อาจจะโดนหาว่าดัดจริตได้ แต่โดยปกติผมไม่ค่อยดูรายการทีวีไทย ส่วนใหญ่จะดูก็แต่พวกซีรีส์ฝรั่ง อ่านมังหงะ หรือหนังจีนกำลังภายในไป มีเพียงสองสามรายการของไทยเท่านั้นที่ผมติดตาม หนึ่งในนั้นก็คือรายการหน้ากากนักร้อง หรือ The Mask Singer ของทางช่องเวิร์คพอยท์
รายการ The Mask Singer นี้ เข้าใจว่ายอดความนิยมล้นหลามระดับต้นๆ ของประเทศไทยแล้ว และในแง่โปรดักชั่นดูจะดีกว่าของออริจินัลอย่างที่เกาหลีเสียอีก (อันนี้ความเห็นส่วนตัว) ติดตามดูมาได้ระยะหนึ่งผมก็เลยมาลองนั่งคิดดูว่าอะไรที่ทำให้รายการนี้มันมีโครงสร้างยังไง โดยส่วนตัวผมคิดว่ามันกำลังเล่นกับ ‘ความจริง’ อยู่
ทีนี้พอเราพูดคำว่า ‘ความจริง’ ในภาษาไทยนี่มันอาจจะดูไม่มีอะไรมากนัก เพราะสิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือ ภาษาไทยไม่ใช่ภาษาที่มีความรุ่มรวยหรือความหลากหลายของคำที่มากมายอย่างที่คนไทยจำนวนมากเข้าใจกันนัก ภาษาไทยเป็นภาษาที่ ‘เยอะ’ ในการรับใช้ชนชั้นและลำดับชั้นทางทางสังคมเพื่อคงไว้ซึ่งโครงสร้างทางจารีตประเพณี (เช่น คำที่แทนตัว บุรุษที่ 1 อย่าง ฉัน กู ผม ฯลฯ มีไม่รู้กี่สิบคำ เพื่อผันตามลำดับการแทนตัวเองเมื่อแลกเปลี่ยนวจนภาษากับผู้รับสารอีกฝั่งเป็นหลัก) แต่เราไม่มีความหลากหลายในแง่คำที่ใช้แทนคุณค่ากลางทางหรือปรากฏการณ์ทางสังคมนัก คำว่า ‘ความจริง’ นี้เองก็เป็นหนึ่งในนั้น ในภาษาอังกฤษ คำหลักๆ ที่ใช้กันก็มี Truth, Fact, Reality และ Actuality ที่พอแปลเป็นไทยก็วนๆ อยู่แถวๆ ‘ความจริง/ข้อเท็จจริง’ ไป ฉะนั้นในเบื้องต้น เมื่อผมคิดว่าเรากำลังมองรายการ The Mask Singer โดยฐานคิดเรื่องความจริง ก็ควรทำความเข้าใจตรงนี้ก่อนว่าเรากะคุยกันในเซนส์ของคำไหน
ว่ากันตามตรงในภาษาอังกฤษเองก็ยังถกเถียงกันเอ็นคอขึ้นอยู่ว่าความแตกต่างแน่ๆ ของคำที่เกี่ยวข้องกับความจริงทั้ง 4 (และอื่นๆ อีกมาก) มันต่างกันอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือ มันต่างกัน แนวคิดที่ดูจะได้รับการยอมรับมากกว่าแบบอื่น (เท่าที่ผมพอจะสำรวจมาได้) คือ การอธิบายโดยเริ่มแบ่งระหว่าง Reality กับ Actuality ก่อน คำทั้งสองนี้แปลไทยคงแปลว่า ‘ความเป็นจริง’ ทั้งคู่ แต่ข้อถกเถียงหลักถึงความต่างกันของ 2 คำนี้ก็คือ Reality มันเป็นความจริง (Truth) หรือ ข้อเท็จจริง (Truth) ก็ได้ซึ่งตัวเรารับรู้ ในขณะที่ Actuality คือความจริง หรือข้อเท็จจริงซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ของเรา เพราะฉะนั้นสถานะของความเป็นจริงของคำทั้ง 2 นี้ต่อสิ่งหนึ่งๆ อาจจะเหมือนกัน ตรงกันก็ได้ แต่ไม่จำเป็นจะต้องตรงกันเสมอไป
