ในที่สุดโฉมงามกับเจ้าชายอสูรก็ได้กลับมาอีกครั้งในฉบับภาพยนตร์คนแสดง แน่นอนว่าเราประทับใจกับเรื่องราวความรักที่เอาชนะคำสาปหรือรูปลักษณ์ภายนอกไปได้ แต่พอลองคิดๆ ดู จะว่าไปแล้วก็ สาวน้อยในเรื่องนี้นี่ ไปรักกับเจ้าชายอสูรที่ในเรื่องก็เรียกว่าเป็น Beast หรือเป็น ‘สัตว์ร้าย’ ซึ่ง…ก็เป็นความสัมพันธ์ข้ามสายพันธุ์ระหว่างคนกับสัตว์อยู่เหมือนกัน
โอเค มันเป็นนิทานแหละ แต่มันก็แปลกๆ หน่อยพอมาคิดในรายละเอียดเรื่องสายพันธุ์ เรื่องสปีชีส์อะไรพวกนั้น ไอ้ประเด็นเรื่อง ‘ความสัมพันธ์กับสัตว์’ แบบใกล้ชิดหนิดหนมปนวาบหวามนิดหน่อยดูจะเป็นสิ่งที่ต้องห้ามอยู่แล้วแหละ แต่ทำไมนะเราถึงได้มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความสัมพันธ์ข้ามสายพันธุ์แบบนี้อยู่บ่อยๆ อย่างนอกจากบิวตี้แอนเดอะบีสต์ ก็มีเจ้าชายกบที่หญิงสาวต้องไปจูจุ๊บกับเจ้ากบตัวเมือกๆ
ถ้าเป็นในระดับเทพนิยาย โอเค สัตว์พูดได้ การถูกสาป อะไรพวกนั้นก็เป็นองค์ประกอบของนิทานอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเรามองความสัมพันธ์ที่พิเศษของสาวงามที่ไปรักกับสัตว์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องมหัศจรรย์ มีนักจิตวิทยาที่พยายามจะอธิบายว่านอกจากเพื่อความสนุกแล้ว ไอ้ความมหัศจรรย์ทั้งหลายในนิทานมันมีบทบาทอะไรกับเด็กๆ บ้าง
Bruno Bettelheim ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิเคราะห์เจ้าของหนังสือชื่อ The Uses of Enchantment งานเขียนที่อธิบายความมหัศจรรย์ในนิทานว่ามีผลในเชิงจิตวิทยาอย่างไร มีบทหนึ่งชื่อว่า ‘เรื่องประเภทเจ้าบ่าวที่เป็นสัตว์ (the animal groom)’ โดยรวมแล้วบอกว่าความแฟนตาซีทั้งหลายในนิทานมันเป็นเหมือนความเปรียบที่ให้เด็กๆ ได้ทำความเข้าใจและเรียนรู้ในเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น สำหรับส่วนของการได้สามีที่เป็นสัตว์…มันก็เกี่ยวกับการเรียนรู้เรื่องเซ็กส์นั่นแหละ
โดยทั่วไปรูปแบบเรื่องที่ต้องแต่งงานกับสัตว์มักเริ่มด้วยการถูกสาป เหล่าเจ้าหญิงทั้งหลายก็จะต้องหลบหลีก หวาดกลัวการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายเจ้าชาย จนกระทั่งได้เรียนรู้ถึง ‘ความรัก’ ซึ่งไอ้ความเป็นสัตว์ เช่น บีสต์หรืออสูรก็หมายถึงความรุนแรง ความปุกปุยป่าเถื่อน หรือเจ้ากบ ที่เป็นลักษณะของสิ่งที่หยุ่นๆ เมือกๆ น่าขยะแขยง ดังนั้นสรุปง่ายๆ คือ ถ้าหนูลูกมีความรัก แล้วความรักก็จะพาก้าวผ่านเรื่องที่ตอนแรกเรารู้สึกว่ามันน่ากลัว น่าหยะแหยงไปได้
