ประเวณีมีทั่วทุกตัวสัตว์ ไม่จำกัดห้ามปรามตามวิสัย
นาคมนุษย์ครุฑาสุราลัย สุดแต่ใจปรองดองจะครองกัน
พระอภัยมณี
เรื่องเซ็กส์เป็นธรรมดาโลกของมนุษย์ แถมในทางโลกหรือบางครั้งในแง่ปรัชญา การร่วมประเวณีบางครั้งมีปรากฏขึ้น และมีความหมายพิเศษแอบแฝงอยู่ในนั้น ในนิทาน การอยู่กิน มีเซ็กส์แบบปกติมันก็ธรรมดาไป ด้วยนิทาน หรือวรรณกรรมโบราณมักว่าด้วยเรื่องเหนือธรรมชาติ และในความเหนือธรรมชาตินั้นก็เลยรวมการมีสัมพันธ์ข้ามพรมแดนบางอย่างด้วย แต่สำหรับในนิทานไทยบางครั้งก็ออกจะแปลกประหลาดคาดไม่ถึงไปอยู่บ้าง
ในการศึกษาวรรณกรรมมีแขนงหนึ่งเรียกว่าคติชนวิทยา คือศึกษาพวกเรื่องเล่าตำนาน หรือพวกประเพณีของชาวบ้าน ทีนี้ลึกลงไปอีกหน่อยก็จะความสนใจที่ไปสนใจนิทานทั้งหลาย ส่วนหนึ่งของการศึกษานิทานคือนักวิชาการบอกว่า โลกนี้แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลกันแค่ไหน นิทานกลับมีลักษณะที่คล้ายกัน มีรูปแบบเรื่องเล่า หรือมีจุดเล็กๆ ของเรื่องเหมือนอย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้นก็เลยมีการศึกษา ‘อนุภาค’ หรือ motif คือศึกษาและสูตรบางอย่างที่นิทานของมนุษย์มีร่วมกัน
คำว่านิทานที่มีลักษณะพ้องกันคือไม่จำเป็นต้องเล่าเหมือนกัน หรือเล่าตามๆ กัน นักคิดมักมองว่านิทานเป็นเหมือนความฝันหนึ่งที่สะท้อนความรู้สึกนิดคิด หรือการเผชิญโลกที่มนุษย์มอง เล่าและวาดจินตนาการออกมาพ้องกัน ดังนั้นนักคติชนก็เลยคิดว่าเออ เราสามารถศึกษาวิเคราะห์แบบ และลักษณะร่วมของนิทานได้
Stith Thompson เป็นนักคติชนอเมริกันที่สร้างแนวคิดเรื่องอนุภาคพร้อมสร้างตารางอนุภาค (motif index) ขึ้นในราวๆ ทศวรรษ 1930 เพื่อทั้งระบุ และทำเป็นสูตรเพื่อศึกษาสูตรของนิทานที่มีทั่วโลกพร้อมตีความทำความเข้าใจมนุษย์และเรื่องเล่าของพวกเราให้มากขึ้น
ความพ้องของนิทานก็อย่างเช่น มีการสาป การแก้คำสาป ความเข้าใจผิด มียักษ์ มีการให้ของขวัญ การลงโทษ ซึ่งตารางของทอมป์สันค่อนข้างหฤหรรษ์คือละเอียดมาก พอเห็นโครงสร้างเราก็พอเข้าใจวิธีคิดที่ซ่อนอยู่ในนิทาน เห็นการเล่าที่เปลี่ยนไป เห็นบริบทต่างๆ และเป็นแนวทางการศึกษานิทานที่ทั่วโลกใช้
มาที่ของไทย ในสายคติชนมีตำราเล่มหนึ่งคือ ‘อนุภาคสมพาสที่ผิดธรรมชาติในนิทานไทย’ เป็นงานวิจัยสำคัญที่เอามาทั้งรวบรวมนิทานไทยโดยมีเรื่องการสังวาสเป็นที่ตั้ง และวิเคราะห์ให้เห็นมิติที่ซ่อนอยู่ในเรื่องเล่าเหนือธรรมชาตินั้น การโจ๊ะโบ๊ะแบบแปลกในนิทานไทยถือว่าโลดโผนและแปลกประหลาด
มีความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่ครอสสายพันธุ์ทั้งในระดับธรรมดาเช่นกับสรรพสัตว์ ทั้งสัตว์จำแลงกายเป็นคน คนถูกสาปเป็นสัตว์ ไปจนถึงการร่วมรักอยู่กินกับสิ่งเหนือธรรมชาติ นางในดอกบัวที่แบบเอ๊ะ sextoy รึเปล่านะ ไปจนถึงการตั้งครรภ์ที่เป็นสมพาสกันผ่านการกิน เช่นกินน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตำนานที่ว่าด้วยความศักดิ์สิทธิ์ หนึ่งในนั้นคือการเป็น ‘ลูกช้าง’
ได้กันในฝัน แต่ฉันยังงงๆ – สมุทรโฆษคำฉันท์
สมุทรโฆษคำฉันท์เป็นอีกหนึ่งวรรณคดีระดับมหากาพย์ คือแต่งกันอย่างยาวนานข้ามกรุงตั้งแต่สมัยอยุธยา มาแต่งเติมจนจบในช่วงกลางกรุงรัตนโกสินทร์ ตัวเรื่องแต่เดิมแต่งขึ้นเพื่อพากษ์หนังใหญ่ นำเรื่องมาจากชาดก แต่ตลอดเรื่องแต่งเน้นความบันเทิง มีการผจญภัย อภินิหาร
เนื้อเรื่องคล้ายเรื่องแนวโรแมนติก ว่าด้วยพระสมุทรโฆษที่ไปคล้องช้าง ไปๆ มาๆ หลับ แล้วมีพระโพธิ์เห็นว่าเอ้อ ทรงดี ก็เลยอุ้มพระสมุทรโฆษไปทิ้งไว้ในห้องนางพิมทุมวดี พอตั้มกันเสร็จก็อุ้มพระเอกกลับมาคืนที่ ทั้งเรื่องก็คือการหาทางกลับมาครองรักกัน
ทีนี้ เอาแค่ว่าอนุภาคการ ‘อุ้มสม’ ที่ปรากฏอยู่บ้างในวรรณคดี ก็ถือว่าเก๋พออยู่แล้ว อะไรคือการอยู่ๆ อุ้มหนุ่มไปทิ้งไว้แล้วตัวเทพยดาก็รอจนเสร็จแล้วอุ้มกลับไป จริงๆ ว่าด้วยเรื่องกรรม การพลักพรากตามหา
ทีนี้ในเรื่องเล่าผ่านฝ่ายหญิง คือนางเอกก็ร่วมรักตามเรื่อง แต่ตัวเองก็ใหม่กับเรื่องเพศตามประสานางเอก พอตื่นเช้ามาก็มีงง ว่าเอ้อ เมื่อคืนเรื่องจริงหรือว่าฝันไป เรียกพี่เลี้ยงคนเก่งเข้ามาเคลียใจ เช็กไปเช็กมาก็เจอหลักฐานว่าโดนจริงคือเจอ ‘รอยฟัน’ ของพระสมุทรโฆษ (รอยทันตอันตรู…คือกุทัณฑสายสลาย)
ในเรื่องคือไม่ได้ว่าโดนข่มขืน แต่นางเอกรู้สึกไฟรักสุมทรวง อยากจะตามหาว่าใครนะคือชายในฝัน ความเก๋ต่อมาคือพี่เลี้ยง ก็เลยจัดการทำตัวเป็นเฟซบุ๊ก มูลนิธิกระจกเงา วาดรูปชายหนุ่มทั่วจักรวาลทั้งเทวดามนุษย์ให้นางเอกดูว่าเป็นคนไหน
ร่วมรักแบบสามคน ลงน้ำขึ้นบก – พระลอ
ลิลิตพระลอถือเป็นวรรณคดีโบราณ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเรื่องเล่าเก่าแก่ที่เล่ากันทางภาคเหนือ แน่นอนว่าพระลอเป็นโศกนาฏกรรม ว่าด้วยความรักและความหลงที่ทำยังผลเป็นความตายของคนหนุ่มสาว
