‘ปีนี้ฉันจะผิดพลาดให้มากขึ้น
ปีนี้ฉันจะเดินให้บ่อยขึ้น
ปีนี้ฉันจะไม่ให้แนะนำแก่คนที่ไม่ต้องการ
ปีนี้ฉันจะเครียดให้น้อยลง ฝันกลางวันให้มากขึ้น’
ปีใหม่ก็ไม่เชิงว่าเราจะต้องมีชีวิตใหม่ กลายเป็นคนใหม่ นอกจากการนับรอบครบปีตามธรรมเนียมแล้ว การขึ้นปีใหม่ก็เป็นเหมือนการแจ้งเตือนเราๆ ในเชิงความรู้สึกว่า วงจรต่างๆ ดำเนินจากจุดสิ้นสุดมาสู่จุดเริ่มต้น ในด้านมนุษย์ตัวน้อยๆ อย่างเราก็อาจจะยึดเอาปีใหม่เป็นจุดเริ่มต้นของเวลา เรามองไปยังอีกหนึ่งปีที่กำลังจะมาถึงและหมายใจจะทำให้อนาคตในอีก 12 เดือนได้เรื่องได้ราวขื้นมาบ้าง
ดังนั้นเรา ธรรมเนียมทั่วไปคือการตั้งปณิธานปีใหม่ขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นวางระเบียบการใช้ชีวิตเพื่อแก้ไขหรือสัญญาว่าจะใช้ชีวิตให้ ‘ดีขึ้น’ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าเราจะมองในด้านไหน จะลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย เก็บเงินให้มากขึ้น ทำงานให้ดีขึ้น ใจดีกับตัวเอง เป็นมิตรกับคนรอบข้าง นอกจากเป้าหมายใหญ่ๆ ที่อาจจะต้องค่อยๆ ทำไปทีละขั้นแล้ว เราเองก็อาจจะมีแนวทางเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นเหมือนแนวคิดคำมั่นที่ยึดถือไว้แล้วทำให้ชีวิตเรียบง่ายหรือรู้สึกสบายขึ้นบ้าง
The MATTER ชวนไปดูข้อคิดหรือคำปณิธานปีใหม่จากนักคิดและนักเขียนที่มีชื่อเสียง ให้เหล่านักสังเกตและฝึกฝนการใช้ชีวิต ไปแอบอ่านและลอกข้อคิดปณิธานรับปีใหม่ที่กำลังก้าวเข้ามาในชีวิต เมื่อข้อที่น่ารักของเหล่านักคิดนักเขียนที่ตั้งปณิธานหรือขบคิดเกี่ยวกับชีวิตข้างหน้านั้น หลายครั้งมักเป็นข้อความคิดหรือแนวทางที่เรียบง่าย บางครั้งเป็นสิ่งที่เราอาจจะหลงลืมไปและปีใหม่นี้ก็น่าจะยึดถือเอาไว้อีกครั้ง
‘ปีนี้จะ…ชอบออกเดิน’
‘Do not on any account cease to take pleasure in walking:
I walk every day to preserve my well-being and walk away from every sickness’
– Søren Kierkegaard, Letter to Henrietta Lund written in 1847
เซอร์เอิน เคียร์เกอกอร์ (Søren Kierkegaard) เป็นนักปรัชญาและนักเทววิทยาที่เราได้ยินชื่อบ่อยๆ ในคาบเรียน อันที่จริงชีวิตและเรื่องราวส่วนตัว โดยเฉพาะช่วงวัยหนึ่งของนักคิดยุคศตวรรษที่ 19 ไม่ค่อยชัดเจนนัก อาศัยข้อมูลจากจดหมาย จากหลักฐานคำบอกเล่า สำหรับเซอร์เอินเองในช่วงวัยหนุ่มมีหลักฐานว่าสุขภาพไม่ค่อยดีนัก และข้อคิดข้างต้นเป็นมุมมองของเซอร์เอิน ที่เขียนจดหมายหา Henrietta Lund หญิงสาวผู้มีศักดิ์เป็นหลาน ผู้คอยใช้ชีวิตใกล้ชิดในบ้านหลังเดียวกันอยู่ระยะหนึ่ง และมีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นหลานรัก
