อดีตของเรายิ่งใหญ่เสมอ มนุษยชาติเองก็มีความฝันร่วมกัน หนึ่งในนั้นคือการฝันถึงดินแดนที่สูญหาย ถึงอดีตที่เคยเกรียงไกรของเรา แอตแลนติส (Atlantis) เป็นอีกหนึ่งอดีตปริศนา ดินแดนที่เราได้จินตนาการว่า ครั้งหนึ่ง เราก็เคยมีโลกที่สมบูรณ์แบบ มีแผ่นดินที่งดงามขนาดนั้นเชียวนะ
เตรียมไปดูกันรึยังกับ Aquaman ม้าหนุ่มจากเกมออฟโทรนส์คราวนี้รับบทชาวแอตแลนติสผู้มาจากดินแดนเก่าแก่ที่มีวิทยาการสูงส่ง แอตแลนติสนี่มันเท่จริงๆ เรามักจินตนาการถึงดินแดนโบราณที่จมหายอยู่ใต้ท้องทะเล โลกที่มีส่วนผสมของการปกครองเก่าแก่ เมืองท่า และวิทยาการที่สูงส่ง อาณาจักรของโพไซดอน การกลับมาของอควาแมนช่วยปลุกจินตนาการเวลาที่เราทอดสายตาไปยังฝืนน้ำกว้างใหญ่ได้อีกครั้ง
แอตแลนติสเป็นจินตนาการ เป็นปริศนาที่ปัจจุบันคนทั้งโลกคงรับรู้และแอบคิดถึงอยู่บ้างเหมือนกัน บ้างก็บอกว่าแอตแลนติสเป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่ล่มสลายไปแล้ว สิ่งปลูกสร้างประหลาดทั่วโลก สโตนเฮนจ์ โมอาย ไปจนถึงอาณาจักรโบราณ เช่น มายัน ต่างมีความเกี่ยวข้องกับแอตแลนติสทั้งนั้น บ้างก็ถูกมองในฐานะโลกในจินตนาการ ดินแดนลึกลับที่อาจจะยังอยู่ที่ไหนในท้องทะเลกว้างใหญ่
เวลาที่เราพูดถึงเพลโต พูดถึงกรีก เราก็คิดว่าเราอ้างอิงไปยังคลังความรู้ในอดีตแสนไกลแล้ว แอตแลนติสกลับเป็นดินแดนที่เก่าแก่กว่านั้นอีก เพราะเป็นดินแดนที่เพลโตพูดถึงในฐานะอาณาจักรโบราณ เป็นตำนานที่เล่าขานกันต่อๆ มาก่อนยุคกรีกอีกทอดหนึ่ง แต่ดูเหมือนว่า ตำนานดินแดนโบราณของเพลโตดูจะเป็นอุปมาเพื่อใช้แสดงภาพอาณาจักร เป็นส่วนหนึ่งของการสอนศีลธรรมและเรื่องรัฐด้วย
ดินแดนในอุดมคติ และแอตแลนติสในฐานะรัฐศัตรู
เพลโตมักพูดถึงเรื่องรัฐ เช่นใน The Republic ก็พูดถึงรัฐที่ดี ทีนี้ ในงานเขียนสองชิ้นคือ Timaeus และ Critias เพลโตเล่าถึงตำนานรัฐโบราณสองรัฐที่เป็นปรปักษ์กัน แน่ละว่าหนึ่งในสองคือ เอเธนโบราณ อาณาจักรบนผืนดิน และอีกดินแดนคือ แอตแลนติส รัฐแห่งท้องทะเลและการค้า เอเธนเปรียบเสมือนรัฐในอุดมคติ ในขณะที่แอตแลนติสเป็นดินแดนที่ตรงกันข้ามกัน สปอยด์ตอนจบเลยละกัน แอตแลนติสที่เกรียงไกรมาบุกทำลายเอเธน แต่ด้วยพลังของทวยเทพ สุดท้ายแอดแลนติสจึงถูกทำลายและจมลงมหาสมุทรไปตลอดกาล
ใน Critias เล่าถึงตำนานการสู้รบของสองรัฐนี้ว่าเต็มไปด้วยความคลุมเครือ เพราะในขณะที่เกิดเหตุ เมื่อเทพเจ้าบันดาลคลื่นใหญ่ทำลายแอตแลนติสไปแล้ว คลื่นก็ได้กวาดเอาคนที่รู้หนังสือไปทั้งหมด เหลือรอดแค่พวกที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ใหญ่นี้ถูกเล่าขานต่อไป (พวกมีการศึกษาซวยไปนะ)
กลับมาที่ตัวตำนาน ยุคสมัยที่เพลโตพูดถึงเก่าแก่ถึงขนาดเป็นยุคที่เทพเจ้ายังคงสังฆกรรมกับมนุษย์ ภาพของเอเธนโบราณต้องตามตำรารัฐในอุดมคติของเฮียแกเป๊ะๆ ชาวเอเธนเป็นดินแดนที่มีผืนดินเป็นของตัวเอง มีระบบการแบ่งปันอาหาร ใช้ชีวิตแบบพึ่งพา ไม่สนใจเงินทองและการค้า มีระบบผู้นำอย่างที่เพลโตเห็นว่าเหมาะควร ผู้คนมีความรู้ได้ด้วยการบันดาลของทวยเทพ เอเธนได้รับการปกปักโดยเทวีอาธีนา และเฮฟเฟตุส เทพแห่งไฟและการช่าง ชาวเอเธนมีสำนึกที่จะปกป้องแผ่นดินเกิด (mother land)