เพราะเมื่อมีการรับรู้ของเรา (มนุษย์) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้วมันมีโอกาสที่สถานะความเป็นจริงจะบิดเบี้ยวไปจากสภาพอันเป็นวัตถุวิสัย (Objectivity) ของสิ่งนั้นๆ ได้ เช่น เราเดินเปลี่ยวๆ ในพงหญ้ามืดๆ มองเห็นอะไรไม่ชัดนัก แล้วเผอิญไปเจอเชือกฟ่อนกองหนึ่งอยู่ เราเห็นผ่านๆ เราคิดว่าต้องเป็นงูแน่ๆ และนั่นคือความเป็นจริงที่เราเชื่อจริงๆ ว่ามันจริง เวลาเราวิ่งแจ้นกลับบ้านมาบอกพ่อแม่พี่น้องเราว่าเราเจองู โดยไม่ได้โกหก เพราะเราคิดว่าเราเห็นงูจริงๆ ความรู้ต่อความจริงแบบนี้เรียกว่า Illusory Knowledge หรือความรู้ลวง ซึ่งความจริงแบบนี้ถือว่าอยู่ใน Reality แต่ใน Actuality แล้วความจริงก็คือของกองนั้นคือเชือกฟ่อน เพราะ Actuality ไม่สนใจต่อการรับรู้ของเรา Actuality มองความจริง/ความรู้/ข้อมูลตามสภาพวัตถุวิสัยเท่านั้น
ทีนี้ใน Reality และ Actuality เอง มันก็มีส่วนผสมของสองอย่างอยู่คือ Truth และ Fact ซึ่ง Truth นั้นโดยมากจะถือว่าเป็นความจริงชั่วขณะ, ต้องการการสร้างหรือ establish ขึ้นมาเพื่อให้เกิดความจริงนั้น
ในขณะที่ Fact คือข้อเท็จจริง ซึ่งมักจะหมายถึงความจริงที่ต่อเนื่องโดยตลอด และไม่ต้องการการสร้างความจริงหรือค้นพบความจริง เราทำได้เพียงรับทราบ (Acknowledge) หรือพิสูจน์สภาพความเป็นจริงที่ว่านั้น ตัวอย่างเช่น ตอนนี้ผมอยู่ที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น นี่คือ Truth เพราะการอยู่เกียวโตของผมเกิดขึ้นจากการกระทำโดยตัวของผมเองให้สิ่งนี้กลายเป็นความจริง มันไม่ใช่สภาพธรรมชาติแต่แรก และหากผมย้ายไปที่อื่นความจริงนี้ก็จะหมดลง นั่นคือมันมีสภาพเป็นความจริงชั่วขณะและต้องการการ ‘สร้าง’ ขึ้น แต่หากผมบอกว่า บนพื้นโลกในสภาพปกติวัตถุจะตกจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำเสมอ แบบนี้คือ Fact เพราะมันคือสภาพธรรมชาติและไม่ต้องการการสร้างความจริงขึ้น
อย่างไรก็ดีแม้แต่ Fact เอง ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะ Fact สามารถเป็นส่วนหนึ่งของ Reality ซึ่งมี ‘ความรู้ลวง’ เกิดขึ้นได้นั่นเอง อย่างเช่น ในสมัยก่อน เชื่อใน Fact ว่าวัตถุซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า ย่อมตกถึงพื้นเร็วกว่าวัตถุซึ่งมีน้ำหนักน้อยกว่า แต่กาลิเลโอได้พิสูจน์ว่า Fact นี้ไม่จริง และต้องปรับการรับรู้เสียใหม่ เป็นต้น กล่าวคือ ทั้ง Fact และ Truth มันก็เปลี่ยนได้ อันนี้คือพูดกันในรายละเอียด แต่เวลาพูดในชีวิตจริง ก็ไม่มีการใช้เป๊ะๆ อะนะ
ในที่นี้สำหรับ The Mask Singer เราจะคุยกันบนฐาน ‘Truth ของ Reality’ และ ‘Fact ของ Actuality’ เป็นหลัก ด้วยเหตุผลของกติการายการเอง (เดี๋ยวอธิบาย)
ลองมาดูที่รายการ The Mask Singer ดู ขออธิบายกติกาสั้นๆ แค่ว่า รายการเค้าจะเอาคนดัง หรือเซเลบสารพัดวงการมาใส่ชุดหน้ากากที่ปิดบังจนไม่ให้รู้ว่าเป็นใคร (และสมมติว่าในรายการไม่มีใครรู้เลยจริงๆ) ออกมาร้องเพลงประกวดแข่งกันเป็นคู่ๆ จาก 4 กลุ่ม (กลุ่มละ 8 คน) ร้องเสร็จก็ให้คนดูกับกรรมการโหวตคนได้เข้ารอบต่อไปเรื่อยๆ พร้อมๆ กับให้กรรมการทายว่าเซเล็บคนไหนอยู่ใต้ชุดหน้ากากนั้นๆ ถามตอบกันไปมา (มักเกิดการกวนteen กันขึ้นในช่วงนี้) จะมาเฉลยก็ต่อเมื่อเซเลบคนนั้นแพ้โหวต ก็เปิดหน้ากากโชว์ หลักๆ คือประมาณนี้