ทั้งเรื่องของพระลอก็คือการตามหานาง เมื่อสองพี่น้องพระเพื่อนพระแพง ถูกใจความงาม (ความหล่อ) ของพระลอ จนให้พี่เลี้ยงไปขอให้ปู่เจ้าสมิงพรายช่วยทำเสน่ห์ ใส่พระลอ เรื่องนี้วรรณคดีนิทานแบบคลาสสิกแบบเชคสเปียร์ คือตามหารักที่ต้องห้าม (และพระลอมีเมียแล้ว) และตายสังเวยรักไป
ทีนี้ฉากสำคัญของพระลอคือการดั้นด้นไปที่เมืองสรอง (เพราะโดนยาเสน่ห์) ด้วยความเสน่หามันบังตา จนมาถึงก็ส่งลูกน้องไปนัดแนะ ไปๆ มาๆ ก็ไปนัดเจ้าหญิงทั้งสองมาเจอในสวนได้ ฉากพระลอจริงๆ คือแฟนตาซีมาก เจอหน้าปุ้บในสวนก็ซัดเลย
จัด ‘นมแนบนมนิ่มน้อง ท้องแนบท้องโอ่ท้อง’ ที่เก๋คือพระลอร่วมรักพร้อมกับพระเพื่อนพระแพงซึ่งเป็นแฝดพร้อมกัน แถมจังหวะการร่วมรักคือยาวนานความว่า ‘สรงสนุกน้ำแล้วกลับ…สนุกบก เล่านา’ คือร่วมสนุกกันทั้งบนบกในน้ำ และพีคกว่านั้นคือร่วมสนุกกันเสร็จก็พากันขึ้นที่พัก แล้วค่อยถามชื่อว่าเอ้อ ใครนะมาร่วมสนุกกัน
ผู้หญิงกับงูที่ว่าด้วยแนวคิดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด
ในนิทาน ไม่แน่ใจนัยว่าแปลกขนาดไหน แต่ในระดับปฏิบัติคือจะมีการร่วมรักข้ามสายพันธุ์หลายแบบ แบบนึงที่เบสิคคือสัตว์วิเศษพวกนี้แปลงร่างเป็นคนแล้วมาล่องลวงร่วมรักกันคน นากยักษ์ในพระอภัย หรือไกรทองก็เป็นทำนองเดียวกัน แต่ด้วยความเป็นนิทานก็จะมีสัตว์ที่กระทำอย่างคนได้ แล้วนิทานเนอะก็มักจะมีการตั้งเงื่อนไขบางอย่าง แล้วยกรางวัลให้ซึ่งก็มักจะเป็นการแต่งงาน
ในนิทานโบราณของไทยก็มีเรื่องทำนองเดียวกัน คือมีพระเอกเป็นงู แบบงูจริงๆ เช่นเรื่องท้าวงู หรืองูกายสิทธิ์ ท้องเรื่องจะเป็นทำนองว่าแม่ หรือครอบครัวนางเอกไปทำอะไรซักอย่างในป่า แล้วก็บนบานขอความช่วยเหลือโดยตั้งสัจจะว่าจะยกลูกสาวให้ ผลคืองูมาช่วยไว้ พอกลับมาบ้านได้ครอบครัวก็ยอมรักษาคำสัตย์ นางก็แต่งกับงู แต่กลายเป็นว่างูก็ลอกคราบแล้วกลายเป็นชายรูปงามพร้อมเนรมิตรความร่ำรวยให้ ความตลกคือนางร้ายลูกป้าข้างบ้านเห็นก็อยากได้บ้าง ไปหางูมา กลายเป็นงูจริง หรือมีตายายช้อนได้ลูกงูมาเลี้ยง แล้วงูก็ไปผ่านบททดสอบเจ้าเมือง เลยต้องยกลูกสาวให้ งูลอกคราบ
