วารสารวิชาการ ถือเป็นพื้นที่สำคัญที่เหล่านักวิชาการและวงวิชาการจะมีการเสนอความคิด ถกเถียง และวิพากษ์ความรู้ในแขนงวิชาของตัวเอง วารสารวิชาการมักจะมีการระบุแขนงว่า เอ้อ อันนี้เป็นวารสารของสาขาไหน
หนึ่งในระบบสำคัญของวารสารวิชาการ คือระบบ peer review ทำนองว่ามีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ในแขนงนั้น อ่านและวิพากษ์วิจารณ์ความคิดก่อนที่จะตีพิมพ์เผยแพร่ วารสารวิชาการจึงถือเป็นพื้นที่สำคัญในการเผยแพร่ความรู้ในแขนงวิชาหนึ่งๆ สำหรับเรา วารสารวิชาการทำให้เราพอจะรู้ว่าวงวิชาการที่เราสนใจกำลังไปในทางไหนนะ
ในโลกของดิจิทัล วารสารวิชาการเก่าๆ ที่เคยเป็นพื้นที่เผยแพร่ความรู้และถกเถียงของนักคิดนักวิทยาศาสตร์ในแต่ละสมัยก็เริ่มมีการนำมาแสกนและทำให้เข้าถึงออนไลน์ได้ฟรีๆ เช่น Philosophical Transactions of the Royal Society วารสารที่ถือกันว่าเป็นวารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์เล่มแรกๆ ของโลกเผยแพร่ตั้งแต่ปี 1665 ไปจนถึง Radical Philosophy วารสารสำคัญของนักทฤษฎีร่วมสมัยในช่วงปี 1972 วารสารที่เป็นพื้นที่ถกเถียงของนักคิดดังๆ ในนั้นมีงานเขียนของนักคิด เช่น ฟูโกต์ (Michel Foucault) จูดิธ บัตเลอร์ (Judith Butler) และ อาแล็ง บาดียู (Alain Badiou)
ด้วยความเป็นวิชาการ และการทำวารสารก็ค่อนข้างมีต้นทุน นอกจากวารสารรุ่นเก่าแล้ว วารสารวิชาการรุ่นใหม่ก็เริ่มใช้พื้นที่ออนไลน์ในการเผยแพร่ผลงาน The MATTER จึงชวนไปอ่านคลังวารสารวิชาการสำคัญๆ ที่มีทั้งเล่มเก่าและเล่มใหม่ กินแขนงวิชาการตั้งแต่วิทยาศาสตร์ ปรัชญา เกมศึกษา ภาพยนตร์ ทั้งหมดเข้าถึงและอ่านออนไลน์กันได้ฟรีๆ
Philosophical Transactions
Philosophical Transactions ถือกันว่าเป็นวารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์เล่มแรกของโลก เป็นวารสารที่ดำเนินการโดยราชสมาคมแห่งลอนดอน (Royal Society) ตั้งแต่ปี 1655 ถือกันว่าเป็นวารสารวิชาการที่เก่าแก่และดำเนินการต่อเนื่องมายาวนานที่สุดของโลก ตัววารสารเล่มนี้ถือกันว่าเป็นต้นแบบของวารสารวิชาการวิทยาศาสตร์ที่มีระบบผู้ทรงคุณวุฒิ (peer review) อันเป็นต้นแบบให้กับวงวิชาการทั่วโลก วารสารนี้ถือว่าเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการก่อตัวขึ้นของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คำว่า philosophical หมายถึงปรัชญาความรู้ทางธรรมชาติ (natural philosophy) ซึ่งในปัจจุบันก็หมายถึงวิทยาศาสตร์นั่นเอง ตัวคลังวารสารเก่าจะสามารถเข้าถึงวารสารที่ออกในช่วงปี 1665-1886 ได้
ดูคลังวารสารเรียงตามปีช่วงปี 1665-1886 ได้ที่ : rstl.royalsocietypublishing.org
Radical Philosophy
Radical Philosophy เป็นวารสำคัญที่ว่าด้วยปรัชญาสมัยใหม่และทฤษฎีเชิงวิพากษ์ (critical theory) วารสารเล่มนี้ถือเป็นพื้นที่สำคัญที่ลงงานเขียนและบทสัมภาษณ์เหล่านักคิดชื่อก้องโลกที่เราคุ้นหูกันในทุกวันนี้ พวกกรอบคิด เช่น มาร์กซิส มาร์กซิสใหม่ หลังโครงสร้างนิยม เฟมินิสต์ ลากอง และอื่นๆ อีกมากมายล้วนเคยลงเผยแพร่ในวารสารนี้ เราสามารถอ่านงานเขียนของนักทฤษฎีระดับเทพได้จากวารสารนี้ และเป็นพรของโลกดิจิทัลที่มีการนำ Radical Philosophy มาให้เราเข้าถึงออนไลน์กันได้ฟรีๆ (มีให้ดาวน์โหลดเป็นไฟล์ .pdf ด้วยนะ เอาไปอ่านกันตามสะดวก)