นอกจากนิทานแล้ว ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็มีเรื่องความสัมพันธ์ข้ามสายพันธุ์ระหว่างคนกับสัตว์อยู่เรื่อยๆ ในตำนานต่างๆ พวกเทพทั้งหลายก็สามารถแปลงร่างเป็นสัตว์ได้ และหลายครั้งก็ใช้ร่างของสัตว์ในการไปหวานกับมนุษย์ หรือในทางกลับกันก็เป็นการสาปเพื่อลงโทษมนุษย์อย่างรุนแรงส่งผลให้มนุษย์ไปรักกับสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่สายพันธุ์เดียวกัน
Leda and the Swan
นาง Leda เป็นสาวงามในตำนานกรีกที่โด่งดังมากจากการที่เธอไปได้กับหงส์ ในตำนานกรีกถ้าเกิดมาสวยก็มักจะซวยกันไป นาง Leda ก็เช่นกัน คือสวยจน ซุส เทพเจ้าจอมขี้หลีมาชอบ ทีนี้จะไปจีบเลยก็ไม่ได้เพราะเมียหวง เลยต้องแปลงร่างเป็นหงส์เข้าไปคลอเคลีย คลอเคลียไปมาจนกระทั่ง แน่ล่ะ…ท้องซะงั้น ซึ่งสาวเจ้าจริงๆ ก็มีผัวอยู่แล้ว ด้วยพลังตั้งท้องกับเทพ คืนนั้นหลังจากมีปฏิสัมพันธ์กับซุสในร่างหงส์เสร็จ นางก็กลับไปห้องและไปเข้าที่เข้าทางกับผัว ตอนนั้นเองนางก็วางไข่ออกมาสองใบ หนึ่งในนั้นคือนางเฮเลน ที่กลายไปเป็นตำนานเฮเลนแห่งเมืองทรอยนั่นเอง สรุปว่าก็ได้ลูกเป็นลูกครึ่งมนุษย์ครึ่งเทพอะเนอะ แต่ในตำนานเรื่องนี้ก็ไม่ได้บอกว่าคลอดลูกเป็นไข่แล้วต้องเอาไปลอยแพหรือไล่ออกจากเมืองแก้ซวยแต่อย่างใด
The Rape of Europa
นาง Europa เป็นอีกหนึ่งสาวงามที่ซุสจอมลามกเจ้าเดิมไปหลงรัก แต่ยูโรปาผู้ซึ่งชื่อของเธอกลายมาเป็นชื่อทวีปยุโรปนี่เห็นจะดีหน่อย จริงๆ ก็ทรงเดิมคือนางยูโรปาเป็นมนุษย์ที่ซุสเห็นปุ๊บก็ชอบ ตอนที่นางยูโรปาออกมาเก็บดอกไม้กับสาวๆ ซุสก็แปลงร่างเป็นวัวหนุ่มสีขาวมาล่อลวงนาง ด้วยความหล่อเหลาของวัวนางยูโรปาก็หลงจนกระทั่งปีนขึ้นไปขี่เจ้าวัวหนุ่ม พอขึ้นปุ้บ วัวก็ควบข้ามน้ำข้ามทะเลไปจนถึงเกาะครีต เรื่องนี้สาวเจ้าไม่ได้ได้กับวัวโดยตรง แค่หลงรูปวัวสุดหล่อนิดหน่อยเพราะพอถึงเกาะแล้ว วัวก็คืนร่างเป็นเทพเจ้าซุส และแต่งตั้งให้นางเป็นราชินีแห่งเกาะ เรื่องการลักพาตัวนางยูโรปาถือกันว่าเป็นเรื่องรักระหว่างมนุษย์และเทพเจ้าที่สำคัญเรื่องหนึ่ง
