เอายังไงกับชีวิตดี? เมื่อไหร่จะเรียนจบ? วิทยานิพนธ์ที่ทำอยู่จะไปรอดไหม? เริ่มต้นลงมือทำไปก็กลัวว่าจะผิดพลาด อาจารย์ที่ปรึกษาจะคิดกับเรายังไงบ้างนะ? มันจะคุ้มค่ากับช่วงเวลาที่ทุ่มเทไปกับการเรียนต่อรึเปล่า?
คำถามมากมายมักถาโถมเข้ามาใส่อยู่เสมอๆ กับเหล่าผู้คนที่เรียนต่อกันในระดับชั้นปริญญาโท-เอก แต่เดิมตอนที่เรียนในชั้นปริญญาตรีนั้น หลายคนก็คิดว่าที่เจออยู่ก็เครียดมากพออยู่แล้ว แม้จะเคยได้ยินมาว่า การเรียนต่อนั้นมันอาจสร้างความเจ็บปวดได้มากกว่าเดิม แต่เราก็พร้อมมักจะยอมรับเงื่อนไขเหล่านั้นเพื่อเพราะมันเป็นเหมือนกับการลงทุนให้กับชีวิตในอนาคต
แต่ถึงอย่างนั้น คำว่า ‘ยิ่งเรียนสูง ยิ่งเครียด’ มันก็ยังเป็นภาพที่ดูห่างตัวกันพอสมควร จนกระทั่งหลายๆ คนได้เข้ามาเจอประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
การเรียนสูงกับความเสี่ยงเผชิญภาวะซึมเศร้า
ภาวะความเครียดของบรรดานักศึกษาปริญญาโท-เอก ไม่ใช่เรื่องใหม่ อีกทั้งยังเกิดขึ้นในหลายประเทศ มีงานวิจัยจาก University of Texas Health Science Center ที่พบว่า นักศึกษา ป.โท-เอก มีอัตราเผชิญหน้ากับภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล มากกว่าคนทั่วไป 6 เท่าตัว โดยกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาในงานวิจัยชิ้นนี้จำนวนกว่า 2,300 คนจาก 26 ประเทศกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ได้ตอบคำถามกับนักวิจัยว่า พวกเข้าได้เจอกับภาวะความซึมเศร้า (ทั้งในระดับทั่วไปและระดับที่รุนแรง)
แม้จะไม่มีสถิติอย่างเป็นทางการว่าจำนวนนักศึกษาปริญญาโท-เอกที่เป็นคนไทยเผชิญหน้ากับภาวะซึมเศร้าจะเป็นเท่าไหร่ แต่เราก็แทบจะไม่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัญหาเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้น มันจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจเหมือนกันเนอะ ชีวิตคนเรียนปริญญาโท-เอก ต้องเจอกับเรื่องเครียดๆ ในรูปแบบไหนกันบ้าง
ความเครียด อาจารย์ที่ปรึกษา และวิทยานิพนธ์
การทำวิทยานิพนธ์ ดูเหมือนจะเป็นประสบการณ์ร่วมที่นักศึกษาหลายคนเจอ ความกดดันและเครียดเริ่มต้นตั้งแต่การคิดหัวข้อเพื่อนำไปเจออาจารย์ ตลอดจนกระบวนการวิจัยต่างๆ เรื่อยไปจนถึงวันสรุปผล
นักศึกษาไทยที่ไปเรียนต่อปริญญาเอกสาขาวรรณคดีอังกฤษ ในประเทศอังกฤษ เล่าให้เราฟังว่า
“หนักที่สุดคือมารู้ว่าหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่เราอยากทำมีคนทำแล้ว และมารู้ตอนผ่านไปแล้วหนึ่งเทอม การเรียนปริญญาโทที่อังกฤษมันใช้เวลาปีเดียว ดังนั้น เรา ซึ่งควรทำการบ้านเรื่องหัวข้อให้ดีกว่านี้ ก็ต้องเริ่มใหม่