ดูคลังวารสารได้ที่ : www.radicalphilosophy.com
Sequence
Sequence เป็นวารสารทางภาพยนตร์ของอังกฤษ ออกฉบับแรกในปี 1947 แม้จะออกพิมพ์ไม่กี่ฉบับ แต่ถือกันว่าเป็นวารสารที่ทรงอิทธิพลต่อวงการเล่มหนึ่ง โดยเฉพาะกระแส Free Cinema กระแสที่ต้องการทำหนังสารคดีที่หลุดออกจากตลาดและการโฆษณาชวนเชื่อ ด้วยความพยายามปลดแอกนี้ มูลนิธิ Lindsay Anderson หนึ่งในผู้กำกับและผู้ก่อตั้งวารสารจึงเอา Sequence ขึ้นเผยแพร่ให้เข้าถึงทางออนไลน์ได้ฟรี ด้วยความที่เป็นวารสารคนทำหนัง จึงถือเป็นวารสารที่เท่มากๆ เล่มหนึ่ง
ดูคลังวารสารได้ที่ : www.lindsayanderson.com หรือ issuu.com
Ergo
Ergo เป็นวารสารวิชาการทางปรัชญาออนไลน์ที่เข้าถึงและส่งบทความไปตีเผยแพร่ได้ฟรี ตัววารสารครอบคลุมเนื้อหาที่เกี่ยวกับปรัชญาทุกแขนง ตัววารสารออกเป็นรายปี เริ่มออกเล่มแรกในปี 2014 ปัจจุบัน (2018) ออกเป็นฉบับที่ 5 และยังมีแนวโน้มที่จะยังออกต่อเนื่อง ในแต่ละเล่มจะมีจำนวนบทความที่ถกเถียงประเด็นและหัวข้อทางปรัชญาที่หลากหลาย ใครสนใจก็ลองไปส่องๆ ดูได้ ข้อเสียคือแต่ละเล่มก็ไม่ค่อยมีธีมหรือบทบรรณาธิการเฉพาะเล่ม แต่โดยรวมก็มีบทความที่น่าสนใจกระจายๆ ตัวกันไป
ดูคลังวารสารได้ที่ : quod.lib.umich.edu
Game Studies
เกมศึกษาเป็นอีกหนึ่งแขนงวิชาใหม่ที่ใกล้ตัวและหน้าตื่นเต้น วารสาร Game Studies เป็นวารสารวิชาการออนไลน์ที่พูดเรื่องเกมอย่างจริงจัง ตัวเกมศึกษาเป็นการทำความเข้าใจ ‘เกม’ ทั้งในฐานะเทคโนโลยีและวัฒนธรรม ดังนั้นเราจึงพบบทความที่ลงไปขุดแคะแกะเกาเกมโดยใช้องค์ความรู้ต่างๆ มากมาย วารสารนี้ถือเป็นอีกหนึ่งวารสารวิชาที่สนุกดี เพราะนักวิชาการจากสารพัดแขนงจะพาเราไปเข้าใจเกม ทั้งในแง่การออกแบบ การสร้างเรื่องเล่า ปรัชญาและจริยธรรมในเกม ไปจนถึงเรื่องวิทย์ๆ เช่น อัลกอริทึม ระบบคอมพิวเตอร์
ดูคลังวารสารได้ที่ : gamestudies.org
Philosophical Transactions of the Royal Society (A/B)
ต่อเนื่องจากวารสารที่เก่าแก่ที่สุด Philosophical Transactions ดำเนินการเรื่อยมาจนกระทั่งแขนงวิทยาศาสตร์แตกกิ่งก้านสาขาออกไปมากมาย คราวนี้ในปี 1987 ตัววารสารวิทยาศาสตร์เล่มเก่าแก่นี้ก็เลยมีการแตกตัวออกเป็นสองภาค แต่ละภาคจะเน้นแขนงวิชาแตกต่างกันไป ภาค A จะว่าด้วยคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และวิศวกรรมศาสตร์ ส่วนภาค B เน้นไปทางชีวะวิทยา กระนั้นทางวารสารก็มีการเปิดให้เข้าถึงวารสารทั้งสองภาคได้บางช่วงฟรีๆ แต่วารสารชุดก็ค่อนข้างวิชาการเอามากๆ ผู้อ่านทั่วไปอาจจะงงนิดหนึ่ง
ดูรายละเอียดช่วงปีที่เปิดให้เข้าถึงได้ฟรีที่ : royalsociety.org
ดูคลังวารสารภาค A ได้ที่ : rsta.royalsocietypublishing.org
ดูคลังวารสารภาค B ได้ที่ : rstb.royalsocietypublishing.org