ความกลัวเกิดจากความไม่รู้ ถ้าเรารู้จัก เราเข้าใจแล้วจะไม่กลัวอีกต่อไป…ใช่ที่ไหนละเฟ่ย! ถ้าเป็นเรื่องผี สุดท้ายก็กลัวอยู่ดี
ผี ไม่รู้มีจริงไหม แต่ส่วนหนึ่งผีเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับมิติทางสังคม ผีมักเป็นเรื่องเล่าบางอย่างที่เราเล่าขานถึง ผีบางครั้งเป็นจินตนาการร่วม เรามักมีภาพของผีไปในทำนองเดียวกัน มีเรื่องเล่าในรูปแบบคล้ายๆ กัน ผีมักจะผมยาวบ้าง ใส่ชุดไทยบ้าง การปรากฏตัวก็ดูจะมีรูปแบบที่เฉพาะเจาะจง ช่องแอร์บ้าง ตามโรงแรม ตามค่ายลูกเสือบ้าง หลายครั้งภาพของผีจึงปนเปกันในระหว่างผีในเรื่องเล่า ในหนัง ในละคร
นอกจากมิติทางจินตนาการ ผีเป็นเรื่องเล่าของผู้คนในสังคม เรื่องผีจึงมักจะมีตรรกะ มีแกนของเรื่องราวที่สัมพันธ์กับความคิด ความเชื่อในสังคม เช่น เรื่องกฏแห่งกรรม บางครั้งเรื่องผีถูกเล่าโดยสัมพันธ์กับประเด็นปัญหาในสังคม เช่น ความรุนแรงในครอบครัว เรามักมีผีผู้หญิงที่ทรงอำนาจและกลับมาทวงความถูกต้องไปจนถึงตำนานรักระหว่างคนกับผี ความเชื่อเรื่องผีบางเรื่องก็นำความประหลาดให้กับคนอื่นๆ เช่น ประเด็นเรื่องลูกกรอกกุมารทอง การเลี้ยงผีไว้เพื่อใช้งานโดยมีข้อแลกเปลี่ยนแถมยังใช้ไปตามวิถีของโลกสมัยใหม่แบบทุนนิยมไปอีก อเมซิ่งไทยแลนด์มากๆ
The MATTER ชวนเข้าใจ(เผื่อจะกลัวน้อยลง)เรื่องผีแบบไทยๆ ผ่านงานศึกษาวิจัย 7 ชิ้น ครอบคลุมจากทั้งเรื่องหนังผี วรรณกรรม ภาษาศาสตร์ และมุมมองทางมานุษยวิทยา
ภาพยนตร์ผีไทย : ภาพมายาแทนความฝันของผู้ชม
‘ภาพยนตร์ผีไทย : ภาพมายาแทนความฝันของผู้ชม’ เป็นบทความวิชาการสั้นๆ ที่พาเราไปสำรวจหนังผีไทยทั้งในเชิงภาพรวม ประเภท และพัฒนาการของหนังผีไปจนถึงการวิเคราะห์เนื้อหาโดยสังเขปของหนังผีไทย บทความเชิงวิชาการนี้เป็นงานเขียนของอาจารย์จากวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว ถือเป็นงานวิชาการที่ทำให้เราเข้าใจหนังผีที่สัมพันธ์กับจินตนาการและบริบทสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เป็นงานที่อ่านสนุก ได้เห็นภาพรวม ไม่วิชาการหรือเฉพาะทางมากไปนัก
อ่านงานศึกษาได้ที่ : www.tci-thaijo.org
การวิเคราะห์ตระกูลหนังผีไทย
ขยับมาที่งานศึกษาชิ้นใหญ่เป็นวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตจากจุฬาฯ ‘การวิเคราะห์ตระกูลหนังผีไทย’ เป็นงานศึกษาหนังผีไทยโดยละเอียดเพื่อดูว่า เอ๊ะ ตระกูล (genre) ของหนังผีไทยถูกสร้างขึ้นมายังไงนะ หนังผีไทยมีวิธีคิด วิธีการเล่าเรื่อง มีพัฒนาการ ไปจนถึงมีการคิดอะไรใหม่ๆ ยังไง หนังผีไทยที่ถูกนำมาวิเคราะห์เป็นหนังร่วมสมัยที่เรารู้จักกันดี เช่น ตำนานกระสือ เป็นชู้กับผี บุปผาราตรี ศึกษาทั้งจากการศึกษาวิเคราะห์ตัวหนังไปจนถึงการสัมภาษณ์ผู้ชมและสัมภาษณ์ฝ่ายผลิต
อ่านงานศึกษาได้ที่ : digi.library.tu.ac.th
รักโรแมนติกในภาพยนตร์ผีไทย
ตำนานรักระหว่างคนกับผีเป็นแนวเรื่องแสนคุ้นเคยตั้งแต่นางนาค หลังจากนั้นเราก็มีหนังความรักข้ามภาพของคนกับผีตามมาอีกมากมาย วิทยานิพนธ์เรื่อง ‘รักโรแมนติกในภาพยนตร์ผีไทย’ เป็นงานที่หยิบหนังความรักของคนและผีมาเพื่อศึกษาความคิดหรือประเด็นทางสังคมที่ซุกซ่อนอยู่ในความรักต้องห้ามและความสัมพันธ์อันแปลกประหลาด งานศึกษานี้ลงไปศึกษาประเด็นเรื่องความรัก—ความรักเป็นเรื่องของความคุ้มค่าและสัมพันธ์กับการต่อต้านกับโครงสร้างทางสังคม