“มันหนักมาก ตอนนั้นแทบจะทรุดลงไปกับพื้น เพราะว่าตอนเทอมหนึ่งเราเตรียมตัวทำหัวข้อนี้ด้วยการเขียนเปเปอร์ของทุกวิชาที่เรียน (สองวิชา) ให้มีหัวข้อลักษณะใกล้เคียงกับสิ่งที่เราอยากทำวิทยานิพนธ์ ตอนนั้นก็เป็นคนบ้า
“หลายคนอาจจะรู้สึกว่าไม่หนัก ยังไม่ถึงเวลาเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์แบบเป็นทางการซะหน่อย ทำไมถึงหนัก คือตอนนั้นหลงตัวเองมาก คิดว่าจะต้องไปสร้างข้อเสนอใหม่ในวงวิชาการ อะไรขนาดนั้นเลย พอเราเจอปัญหานี้ก็ถึงกับทรุดไปเลย ไปไม่ถูกเลยตอนนั้น อีกห้าหกเดือนต้องเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์แล้ว สิ่งที่เตรียมมาจากเมืองไทยคือพังหมด”
นอกจากการทำวิทยานิพนธ์ซึ่งค่อนข้างหนักหนาแล้ว มุมมองที่แตกต่างระหว่างตัวผู้เรียนกับอาจารย์ที่ปรึกษา ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ชีวิตปริญญาโทของอดีตนักศึกษารัฐศาสตร์คนหนึ่ง เจอกับความกดดันอย่างหนักจนถึงขั้นยอมแพ้ และเปลี่ยนไปเรียนต่อในอีกสถาบันการศึกษาแห่งอื่นแทน
“เราไม่คลิกกับอาจารย์ที่ปรึกษา สิ่งที่เขาอยากให้เราทำคือแนวทางที่เราไม่ชอบเลย แต่อาจารย์คิดว่าแนวทางนั้นมันจะรอดกว่า เราเลยเริ่มรู้สึกว่า ไม่อยากไปหาอาจารย์แล้ว ไม่อยากโทรไปหาอาจารย์ด้วย เราเฟดตัวเองออกมาสักพักก่อนเริ่มต้นลุยทำวิทยานิพนธ์ใหม่ แต่สุดท้ายมันก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม เลยตัดสินใจไปเรียนที่ใหม่แทนซึ่งอาจารย์โอเคกว่า นัดเวลาเข้าไปคุยกันง่ายมาก เจ้าหน้าที่คณะก็ช่วยเหลือเราแทบจะทุกทาง”
ขณะที่นักศึกษาปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ เล่าว่า ระยะเวลาในการวิทยานิพนธ์ที่จำกัด มีส่วนมากๆ ต่อความเครียดที่เกิดขึ้น
“เรานั่งทำงานไปร้องไห้ไป พิมพ์งานไปก็น้ำตาไหลไป เพราะกลัวว่าจะทำไม่ทัน ตอนนั้นมันเหลืออีกสัปดาห์จะต้องสอบปิดเล่มแล้ว เป็นช่วงที่เครียดที่สุดก็ว่าได้ เพราะไม่แน่ใจว่าทุกอย่างที่เขียนไปมันจะถูกต้องรึเปล่า กลัวว่าส่งไปแล้วอาจารย์ที่ปรึกษาตอบกลับมาว่า สิ่งที่เราทำมันผิด เราเครียดแบบนี้ไปตลอด จนถึงวันสุดท้ายที่ต้องส่งเล่มก็ไม่ได้นอน”
สังคมที่เปลี่ยนไป บรรยากาศการเรียนการสอนที่แตกต่าง
ด้วยการที่การเรียนการสอนในระดับปริญญาโท มักจะเป็นความรู้ในเชิงลึกกว่าระดับปริญญาตรี ขณะเดียวกัน รูปแบบการสอนในหลายหลักสูตรได้ใช้บรรยากาศแบบสัมมนาซึ่งเน้นการอ่านหนังสือตามที่ได้รับมอบหมาย เพื่อนำความรู้มาถกเถียงและอภิปรายกันภายในห้องเรียนเป็นหลัก นี่จึงทำให้นักศึกษาหลายคนที่ไม่คุ้นชินกับบรรยากาศเช่นนี้มาก่อนต้องใช้เวลาปรับตัวพอสมควร
สองนักศึกษาจากที่เรียนต่อในต่างประเทศ และในประเทศ เล่าให้เราฟังถึงสถานการณ์ที่พวกเขาต้องเจอในลักษณะคล้ายกัน
