เรามักนึกภาพวรรณกรรมซีไรต์เป็นงานเขียนแนวเคร่งขรึม หรือไม่ก็เป็นงานเขียนแนวทดลอง แต่กับงานเขียนแนวแฟนตาซีของนักเขียนวัยสัก 25 ปี… การที่ สิงโตนอกคอก คว้ารางวัลซีไรต์ไปในปีนี้จึงดูจะเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองของวงวรรณกรรม
The MATTER คุยกับ ‘ลี้—จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท’ นักเขียนซีไรต์คนล่าสุด ว่าด้วยการมองเข้าไปกระจกของโลกแฟนตาซี ในที่สุดแล้วสำหรับนักเขียนรุ่นใหม่ มองบทบาทของวรรณกรรมและการเป็นนักเขียนอาชีพไว้อย่างไร หนังสือจะยังเป็น ‘ประตู’ เปิดไปสู่ความเป็นไปได้อื่นๆ ได้อยู่ไหม
The MATTER : มองความเยาว์วัยและความอ่อนประสบการณ์ว่าเป็นจุดอ่อนหรือจุดแข็ง จากการเป็น ‘นักเขียนซีไรต์ที่อายุน้อยที่สุด’
จิดานันท์ : การเป็นนักเขียนซีไรต์ที่อายุน้อย กับการเป็นนักเขียนที่อายุน้อยมีคำตอบที่แตกต่างกันอยู่ ในแง่ของการเป็นนักเขียนซีไรต์ที่อายุน้อยจะมีข้อเสียคือเราจะเจอแรงปะทะ ปกติการเป็นได้นักเขียนซีไรต์จะมีแรงปะทะอยู่แล้ว ยิ่งอายุน้อยหรือกระทั่งเป็นผู้หญิง ก็ยิ่งทำให้เราต้องเจอแรงปะทะเพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง แต่ถ้ามองในแง่ดี พูดอย่างไม่โรแมนติกคือได้ผลดีในการโฆษณา ทำให้เราได้พื้นที่สื่อ เป็นผลดีกับสำนักพิมพ์
แต่ถ้าการเป็นนักเขียน ตอนเราอายุน้อย เราจะมีข้อดีคือเรากล้าหาญที่จะเขียน เขียนประเด็นต่างๆ ที่พอโตขึ้นแล้วเรารู้สึกเราเซ็นเซอร์ตัวเอง เรากลัวที่จะเขียน เรากลัวกระแสสังคม หรือบางทีเรื่องที่เขียนยาก ยิ่งใหญ่มาก ตอนเด็กๆ เราจะกล้าเขียน แต่พอมาตอนนี้เราก็จะรู้สึกว่า โห อันนี้มันยาก เขียนไม่ไหวหรอก พอโตแล้วกลับกลายเป็นคนขี้ขลาด แต่ข้อเสียของความเยาววัยคือไม่มีกลวิธี เขียนบรรยายไม่เก่ง เขียนพล็อตไม่เก่ง พอโตขึ้นก็จะมีแทคติก มีระบบภาษาที่เราได้รับเพิ่มเติมระหว่างการฝึกฝน แต่ความกล้าหาญ ความสดใหม่ ความตื่นเต้นกลับลดลง
The MATTER : อยากให้อธิบายสิ่งที่เขียนไว้ในบทเปิดของ สิงโตนอกคอก ที่บอกว่างานเขียนชิ้นนี้ไม่ใช่ประตูแต่เป็นกระจก
จิดานันท์ : สิงโตนอกคอกเป็นเรื่องดินแดนมหัศจรรย์ บางคนเลยรู้สึกว่าเวลาอ่านเรื่องนี้แล้วเหมือนการมองเข้าไปในที่อื่น ดินแดนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรา ตัวละครเหล่านี้ไม่มีในโลกแห่งความจริงหรอก แต่ความจริงมันไม่ใช่ประตู แต่เป็นกระจก กระจกที่เหมือนกับในสวนสนุกที่ดูแล้วยืดๆ หดๆ กระจกเหล่านี้จริงๆ แล้วต่างกำลังสะท้อนภาพชีวิตของเราอยู่ ความจริงเราก็เป็นตัวละครในเรื่องนี้ด้วยแหละ แต่เราจะเป็นตัวละครไหนเท่านั้นเอง
