ด้วยการเสกสมรสระหว่างเจ้าชายแฮร์รี่และเมแกน มาร์เคิล ทำให้สามัญชนอย่างเราๆ ท่านๆ เหมือนได้เห็นเทพนิยายที่เราเคยฟังกลายเป็นจริง ได้เห็นหญิงสาวกลายเป็นเจ้าหญิง เห็นรถม้า เห็นพิธีอันสวยงามในวิหารเก่าแก่
‘นิทานเรื่องเก่า’ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเก่าจริง นิทานเป็นเรื่องราวที่อยู่ในความคิดคำนึงของเรา และเป็นแรงบันดาลใจของศิลปินเสมอมา เรามักมีการนำนิทานกลับมาเล่า-มาเขียนใหม่เป็นเวอร์ชั่นต่างๆ นักเขียนบางคนก็โดดเด่นจากการเอานิทานที่เราคุ้นเคยมาเล่าใหม่ โดยมีจุดยืนและส่งสารพิเศษบางอย่าง เช่นงานของแองเจลา คาร์เตอร์ ที่เด่นเรื่องการเอานิทานคุ้นๆ กลับมาเล่าเพื่อตั้งคำถามกับเพศและบทบาทของแต่ละเพศ
นิทานหลายเวอร์ชั่นทำให้เราเห็นว่าเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งอาจจะมีได้หลายมุมมอง ในหลายโรงเรียนจึงให้เด็กๆ เรียนรู้จากนิทานเรื่องเดียวกัน จนกระทั่งทดลองให้เล่านิทานเรื่องนั้นเป็นฉบับของตัวเอง เด็กๆ จะได้เรียนรู้ทั้งความคิดสร้างสรรค์และความเข้าอกเข้าใจ (empathy) – ตัวละครตัวเดียวกันอาจจะมีหลายเฉด จากหลายเวอร์ชั่น
The Bloody Chamber, Angela Carter
งานของ แองเจลา คาร์เตอร์ นำเอานิทานโดยเฉพาะชุดนิทานของชาลส์ แปโรกลับมาเล่าใหม่ นักวิชาการมักจะโยงว่าเธอใช้เรื่องเล่าชุดเก่ากลับมาตั้งคำถามในประเด็นเรื่องเพศ เช่นการกลับและนำเสนอบทบาทของเพศชายและหญิงในลักษณะที่คลุมเครือ ไปจนถึงกลับบทบาทระหว่างการเป็นผู้ล่าและเหยื่อ การถกเถียงในกลุ่มนักวิชาการว่างานของเธอเป็นเฟมินิสต์ไหม นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์สถานะของแต่ละเพศ
Norse Mythology, Neil Gaiman
นีล เกแมน เป็นเจ้าพ่องานแฟนตาซีที่นำเอาตำนานเรื่องเก่าๆ กลับมาอัพเดตใหม่ ตำนานนอร์สเป็นอีกหนึ่งแหล่งสำคัญของไกแมน ในนวนิยาย American Gods มีการเอาโอดินกลับมาเป็นตัวละครสำคัญ เป็นชายตาที่มีนัยตาแก้ว Norse Mythology เป็นงานที่ไกแมนนำเอาตำนานนอร์สกลับมาทำใหม่โดยเล่าเรื่องผ่านเทพเจ้าสำคัญสามองค์ คือ โอดิน ธอร์ และโลกิ เอาเหตุการณ์มาร้อยเรียงใหม่อย่างมีสีสัน
The Sleeper and the Spindle, Neil Gaiman
นอกจากตำนานนอร์สแล้ว นีล เกแมนยังหยิบเอาทานปรัมปรามากลับมาชงให้อร่อยออกรสมากขึ้น ใน The Sleeper and the Spindle ตามชื่อคือใช้เรื่องราวจาก Snow White และ Sleeping Beauty เอามาเล่าใหม่ในทำนองเรื่องแนวแฟนตาซี มีเวทมนตร์คาถา การต่อสู้ การผจญภัย และการตีความตัวละครแปลกๆ ใหม่ๆ จุดเด่นสำคัญอีกอย่างของเล่มนี้คือภาพประกอบ ที่เป็นการเอาเรื่องที่เราคุ้นๆ กลับมาวาดในลายเส้นเท่ๆ
The Penelopiad: The Myth of Penelope and Odysseus, Margaret Atwood
นักเขียนสายแฟนตาซี – แนวมหัศจรรย์ ย่อมได้แรงบันดาลใจจากปกรณัมตำนานเก่า มาร์กาเร็ต แอตวูด เป็นอีกหนึ่งนักเขียนแฟนตาซีคนสำคัญที่เอาตำนานกรีกกลับมาเล่าใหม่ The Penelopiad เป็นการเอามหากาพย์ของโฮเมอร์กลับมาเล่าใหม่ ในเรื่องเล่าถึงนางพีเนโลป เมียผู้ซื่อสัตย์ที่รอโอดิสเซียสกลับมาจากสงครามโทรจัน 20 ปี ในฉบับของแอตวูดจึงเล่าถึงฝ่ายผู้หญิงที่รอ เลี้ยงลูก และต่อสู้กับเหล่าชายหนุ่มที่เข้ามาจีบ เป็นเรื่องเล่าที่กลับมาให้เสียงที่หายไปของผู้หญิง
Gods Behaving Badly, Marie Phillips
แค่ชื่อก็ออกรสแล้ว ทวยเทพทำตัวแย่เป็นนวนิยายที่บอกว่า ทวยเทพกรีกจะมีความเละเทะขนาดไหนถ้ายังอยู่ร่วมสมัยกับเรา มารี ฟิลลิปส์เล่าถึงชีวิตทวยเทพที่ระเริงไปกับศตวรรษที่ 21 ในโลกสมัยใหม่ เทพแห่งความรักกลายเป็นนางทางโทรศัพท์ (sex phone) อพอลโล เทพแห่งดวงอาทิตย์กลายเป็นหมอดูดังทางโทรทัศน์ อาร์ทิมิสเทพีแห่งป่าเขาและการล่าทำอาชีพรับจูงหมา
Oh My Gods: A Modern Retelling of Greek and Roman Myths, Philip Freeman
ฟิลลิป ฟรีแมน เป็นทั้งนักวิชาการทางวัฒนธรรมคลาสสิกและเป็นนักเขียน Oh My Gods คือการเอาเทพเจ้ายอดฮิตของกรีกกลับมาเล่าในฉบับสมัยใหม่ ใส่สีและเนื้อหนังให้กับซุสผู้ทรงอำนาจ เฮร่าเมียขี้หึงหัวรุนแรง อโฟรไดต์เทพีแห่งความรัก ไปจนถึงตำนานวีรบุรษออร์เฟอุส เรื่องนี้เหมาะกับคนที่รักเรื่องราวของยอดเขาโอลิมปัสไปจนถึงการสู้รบของมวลมนุษย์ในสงครามกรุงทรอย