แบบเรื่องทำนองนี้ส่วนใหญ่สัมพันธ์กับนิทานชาดก ส่วนหนึ่งเรื่องเรื่อง ‘สัตว์โลก’ คือเราเองก็เป็นสัตว์ที่เวียนว่ายกันในรูปต่างๆ พระโพธิ์สัตว์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังสารวัฏนี้ พวกนิทานที่ส่วนใหญ่จะมีสัตว์อยู่แล้วส่วนหนึ่งก็เลยพูดเรื่องพระโพธิ์สัตว์มาอยู่ในร่างสัตว์ มีการทดสอบและได้รางวัล ไปจนถึงค่อนข้างเชื่อเรื่องการผ่านขั้นตอนต่างๆ เช่นฟังก์ชั่นการอยู่ในร่างสัตว์ช่วยปกป้องพระเอกในตอนที่ยังไม่แข็งแรงเป็นต้น
คนกับนางในดอกบัว
ฟังเผินๆ จริงๆ เป็นเรื่องที่เกิดบ่อย คือในนิทานไทยจะมีเรื่องคล้ายๆ พาวเวอร์พัฟเกิร์ล คือมีนางเกิดขึ้นในดอกบัว จะเกิดด้วยตัวเอง มีเทวดามาเกี่ยวหรืออิทธิปาฏิหาริย์ใดๆ แต่ตามท้องเรื่องมักจะเกิดในป่าลึก และมีฤาษีที่อยู่ในป่ามาเจอ แล้วก็ทำการเลี้ยงดูนาง ส่วนหนึ่งคือฤาษีอยู่ในป่า และฤาษีไม่ยุ่งกับเรื่องทางโลก แต่ก็มีบางเรื่อง เช่น ฤาษีตาไฟที่นำเอานางในดอกบัวมาเป็นเมีย ส่วนใหญ่นางในดอกบัวจะกลายเป็นมเหสีภรรยาต่อไป
แน่นอนว่าเบื้องนางในดอกบัวเชื่อมโยงกับความหมายของดอกบัวในวัฒนธรรมแอบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดอกบัวมีความหมายสามอย่างคือความบริสุทธิ์ ความงาม และความดี นางในดอกบัวจึงเป็นเหมือนภรรยาในอุดมคติคือมีความไร้มลทิน แต่ในทางกลับกันพอวิเคราะห์แล้วเราก็จะพบว่านื่คือการความสัมพันธ์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ โฟกัสที่ความสัมพันธ์ที่สะอาด ไร้การปนเปื้อน
หญิงสาวกับเต่า – ท้าวเต่าคำ
ฟังดูตลก แต่เรื่องการรักกับเต่าเอย ชะนีเอย แลนเอง ของนิทานไทยเป็นเรื่องทำนองเดียวกันกับเจ้าชายกบในนิทานตะวันตก คือว่าด้วยการทดสอบ ทั้งทดสอบหญิงสาวและทดสอบพระเอก ในนิทานไทยมักเล่าผ่านตัวพระเอกที่เกิดมาเป็นสัตว์ (จริงๆ เรียกว่าร่างสัตว์จะดีกว่า)
พอเกิดมาปุ้บ ก็จะไปร่วมทดสอบที่เข้าเมือง กษัตริย์เปิดทดสอบเพื่อหาคู่ครอง ในเรื่องท้าวเต่าคำ นิทานทางเหนือเล่าเรื่องพระเอกที่เกิดมาในร่างเต่า พอเข้าแต่งงานปุ้บ ตกกลางคืนก็แปลงกายกลับเป็นมนุษย์ ในเรื่องท้าวเต่าคำนางเอกเอากระดองเต่าไปเผา ก็เลยได้ร่างมนุษย์คืน
นอกจากท้าวเต่าแล้วมีสุวัณณจักก่าคำ พระเอกเป็นกิ้งก่าทองคำ ไปผ่านบททดสอบสุดหิน เช่น สร้างสะพานเงินสะพานทองในคืนเดียว เสร็จปุ๊บก็ทำได้ แต่คราวนี้นางเอกไม่ยอมรับ จนพระเอกถอดรูปแล้วเหาะหนีไปสวรรค์ นางเอกถึงยอมและต้องแต่งดอกไม้ไปขอขมา ทำนองว่าเป็นทดสอบย้อนไปย้อนมา ซึ่งการทดสอบ การกลายร่างถือเป็นสิ่งที่เราเจอบ่อยทั้งในนิทาน ในปกรณัมโบราณ
