ในชีวิตประจำวันหากเราอยากสื่อสารกับผู้อื่น มีหลากหลายวิธีให้เราได้ใช้ ไม่ว่าจะพิมพ์ข้อความ พูดคุยผ่านโทรศัพท์ เห็นหน้ากันในวิดีโอคอล แต่หลายครั้งที่การสื่อสารเหล่านั้น ไม่อาจทำหน้าที่ของมันได้หมดจด ‘การสื่อสารด้วยภาพ’ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเหล่านักวาด ที่นอกจากจะทำเป็นอาชีพแล้ว ยังมีการสื่อสารข้อความ ความหมาย ความรู้สึก และอีกหลายอย่างเอาไว้ในผลงาน เพื่อเป็นการพูดคุยสื่อสารกับคนดูในอีกช่องทาง
การสื่อสารด้วยภาพผ่านผลงานการวาด จึงเป็นทั้งการสื่อสารเรื่องราว ความรู้สึก รวมถึงบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ ด้วย
The MATTER เลยอยากแนะนำ 8 นักวาดน่าติดตามที่กำลังมีผลงานในช่วงนี้ อาจจะผ่านตากันมาแล้วบ้าง โดยแต่ละคนมีคาแร็กเตอร์เป็นของตัวเองชัดเจน รวมถึงผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ชวนติดตา ให้ได้ลองรับรู้สิ่งที่นักวาดอยากจะสื่อสารกับเราผ่านผลงานเหล่านี้
และถ้าใครมีนักวาดในดวงใจที่อยากให้คนอื่นได้รู้จัก ก็แนะนำ หรือคอมเมนต์กันเข้ามาได้เลยนะ
Pssyppl.
เสียดสีอย่างแสบสัน ด้วย political art
ผลงานดิจิทัลเพนต์ที่ส่อเสียดการเมืองและเรื่องชวนหัว ที่ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยสีสันสดใสที่ช่วยขับความเข้มข้นของความหมายให้แสบทรวงยิ่งขึ้น
“งานของเราส่วนมากไอเดียเริ่มต้นจะมาจากกลุ่มก้อนความรู้สึกที่มันเกิดขึ้น ณ ขณะนึง แล้วเราก็อยู่กับความรู้สึกนั้น ทำความรู้จักมัน research ข้อมูล สัญลักษณ์ และประวัติของหัวข้อที่จะวาด แล้วค่อยเริ่มเสก็ตช์เป็นผลงาน
ส่วนตัวพยายามศึกษาเรื่องของ political art ว่ามันมีประวัติความเป็นมายังไง เคยถูกใช้ในแง่ไหนบ้างและมันคือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มั้ย เพราะตอนแรกเราตั้งใจสร้างงาน illustration เพื่อเล่าเรื่องเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัวผ่านมุมมองของเราเอง
เราคิดว่างานเราเป็นแค่ส่วนหนึ่งของ political art ในรูปแบบของ illustration เพื่อบอกเล่าความรู้สึกของเราผ่านช่วงเวลาต่างๆมากกว่า ความจริงเราพยายามฝึกทำเทคนิคหลายอย่าง ทั้ง practical และ digital ถ้าให้บอกว่างานไหนที่เน้นเป็นพิเศษคงเป็นงานที่ใช้การวาดเป็นหลัก แค่ส่วนมากคนเห็นงาน digital มากกว่า”
ติดตามได้ที่ pssyppl
นารูตู่
พาโรดี้หมู่บ้านนินจาที่ดันมีเหตุการณ์คล้ายหมู่บ้านแถวนี้
นินจาคาถาโอ้โฮเฮะที่เรารู้จัก จะน่าโอ้โฮเฮะมากกว่าเดิม เมื่อได้มาอ่านเวอร์ชั่น ‘นารูตู่’ พาโรดี้จาก ‘นารูโตะ’ ที่แม้เรื่องต้นฉบับจะเป็นเรื่องราวหมู่บ้านนินจาที่ดูจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบ้านเรา แต่ฉบับพาโรดี้นี้จะพาเราไปอยู่ในหมู่บ้านที่มีเหตุการณ์คุ้นๆ เหมือนจะเคยเกิดขึ้นแถวนี้มาก่อน พร้อมตัวละครเค้าโครงเดิมเพิ่มเติมคือใบหน้าคุ้นๆ ที่เหมือนจะเคยเห็นในทีวีตอนเย็นอยู่พักหนึ่ง
“ถ้าเอาจริงๆคือผมชอบเรื่องนี้มากๆครับ การ์ตูนอันดับหนึ่งในดวงใจ ทำลุงตู่ให้เป็นซาสึเกะ เพราะว่าต้องการพลัง โหยหาอำนาจ และเป็นตัวแทนของคนที่เกลียดคนๆ นึง เลยตั้งทักษิณเป็นอิทาจิพี่ชายของเขา เพราะซาสึเกะต้องการแก้แค้นพี่ชายอย่างมาก