ซึ่งหลานสาวนี้ก็มีบันทึกถึงเซอร์เอินว่าเป็นเด็กหนุ่มที่ผอม แต่ทว่าทุ่มเท มีความคิดโตเกินวัยและช่างเสียดสี ซึ่งทั้งคู่บ้านเดียวกันตอนเด็ก พอโตก็แยกย้ายแต่ก็ส่งจดหมายหากันและพบปะเยี่ยมเยียนกันบ้าง ในจดหมายฉบับหนึ่งเป็นช่วงที่เซอร์เอินเองเขียนหนังสือเสร็จแล้วมีการส่งหนังสือไปให้น้องและหลานสาว ในนั้นก็มีการส่งจดหมายไปประกอบ เนื้อหาส่วนหนึ่งคล้ายๆ ว่า ส่งหนังสือมาแล้ว แต่อ่านหนังสือแล้วก็อย่าลืมการออกเดินด้วย ซึ่งจดหมายชุดนี้ค่อนข้างขี้เล่น แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง โดยตัวเซอร์เอินเองก็มีมุมมองต่อการเดิน ชอบออกไปเดิน และก็เหมือนเอาชนะข้อบกพร่องด้านสุขภาพแถมครุ่นคิดความคิดต่างๆ ได้ด้วยการเดิน
‘ปีนี้จะ…รัก โดยไม่เกรงกลัวต่อการสูญเสีย’
‘Love as craving is determined by its goal,
and this goal is freedom from fear’
– Hannah Arendt, Love and Saint Augustine
ฮันนาห์ อาเดรน (Hannah Arendt) นักปรัชญาที่เรารัก เธอเป็นทั้งชาวยิวผู้ลี้ภัยจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และผลิตงานเชิงปรัชญาเพื่อทำความเข้าใจตั้งแต่ระดับปรากฏการณ์ เช่น ฟาสซิสต์หรือทำความเข้าใจจิตใจและการทำงานของนาซีเอง รวมถึงการทบทวนเรื่องความรักในมิติต่างๆ ซึ่ง Love and Saint Augustine หนึ่งในงานเขียนที่สวยงามที่จากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเธอ ที่เอามาปรับปรุงและพิมพ์เป็นหนังสือยาวเล่มแรก และเป็นเล่มเดียวที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ในงานเขียนชิ้นนี้อาเดรนทบทวนแนวคิดเรื่องความรัก การรักจากมโนทัศน์โบราณ และบางส่วนสัมพันธ์กับมิติทางศาสนา
ในข้อคิดหนึ่งที่อาเดรนใคร่ครวญถึงคือความรักบางครั้งสัมพันธ์กับความปรารถนา และสิ่งที่เราปรารถนามักเป็นสิ่งที่มักสูญหายหรือสูญเสียได้ โดยเฉพาะการถูกพรากไปด้วยความตาย แต่ทว่าเธอเองก็ชี้ให้เห็นว่าเส้นทางความรักเมื่อดำเนินไปจนถึงที่สุดแล้ว ความรักนั้นจะฝ่าฟันไปจนถึงจุดที่เราไร้ซึ่งความกลัว ความรักอย่างที่สุด ทำให้เราไม่กลัวที่จะสูญเสียความรักนั้นไป ข้อใคร่ครวญนี้มีความเป็นปรัชญาอย่างสูง แต่เราเองก็พอจะเข้าใจได้ ความรักเมื่อเริ่มคือการปรารถนาสิ่งที่อาจสูญเสียไปได้ แต่สุดท้ายแล้วการมีอยู่หรือไม่ของสิ่งที่เรารักนั้น ก็ไม่ได้สลักสำคัญกับความรักที่มีให้ พูดอย่างเรียบง่าย อย่ากลัวที่จะรักเพราะเกรงว่าจะสูญเสีย
‘ปีนี้จะ… ใจดี และขอให้มีความกล้าหาญ
‘Kindness, kindness, kindness.
I want to make a New Year’s prayer, not a resolution.
I’m praying for courage.’