อ่านงานศึกษาได้ที่ : ethesisarchive.library.tu.ac.th
การปรับแปลงความหมายผีในละครโทรทัศน์ไทย
ทายาทอสูร สุสานคนเป็น ศีรษะมาร แค่ได้ยินชื่อก็ได้ยินเพลงและความหลอนในวัยเยาว์ งานวิจัยเรื่อง ‘การปรับแปลงความหมายผีในละครโทรทัศน์ไทย’ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยในระดับปริญญาเอกของจิธิวดี วิไลลอย เป็นงานศึกษาที่ไปดูผีในละครผีอันยาวนานของบ้านเรา งานศึกษานี้เป็นการศึกษาว่าด้วยละครผีไทยที่ค่อนข้างละเอียดถี่ถ้วน ตั้งแต่การสร้างโครงเรื่อง ปมขัดแย้ง ไปจนถึงประเด็นทางสังคม ความคิดและความเชื่อที่ซุกซ่อนอยู่
อ่านงานศึกษาได้ที่ : www.tci-thaijo.org
การจัดจำพวกแบบชาวบ้านของคำเรียกผีในภาษาไทย
ย้ายมาที่การศึกษาทางภาษาศาสตร์ ในแขนงวิชาทางภาษาศาสตร์มองว่าคำต่างๆ ในภาษาเป็นสิ่งที่แสดงถึงความคิดและความเชื่อของคนในสังคม งานศึกษานี้จึงเลือกศึกษาคำเรียกผี ผลการวิเคราะห์พบว่าคนไทยคิดว่าผีมีวิถีการดำรงอยู่เหมือนกับคน ผีแต่ละประเภทถูกจำแนกโดยพฤติกรรมการทำความดี ความชั่ว เพศ อายุ ที่อยู่อาศัย และอาหารที่กิน โดยรวมพบว่าคนไทยมีทัศนคติกับผีในแง่ลบ เห็นว่าเป็นสิ่งน่ากลัว (แน่ละสิ!)
อ่านงานศึกษาได้ที่ : www.manusya.journals.chula.ac.th
ใต้เงาแห่งอดีต : การศึกษาเปรียบเทียบการสร้างภาพแทนแบบกอทิกในงานเขียนของ จินตวีร์ วิวัธน์ กับ พงศกร จิดดาวัฒนะ
ละครผีไปจนถึงนวนิยายสยองขวัญมีที่มาจากงานแนวกอทิก ประเภทคฤหาสน์หลอน ความลับของตระกูล วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทเล่มนี้พาเราไปศึกษางานเขียนของนักเขียนแนวผีๆ สองคน หนึ่งในนั้นคือเจ้าของผลงานชุดผีผ้า—สาปภูษา ไปศึกษาว่างานแนวกอทิกเป็นอย่างไร ผีของนักเขียนแต่ละคนต่างกันอย่างไร ของท่านหนึ่งผีอยู่แต่ในบ้าน ของบางท่านผีปรากฏได้ทุกหนแห่ง แล้วนวนิยายไทยพอเขียนงานของตัวเองขึ้นมามีการปรับประยุกต์หรือใช้องค์ประกอบเฉพาะของเราอย่างไร เช่น เครื่องรางของขลัง วิธีการต่อรองกับผี ไปจนถึงประเด็นทางสังคม เช่น ความขัดแย้งของโลกสมัยใหม่กับความเชื่อดั้งเดิม ประเด็นอำนาจกับผู้หญิง
อ่านงานศึกษาได้ที่ : cuir.car.chula.ac.th
Baby Ghosts: Child Spirits and Contemporary Conceptions of Childhood in Thailand
อเมซิ่งไทยแลนด์ นักวิชาการต่างเซอร์ไพรส์เมื่อพบว่า คนไทยมีการเอาผีมาเป็นพวก งานวิจัยเรื่อง Baby Ghosts เป็นงานศึกษาเชิงมานุษยวิทยาว่าด้วยประเด็นเรื่องผีเด็กในสังคมไทย หลักๆ แล้วนอกจากประเด็นเรื่องความซับซ้อนความเป็นเด็กและความตายแล้ว ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และผี…ที่เป็นเด็ก เป็นไปในลักษณะต่างตอบแทน มีการให้ของและบางครั้งการตอบแทนของผี—ที่น่าจะเป็นความเชื่อแบบโบราณกลับถูกนำมาใช้ในวิถีแบบโลกสมัยใหม่ เช่น ความก้าวหน้า โชคลาภ เงินทอง การค้าขาย เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ทางสังคมเก๋ๆ ของบ้านเรา
อ่านงานศึกษาได้ที่ : www.cambridge.org