The MATTER : แล้วเรารู้สึกว่าเราเป็นตัวละครไหนในกระจกอันยืดหดนี้
จิดานันท์ : เราคิดว่าเราเป็นลิลิธ ในเรื่องนี้ว่าด้วยผู้หญิงที่ถูกสร้างก่อนอาดัม แต่เป็นผู้หญิงที่ไม่เชื่องเชื่อ ตรงนี้ดูเหมือนว่าเราจะนิยามตัวเองว่า ‘ไม่เชื่องเชื่อ’ ในคำนำสำนักพิมพ์เองก็ดูจะบอกว่าเรา ‘นอกคอก’
เราเองจริงๆ แล้วก็รู้สึกว่าเป็นคนนอกอยู่ในทุกที่ ทุกแห่งหน เอางี้ ง่ายที่สุด เช่นบอกว่าเราชอบอ่านหนังสือ เราเป็นเนิร์ด เราก็จะรู้สึกว่าเป็นคนนอกเวลาไปปาร์ตี้ เราก็ไปอยู่ตามมุมห้อง เป็นคนนอกแล้ว แต่พอไปอยู่ในวงการวรรณกรรม เฮ้ย ทุกคนน่าจะเหมือนเรา ชอบหนังสือ แต่เราก็เป็นคนนอกอยู่ดี สำนักพิมพ์ก็บอกว่าไม่เคยพิมพ์งานแบบนี้เลย รุ่นพี่ก็อ่านงานหนักๆ คุยเรื่องฌอง ฌาค รุสโซ เราก็นั่งโง่ไปเลย เป็นคนนอกในวงการวรรณกรรมเพราะเขียนนิยายวาย พอไปอยู่ในวงการนิยายวายก็มีเสียงว่า ‘เนี่ย พิมพ์กับแพรวสำนักพิมพ์นะ’ เป็นคนนอกอีก ไม่สมานกลมกลืน แต่เราก็รู้สึกว่าการเป็นคนนอกตรงนี้จะเป็นเรื่องที่จะต้องพร่ำบ่นอะไร ก็รู้สึกว่ามันเป็นคุณสมบัติของเราที่อยู่กับเรา และจะกระทำให้เราเป็น ทำบางอย่าง ปัญหาคืออาจจะโดดเดี่ยวนิดหน่อย แต่มันก็อยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ไง
The MATTER : พูดถึงความกล้าหาญที่ว่าลดลงจากตอนเริ่มเขียนมาจนถึงอายุ 25 ให้ฟังหน่อย
จิดานันท์ : ตอนที่เราเริ่มเขียน เราลงเว็บแล้วไม่มีคนคอมเมนต์เลย แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกอะไร แต่เรารู้สึกว่าเรื่องที่เราเขียนมันสนุกนะ แต่เราก็ยังจะเขียนต่อไป แต่ถ้าเป็นตอนนี้ เราก็จะคิดว่า เฮ้ย ยังงี้มันดีรึเปล่า มันไม่เวิร์กปะ ทั้งความความกล้าหาญและความเชื่อมั่นในตัวเองมันลดน้อยลงหมดเลย ลดลงในระดับเยอะมาก ถดถอยมาก
The MATTER : เป็นเพราะอะไร
จิดานันท์ : อาจเป็นเพราะเรารู้จักโลกมากขึ้น สมัยเด็กเราอาจคิดว่าเราสนุกก็คือพอแล้ว แต่ตอนนี้เราอาจจะรู้ว่าถ้าไม่มีคนอ่านแล้วมันต้องหมายถึงอะไรซักอย่าง เราสนุก คนอื่นอาจจะไม่สนุกรึเปล่า อาจจะเขียนไม่ดี หรือเขียนดีแต่ยังไม่เหมาะที่จะขายรึเปล่า เราคิดถึงอะไรเยอะขึ้น เราระวังตัวมากขึ้น
The MATTER : ในสิงโตนอกคอก คิดว่าความอายุน้อยของเราส่งผลต่อตัวงานแค่ไหน