จากกติกานี้เราจะเห็นว่าไอเดียหลักของรายการคือ การปิดบัง ‘Fact ของ Actuality’ ด้วย ‘Truth ของ Reality’ (เอาล่ะสิ งงแน่ๆ) หรือก็คือการปิดบังข้อมูลความจริงด้านตัวตนของบุคคลหนึ่งๆ ไว้ภายใต้ชุดหน้ากาก ที่มันเป็น Fact ของ Actuality ก็เพราะบุคคลในชุดหน้ากากนั้นไม่ว่าเราจะรับรู้/คิดจริงๆ ว่าเขาคือใครใน Reality ในฐานะความจริง (ชั่วขณะ) ของเรา ( = เป็น Truth ของเราไปจนกว่าจะเกิดการเฉลย) ความเป็นจริงต่อตัวตนของเขาว่าคือตัวเขาเองคือใครภายใต้ชุดหน้ากากนั้นมันก็ยังคงเป็นความจริงถาวรเสมอโดยไม่สนต่อการรับรู้หรือความเข้าใจจากภายนอก ( = Fact ของ Actuality) เพราะฉะนั้นแล้วจากจุดนี้เองเราสามารถพูดได้ว่าจากตรรกะของตัวรายการ คือการให้มีบุคคลเดียวที่ถือครอง Fact ของ Actuality ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ซึ่งก็คือเซเล็บใต้ชุดหน้ากาก เพราะเขาเป็นเพียงคนเดียวที่รู้ตัวตนที่แท้จริงของตัวเขาเอง และรู้ถึงตัวตนของคนอื่นๆ โดยเฉพาะกรรมการด้วย
ลักษณะดังกล่าวนี้ต่างจากการเป็น ‘นิรนาม’ (Anonymous) ด้วยสภาพใต้ชุดหน้ากาก เพราะ (1) รายการ The Mask Singer มันเป็นการโต้ตอบของสองฝั่ง (กรรมการกับเซเลบใต้ชุดหน้ากาก) และ (2) สภาพนิรนามโดยมากจะยุติความสามารถในการรับรู้ Fact ของ Actuality โดย ‘ถาวร’ ในขณะที่กรณี The Mask Singer ตัวเซเลบใต้ชุดหน้ากากนั้นรู้ดีว่าการถือครอง Fact ของ Actuality เพียงหนึ่งเดียวของตนนั้นเป็นเพียงคุณลักษณะ ‘ชั่วคราว’ เท่านั้น จนกว่าตนจะแพ้โหวตหรือได้เป็นแชมป์ และต้องเฉลยตัวในที่สุด ฉะนั้นความสนุกหรือดึงดูดของรายการ The Mask Singer มันจึงวางอยู่บนความสามารถในการบริหารคุณลักษณะจำเพาะนี้ของเซเลบในชุดหน้ากากในเวลาจำกัดนี้ต่างหาก โดยที่ตัวเซเลบเหล่านี้เองก็รู้ตัวดีว่าสุดท้ายตัวตนของตนจะถูกเปิดเผย
ฉะนั้นการจะ เ’ป็นตัวของตัวเอง’ หรือแสดงความเป็นจริงของตัวเองออกมาแบบในกรณีของการเป็นนิรนามนั้นย่อมเป็นการเข้าใจที่ผิดไป
ซึ่งจุดนี้เองเป็นจุดที่ผมคิดว่าคุณประภาส ชลศรานนท์ เข้าใจผิดไปอันจะเห็นได้จากที่คุณประภาสได้ตั้งสเตตัสอันสรุปความได้ว่าการอยู่ใต้หน้ากากเพื่อปิดบังความจริงอาจจะเผยตัวตนที่แท้จริงออกมาได้มากกว่าการไม่มีหน้ากากเสียอีก กล่าวคือ ‘การใส่หน้ากากคือการถอดหน้ากาก’ แบบหนึ่ง[1] (ซึ่งเอาจริงๆ ความเข้าใจที่ผิดนี้ส่วนหนึ่งมาจากความไม่รุ่มรวยทางภาษาและความหมายของภาษาไทยด้วย ที่ทำให้คำว่า ‘ความจริง’ มีค่าเหมือนกันหมดทุกกรณีไป)
