หะยีสุหลง โต๊ะมีนา-ทนง โพธิ์อ่าน-สมชาย นีละไพจิตร-พอละจี รักจงเจริญ-วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์-ฯลฯ คือรายชื่อบางส่วนของผู้ที่ถูก ‘อุ้มหาย’ ไปโดยไม่รู้ชะตากรรม
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ รัฐไทยเดินทางมาไกลแค่ไหนแล้ว กับการสู้เพื่อกฎหมายซ้อมทรมานและอุ้มหาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก
นับเป็นเวลาเกือบ 1 ทศวรรษที่ประเทศไทยพยายามผลักดันให้เกิดกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและการอุ้มหาย แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ ทั้งบรรยากาศการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป การปรับเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ ทำให้จนแล้วจนรอด กฎหมายฉบับนี้ก็ยังไม่คลอดออกมาให้ได้ใช้กันเสียที
จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว มีข่าวใหญ่ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผู้กำกับโจ้ อดีต ผกก.สภ.นครสวรรค์ ก่อเหตุใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาเพื่อรีดข้อมูลจนเสียชีวิต ปลุกให้กระแสผลักดัน ‘ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ….’ หรือ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง จนได้รับการบรรจุเป็นวาระเร่งด่วนเข้าพิจารณาในสภาเมื่อเดือนกันยายน 2564 ก่อนสภาจะมีมติเป็นเอกฉันท์ผ่านร่างกฎหมายในวาระแรก
วันนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2565) ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ซึ่งผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.วิสามัญ) จะถูกนำกลับมาพิจารณาในที่ประชุมสภาฯ อีกครั้ง ในวาระที่สอง (พิจารณารายมาตรา) และวาระที่สาม (พิจารณาว่าจะเห็นชอบทั้งฉบับหรือไม่) ซึ่งต้องมาลุ้นกันว่า ร่างกฎหมายนี้จะผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ แล้วถูกส่งต่อไปให้วุฒิสภาพิจารณาต่อหรือไม่
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายฉบับนี้ มาจากการรวมกันตัวกันของ 4 ร่าง 4 แหล่ง คือ ร่างของกระทรวงยุติธรรม, ร่างของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร, ร่างของพรรคประชาชาติ และร่างของพรรคประชาธิปัตย์
รายละเอียดของ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย นี้มีอะไรน่าสนใจบ้าง The MATTER จะพาไปดูกัน
เพื่อคุ้มครองประชาชนจากการโดนอุ้มหายโดย จนท.รัฐ
ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฉบับล่าสุด ระบุชัดเจนว่าออกมาเพื่อคุ้มครอง ‘ทุกคน’ จากการโดนเจ้าหน้าที่รัฐคุกคาม โจมตี ทรมาน และอุ้มหาย ดังที่เคยมีตัวอย่างมาก่อนหน้านี้ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง
โดยในมาตราที่ 3 ของร่าง นิยามคำว่า “ผู้เสียหาย” ไว้ว่า เป็นผู้ที่โดนเจ้าหน้าที่รัฐทรมานอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม โดนย่ำยีศักดิ์ศรีทั้งทางกายและทางใจ รวมถึงโดนบังคับสูญหาย และยังครอบคลุมไปถึงญาติ ครอบครัว คู่ครอง (ทั้งจดทะเบียนและไม่จดทะเบียน) ที่สูญเสียคนที่รักไปเพราะเหตุอุ้มหาย ก็ถือเป็นผู้เสียหายในที่นี้ด้วย
ระดับความผิดและลักษณะการกระทำ จะแบ่งใหญ่ๆ ได้ 3 ส่วน ได้แก่
- ความผิดฐานทรมาน : เจ้าหน้าที่รัฐที่ทรมานเหยื่ออย่าง ‘รุนแรง’ ต่อร่างกายและจิตใจ เพื่อการรีดเอาข้อมูลก็ดี สงสัยว่าทำผิดก็ดี ข่มขู่บุคคลที่ 3 หรือการเลือกปฏิบัติถือว่ามีความผิดตามมาตรา 5
- ความผิดฐานทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรี : เจ้าหน้าที่รัฐที่ทรมานผู้อื่นจนทำให้เกิดความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจ มีความผิดตามมาตรา 5/1
- ความผิดฐานทำให้สูญหาย : เจ้าหน้าที่รัฐก่อเหตุลักพาตัวหรืออุ้มหายเหยื่อ แล้วปกปิดข้อมูล ไม่บอกชะตากรรม มีความผิดมาตราที่ 6
โทษร้ายแรงแค่ไหน ใครโดนบ้าง?