จิดานันท์ : ก็อาจจะส่งผลนะ เพราะว่าบางครั้งคนก็มองว่างานนี้ค่อนข้างมองโลกง่ายไป ทำให้ขาว-ดำชัดเจนเกินไป มีความเป็นพล็อตแบบสตรักเจอร์ ความจริงทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่เราตั้งใจ คือเราไม่ได้ตั้งใจเขียนเพื่อส่งซีไรต์ เราเขียนเล่มนี้เพื่อให้อ่านง่าย อยากให้เด็กได้มาลองอ่านวรรณกรรม สมมุติไม่เคยอ่านวรรณกรรมเลย อาจจะมาเริ่มที่เล่มนี้แล้วรู้สึกว่าไม่ได้อ่านยาก ไม่ได้น่ากลัวนี่ ก็อาจจะนำไปสู่การอ่านเล่มอื่นๆ ต่อ
สองคือการที่ขาว-ดำอย่างชัดเจนเพราะเราอยากให้อ่านง่าย เราก็ต้องยอมรับว่าถ้าอยากให้งานเชิงปรัชญาอ่านง่ายก็ต้องยอมรับว่าเราต้องเร่งสีให้สุด คอนทราสต์ให้สุดเพื่อให้เข้าใจง่าย สองจุดนี้จริงๆ เป็นความตั้งใจของเรา แต่ก็ต้องยอมรับว่าก็สะท้อนความเยาว์วัยเหมือนกัน เพราะการพยายามสร้างงานที่อ่านง่าย ก็ถือว่าเป็นความคิดของเด็กเหมือนกัน
The MATTER : เรายังมีความไร้เดียงสา?
จิดานันท์ : คือ ถ้าเขียนงานไประยะหนึ่งแล้ว เมื่อพัฒนาไปเรื่อยๆ งานอาจจะมีความเติบโตขึ้น เข้าไปสู่จุดที่ไม่สามารถเขียนงานที่อ่านง่ายได้อีก เข้าไปสู่จุดที่งานไม่คอนทราสต์ เข้าไปสู่งานแบบกระแสสำนึก ที่ไม่สามารถมีสตรักเจอร์แบบต้น กลาง จบ เราคิดว่าการที่จะเขียนงานแบบนั้นได้ ต้องบ่มเพาะด้วยกาลเวลา การที่เรายังเขียนงานที่อ่านง่ายอยู่แบบนี้เพราะเราเป็นเด็กแหละ
The MATTER : ดูเหมือนว่างานเราจะอยู่กับวัยรุ่นมาตลอด ตรงนี้รึเปล่าทำให้เราเลือกใช้งานแนวแฟนตาซี
จิดานันท์ : อย่างสิงโตนอกคอกเกิดจากการรวมเล่มเรื่องสั้น พอเราไปเลือกงานต่างๆ ของเราก็พบว่าเรื่องที่ดีของเราเป็นแนวดิสโทเปีย เราก็เลยเขียนเรื่องแนวดิสโทเปียไปเพิ่ม ด้วยหลายจุดเราอยากเขียนเล่มนี้เพื่อสื่อสารกับเยาวชน ความจริงทุกเล่มแหละที่เราอยากเขียนเพื่อสื่อสารกับเยาวชน ซึ่งด้วยความที่คนอ่านเราเป็นวัยรุ่นอยู่แล้ว เราก็ต้องเลือกขายให้ตรงกับกลุ่มคนอ่านเราหน่อย
The MATTER : คิดอย่างไรถ้าคำพูดว่างานแนวแฟนตาซีเป็นเรื่องที่ไม่หนักแน่น
จิดานันท์ : ก็ไม่ได้โกรธเคือง รู้สึกว่าเข้าใจได้ เราเองนอกจากจะเขียนแฟนตาซีแล้วเราก็เขียนนิยายวายด้วย ถ้ามีคนบอกว่านิยายวายมีภาพลักษณ์ไม่ดี ซึ่งก็มีมุมที่จะคิดแบบนั้นก็ได้ เราก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจได้
The MATTER : แล้วได้ปรับงานของตัวเองให้หนักแน่นขึ้นไหม
จิดานันท์ : เราไม่ได้ปรับตามกระแสวิจารณ์ แต่เราปรับตามด้วยความอยากเขียน เช่นเราอยากจะเขียนประเด็นนี้ เราก็เขียน