– Susan Sontag, noted in Diary in 1972
ข้อความสั้นๆ ข้างต้นเป็นข้อเตือนใจ ปณิธานปีใหม่ของซูซาน ซอนแท็ก (Susan Sontag) เป็นนักเขียน มีชื่อเสียงทั้งจากเรื่องสั้น นวนิยายแนวทดลอง เป็นนักทฤษฎีด้านวัฒนธรรมศึกษาโดยเฉพาะการศึกษาเรื่องภาพถ่ายและการถ่ายภาพในวัฒนธรรมร่วมสมัย นอกจากนี้ยังเป็นที่ผู้เคลื่อนไหวและผลิตงานด้านความหลากหลายทางเพศ ต่อต้านอคติเรื่องโรคเอดส์ ข้อความข้างต้นเป็นสิ่งที่ซอนแทกเขียนบอกตัวเองในไดอารี่ เป็นปณิธานปีใหม่ที่เธอเขียนตอนที่เธออายุ 39 ปี
ในขวบปีสุดท้ายของวัย 30s ซูซานบอกตัวเองและพวกเราว่า สิ่งที่เธอพึงมีและขุดพรวนไว้คือความกรุณา การรักษาความใจดีนี้ก็ดูจะมีนัยที่ลึกซึ้งและหลากหลาย การมอบความเอื้ออารีให้กับผู้อื่น หรือกระทั่งกับตนเอง ความอารีที่ว่าก็อาจจะเป็นสิ่งที่เราทบทวนกันต่อไป คำนึงถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเอง หรืออาจจะรวมไปถึงการแสดงออกถึงเพื่อนมนุษย์
นอกจากนี้ข้อความต่อเนื่องของซอนแท็กดูจะมีนัยสำคัญในฐานะนักคิดและนักเคลื่อนไหว ในสังคมร่วมสมัยแม้แต่ในทุกวันนี้ เราเองก็ยังเต็มไปด้วยอคติหรือการแบ่งแยกบางอย่าง การคิดทบทวนต่อสิ่งต่างๆ รวมถึงการลุกขึ้นพูดหรือทำเพื่อความถูกต้องเราอาจจะต้องใช้ความกล้าหาญ ซึ่งความกล้าหาญเพื่อความถูกต้องหลายครั้ง เป็นสิ่งที่ได้มาไม่ง่ายนัก
‘ปีนี้จะ…เริ่มต้นใหม่ ให้สิ่งที่ผ่านไปเป็นแค่ความหลัง’
‘For last year’s words belong to last year’s language.
And next year’s words await another voice.
And to make an end is to make a beginning.’
– T.S. Eliot, Little Gidding
ที.เอส อีเลียต (T.S. Eliot) เป็นกวีร่วมสมัยชาวอังกฤษ เป็นนักวิจารณ์ ได้รางวัลโนเบลในปี 1948 งานของที.เอส. อิเลียต นับเป็นหนึ่งในกวีที่วางรากฐานให้กับกวีนิพนธ์สมัยใหม่ ข้อเขียนข้างต้นมาจากกวีนิพนธ์สำคัญของอีเลียตที่ชื่อว่า Four Quartets นักวิจารณ์ส่วนใหญ่มองว่า เป็นชุดงานชั้นครูคือเป็นงานหมุดหมายของอีเลียต กวีนิพนธ์ชุดนี้เป็นงานที่อีเลียตใช้ลักษณะของกวีนิพนธ์สมัยใหม่ แต่รากฐานของเนื้อหาสัมพันธ์กับการกลับไปสู่ปรัชญาแนวคิดดั้งเดิมเช่นเทววิทยา แนวคิดแบบฮินดู และการใคร่ครวญถึงธรรมชาติและความเป็นไปของชีวิต สี่ชุดของกวีนิพนธ์นี้สัมพันธ์กับธาตุทั้งสี่คืออากาศ ดิน น้ำ และไฟ
สำหรับ Little Gidding เป็นกวีนิพนธ์ชุดสุดท้ายของสี่ชุดที่พูดถึงไฟและวงรอบของสรรพสิ่งที่ดำเนินมาสู่จุดสิ้นสุดและย้อนกลับไปสู่การเริ่มใหม่ ในส่วนที่เลือกมานั้นอาจจะฟังดูเป็นข้อคิดของชีวิตโดยทั่วไป แต่กวีนิพนธ์ชุดสุดท้ายอีเลียตค่อนข้างให้ภาพของจุดจบของสรรพสิ่งที่คล้ายกับกาลอวสานทั้งของคริสตศาสนา และแนวคิดแบบตะวันออกที่มีไฟเป็นการชำระล้างและการกำเนิดขึ้นใหม่ การใคร่ครวญนี้ทำให้เราเห็นว่าสรรพสิ่งล้วนดำเนินไปจากจุดเริ่มไปสู่จุดจบ และในจุดจบก็มีจุดเริ่มต้นใหม่เสมอ ถ้อยคำและเรื่องราวล้วนมีรอบปีของมัน สิ่งใดที่สิ้นสุดยุติไปแล้ว ก็ให้สิ่งนั้นจบสิ้นกันไป ได้เวลาของการการแสวงหาเสียง ถ้อยคำและเรื่องราวใหม่ๆ รอให้เราค้นพบต่อไป
‘ปีนี้จะ… รักศัตรูที่ชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดของเราเอง’
‘Be at war with your vices, at peace with your neighbors, and let every New Year find you a better man.
