ช่วงสงกรานต์เป็นช่วงเวลาของการรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ เรามักมีภาพของผู้สูงอายุที่เป็นสุข ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของเรา แต่จริงๆ แล้วในช่วงที่หลายประเทศเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย การเข้าสู่ภาวะวัยเกษียณอาจนำมาด้วยปัญหาหลายๆ อย่าง ผู้สูงอายุจึงอาจจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ ต้องการการดูแลที่เฉพาะเจาะจง
การเป็นคนเฒ่าคนแก่ในจินตนาการของเรามักเป็นภาพของวัยแห่งสันติ เข้าอกเข้าใจโลก เป็นคนที่คอยให้คำแนะนำกับคนรุ่นต่อๆ ไป อบอุ่น หัวใจแข็งแรง แต่การเข้าสู่วัยเกษียณอาจจะไม่ได้สวยงามแบบที่เราคิด ผู้สูงอายุต้องเผชิญกับการเสื่อมโทรมลงของร่างกาย หลายครั้งการเสื่อมโทรมทางกายภาพส่งผลไปถึงสภาพจิตใจที่ทรุดโทรมลงด้วย มีรายงานว่าผู้สูงอายุที่มีความเจ็บป่วยเช่นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดในสมอง โรคพาร์กินสัน การเผชิญกับความเจ็บป่วยสำคัญๆ มักนำไปสู่อาการซึมเศร้าได้ ยิ่งในผู้สูงอายุมักพบว่าคุณภาพในการนอนหลับนั้นลดลงจนเกิดภาวะนอนไม่หลับก็ย่อมกระทบกับคุณภาพชีวิตโดยตรง
ยิ่งทุกวันนี้โลกของเราขับเคลื่อนด้วยการทำงาน การเข้าสู่วัยเกษียณนอกจากจะเป็นการสิ้นสุดชีวิตการทำงานอันยาวนานแล้ว ภาวะเกษียณมักนำไปสู่ความโดดเดี่ยว ความว่างของชีวิตบั้นปลาย ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับการมีตัวตน เกี่ยวกับคุณค่าและความหมายในการใช้ชีวิตต่อไป ในหลายประเทศที่เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยจึงเริ่มตระหนักถึงความต้องการพิเศษของประชากรกลุ่มสำคัญนี้ที่อยู่กับเรามาอย่างยาวนาน มีการคิดและวางแผนเพื่อสนับสนุนดูแลคนสูงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
ในหลายประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยจึงเริ่มมีการคิด ออกแบบและวางแผนเพื่อรองรับปัญหาทั้งทางร่างกายและจิตใจของคนชรา ในญี่ปุ่นมีการออกแบบเมือง Kashiwa ไว้รองรับความต้องการของผู้สูงอายุโดยเฉพาะ มีการสร้างพื้นที่ส่วนกลางที่ผู้สูงอายุสามารถมาทำกิจกรรมร่วมกันได้ การออกมาทำกิจกรรมเป็นการลดความเหงาและป้องกันภาวะซึมเศร้า ไปจนถึงส่งเสริมสุขภาพของผู้อาศัยภายในเมือง ทางออสเตรเลียเองมีองค์กรชื่อ ‘Beyond Blue’ องค์กรที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตเองก็พูดถึงปัญหาสุขภาพใจของผู้สูงอายุและออกแนวทางเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ (What works to promote emotional wellbeing in older people) กลายเป็นคู่มือสำหรับการดูแลผู้สูงวัยโดยเน้นไปที่กิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาทั้งในเชิงกายภาพ เชิงสังคม เชิงจิตวิทยาและการรับรู้ (cognition) ไปพร้อมๆ กัน
ปลูกผักสวนครัว