The MATTER : ในเมื่องานแฟนตาซีเป็นเรื่องที่ ‘ไม่จริง’ – ไกลจากโลกนี้ไปเลย – เราทำยังไงให้โลกไม่จริงพวกนี้มันจริงในโลกของเรา
จิดานันท์ : จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแฟนตาซีหรืออะไรตาม ความเป็นนิยายจริงๆ แล้วมันกำลังเล่าความเป็นมนุษย์ เช่น The Lord of the Rings เราชอบเรื่องนี้ ทุกคนรู้ว่ามันแฟนตาซีมาก แต่ในเรื่องเต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์ ความรักในครอบครัว ความรักในเพื่อนพ้อง ความจริงนักเขียนนวนิยายหรือเรื่องสั้น ไม่ว่าจะเขียนงานอะไร ต่างเขียนความเป็นมนุษย์ สุดท้ายแล้วเรื่องราวพวกนั้นก็จะกลับมาใกล้ตัวเสมอ
The MATTER : เรามีวิธีที่จะ ‘สร้างสรรค์’ งานอย่างไร
จิดานันท์ : เวลาเขียน ในแต่ละเล่มแต่ละเรื่องจะมีธีม (theme) ของมัน เช่น นอกจากสิงโตนอกคอกจะมีเรื่อง วันหนึ่งความทรงจำจะทำให้เราแตกสลาย ซึ่งก็จะเป็นอีกเฉด สิงโตฯ จะเป็นแฟนตาซีแต่ก็สะท้อนอะไรที่หนัก สำหรับวันหนึ่งฯ จะเป็นสัจนิยมมากกว่า เป็นสัจนิยมที่มีอะไรแปลกๆ เจือด้วยสัจนิยมมหัศจรรย์ ความหนักที่วันหนึ่งฯ ไปให้ความสนใจจะไม่ใช่โครงสร้างสังคม หรือนามธรรม แต่จะไปสนใจเรื่องความรู้สึกส่วนตัว ความเป็นคนเมือง แต่ละเล่มจะมีฟีลลิ่งที่เราอยากทำที่แตกต่างกัน เช่นนิยายวายที่เคยเขียนจะมีเล่มนึงมีฉากเป็นอีสาน อีกเล่มเป็นคนเมือง มู้ดแอนด์โทนความเศร้าสองเรื่องนี้ก็ต่างกัน ไม่ได้ romanticize อีสานนะ แต่เราเขียนถึงลูกคอมมิวนิสต์ ลูกทหารสงครามเวียดนาม ความเศร้าแบบนี้กับความเศร้าของฮิปสเตอร์ ลูกคนที่สอง ลูกคนจีน มันก็ต้องต่างกัน เราก็จะมีโทนแล้วก็พยายามกำหนดของแต่ละเล่มไป
The MATTER : ดูเหมือนว่าคุณจะเขียนนิยายวาย เขียนเรื่องที่ชวนคนขบคิดเรื่องต่างๆ ในสังคม เช่น ความดี-ความชั่ว มองไหมว่างานของตัวเองเป็นศิลปะ หรือคิดว่าการเขียนเป็นภารกิจเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมบางอย่าง
จิดานันท์ : ความจริง เราแค่อยากเขียนเรื่องนั้น เรามีแก่นเรื่องขึ้นมา เราอยากเขียนแล้วเราก็พยายามถ่ายทอดมันให้ดี เราไม่ได้รู้สึกว่างานหนึ่งงานจะสามารถช่วยอะไรได้ ในยุคนี้คงไม่มีหนังสืออย่างปีศาจที่มาแล้วทุกคนลุกฮือขึ้น ในยุคนี้มันอาจจะแค่ช่วย คนอาจจะลุกฮือขึ้นด้วยประเด็นอื่น หนังสืออาจจะช่วยทำให้คนบางคนมีกำลังใจ คงไม่ใช่แกนหลักอีกแล้ว
The MATTER : ฟังดูไม่ค่อยมีหวัง?