Love your enemies, for they tell you your faults’
– Benjamin Franklin, Franklin Maxims
ปณิธานข้อนี้เป็นทำนองคำสอนเล็กน้อย เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) รัฐบุรุษผู้ร่วมสร้างชาติอเมริกัน นอกจากการค้นพบและมิติทางการเมืองแล้ว แฟรงคลินยังเป็นนักเขียน เป็นกวีที่ภายหลังของเบนจามินนถูกนับอยู่ในกลุ่มวรรณคดีอเมริกันยุคแรก หนึ่งในงานชุดสำคัญคืองานที่เบนจามินเขียนบันทึกหรือข้อเขียนสาร Poor Richard’s Almanack เป็นเหมือนบันทึกเรื่องต่างๆ ในแต่ละหัวข้อที่เกี่ยวข้องในปีนั้นๆ
โดยเบนจามินเองได้เขียนในนามตัวละครสมมติที่ชื่อ Poor Richard หรือริชาร์ดคนยาก ความเก๋ของข้อความนี้คือเบนจามินพิมพ์ไว้ในอัลมาแน็กของปี 1755 แต่ไม่ได้ตั้งใจเขียนเพื่อสอน แต่สอดแทรกไว้ในเหมือนปูมโหร คือเป็นบันทึกดวงดาว ที่พออ่านข้อความทางขวาสุด คือคำสุดท้ายจากบนลงล่าง จะได้คำว่า Be at war with your vices , at peace with your neighbors, and let every New Year find you a better man. หลังจากนั้นมีข้อความที่ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ในวาระต่างๆ ปรากฏข้อความในทำนองเดียวกัน บ้างเอาไปตีพิมพ์รวมแล้วเรียกรวมว่าเป็นเหมือนแกนความคิดของแฟรงคลิน เป็นแนวทางการใช้ชีวิตอะไรทำนองนั้น
เนื้อหาบางส่วนของเบนจามินมีลักษณะเป็นวรรณกรรมคำสอน สอนรากฐานของชีวิตสมัยใหม่ ชุดคุณธรรมเช่นการขยันอดออม การใช้ชีวิตที่ดีที่สัมพันธ์กับวิถีและความคิดแบบอเมริกันในฐานะชนชาติและความฝันใหม่ ในข้อความก็มีความน่าสนใจ คือในปีใหม่เราอาจจะควรขุดคุ้ยข้อเสียและทำสงครามกับความชั่วร้ายในตัว เป็นมิตรกับเพื่อนบ้าน(สะท้อนความคิดแบบคริสต์) ปีใหม่เป็นคนใหม่ แต่สิ่งที่น่าคิดคือ มีศัตรูก็ให้รักศัตรู แต่ไม่รักเปล่า เพราะศัตรูของเรา ทำให้มองเห็นข้อเสียและข้อผิดพลาดของตัวเอง
‘ปีนี้จะ… ไม่เที่ยวแนะนำสั่งสอนใคร นอกจากคนที่อยากได้’
‘Not to be too free of advise, nor trouble any but those that desire it.’
– Jonathan Swift, When I come to be old.1699.