ชายหนุ่มกับปลาตะเพียน
จริงๆ เรื่องชายหนุ่มกับปลาตะเพียนรายละเอียดมีไม่มาก แต่ความน่าสนใจคือในนิทานส่วนใหญ่ การสมพาส หรือมีสัมพันธ์ข้ามธรรมชาติมักเป็นเรื่องความซวยที่ฝ่ายหญิงต้องงเผชิญ
แต่ในงานศึกษาระบุถึงเรื่องป๋าตะเพียนทอง ว่าเป็นเพียงเรื่องเดียว และเป็นความสัมพันธ์เดียวที่ฝ่ายหญิงมีร่างสัตว์ ในกรณีนี้คือฝ่ายนางเอกเป็นปลาตะเพียน และมีความสัมพันธ์กับพระเอก เนื้อเรื่องเป็นไปในทำนองเดียวกันคือมีการข้ามร่างไปมา
การตั้งครรภ์จากการดื่มน้ำในรอยเท้าช้าง
การสมพาสอันนี้แง่หนึ่งก็ไม่แปลกประหลาดขนาดนั้น แต่มันคือการให้กำเนิด หรือการปฏิสนธิโดยวิธีแปลกๆ การเกิดทำนองนี้ของคริสต์ก็มีให้กำเนิดพระเยซูโดยการปฏิสนธินิรมล ของบ้านเราก็มีการตั้งท้อง แต่มีองค์ประกอบของการทั้งท้องที่น่าสนใจสามอย่างคือ การกิน- กินน้ำ รอยเท้า และช้าง
ซึ่งมีลักษณะตำนานและนิทานที่พูดถึงสัตว์ที่ไปดื่มน้ำในรอยเท้าแล้วตั้งท้องขึ้นหลายเรื่อง และหลายรูปแบบ ตำนานทำนองนี้พบในตำนานทางเหนือ เช่นตำนานจามเทวีเล่าถึงฤาษีไปเจอเด็กในรอยเท้าช้าง หรือตำนานพระธาตุดอยตุงพูดถึงนางกวางที่กินน้ำที่มีปัสสาวะฤาษีจนตั้งท้องและคลอดลูกออกมาเป็นมนุษย์ผู้หญิง
ในนิทานนางผมหอมเล่าถึงนาง จะเป็นคนธรรมดา หรือนางกษัตริย์ได้ดื่มน้ำ (บางเรื่องบอกว่าเป็นปัสสาวะ) ในรอยเท้าช้าง ตั้งท้อง และคลอดลูกออกมาเป็นนางที่มีผมหอม หรือในนิทานไอ้ลูกช้างว่าด้วยหญิงทึนทึกที่ตามช้างที่มาเหยียบไร่และได้ดื่มน้ำในรอยเท้าช้าง คลอดลูกมาเป็นผู้ชายเลยได้ชื่อว่าไอ้ลูกช้าง มีชีวิตโลดโผนจนช่วยเจ้าที่ซ่อนอยู่ในกลอง ได้ของวิเศษและช่วยเจ้าเมืองจนได้ครองเมือง
ตำนานการตั้งท้องจากรอยเท้าช้างสัมพันธ์กับความเชื่องดั้งเดิมหลายอย่าง ทั้งการกินที่เรามีความเชื่อว่ามนุษย์คือ เทวดาที่ลงมากินง้วนดิน น้ำปัสสาวะเชื่อว่าสัมพันธ์กับสายฝนที่เชื่อมโยงกับความอุดมสมบูรณ์ และแน่นอนว่าปัสสาวะสัมพันธ์กับน้ำอสุจิ รอยเท้าก็เป็นสิ่งเชื่อมโยงกับความเชื่อ สัมพันธ์กับสิ่งที่บรรพบุรุษทิ้งไว้และยังมีเชื่อมโยงความศักดิ์สิทธิ์เช่นรอยพระพุทธบาท ส่วนช้างก็เป็นสัตว์สำคัญ ความน่าสนใจคือคำว่าลูกช้างอาจจะสัมพันธ์กับนิทานดั้งเดิมที่เล่ากันนี้