วารสารวิชาการถือเป็นพื้นที่สำคัญในการเผยแพร่ถกเถียงความรู้ต่างๆ ปัจจุบันด้วยการลดต้นทุนและเพื่อการเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชนอย่างมีประสิทธิภาพ วารสารวิชาการไทยก็เริ่มเข้าสู่โลกดิจิทัล เปิดให้บุคคลที่สนใจทั่วไปเข้าอ่านได้ฟรีๆ
โลกวิชาการอาจฟังดูไกลตัว แต่สิ่งที่นักวิชาการทำก็คือการศึกษา สังเกต ไปจนถึงผลิตนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ตอบปัญหาบางอย่างของสังคม สร้างองค์ความรู้เพื่อเข้าใจโลก เข้าใจสังคม วารสารวิชาการจึงไม่จำเป็นต้องมีแต่นักวิชาการอ่าน แต่บุคคลทั่วไปก็พอที่จะเข้าไปอ่าน-ไปดูว่าตอนนี้ในโลกความรู้กำลังสนใจอะไร บางคำตอบ บางความเข้าใจก็อาจจะเป็นประโยชน์หรือมีความน่าสนใจในตัวเอง
ในวงวิชาการไทยเองก็มีวารสารวิชาการชั้นนำ หลายเล่มเคยเป็นพื้นที่ถกเถียงและสร้างองค์ความรู้สำคัญๆ อยู่หลายเล่ม The MATTER อยากชวนมารู้จักโลกแห่งความรู้ เลยอยากชวนเข้าไปรู้จักและอ่านวารสารวิชาการไทยทางสังคมศาสตร์ 7 เล่ม ที่สามารถอ่านย้อนหลังในคลังได้ฟรีๆ
MANUSYA, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
MANUSYA ถือเป็นวารสารวิชาการชั้นแนวหน้าเล่มสำคัญของวงการมนุษยศาสตร์ไทยเผยแพร่บทความในภาษาอังกฤษ ตัววารสารดูแลโดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เป็นพื้นที่สำคัญที่จะเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ๆ ของไทยไปสู่ระดับนานาชาติ งานศึกษาที่เอามาลงครอบคลุมองค์ความรู้ทางมนุษยศาสตร์และอักษรศาสตร์ ตั้งแต่ปรัชญา วรรณคดีศึกษา ศิลปะการแสดง ภาษาศาสตร์ ในฉบับล่าสุดมีบทความที่น่าสนใจ เช่นงานศึกษาประเด็นเรื่องโสเภณีจากงานวรรณกรรมโดยพิจารณาจากความสำพันธ์อันซับซ้อนในการกดขี่ผู้คนกับแนวคิดเรื่องนิเวศวิทยาและระบบทุนนิยม นอกจากงานศึกษาวรรณกรรมแล้ว งานเชิงภาษาศาสตร์ก็ถือเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของวารสารทางมนุษยศาสตร์ไทย
อ่านวารสารวิชาการฉบับเต็มได้ที่ : www.manusya.journals.chula.ac.th/issue.php?i=r
Thammasat Review, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Thammasat Review เป็นวารสารวิชาการสายสังคมศาสตร์อีกหนึ่งเล่มที่เผยแพร่บทความเป็นภาษาอังกฤษ แขนงวิชาที่ลงในวารสารครอบคลุมหลายสาขาทั้งรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ วารสาร ไปจนถึงมานุษยวิทยา งานศึกษาส่วนใหญ่มักพูดถึงประเด็นที่ร่วมสมัยโดยใช้แขนงวิชาทางสังคมมาทำความเข้าใจ ในฉบับล่าสุดมีบทความสนุกๆ เช่นงานศึกษาที่พูดถึงพฤติกรรมความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์กับการทำงานและความก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน งานศึกษาที่ลงไปศึกษาอารมณ์ความรู้สึกของกลุ่มการเมืองคนเสื้อแดง
อ่านวารสารวิชาการฉบับเต็มได้ที่ : tujournals.tu.ac.th/thammasatreview/IssuesEN.aspx
รัฐศาสตร์สาร, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รัฐศาสตร์สาร ถือเป็นวารสารวิชาการเก่าแก่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อตั้งเมื่อปี 2521 เป็นที่ยอมรับในวงการศึกษาสังคมศาสตร์ของบ้านเรา แขนงวิชาที่ทางวารสารรับก็ตามชื่อคือเป็นสายรัฐศาสตร์รวมถึงสาขาสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ซึ่งวารสารนี้ถือเป็นพื้นที่สำคัญและมีความเข้มข้นในการคัดเลือก เล่มล่าสุดก็มีงานเขียนจากนักวิชาการชั้นนำในสาขาเช่น งานที่ศึกษาวรรณกรรมในมุมมองของชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ งานที่ศึกษา ‘สถาปัตยกรรม’ – ตลอดจนสถาปนิกในมิติทางวัฒนธรรมของชาตรี ประกิตนนทการ และงานเขียนว่าด้วยแฟชั่นของธเนศ วงศ์ยานนาวา นักวิชาการที่ทำให้วิชาการใกล้ตัวและมีสีสันคนสำคัญของบ้านเรา