Pasiphaë and Minotaur
นาง Pasiphaë กับนางยูโรปา จริงๆ เป็นเรื่องเดียวกัน แต่เป็นคนละเวอร์ชั่น แกนเรื่องหลักๆ เลยคล้ายกันคือพูดถึงหญิงสาวที่กลายเป็นราชินีของเกาะครีต แล้วก็มีวัวด้วย แต่ท้องเรื่องฉบับนาง Pasiphaë โหดกว่ายูโรปาจมเลย คือเจ้คนนี้เป็นราชินีและเมียของ กษัตริย์ไมนอส ตามตำนานคือเทพเจ้าโพไซดอนประทานวัวรูปงามมาตัวหนึ่งให้กับดินแดน ตามหลักแล้วอีตาไมนอสต้องทำการบูชายันต์เพื่อสังเวยวัวคืนกลับไปให้กับโพไซดอน แต่พี่แกดั๊นไม่ยอมคืนกลับเก็บเจ้าวัวที่เทพเจ้าให้ไว้ ผลกรรมเลยเกิด โพไซดอนก็โกรธสิทำไมอมของได้ แต่ความซวยไปตกที่เมีย คือโพไซดอนบอกว่าชอบมากนักใช่มั้ย เลยสาปเมียไมนอสให้ไปหลงรักและได้เสียกับเจ้าวัวนั่นซะเลย (โหดสึส) ในบางเวอร์ชั่นอยากขยี้ลงไปอีกเลยลงรายละเอียดว่ากษัตริย์ไมนอสให้สถาปนิกสร้างวัวเทียมขึ้นมาเพื่อให้นางไปซ่อนในวัวเพื่อจะร่วมรักกับวัวนั้นได้ ผลของคำสาปคือก็ได้อสูรร้ายมิโนทอร์ขึ้นมา และต้องขังไว้ในเขาวงกต
Ganymede and Eagle
ยังคงวนเวียนอยู่กับเฮียซุสและการแปลงร่างเป็นสัตว์ ด้วยความที่พี่ซุสเทพขนาดนั้น แถมยุคโบราณก็ไม่ได้ติดกับเรื่องเพศว่าจะรักเพศไหน งานนี้เฮียซุสเลยจัดการลักพาหนุ่มน้อยนามว่า Ganymede ซะเลย โดยตัวเรื่องก็มุกคล้ายๆ เดิม คือ Ganymede จริงๆ ก็เป็นหนุ่มชนบทบอยธรรมดาๆ คนหนึ่ง แต่ลักษณะพิเศษคือเป็นมนุษย์ (mortal) ที่รูปงามที่สุดบนปฐพี ซุสเห็นดังนั้นก็พึงอกพึงใจเลยแปลงร่างเป็นนกอินทรีแล้วโฉบเอาไปอยู่ด้วยแล้วมอบชีวิตอมตะ กำหนดหน้าที่ให้เป็นเด็กรินไวน์ (บาร์โฮสคัลเจอร์เลยทีเดียว) การได้เด็กเอ๊าะๆ มา เหล่าเทพทั้งชายและหญิงบนสวรรค์ก็เปรมปรียินดีที่มีคิ้วบอยมาสถิตบริการ ยกเว้นเฮร่าเมียรักที่แหม่งๆ และหึงว่าเจ้าหนุ่มน้อยรูปงามนี่มันจะมาแย่งความรักผัวเราไปแน่นอน
Egyptian tale
พูดถึงกรีกแล้ว มาที่แดนอียิปต์กันมั่ง อันนี้ไม่เชิงว่าเป็นนิทาน แต่อียิปต์เองก็มีความเชื่อและความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างมนุษย์กับสัตว์ อย่างที่เราเห็นว่าสัตว์มีบทบาททางศาสนา และเทพเจ้ามักมีรูปลักษณ์เป็นสัตว์ ในหนังสือ Bestiality and Zoophilia: Sexual Relations with Animals ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ฉ่ำๆ ระหว่างคนกับสัตว์ในอารยธรรมโลกพูดถึงการที่ความชำนาญของชาวอียิปต์ในการโจ๊ะกับจระเข้ คือชายชาวอียิปต์โบราณจะมีอะไรกับจระเข้ด้วยการจับจระเข้นอนหงายทำให้เจ้าสิ่งมีชีวิตที่น่าสงสารนั้นขยับหรือต่อต้านไม่ได้ การมีซัมติงกับจระเข้นั้นเชื่อว่าจะนำมาซึ่งความมั่งคั่งและสมรรถภาพทางเพศของเหล่าชายหนุ่มให้คืนกลับมาอีกครั้ง… ประเด็นหนึ่งก็คงเป็นเรื่องการทารุณสัตว์อะเนอะ ซึ่งสมัยนั้นก็คงไม่มีแนวคิดเรื่องนี้ อีกอย่างก็เสี่ยงชีวิตไปหน่อยปะ
The Dream of the Fisherman’s Wife
หนึ่งในความสัมพันธ์ระหว่างสาวน้อยกับสิ่งมีชีวิตอื่น ภาพพิมพ์ไม้หญิงสาวกับปลาหมึกยักษ์ เป็นอีกหนึ่งสื่อแนววาบหวามที่มีชื่อเสียง ผลงานของศิลปินชื่อ Hokusai ที่เผยแพร่ในช่วงปี 1814 ภาพดังกล่าวการอ้างถึงความสัมพันธ์ระหว่างหญิงสาวกับท้องทะเล โดยอ้างอิงถึงตำนานเจ้าหญิง Tamatori ในสมัยเอโดะ Tamatori เป็นอามะหรือหญิงนักงมหอยที่ลงไปยังใต้ทะเลเพื่อเอาไข่มุกของตระกูลที่เทพห้องทะเลขโมยไปกลับคืนมา ในตอนที่กลับออกจากวังของเทพเจ้าแห่งท้องทะเลนั้นเธอต้องสู้กับปีศาลและสัตว์ทะเลลูกน้องซึ่งหนึ่งนั้นก็มีปลาหมึกด้วย เพื่อเป็นการว่ายน้ำให้เร็วเธอจึงแบะหน้าอกตัวเองเพื่อเก็บไข่มุกไว้ในนั้น ในภาพงานศิลปะโบราณจึงวาดภาพหญิงสาวเปลือยอกที่หนีออกจากฝูงสัตว์ทะเล และกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินที่สร้างผลงานที่เป็นภาพวาบหวามระหว่างหญิงสาวและปลาหมึก
Equus
จำภาพของ Daniel Radcliffe แฮร์รี่ พอตเตอร์น้อยที่เคยมีภาพเปลือยเปล่าแล้วมีม้าอยู่ด้านหลังได้มั้ย Equus คือบทละครที่พูดถึงความสัมพันธ์และความปรารถนาอันซับซ้อนแรงกล้าของมนุษย์ เป็นบทละครของ Peter Shaffer เขียนขึ้นในปี 1973 โดยหลักแล้วพูดถึงเด็กหนุ่มนาม Alan Strang ผู้ซึ่งมีความปรารถนาและถูกดึงดูดโดยม้า สิ่งมีชีวิตที่สง่างามและดูแข็งแกร่ง โดยรวมแล้วตัวบทละครแสดงให้เห็นถึงการกีดกันคนอื่น พูดถึงสภาพจิตใจอันซับซ้อนและความปรารถนาที่ลึกล้ำของมนุษย์ คือประเด็นความประหลาดที่เรารู้สึกว่าพิลึกและไกลตัว ในที่สุดนำมาสู่การขบคิดและทบทวนความเป็นคนของเราอีกที บทละครดังกล่าวถูกนำไปแสดงและได้รับรางวัลมากมาย