จิดานันท์ : ความจริงลี้เป็นคนมีความหวัง คือ ลี้เป็นคนที่อยู่ในโลกแห่งความจริงแต่ลี้ก็ยังมีความหวัง เรารู้สึกว่าการที่เราอยู่กับความจริงนี่แหละที่ทำให้เรามีความหวัง เพราะเราก็มองโลกว่าโอเค เรื่องที่มันแย่เราสามารถก็จะยอมรับมันได้โดยไม่ต้องฟูมฟาย แล้วเราก็จะมองหาเรื่องที่ดีหรือหาทางแก้ไขได้มากกว่า
The MATTER : วิธีคิดแบบนี้สะท้อนในงานไหม
จิดานันท์ : ตัวละคร จริงๆ ของใครก็ตาม ตัวละครมักจะเหมือนนักเขียน เพราะฉะนั้นตัวละครหลายตัวก็จะเหมือนเรา คืออยู่กับความจริงแต่มีความหวัง ซึ่งคนก็จะบอกว่าเป็นตัวละครที่ไร้เดียงสาและโลกสวยมาก
The MATTER : ดังนั้นงานแนวดิสโทเปียร์ของคุณลี้ ซึ่งดิสโทเปียร์หมายถึงการที่เรามองโลกด้วยสีดำ ซึ่งในเรื่องแม้ว่าเรื่องจะเริ่มด้วยสีเทา แต่ปลายทางของเรื่องมักจะนำไปสู่สีเทาหรือสีขาว ตรงนี้คือเงาสะท้อนของความหวังของเรารึเปล่า
จิดานันท์ : ก็ใช่ แต่บางคนก็บอกว่า ซึ่งเราก็เห็นด้วยนะ ว่ามันคลี่คลายดีเกินไป ขยี้มาเต็มที่แต่ตอนจบก็ดันแฮปปี้เกินไป ซึ่งก็ไม่ใช่แค่เรื่องนี้นะ เรื่องอื่นๆ ก็ด้วย ดราม่ามาซะเยอะ แต่เราก็อยากให้จบแบบนั้นอะ อาจเพราะเราเป็นคนแบบนี้แหละ หรืออาจจะเพราะเราเป็นคนเขียนตอนจบไม่เก่ง ตอนจบเรื่องสั้นเขียนยากนะพี่(หัวเราะ)
The MATTER : ถ้าแบบนั้นแล้วหนังสืออาจเป็นประตูได้เหมือนกันมั้ย
จิดานันท์ : ประตูไปสู่…?
The MATTER : ไปสู่ความหวัง? มันนำไปสู่คำตอบได้รึเปล่าในที่สุดแล้ว
จิดานันท์ : คือเราคิดว่ามันอาจจะทำให้ใครบางคนรู้สึกอะไรบางอย่าง และใครคนนั้นก็อาจจะไปลงมือทำอะไรต่อ แต่ตัวหนังสือเอง คือไม่เชื่อว่าหนังสือหนึ่งเล่มจะมีพลังเปลี่ยนสังคม สมมุติอย่างสิงโตนอกคอก เอาเป็นว่ามีคนๆ นึงแค่รู้สึก แค่ไปนั่งกินข้าวผัดกะเพราแล้วคิดต่ออีกนิดหนึ่ง เราก็รู้สึกโอเคแล้วนะ
The MATTER : ในอายุเท่านี้ เรามองการเป็นนักเขียนในฐานะอาชีพไว้ยังไง
จิดานันท์ : จริงๆ ลี้ไม่เคยคิดถึงการเป็นนักเขียนอาชีพ คิดว่านักเขียนไม่น่าจะเป็นอาชีพไม่ได้แน่ๆ ตอนเรียนมหาวิทยาลัยได้รางวัลนายอินทร์อะวอร์ดก็ยังไม่คิด พอเรียนจบก็ไปทำงานประจำ ตอนไปทำงานประจำบรรณาธิการก็ขอต้นฉบับ แต่เราไม่มีเวลา เราทำให้ไม่ได้ ทั้งๆ ที่สัญญาไปแล้ว ก็เลยลาออกมาเขียนหนังสือ กะว่าทำไปก่อน ถ้าอยู่ไม่ได้ก็จะกลับไปทำงานประจำ แต่พอดีว่ามีงานชิ้นต่อมาแล้วพออยู่ได้ คือมันอยู่ได้ก็เลยเป็นนักเขียนอาชีพ สมมตินะ – เป็นคนมีความหวังแต่คิดในแง่ลบเผื่อไว้ ถ้ามันอยู่ไม่ได้ก็คิดว่าจะไปทำอย่างอื่น
