได้
ชาวฟรีแลนซ์รับเงินแทนกัน แล้วค่อยมากระจายเงินให้กับผู้ร่วมงาน ทำได้จริงหรือ?
อันนี้อันตรายมาก ทำไม่ได้ ต้องเข้าใจเรื่องโครงสร้างด้วยเวลาพูดถึงภาษี
สมมติเราเป็นบริษัท เวลาเราต้องการเสียภาษีถูกลง ก็ต้องพยายามหารายจ่ายให้เกิดขึ้นมา รายจ่ายของใครบางคนมักจะเป็นรายได้ของใครบางคน รายได้ของเราคือรายจ่ายของเขา
เวลาทำ matching ข้อมูลตัวเลข สมมติจ่ายฟรีแลนซ์ไป 1 แสนบาท บัญชีควรจะมีตัวเลขออก 1 แสนบาทเป็นรายจ่าย ดังนั้นตัวฟรีแลนซ์จะถูกกาหัวว่ามีรายได้ 1 แสนบาท แล้วบริษัทส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรไปตามนั้น พอฟรีแลนซ์ต้องยื่นภาษีบอกว่าเราได้เงินแค่หมื่นเดียวเอง ไม่ใช่ 1 แสน สรรพากรจะเชื่อเราไหม? เพราะมันแปลว่าเราจะเถียงเอกสารโดยใช้สิ่งที่เราคิดว่ามันใช่ เขาเชื่อเอกสารมากกว่าคำพูดเรา มันคือตัวเลขที่เข้าระบบไปแต่แรก ถ้าทำให้โปร่งใสตั้งแต่ต้นจะมีปัญหาน้อยกว่า
การได้เงินคืนภาษีไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป
ต้องเล่าแบบนี้ สมมติปีนั้นเราเสียภาษี 1,000 บาทเท่านั้น เราถูกหักภาษีระหว่างปี 4,000 บาท ดังนั้นเราต้องไปเอาเงินคืนภาษี 3,000 บาท
แต่ถ้าหากไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายระหว่างปีเลย แปลว่าถึงเวลาต้องจ่าย เราก็ไปจ่ายต่อกรมสรรพากร ก็ไปจ่าย 1 พัน คำถามคือ ถ้าเราโดนหัก 4,000 บาทระหว่างปี เราได้เงินคืน 3,000 บาท พอเราไปทำเรื่องคืนภาษีไอ้ก้อน 3,000 บาทนั้น ตอนคืนเขาไม่ได้จ่ายดอกเบี้ยให้เรา ถ้าเทียบกับว่าเราค้างค่าภาษี 1,000 บาทแล้วเราจ่ายเงินไปในกรอบเวลา เราไม่เสียโอกาสในการเอาเงินไปวางแผนใช้จ่ายระหว่างปี
บางทีกระบวนการขอคืนภาษี บางครั้งก็ง่าย บางครั้งเขาขอเอกสารเพิ่ม ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรมี 2 หมื่นคน มีเจ้าหน้าที่ทำเรื่องคืนภาษีให้คนธรรมดาแค่ 1,900 คน ขณะที่คนขอเงินภาษีคืนเงินมี 3.3 ล้านคน ซึ่งคนจะมากระจุกคืนภาษีช่วงปลายปีพร้อมกัน ดังนั้นการหวังจะให้คืนภาษีเร็วก็อาจจะยากและช้านะ
ดังนั้นการได้เงินคืนภาษีเยอะและแฮปปี้ หากเราเข้าใจกลไกภาษีและวางแผนการเงิน มันก็ไม่ใช่เรื่องน่าแฮปปี้เท่าไหร่