สังคมทุนนิยมเป็นสังคมที่เรารู้สึกว่าต้องผลิตอะไรบางอย่าง เรารู้สึกว่าเรามีค่าเพราะเราได้สร้าง (productive) ความน่ากลัวของการเข้าสู่วัยเกษียณคือการที่เราไม่ได้ผลิตอะไรอีกต่อไปแล้ว ในยามว่างทำให้เราสงสัยว่า เอ๊ะ ความหมายของชีวิตเรามันคืออะไร การทำสวนจึงเป็นกิจกรรมลำดับต้นๆ ที่มีประโยชน์กับผู้สูงอายุ แน่นอนว่าการทำสวนโดยทั่วไปทำให้เราได้กลับไปอยู่กับธรรมชาติ ได้อยู่ท่ามกลางแสงแดด การขุดพรวนดินนอกจากจะดีกับความรู้สึกแล้วยังได้ใช้กล้ามเนื้อ ในหลายประเทศจึงส่งเสริมการทำสวนให้กับผู้สูงอายุโดยเฉพาะการทำสวนครัว การได้กลับมาปลูกพืชผัก ได้ผลิตอาหารสำหรับตัวเองอีกครั้งก็ดูเป็นการทำให้ผู้สูงอายุกลับมา productive ได้อีกครั้ง
ทำอาหารร่วมกัน
การกินและการทำอาหารเป็นได้ทั้งความสุขและความเศร้า หนึ่งในภาพที่แสนหดหู่ใจของการอยู่คนเดียวคือการที่ต้องทำอาหารและนั่งทานข้าวเพียงลำพัง เมื่อการกินไม่มีความสุข ก็เป็นไปได้ว่าคนแก่ที่อยู่เพียงลำพังจะมีแนวโน้มหดหู่และไม่ได้รับอาหารที่มีคุณภาพ การสร้างพื้นที่การทำอาหารส่วนกลาง เช่น การมีพื้นที่ศูนย์อาหารและมีครัวส่วนรวมที่ผู้สูงอายุสามารถไปทำหรือรับประทานอาหารร่วมกับคนอื่นๆ ได้จึงเป็นการสร้างพื้นที่และกิจกรรมแบบใหม่เพื่อแก้ไขและช่วยลดปัญหาการกินข้าวเดียวดายลงได้ สำหรับบ้านเราเอง เราก็คุ้นเคยกับการไปเยี่ยมคุณย่าคุณยาย และหนึ่งในกิจกรรมสุขสันต์คือการที่คุณยายทำอาหารให้เรากินโดยที่บางครั้งเราก็เข้าไปช่วยอยู่ในครัวบ้าง เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาคุณภาพภายในครอบครัว
ใช้เวลากับคนรุ่นอื่น
เรามักเห็นภาพการแยกผู้สูอายุออกจากสังคม ออกจากคนรุ่นอื่นๆ ดูแล้วก็จะเศร้าๆ หน่อย แนวคิดสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีความสุขหลังวัยเกษียณคือการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรุ่นอื่นๆ โดยเฉพาะเด็กๆ เพื่อย้ำว่าการแก่ตัวลงไม่ได้หมายความว่าหายไปจากสังคมนี้ ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มมีการใช้แนวคิด non-familial intergenerational interactions คือการเปิดพื้นที่และเปิดโอกาสให้คนวัยเกษียณเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับเด็กๆ เช่น ให้ผู้สูงอายุเข้ามามีส่วนร่วมในเนอร์สเซอรี่ ใช้เวลาว่างในการทำกิจกรรมกับเด็กๆ ในตอนกลางวัน ไปอ่านนิทาน กินข้าว เล่นกับเด็กๆ ในประเทศอย่างออสเตรเลียและอังกฤษพบว่ากิจกรรมข้ามรุ่นดังกล่าวเป็นการให้คุณค่าซึ่งส่งผลดีกับผู้สูงอายุ เป็นการเพิ่มความเคารพตัวเองและส่งเสริมมิตรภาพความสัมพันธ์ใหม่ๆ ในขณะเดียวกันเด็กๆ ก็ได้รับประโยชน์เช่นมีความสนใจ เพิ่มโอกาสในการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และทางสังคมด้วย
ทำงานศิลปะ
การทำงานศิลปะเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เราได้แสดงออกถึงความรู้สึก ได้ระบายสิ่งที่อยู่ในความคิดและจิตใจของเราออกมาผ่านช่องทางศิลปะทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสี เส้น ไปจนถึงกิจกรรมประดิษฐ์ประดอย เย็บปักถักร้อย การทำงานศิลปะนอกจากจะช่วยให้ผู้สูงอายุได้แสดงความรู้สึกแล้ว ยังเป็นการฝึกสมาธิ ได้ใช้ร่างกายไปกับการเรียนรู้และลงมือในงานศิลปะนั้นๆ ในแง่ของการทำงานศิลปะไม่มีคำว่าสาย เรามีศิลปินหลายคนที่เพิ่งมาค้นพบพรสวรรค์ทางศิลปะเมื่ออายุหลังเกษียณไปแล้วก็หลายท่าน