The MATTER : พอทำเป็นอาชีพแล้วมีแรงผลักดันมั้ย
จิดานันท์ : มีอยู่จำนวนหนึ่ง คือก็จะรู้ว่าปีหนึ่งควรจะต้องออกให้ได้รายได้ประมาณหนึ่งนะ เพื่อมาจ่ายค่าบ้าน ตรงนี้ดีนะ ทำให้มีวินัย การเขียนถ้าอยากเขียนเป็นอาชีพก็ต้องมีวินัย นักเขียนบางคนอาจจะไม่เก่งมากแต่มีวินัย ออกงานสม่ำเสมอ ความเก่งอาจจะมาตอนที่ออกงานสม่ำเสมอ ได้รับคำแนะนำจากบรรณาธิการ
The MATTER : การได้รับซีไรต์เป็นทั้งพรและคำสาป?
จิดานันท์ : เรากังวลแต่คือแบบ เอางี้ดีกว่า ช่วงแรกๆ มันจะมีช่วงที่เรากังวลมาก เครียดมาก มีช่วงที่เครียดมากแล้วคืนหนึ่งเหมือนหลับๆ ตื่นๆ แต่เราก็คุยกับตัวเองไปจนกระทั่งมีความคิดขึ้นมาว่า แกได้ซีไรต์แกต้องโดนด่า ยิ่งแกได้ซีไรต์ตอนอายุเท่านี้แกต้องโดนด่าอยู่แล้ว มันก็เหมือนแบบคลายกังวลไปเปราะหนึ่ง ช่วงก่อนก็จะมีเครียดเพราะต้องออกสื่อเยอะ แต่เราก็จะเหนื่อยๆ หน่อย เดินทาง ถ่ายรูป ก็เครียดๆ หน่อย แต่พอก็จะมาถึงจุดนึงที่เราเห็นน้องพี่พีอาร์ แล้วก็ เฮ้ย เขาพยายามมากนะ
The MATTER : การเป็นนักเขียนดูจะเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตขึ้นด้วย เป็นอาชีพที่เราต้องรับผิดชอบอะไรบางอย่าง ทำอะไรบางอย่างเพื่อตัวเองและคนอื่น
จิดานันท์ : เป็นสิ่งที่เราคิดมาตลอด เราคิดว่าบางครั้งอาชีพนักเขียนถูก romanticize มากไป รอแรงบันดาลใจ คือมันดูสวยงามไปหมด แล้วพอมาเจอกับความจริง เรามักจะพูดความจริงออกไปว่ามันไม่สวยงามนะ เราว่ามันสำคัญ ใช่ คุณต้องทำต้นฉบับให้ดี ต้องมีอารมณ์เต็มที่ เขียนคั้นเลย แต่ความสำคัญอีกอย่างยิ่งคือคุณต้องมีวินัย ต้องตรงเวลา
สมมติคุณส่งต้นฉบับช้า เดดไลน์ของปรู๊ฟ กราฟิก และโรงพิมพ์มันเท่าเดิม คุณเลตแค่คนเดียว คนขี้เกียจคนเดียว คนอื่นต้องทำงานเกินเวลา เขาต้องไม่นอน มันเห็นแก่ตัว โอเค คุณเป็นนักเขียนแต่คุณก็เป็นคนในอาชีพ เขาก็เป็นคนในอาชีพ คุณไม่ควรที่จะไปสำคัญกว่าเขา