“เราเรียนแบบวิชาสัมมนามันต้องอ่านเยอะมาก มีหนังสือมาให้ต้องอ่านๆๆๆ เพื่อไปคุยกันในห้อง เปลี่ยนหัวข้อทุกสัปดาห์ เหมือนจะเรียนน้อยแต่หนังสือต้องอ่านมันเยอะ ช่วงแรกก็เครียดแหละ หลังๆ มาก็ปล่อยวางบ้าง” นักศึกษาคนหนึ่งกล่าว
ขณะที่อีกคนเสริมประเด็นนี้ว่า “การเรียนปริญญาโทเป็นคลาสที่ทุกคนต้องอ่านหนังสือมาก่อนเข้าห้อง แล้วเราไม่เข้าใจว่าเราตีความมันถูกรึเปล่า มันคือการตีความและการถกเถียงกันในห้อง ซึ่งระบบการศึกษาไทยไม่ได้หล่อหลอมคนมาให้ sit & talk ว่าคุณคิดกับเรื่องนี้ยังไง หรือในบางครั้ง การที่ใครจะเสนอแนวคิดที่ต่างไปจากอาจารย์ เขาก็อาจจะกังวลว่าสิ่งที่แย้งไปนั้นเข้าใจถูกรึเปล่า มันก็ทำให้คนเรียนที่ไม่คุ้นชินกับบรรยากาศเช่นนี้เครียดได้”
นอกจากนี้ ความกดดันจากผู้คนรอบข้างก็ยังส่งผลกระทบไม่น้อย โดยเฉพาะคำถามแทงใจจากคนรู้จัก โดยเฉพาะประโยคทำนองว่า ‘เมื่อไหร่จะเรียนจบ’
“ที่บ้านกดดัน คนรอบข้างกดดัน เราเป็นคนที่แคร์แม่มาก แม่อยากให้เราเรียนจบเร็วๆ แต่ใจเรามันไม่ไหวแล้วนะ เราก็เลยต้องทำทั้งที่ตัวเองรู้สึกฝืนใจ แถมคนในรุ่นก็จบกันภายใน 2 ปี มันเลยเป็นสิ่งที่เราเก็บมาคิดมากอีก” นักศึกษาปริญญาโทจากคณะพัฒนาสังคม อธิบาย
เธอเล่าต่อไปอีกด้วยว่า ด้วยความเครียดที่สะสม มันไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ต่อจิตใจเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังรวมไปถึงร่างกายและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
“ร่างกายคือพังเลย นอนดึกมาก ต้องฝืนทำงานไปตอนที่เครียด ผลคืองานที่ออกมาก็ยังไม่โอเค มันทำด้วยความเครียด มันกดดันด้วยเวลา ทุกอย่าง เราไม่เคยเป็นไมเกรนมาก่อนก็เป็นตอนเรียนปริญญาโทนี่แหละ จากนั้นเป็นต้นมาเวลาเครียดทีไรไมเกรนก็ตามมาทันที ปริญญาคือสิ่งที่มอบโรคนี้ให้กับเรา”
เรื่องทำนองนี้ ยังดูเหมือนกับว่าเกิดขึ้นกับนักศึกษาที่ต้องเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วยเป็นกรณีพิเศษ
“เราโดนกดดันที่คนรอบข้าง โดยเฉพาะเรื่องปลีกเวลาไปเรียนคู่กับทำงาน เรากลับมาไม่สบายเหมือนเดิม เพราะนอนน้อยมาก คือเราตั้งใจทำงานให้ได้เท่าเดิมนะ แต่เราก็ต้องอ่านหนังสือด้วย เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราตัดสินใจทิ้งเรื่องงานไปเลย เพราะเบื่อคนที่มากดดันเราเรื่องพวกนี้มาก มันคือความเครียดอีกแบบนึงแหละ เคยมีวันที่ไม่อยากเจอใครเลยนะ เก็บตัวอยู่ในห้องไม่อยากยุ่งกลับใคร เราไม่สามารถรับอารมณ์คนอื่นได้อยู่ช่วงนึง” นักศึกษาที่กำลังเรียนคณะนิติศาสตร์อธิบาย
มหาวิทยาลัยกับทางออกจากภาวะเครียด
เรามักได้ยินข่าวความสูญเสียของคนที่เรียนปริญญาโท-เอก กันอยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากข่าวในประเทศและต่างประเทศ แต่หลายต่อหลายครั้ง มันก็สร้างแรงกระเพื่อมให้บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พูดถึงทางออกก็เป็นครั้งคราว ขณะที่กลไกในการช่วยแก้ไขต่างๆ แบบระยะยาว มักถูกตั้งคำถามว่าไม่ค่อยถูกผลักดันอย่างจริงจัง