ในฐานะที่คุณประภาสเป็นหนึ่งในบุคลากรคนสำคัญของเวิร์คพอยท์ (รองประธานฯ) ผมคิดว่ามุมมองต่อโครงสร้างเรื่องการใช้ความจริงที่ว่านี้อาจจะพอใช้เป็นฐานสำหรับเราในการทำความเข้าใจกับตัวรายการ The Mask Singer ได้อยู่บ้าง เพราะผมคิดว่าฝ่ายโปรดักชั่นรายการ รวมไปถึงคนดูเองก็น่าจะเข้าใจว่าจุดขายของรายการเป็นอย่างที่คุณประภาสว่า (หากไม่ใช่ผมก็ขออภัย) อย่างที่ผมได้บอกไป คือ ผมคิดว่าเข้าใจผิด ตัวเซเลบใต้ชุดหน้ากากเองไม่ได้แสดงตัวตนตามความจริงอะไรออกมาหรือพูดแบบคุณประภาสคือ ‘ถอดหน้ากากตัวตน’ ของตนเองออกมาหรอกครับ เพราะเขาย่อมรู้ดีว่าสุดท้ายพวกเขาต้องเผยตัว การจะ ‘ถอดหน้ากากตัวตน’ หรือแสดงตัวตนแท้จริงของตนเองออกมานั้น ต้องการสภาวะแบบนิรนามที่ตัดขาดตัวตนของตนเองออกจากการปฏิสัมพันธ์กับภายนอกอย่างมีนัยยะสำคัญ
ผมไม่ได้พูดลอยๆ นะครับ ก่อนหน้านี้ผมเคยลองทำการสำรวจความคิดเห็นสั้นๆ ดูจากคนพันกว่าคนว่าคนเราจะแสดงตัวตนของตนเองออกมามากที่สุดเวลาไหน มันก็สอดคล้องกับสิ่งที่ผมอธิบายไว้นี้ แม้อาจจะไม่สามารถนับเป็นผลการวิจัยอะไรได้ เป็นได้เพียงผลสำรวจ (Poll result) แต่ผมคิดว่ามันพอจะสะท้อนอะไรได้บ้าง (โปรดดูตามรูป)
ผลสำรวจจากทุกเพศ (และแทบทุกวัย) เท่าที่ผมจะสามารถทำได้พบว่าการจะแสดงตัวตนจริงๆ ออกมาแบบที่คุณประภาส (หรือทางเวิร์คพอยท์) วิเคราะห์นั้นเราต้องการสภาพแบบนิรนาม ที่สร้างสภาวะเสมือนหนึ่งว่าเราอยู่คนเดียว เราไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับใคร หรือก็คือไม่ต้องได้รับผลสืบเนื่อง (Consequence) จากการกระทำของตนจากสังคมภายนอก ซึ่งไม่ใช่กลไกของรายการ The Mask Singer เลย กลไกของรายการมันคือประเด็นที่ผมได้อธิบายไปก่อนหน้านี้นั่นก็คือ การถือครอง Fact ของ Actuality เพียงหนึ่งเดียวในช่วงเวลาจำกัด ลักษณะที่ว่านี้มันทำให้เกิดอะไรขึ้น? มันทำให้เซเลบเพียงคนเดียวใต้ชุดหน้ากากนั้นสามารถต่อกรหรือสู้ฝีปากกรรมการทั้ง 7 ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อหรือยิ่งกว่า เพราะพวกเขาไม่ได้ยืนอยู่บนฐานการเข้าถึง ‘ความจริง’ ในระดับเดียวกันไง เพราะเซเลบรู้ถึง Fact ของ Actuality ของตัวตนกรรมการคือใคร เขาจึงสามารถตอกกลับหรือกวนกลับด้วยข้อมูล (กึ่ง) ส่วนตัวของกรรมการแต่ละคนได้ ในขณะที่กรรมการผู้ได้แต่เดาทั้ง 7 ไม่สามารถทำแบบเดียวกันกับที่เซเลบในชุดหน้ากากทำได้ เพราะเงื่อนไขในการเข้าถึงความจริงมันต่างกัน หรือก็คือโครงสร้างหลักของรายการวางอยู่บนฐานของ ‘ความไม่เสมอกันของการเข้าถึงข้อมูลความจริง’ นั่นเอง
แน่นอนเมื่อถึงเวลาเปิดหน้ากากซึ่งหมายถึงการเข้าถึงความจริงได้กลับมาเท่ากันแล้ว ตัวเซเลบเองก็มักจะมีแนวโน้มที่จะแสดงบทบาทต่างไปจากตอนอยู่ใต้หน้ากาก (พูดจาดูดี สั่งสอน หรือชวนเคลิ้ม) แต่นั่นไม่ใช่เพราะอยู่ใต้หน้ากากคือความจริงและเปิดหน้ากากคือการไม่จริง ทั้งสองช่วงเวลาล้วนอยู่บนฐานของการไม่แสดงความจริงของตัวตนทั้งคู่ แต่เป็นการแสดงผ่านคนละเงื่อนไข ใส่หน้ากากอยู่คือ รวมศูนย์การเข้าถึง Fact ของ Actuality ถอดหน้ากากเมื่อไหร่ Fact ของ Actuality ก็จะกลายเป็นของทุกคนไป