ออกกำลังกาย
หนึ่งในกิจกรรมคลาสสิกเหมาะกับทุกเพศทุกวัน การออกกำลังที่เหมาะสมเป็นกิจกรรมพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุ แน่นอนว่าการออกกำลังส่งเสริมสุขภาพที่เป็นรูปธรรม ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) บอกว่าการที่ผู้สูงอายุออกกำลังกายนั้นช่วยเพิ่มทักษะในการทรงตัว ป้องกันการล้ม เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การออกกำลังง่ายๆ เช่นการเดิน ถือเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องลงทุนอะไร มีงานศึกษาในปี ค.ศ. 2018 พบความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุกับการออกกำลังกาย เช่น การเดิน มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้า นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่อยู่ในเมืองที่สามารถเดินได้สะดวก สามารถเดินไปไหนมาไหนในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งเป็นการออกกำลังกายไปในตัว มีแนวโน้มจะมีภาวะซึมเศร้าต่ำกว่า
เต้นรำ
งานศึกษาในปี ค.ศ. 2003 จากวารสาร the New England Journal of Medicine บอกว่าผู้สูงอายุที่ทำกิจกรรมยามว่างด้วยการขยับร่างกายมีความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมลดลง แน่นอนว่าการเต้นรำเป็นกิจกรรมที่สัมพันธ์ทั้งกับการใช้ร่างกาย ทักษะในการฟังและจับจังหวะ การแสดงออก ไปจนถึงการเข้าร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ การเต้นจึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้ประโยชน์หลายๆ ด้านพร้อมกัน มีงานศึกษาหลายชิ้นที่พบว่าการเต้นรำสามารถช่วยบรรเทาอาการในผู้สูงอายุได้ เช่นในโปรเจกต์ร่วมระหว่าง Rush University Medical Center และ Hubbard Street Dance Chicago อันเป็นความร่วมมือข้ามมหาวิทยาลัยทางการแพทย์และมหาวิทยาลัยทางศิลปกรรมที่นำการเต้นมาบำบัดอาการของผู้ป่วยพาร์กินสัน
เล่นวิดีโอเกม
เรื่องนี้จริงๆ ก็ไม่ใหม่เท่าไหร่ และคนที่อายุเยอะก็ใช่ว่าจะต้องหนีจากเทคโนโลยี จากนวัตกรรมสมัยใหม่ เทคโนโลยีเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีในผู้สูงอายุ อย่างน้อยที่สุด การเชื่อมต่อกันในโลกออนไลน์ การแชตกับเพื่อน สไกป์กับครอบครัวก็ทำให้ผู้สูงอายุเหงาน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้นการเล่นวิดีโอเกมก็ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ดีต่อผู้สูงอายุ มีงานศึกษาจาก Université de Montréal ในปี ค.ศ. 2017 พบว่าการเล่นเกมที่เป็นเกม 3 มิติ ช่วยพัฒนาการรับรู้ (cognitive functions) และช่วยเพิ่มสมองเนื้อสีเทา (grey matter) บริเวณสมองฮิปโปแคมปัส
อ้างอิงข้อมูลจาก