ในกระบวนการสร้างสรรค์ การวิจารณ์ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่ทำให้การสร้างสรรค์ผลงานงอกงาม
สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ เป็นองค์กรสำคัญทางการอ่านการเขียนของบ้านเรา หน้าที่สำคัญหนึ่งที่เรารู้จักคือการจัดการคัดเลือกและมอบรางวัลซีไรต์ ในกระบวนการให้รางวัล—แง่หนึ่งคณะกรรมการก็ทำหน้าที่เป็นเสมือนนักวิจารณ์ที่พิจารณาจุดเด่น จุดด้อย และประเด็นต่างๆ จากวรรณกรรมชิ้นนั้นๆ ด้วยการเล็งเห็นว่าการวิจารณ์วรรณกรรมเป็นกิจกรรมสำคัญต่อวงวรรณกรรม ในโอกาสที่ทางสมาคมก่อตั้งมาครบ 60 ปี ทางสมาคมจึงได้จัดประกวดบทวิจารณ์วรรณกรรมซีไรต์ขึ้น และประกาศผลบทความวิจารณ์ที่ได้รับรางวัลไปเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา
บทวิจารณ์วรรณกรรมเป็นงานเขียนที่ทำให้เราเห็น—อ่านงานวรรณกรรมในมิติต่างๆ และในตัวงานวิจารณ์เองก็มีความเป็นวรรณกรรม มีกระบวนการคิด คัดเลือก ไปจนถ่ายทอดประเด็นและให้เหตุผลสนับสนุนด้วยการเขียนที่เป็นระบบและใช้วรรณศิลป์ในการนำผู้อ่านให้อ่านไปตามที่ผู้วิจารณ์นำเสนอ สำหรับการประกวดในครั้งนี้ทางสมาคมบอกว่ามีงานวิจารณ์เป็นสองแนวทางหลักๆ คือแนวทางที่ผู้วิจารณ์อ่านและตีความตัวบทอย่างละเอียด และแนวทางที่ผู้วิจารณ์ใช้ทฤษฎีต่างๆ เพื่ออ่านทำความเข้าใจตัวบทวรรณกรรม เป็นการตีความเพื่อเปิดไปสู่ประเด็นอื่นๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ในงานเขียน ประเด็นที่ผู้เขียนอาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจใส่ลงไปก็ตาม
มนุษย์คืออะไร?: วาทกรรมมนุษย์ชุดใหม่ ภาวะโพสต์ฮิวแมน และปัญญาประดิษฐ์ในนวนิยายเรื่อง อมตะ – อรวรรณ ฤทธิ์ศรีธร (ชนะเลิศ)
นวนิยายเรื่อง อมตะ ของวิมล ไทรนิ่มนวล เป็นงานเขียนแนวไซไฟที่เชื่อมโยงเข้ากับประเด็นทางพุทธศาสนา บทวิจารณ์รางวัลชนะเลิศของอรวรรณ ฤทธิ์ศรีธร เลือกใช้แนวคิดโพสต์ฮิวแมนอันเป็นแนวคิดที่กำลังได้รับความสนใจในยุคสมัยที่เทคโนโลยีกำลังทำลายเส้นแบ่งต่างๆ โดยเฉพาะนิยาม ‘ความเป็นมนุษย์’ ของเรา งานวิจารณ์ชิ้นนี้เลือกใช้ตัวบทแนวไซไฟเพื่อชวนเราไปขบคิดถึงประเด็นว่าความเป็นมนุษย์คืออะไร ความหมายที่เราใช้นิยามตัวเองเมื่อเทียบเคียงกับมนุษย์โคลนแล้ว ความเป็นมนุษย์ของเราอาจจะเลื่อนไหลไปมาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายปมปัญหาทางปรัชญายากๆ ที่เคยถูกท้าทายจากนวนิยายซีไรต์ เมื่อปี 2543 คำถามเหล่านั้นอาจเป็นสิ่งที่เราต้องตอบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็เป็นได้
ความร้าวรานของ “สิงโตนอกคอก” – หัตถกาญจน์ อารีศิลป (รองชนะเลิศอันดับ 1)
สิงโตนอกคอก เป็นรวมเรื่องสั้นซีไรต์เล่มล่าสุด (ประจำปี 2560) สิงโตนอกคอกเป็นเรื่องสั้นแนวแฟนตาซี—บางเรื่องก็ออกไปในทางไซไฟ และใช้โลกเหนือจริงที่คล้ายนิทานเหล่านั้นเพื่อแสดงภาพสังคมที่เราเจอในทุกๆ วัน บทวิจารณ์ของหัตถกาญจน์เริ่มต้นจากการเล่นกับชื่อเรื่อง ใช้ความเปรียบของ ‘สิงโต’ และ ‘ลูกแกะ’ เพื่อร้อยเรียงเรื่องสั้นแต่ละเรื่องเข้าไว้ด้วยกัน ในที่สุดแล้วสิงโตและลูกแกะในดินแดนเหนือจินตนาการก็อาจเป็นบทบาทและสถานะในสังคมทุกวันนี้ ผู้วิจารณ์ยังคงตั้งคำถามต่อไปว่า ถ้าเราไม่ใช่ลูกแกะ แล้วเราจะเป็นสิงโต เป็นผู้มีอำนาจแบบไหน ความร้าวรานของเราจึงอาจอยู่ที่เหล่าสิงโตนอกคอกที่มีมนุษยธรรมในใจมีเพียงหยิบมือและไม่อาจปกป้องลูกแกะได้