ลักษณะของโครงสร้างความจริงแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกหากนำมาเทียบเคียงในเชิงระบบการเมืองการปกครอง คือ มันเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นปกติเลยที่ผู้ซึ่งอยู่ในตำแหน่งทางอำนาจที่สูงกว่า โดยเฉพาะอำนาจบริหารทางการเมืองนั้น จะสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือความจริงต่างๆ ได้มากกว่าคนทั่วๆ ไป ซึ่งนับได้ว่าเป็นข้อได้เปรียบ แต่อะไรกันเล่าที่เป็นจุดที่แยกระหว่างพฤติกรรมของการใช้ความได้เปรียบนี้ตามใจชอบกับการมีกลไกในการควบคุมการใช้ข้อได้เปรียบที่ว่านี้? มันก็คือเรื่องผลสืบเนื่องอันมาจากการการต้องมีฏิสัมพันธ์กับสังคมภายนอกอยู่ต่อไปนั่นเอง ซึ่งหากขยายมาสู่การเทียบเคียงในเชิงระบบการเมืองการปกครองแล้ว มันก็คือความต่างของการมีความเชื่อมโยงและความรับผิดชอบตรวจสอบได้ (Accountability) ต่อสังคมนั่นเอง
การเมืองที่ไม่ต้องยึดโยงความรับผิดชอบของตัวเองเข้ากับสังคมหรือประชาชนใดๆ เลย ก็ไม่ต่างจากเงื่อนไขการใช้ความจริงแบบ ‘นิรนาม’ ที่ว่า ซึ่งพร้อมจะแสดงตัวตนออกมาได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องสนต่อการผลสืบเนื่องจากการกระทำใดๆ ในขณะที่เงื่อนไขแบบ The Mask Singer นั้น ผมคิดว่าในระดับหนึ่งมันสะท้อนวัฒนธรรมการปกครองแบบประชาธิปไตยอยู่ไม่น้อย เพราะตัวเซเลบที่มีอำนาจได้เปรียบในการกำกับและควบคุมความจริงนั้นทำได้เพียงห้วงเวลาหนึ่ง พวกเขาไม่อาจแสดงตัวตนแท้จริงออกมาได้ เพราะถูกผูกอยู่กับเงื่อนไขของผลสืบเนื่องที่อาจจะตามมา เมื่อถึงเวลาเปิดหน้ากากและกลับสู่สภาพที่เท่ากันอีกครั้งนั่นเอง
และในการปกครองสมัยใหม่ เราไม่ได้ต้องการผู้ปกครองที่เป็นตัวของตัวเอง หรือแสดงความจริงแท้ของตนออกมา เพราะความจริงแท้ส่วนตัวมันไม่ได้ดีงามเสมอไป มันไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมมวลรวมเสมอไป ความจริงของตัวตนมนุษย์สามารถเป็นความหยาบช้าหรือความอัปลักษณ์ด้วยก็ได้ ฉะนั้นในวัฒนธรรมการปกครองสมัยใหม่ เราจึงต้องการผู้ปกครองซึ่งถูกกำกับอยู่ในความจริงที่ว่าตัวเขาเองไม่ใช่เจ้าของความเหนือกว่าตลอดกาลต่างหาก
แน่นอนรายการ The Mask Singer ไม่ได้สามารถเทียบเคียงอะไรได้หมด แต่ผมคิดว่าหากสังคมไทยนิยมชมชอบกับรายการที่วางโครงสร้างบนฐานการใช้และกำกับความจริงแบบรายการนี้แล้ว ก็ควรจะให้โอกาสนิยมวิถีแบบประชาธิปไตยมากกว่าอำนาจนิยมที่ไม่ยึดโยงไม่ต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนดูเยอะๆ บ้างนะครับ
Illustration by Namsai Supavong
[1] โปรดดู www.facebook.com/prapaschol