นักศึกษาที่ไปเรียนต่อในประเทศอังกฤษอีกคนหนึ่ง เล่าให้เราฟังถึงเหตุการณ์ที่ประสบมาได้อย่างน่าสนใจ และชวนให้เราตั้งคำถามถึงกลไกในการดูแลภาวะจิตใจของนักศึกษาในบ้านเรา
“ช่วงที่เรียนอยู่มีนักศึกษาคนนึงไปกระโดดสะพานเพื่อฆ่าตัวตาย หลังจากนั้นไม่นาน ทางมหาวิทยาลัยก็ส่งอีเมลมาให้เราทุกคนว่า ถ้าคุณมีความเครียดหรือกำลังกดดันจากการเรียน หรือสังคมรอบข้าง ก็สามารถเข้าไปรับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญประจำมหาวิทยาลัยได้เสมอนะ
“จริงๆ แล้วก่อนหน้านั้น มหาวิทยาลัยก็จะส่งอีเมลทำนองนี้มาให้เราอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ที่น่าสนใจคือเขามักจะย้ำคำว่า ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ยังมีคนอยู่กับคุณอยู่เสมอนะ ซึ่งมันก็ทำให้คนอ่านอุ่นใจได้พอสมควร แล้วมันก็เป็นบริการที่ไม่เสียเงินเลย
“หรือตอนที่เรากำลังเรียนอยู่ แล้วมีเรื่องที่แม่เราเสีย ตอนนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาบอกเรามาเองว่า คุณสามารถเลื่อนวันส่งงานได้เลยนะ ไม่ต้องกังวลอะไร เราเลยรู้สึกว่าบุคลากรที่นั่นเขาดูแลเราดีมากจริงๆ”
ย้อนกลับมาดูในประเทศไทย คำถามที่ต้องคิดกันหนักๆ คือแล้วบ้านเรามีทรัพยากรและกลไกต่างๆ ในการดูแลภาวะความเครียดเพียงพอแล้วหรือยัง?
อาจารย์ ณัฐสุดา เต้พันธ์ อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยบอกกับ The MATTER ถึงแนวทางการจัดการความเครียดและภาวะซึมเศร้าในสถาบันการศึกษาว่า ในตอนนี้ สถาบันต่างๆ เริ่มหันมาสนใจปัญหาที่ว่านี้กันมากยิ่งขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น มันอาจจะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง
“สถาบันการศึกษาหลายแห่งกำลังทำเรื่องนี้กันมากขึ้นนะ เริ่มเห็นความสำคัญการดูแลจิตใจนิสิต นักศึกษา มันเป็นเรื่องสำคัญเลยแต่มันก็ด้วยระบบที่อาจจะเชื่องช้า อาจจะทำให้การเปลี่ยนแปลงค่อยๆ เกิด อยากใช้คำว่า พอมีหนึ่งหรือสองแห่งเกิดขึ้นแล้วประสบความสำเร็จ มันก็จะเป็นตัวอย่างให้เกิดขึ้นในที่อื่นอีกมากมายได้” อาจารย์ ณัฐสุดา ระบุ
สุดท้ายแล้ว ในกรณีเบื้องต้น เมื่อเกิดภาวะความเครียดขึ้นมาในจิตใจ สิ่งที่นักจิตวิทยาแนะนำคือ การไปขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ น่าจะเป็นทางออกที่ทำได้เป็นลำดับแรกๆ
สำหรับอ่านเพิ่มเติม
โดดเดี่ยวบนโลกที่ไม่เพอร์เฟกต์ คุยเรื่องปัญหาจิตใจคนวัยเรียน กับ อ.ณัฐสุดา เต้พันธ์ : https://thematter.co/pulse/depression-in-teen-students/43496