ปูนปิดทอง : “พันธนาการ เพศ ครอบครัว บาดแผล” – วัชระ พระวิเศษ (รองชนะเลิศอันดับ 2)
ปูดปิดทอง เป็นนวนิยายซีไรต์ในปี 2528 งานเขียนของกฤษณา อโศกสินเล่มนี้พูดถึงประเด็นเรื่องปัญหาครอบครัวเป็นแกนสำคัญของนวนิยาย บทวิจารณ์ของวัชระ พระวิเศษ เป็นการวิเคราะห์ปูนปิดทองและเน้นย้ำถึงแก่นเรื่องของการปันใจอันเป็นแกนของความแตกแยกและนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ในบทวิจารณ์ชิ้นนี้นอกจากผู้วิจารณ์จะวิเคราะห์และเสนอประเด็นเรื่องครอบครัวแตกร้าวแล้ว ยังวิเคราะห์การออกแบบตัวละครว่าในตัวละครนั้นสะท้อนทัศนคติของตัวละครที่มีต่อสังคมชายเป็นใหญ่อย่างไรด้วย
บทวิจารณ์หนังสือ นครคนนอก – รุจีลักษณ์ สีลาเขต (ชมเชย)
มาที่บทวิจารณ์งานกวีนิพนธ์ นครคนนอก ได้รับรางวัลซีไรต์ในปี 2559 บทวิจารณ์ของรุจีลักษณ์วิเคราะห์ลักษณะ ‘คนนอก’ ที่ปรากฏในบทกวี เทียบเคียงเข้ากับปัญหาสังคม ชี้ให้เห็นว่าปัญหาต่างๆ เป็นเรื่องใกล้ตัวและไม่อาจมองข้าม นอกจากการวิเคราะห์เนื้อหาเชื่อมโยงเข้ากับบริบททางสังคมแล้ว งานวิจารณ์ชิ้นนี้ยังพูดถึงกลวิธีที่กวีใช้เพื่อนำเสนอประเด็นเรื่องความหลากหลายตั้งแต่ระดับภาษา เช่น การใช้คำในหลายระดับตั้งแต่คำทั่วไปไปจนถึงภาษาถิ่น การใช้ฉันทลักษณ์หลายรูปแบบ ไปจนถึงภาพประกอบที่ใช้ภาพตัดปะทั้งจากภาพวาดและภาพถ่าย ในบทกวีชุดนี้—กวีจึงทำหน้าที่เหมือนคนที่รับฟังเสียงของคนนอกและนำเรื่องราวมาปะติดปะต่อร้อยเรียงเข้าด้วยกัน และถ่ายทอดด้วยมุมมองที่หลากหลาย งานเขียนชุดนี้จึงเหมาะกับโลกปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ยายอยู่ผู้เป็นครู (ยาย) สอน: เวลา ในมุมมองการวิจารณ์วรรณกรรมแนวรื้อสร้าง – กรกฎา บุญวิชัย (ชมเชย)
เวลา เป็นนวนิยายซีไรต์ประจำปี 2537 เป็นนวนิยายที่ได้รับเสียงตอบรับทั้งจากวิธีการเล่าเรื่องที่แปลกใหม่พร้อมกับเนื้อหาที่เข้มข้น บทวิจารณ์ของกรกฎาใช้วิธีทฤษฎีแนวรื้อสร้างมาวิเคราะห์ กรกฎาตั้งคำถามถึงตัวละคร ‘ยายอยู่’ หญิงชราที่เคลื่อนไหวไม่ได้แต่เป็นตัวละครที่ทำให้ ‘เวลา’ มีความหมาย บทวิจารณ์ชี้ให้เห็นมิติของยายอยู่ที่สัมพันธ์กับวัฏจักรของชีวิต และมิติที่ยายอยู่กับผู้เล่าเรื่อง ‘ผม’ บทวิจารณ์สรุปว่ายายอยู่เป็นเสมือนภาพแทนของหลักธรรมทางพุทธศาสนา ในขณะที่ตัวละคร ‘ผม’ เป็นตัวละครที่เติมเต็มข้อจำกัดของยายอยู่ ในขณะเดียวกันยายอยู่ก็ทำให้ ‘ผม’ ตระหนักถึงความตาย
สิงโตนอกคอก: ในคอกของพวกเรา – วิโรจน์ สุทธิสีมา (ชมเชย)
บทวิจารณ์ ‘สิงโตนอกคอก: ในคอกของพวกเรา’ เป็นงานเขียนที่วิเคราะห์สิงโตนอกคอกอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านรูปแบบที่ผู้วิจารณ์จัดให้สิงโตนอกคอกเป็นงานแนวดิสโทเปีย และพูดถึงตำแหน่งแห่งที่ของตัวงานเข้ากับกระแสวรรณกรรมไทยและวรรณกรรมโลก ในด้านเนื้อหาผู้วิจารณ์ได้พูดถึงความพยายามออกไปจากคอกหนึ่ง จากกรอบหนึ่งไปสู่คอกใหญ่ที่ยังคงไร้ทางออก ตรงนี้เองสอดคล้องกับความเป็นดิสโทเปียที่บอกเราว่า ทางออกหรือยูโทเปียที่เราใฝ่ฝันไม่มีอยู่จริง เราจึงไม่ต่างอะไรกับตัวละครในเรื่องที่ทำได้เพียงวิพากษ์และตั้งคำถามซ้ำๆ อย่างไม่รู้จักจบสิ้น