ในทางกลับกัน ดินแดนแอตแลนติส ตรงข้ามกันไปเลย แอตแลนติสเป็นอาณาจักรชายฝั่ง เป็นดินแดนหมู่เกาะทั้งสิบที่แบ่งอาณาเขตปกครองออกเป็นนับพันเขตแดน แอตแลนติส ถือว่าเป็นดินแดนที่ไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง เป็นอาณาจักรเมืองท่าชายฝั่งที่มั่งคั่งด้วยการค้าและการรบ ที่เมืองหลวงใจกลางมีวิหารแห่งโพไซดอน เกรียงไกรขนาดที่ว่า ตัวกำแพงของวิหารและรูปปั้นหุ้มด้วยงาช้าง ทองคำ และทองเหลือง (Orichalcum)—ในยุคก่อนถือว่าทองเหลืองเป็นโลหะในตำนาน เป็นโลหะที่แข็งแกร่งที่สุด
การปะทะกันของสองดินแดนเป็นเหมือนการปะทะกันของโลกที่ตรงข้ามกันสองใบ ระหว่างหยินและหยาง ระหว่างดินแดนที่มั่งคั่งอุดมด้วยศีลธรรมและการพึ่งพาตัวเอง กับดินแดนแห่งความมั่งคั่งด้วยวัตถุและเงินทอง สุดท้ายแล้วเทพเจ้า (หรืออาจจะเพลโตเอง) เลือกที่จะทำลายแอตแลนติสลง
เพลโตเล่าถึงแอตแลนติสไปทำไม แอตแลนติสมีจริงไหม
พวกงานเขียนโบราณ มักจะไม่ได้มีแค่ระดับ ‘ตัวเรื่อง’ ว่า ใครทำอะไรที่ไหนแค่อย่างเดียว ในเรื่องเล่าโบราณมักมีความหมายซ้อนซ่อนอยู่เสมอ ตำนานแอตแลนติสของเพลโตก็เหมือนกัน
นักวิชาการมีความเห็นเป็นสองฝ่ายเรื่องแอตแลนติสของเพลโต ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าเพลโตเล่าเรื่องนี้เพื่อสอนปรัชญา สอนเรื่องรัฐ เรื่องคุณธรรม ในขณะที่อีกฝ่ายเชื่อว่าเพลโตกำลังบันทึกประวัติศาสตร์โดยเล่าถึงดินแดนเก่าแก่และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอีกครั้ง
Robert Ballard นักเดินเรือและนักสำรวจทางทะเลคนสำคัญผู้ค้นพบซากไททานิกพยายามอธิบายว่า เอ๊ะ ที่เพลโตพูดจะมีเค้าลางทางประวัติศาตร์มั้ย แล้วก็บอกว่า ในช่วง 3,600 ปีก็มีเหตุการณ์คล้ายๆ กันคือภูเขาไฟระเบิดและคลื่นยักษ์กวาดเอาอาณาจักร Minoan แถบซานโตรีนีจมหายไปใต้ท้องทะเล แต่แกก็บอกว่า อันนี้ไม่น่าใช่เพราะว่าช่วงเวลาที่เกิดเหตุไม่ใกล้กับที่เพลโตบอกว่าแอตแลนติสล่มสลาย เป็นคนละช่วงเวลากัน
สรุปแล้ว Ballard บอกว่า ในเรื่องเล่าของเพลโตดูจะเน้นไปที่ความเปรียบทางปรัชญา พูดเรื่องการแข็งขืนระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ดินแดนที่มีศีลธรรมกับดินแดนแห่งความโลภโมโทสัน ตามตำนานเพลโตพูดถึงแอตแลนติสว่าเป็นดินแดนที่แม้จะอารยะ ร่ำรวยก็จริง แต่สุดท้ายผู้คนกลับสูญเสียศีลธรรมไป ทำให้ทวยเทพพิโรธและสาปแช่งจนถึงกาลอวสานลงในท้ายที่สุด
นอกจากการเป็นเรื่องเล่าตัวแบบเพื่อสอนศีลธรรมแล้ว นักวิชาการบางส่วนก็เสนอว่า ไม่เชิงว่าแอตแลนติสปะทะเอเธนจะเป็นเรื่องบทเรียนทางปรัชญาและแยกขาดออกจากบริบททางประวัติศาสตร์ซะทีเดียว ในสมัยที่เพลโตเล่าเรื่องแอตแลนติสขึ้น กรีกเองยุคนั้นกำลังฮึกเหิมจากการได้ชัยชนะในสงครามกับเปอร์เซีย กรีกใช้กองเรืออันยิ่งใหญ่และมองว่าตัวเองเป็นดินแดนอันอารยะที่เอาชนะพวกป่าเถื่อนลงได้
ตำนานเรื่องแอตแลนติสที่เพลโตเล่าจึงมีนัยอย่างซับซ้อน หนึ่งคือแน่ล่ะว่าเป็นการเอออวยว่า นี่ไงชาวกรีก พวกเธอมีอดีตกันรุ่งโรจน์อย่างชาวเอเธนโบราณนะ ในขณะเดียวกันก็เป็นอนุสติว่า เฮ้ย พวกแก อาจจะกำลังตกอยู่ในภาวะที่ไม่ต่างอะไรกับชาวแอตแลนติสก็ได้
ซับซ้อนสมเป็นนักปรัชญาเบอร์ต้นๆ ของโลกตะวันตกจริงๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
- “Atlantis” in Companion to Literary Myths, Heroes and Archetypes