โจนาธาร สวิฟ (Jonathan Swift) เป็นนักเขียนชาวไอริสคนสำคัญ งานของโจนาธารที่เรารู้จักกันดีคือการเดินทางของกัลลิเวอร์ที่มีเมืองคนยักษ์ เมืองคนแคระ นอกจากภาพจินตนาการแล้ว งานของโจนาธารเป็นงานที่มีความเป็นการเมือง เสียดสีการเมืองและสังคมผ่านเรื่องแต่งในลักษณะของการใช้สัญลักษณ์
นอกจากกัลลิเวอร์แล้วยังมีข้อเขียนเสียดสีที่ดังมากอีกชิ้นชื่อ A Modest Proposal เป็นความเรียงที่บอกว่าเนี่ยจะเสนอทางออกอย่างนุ่มนวลในการแก้ปัญหาเด็กยากจน และแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยการให้เอาเด็กไปขายให้คนรวยๆ กินเป็นอาหาร ข้อเขียนนี้ล้อเลียนสังคมที่ไร้เมตตาทั้งจากมุมของแคทอริกที่มีต่อคนยากไร้ และของอังกฤษที่มีต่อคนไอริส
ในปี 1699 โจนาธารเขียนข้อเขียนชื่อ A Tale of a Tub และในนั้นมีปณิธานปีใหม่ 17 ข้อในหัวข้อ When I come to be old.1699. ซึ่งตอนนั้นอายุ 32 ข้อคิดนั้นก็ฟังดูเล่นๆ แต่ก็มีนัยที่จริงจังและเสียดแทงอยู่บ้าง บางข้อก็แปลกหน่อยเช่นไม่คบเด็กสาวที่อายุน้อยกว่า ไม่หลงใหลสาวรุ่นๆ หรือข้อที่เกี่ยวกับเด็กๆ ก็น่าสนใจคือโจนาธารบอกว่า อย่าไปชอบอะไรเด็กๆ และอย่าให้เด็กๆ มาเข้าใกล้มาก
ในบางข้อรวมถึงข้อความด้านบนคือดีมากในฐานะนักเขียน คือแกบอกว่า อย่าเล่าเรื่องเดิมซ้ำๆ ต่อคนเดิมๆ (Not to tell the same story over and over to the same People) คือในฐานะนักเขียนก็ไม่ดีเนอะ หรือคนทั่วๆ ไปเล่าเรื่องซ้ำๆ คนก็จะรำคาญ และข้อความข้างต้น ในฐานะคนที่แก่ขึ้นคือสำคัญมาก คืออย่าเที่ยวได้ไปสั่งสอนแนะนำใคร พอเราแก่ก็ช่างสอน นอกจากไปสอนคนที่เขาอยากได้คำแนะนำจริงๆ ซึ่งทั้งหมดเหมือนโจนาธารเสียดสีพฤติกรรมคนแก่ของตัวเอง เล่าเรื่องเดิม โดนเด็กหลอก ไปชอบเด็กน้อย พูดเรื่องความรุ่งเรืองในอดีตที่จบไปแล้ว สงสัยจะเข้าทำนองอย่าเป็นผู้ใหญ่ที่เราไม่ชอบ ที่หลายร้อยปีให้หลังยังสดใหม่อยู่
‘ปีนี้จะ… เครียดให้น้อยลง ฝันกลางวันให้มากขึ้น’
‘Stress less, and daydream more.
This year, I realized I’d switched all my daydreaming time to stressing about things I can’t control time.
I plan on reversing that, pronto!’
– Jodi Meadows’
ส่งท้ายด้วยข้อเขียนที่มาที่เบาสบายและไม่ได้มาจากนักคิดรุ่นใหญ่นัก ปณิธานสุดท้ายเรียบง่ายและน่านำไปใช้ เป็นปณิธานของ โจดี้ มีโดวส์ (Jodi Meadows) นักเขียนวรรณกรรมสำหรับวัยรุ่น (Young Adults) สรุปว่าอาการก็คล้ายกับเราคือปีก่อนเราอาจจะไปนั่งเครียดกับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ปีนี้ก็จะเครียดให้น้อยลง ในอีกด้าน ที่ส่วนหนึ่งอาจจะช่วยเยียวยาความเครียดและการยึดติดกับโลกได้ ก็คือการที่ปล่อยให้ตัวเราเองฝันกลางวันให้มากขึ้น ไปอยู่ในโลกของจินตนาการ ซึ่งฟังดูน่าทำตามมาก
อ้างอิงข้อมูลจาก