อ่านวารสารวิชาการฉบับเต็มได้ที่ : www.polsci.tu.ac.th/nw_polsci/index.php?option=com_content&view=article&id=14&Itemid=132
วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง (Journal of Mekong Societies), มหาวิทยาลัยขอนแก่น
วารสารลุ่มน้ำโขงเป็นหนึ่งในวารสารวิชาการเน้นพื้นที่ (area study) ของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง พื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม กลุ่มชน ศิลปะ ไปจนถึงพัฒนาการทางสังคมใกล้เคียงกัน งานศึกษาที่ลงจะกินเนื้อแขนงความสนใจค่อนข้างกว้างขวางที่รายล้อมอยู่ในพื้นที่อันรุ่มรวยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ตัวบทความที่ตีพิมพ์มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พูดถึงทั้งในเชิงวัฒนธรรมไปจนถึงงานศึกษาปัญหาร่วมสมัยต่างๆ เช่นเล่มล่าสุดก็มีบทความที่พูดถึงทั้งแรงงานอพยพ ไปจนถึงงานภาษาศาสตร์เรื่องคำเขมรถิ่นไทยกับเขมรของทางกัมพูชา
อ่านวารสารวิชาการฉบับเต็มได้ที่ : www.tci-thaijo.org/index.php/mekongjournal/issue/archive
มนุษยศาสตร์สาร, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถือเป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยไทยที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการของสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของไทย งานศึกษามีทั้งที่ศึกษาวัฒนธรรมล้านนา ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ไปจนถึงงานเชิงแนวคิดที่เป็นสากลต่างๆ ในฉบับล่าสุดมีงานเชิงสังคมเช่นงานที่พูดถึงแรงงานอพยพไทยใหญ่ ไปจนถึงงานของปรีดี หงษ์สต้น นักเขียนที่เป็นนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ด้วย
อ่านวารสารวิชาการฉบับเต็มได้ที่ : journal.human.cmu.ac.th
วารสารวิชาการนวัตกรรมสื่อสารสังคม, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
อีกหนึ่งวารสารสนุกๆ พูดเรื่องนวัตกรรมและการสื่อสารร่วมสมัยของบ้านเรา ในเล่มล่าสุดมีบทความที่ลงไปศึกษาพื้นที่ออนไลน์ ไปดูสิ่งที่เราเจอกันอยู่ทุกวันในโลกดิจิทัล เช่น ทวิตเตอร์ บิวตี้บล็อกเกอร์ การใช้อนิเมชั่นในการเรียนรู้ ไปจนถึงการศึกษาที่เป็นรูปธรรม เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว การโรงแรม
อ่านวารสารวิชาการฉบับเต็มได้ที่ : ejournals.swu.ac.th/index.php/jcosci/issue/archive
Nakhara: Journal of Environmental Design and Planning, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่องเมือง ผังเมือง การออกแบบเมืองและคุณภาพชีวิตก็ดูจะเป็นสิ่งที่เมืองไทยต้องการ เพราะเมื่อเมืองส่งผลต่อคน การวางผังและออกแบบเมืองก็ถือเป็นองค์ความรู้ที่สัมพันธ์กับสังคมศาสตร์ วารสาร Nakhara เป็นวารสารทางการออกแบบผังเมืองที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ตัววารสารนี้ได้รับการจัดอยู่ในฐานข้อมูล Scopus ถือว่าเป็นวารสารที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ หลักๆ แล้วก็พูดถึงความพยายามในการออกแบบเมืองให้ดี ปัญหาและวิธีการแก้ไข ตัวอย่างก็มีทั้งจากบ้านเราและในหลายๆ ประเทศ
อ่านวารสารวิชาการฉบับเต็มได้ที่ : tci-thaijo.org/index.php/nakhara/issue/archive