ส่วนโทษของผู้กระทำผิดจะแบ่งตามฐานความผิด แต่เบื้องต้น มีตั้งแต่จำคุก 5 ปีจนถึงตลอดชีวิต ปรับตั้งแต่ 1 แสนจนถึง 1 ล้านบาท ส่วนอายุความของคดีจะอยู่ที่ 10-40 ปี โดยรายละเอียดโทษต่างๆ มีดังนั้น
- ความผิดฐานทรมาน : จำคุก 5-15 ปี ปรับ 100,000-300,000 บาท
- หากอาการสาหัส โทษ 10-25 ปี ปรับ 200,000-500,000 แสนบาท
- ถึงแก่ความตาย โทษ 15-30 ปีหรือจำคุกตลอดชีวิต ปรับ 300,000-1,000,000 บาท
- ความผิดฐานทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรี : จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท
- ความผิดฐานทำให้สูญหาย : จำคุก 5-15 ปี ปรับ 100,000-300,000 บาท
- หากอาการสาหัส โทษ 10-25 ปี ปรับ 200,000-500,000 แสนบาท
- ถึงแก่ความตาย โทษ 15-30 ปีหรือจำคุกตลอดชีวิต ปรับ 300,000-1,000,000 บาท
- ถ้าเหยื่อเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงมีครรภ์ ผู้พิการ หรือพึ่งตัวเองไม่ได้ เพิ่มโทษอีกครึ่งหนึ่ง
- ผู้สมคบคิด มีโทษ 1 ใน 3 จากโทษทั้งหมด
- ผู้สนับสนุนให้ทำผิด โทษเท่าตัวการ
- ผู้บังคับบัญชาที่รู้เห็นแต่ไม่ห้าม โทษครึ่งหนึ่ง
สิทธิ์ของเหยื่อและผู้ทำผิด
หากดูร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายฉบับเต็มจะเห็นว่ามันออกแบบมาเพื่อเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ และเปิดช่องให้ผู้เสียหาย (ทั้งตัวเหยื่อเองและครอบครัว) สามารถร้องทุกข์ได้มากขึ้น
สำหรับสิทธิ์ของเหยื่อที่ได้รับความเสียหายจากเหตุนี้ ร่าง พ.ร.บ.ขยายสิทธิ์ให้ครอบครัวรวมไปถึงคู่ครองที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสสามารถเป็นโจทก์ยื่นเรื่องเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม นอกจากนี้ยังออกระเบียบใหม่เพื่อป้องกันการก่อเหตุซ้อมทรมานระหว่างสอบสวน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องอัดภาพหรือเสียงต่อเนื่องระหว่างควบคุมตัวบุคคลเพื่อเป็นหลักฐาน และครอบครัวหรือตัวผู้ถูกกระทำสามารถร้องขอให้เปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ได้
ไม่เพียงเท่านั้น ร่าง พ.ร.บ.นี้ยังมีการตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อคุ้มครอง ดูแล และเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นด้วย โดยมี รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน
พร้อมกำหนดให้ผู้ที่กระทำผิดตามร่าง พ.ร.บ.จะต้องขึ้นศาลพลเรือนทั้งหมด (แม้เป็นทหาร) รวมถึงจะไม่สามารถนิรโทษกรรมได้
นักเคลื่อนไหว หรือประชาชนที่ถูกอุ้มหายอาจเป็นคนไกลตัวของเรา แต่อีกมุมหนึ่ง เขาคือครอบครัว พี่น้อง ปู่ย่า และคนรักของใครสักคน แล้วคงจะดีไม่น้อย หากคนเหล่านั้นได้มีโอกาสใช้ชีวิตและเวลากับคนที่รัก ไม่ใช่หายสาบสูญไป ทิ้งไว้เพียงแต่ความหวังริบหรี่เช่นนี้