ผมว่าเป็นแนว การ์ตูนล้อเลียนที่ล้อในล้ออีกที ตัวพระเอกในการ์ตูน กับในชีวิตจริงจะสลับๆกันให้ผู้อ่านตีความกันเอาเอง ปั่นๆ กวนๆ มาจาก สถานการณ์ในประเทศล้วนๆ ครับ ผมว่ามันบังเอิญหลายๆ เรื่อง เช่น คาเงะ ต้องมาจากคนที่ทุกคนยอมรับ แต่ว่าไม่มีการเลือกตั้งแต่อย่างใด และมีหน่วยรากเป็นหน่วยลับพิเศษหนุนหลัง”
ติดตามได้ที่ ninjanarutu
NERZ
สเก็ตช์ลายเส้นให้สะท้อนสังคม
นักวาดที่มาพร้อมลายเส้นแบบสเก็ตช์ ที่มักจะเห็นคาแร็กเตอร์ที่มีลายเส้นคุ้นตานี้จากการวาดตามสั่งจากอินสตาแกรมสตอรี่ แล้วนำมาจัด Layout จนเกิดเป็นภาพสนุกๆ ขึ้นมาเมื่อพื้นที่สีขาวหายไปจากหน้ากระดาษ
และยังมีผลงานเสียดสีข่าวหรือสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงนั้นให้เราได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเรื่องการเมืองหรือสังคม โดยมีผลงานที่ร่วมงานกับกลุ่มหิ่งห้อยน้อย ในงานนิทรรศการ “เมื่อความเงียบกู่ก้อง” ที่สะท้อนเรื่องราวของการเมืองและครอบครัว
“นิยามเกี่ยวกับงานนิยามไม่ค่อยถูกเหมือนกันครับ ปกติก็วาดไปเรื่อยๆ แนวงานน่าจะเป็นงานประเภทสเก็ตช์ ลายไทย หรือการ์ตูน ส่วนมากได้ไอเดียมาจากลูกเพจในไอจี โดยเฉพาะวาดตามสั่งเป็นไอเดียลูกเพจสัก 90% ได้
และปกติชอบดูข่าวอยู่แล้ว พอเจออะไรน่าสนใจก็จะหยิบมาวาดครับ เรามาคิดเองกับจัด Layout ให้นิดหน่อย งานส่วนมากเป็นเทคนิคสเก็ตช์ลายเส้นปากกา หลังๆ มาจะเริ่มเป็น digital painting ครับ”
ติดตามได้ที่ nerzline
Put On ART
วาดให้รู้ว่าแต่ละวันความรู้สึกนั้นเป็นอย่างไร
ภาพสีละมุนที่ทำให้เราจับความรู้สึกได้เสมอนั้น ถูกเรียบเรียงมาจากความรู้สึกของผู้วาดจริงๆ ที่ต้องการให้เราได้สัมผัสความรู้สึกในช่วงเดียวกัน จึงเลือกบันทึกช่วงเวลาเหล่านั้นด้วยภาพวาดและ doodles น่ารักสบายตา
“ส่วนมากก็มาจากความรู้สึกเราค่ะ ไปเจออะไรมา รู้สึกยังไงมา วันนี้เศร้าจังอยากวาดรูป หรือวันนี้มีความสุขจังอยากวาดรูป ภาพที่ออกมาก็จะไม่เหมือนกัน
เราค่อนข้างทำงานหลายสไตล์ค่ะ ยืดหยุ่นไปตามสิ่งที่อยากจะสื่อ ส่วนมากเราชอบการทำ Digital painting ประมานนี้ค่ะ แต่บางครั้งก็เอาการ doodles มาเล่าเรื่องเช่นภาพนี้ ขึ้นอยู่กับเรื่องที่อยากจะเล่าออกมา มันเป็นความรู้สึกเราเองด้วยส่วนนึง
ถ้าเรื่องไหนที่เรารู้สึกว่ามันน่ารัก อยากเล่าให้เข้าใจง่าย ก็อาจจะเลือกใช้ลายเส้นง่ายๆ ภาพไหนที่คิดว่าต้องออกมาอลังการหน่อย เห็นภาพอารมณ์ๆ ไม่ได้ตั้งใจให้ตลกหรือน่ารักมาก ก็อาจจะ paint แบบจริงจัง”
ติดตามได้ที่putonart
Artmeesri
ในทุกพื้นที่มีเรื่องราวให้เล่า
“สวัสดีครับชื่อ อุ้ย นามปากกา Artmeesri ตอนนี้เป็น Freelance illustrator & concept artist โดยทั่วไปแล้วเรียกรวมๆว่า concept illustration ก็ได้ครับ แนวที่วาดอยู่เป็น Digital painting เทคนิค Rough painting เป็นการวาดเร็วๆ แบบ quick sketch เหมือนเอาแปรงปาดๆจนเกิดรูปทรงสีสันขึ้นมาครับ
งานส่วนใหญ่ของผมเป็นแนว landscape/environment/urban ได้ไอเดียมาจากการที่ชอบดูสารคดี ชอบถ่ายรูปครับ Reference ต้นแบบจะเป็นภาพที่เห็นจริงก่อนครับ แล้วจึงใส่จินตนาการลงไปเพื่อให้เรื่องราว ตัวละครหรืออารมณ์ของภาพออกมาในแบบที่เราต้องการครับ”
ติดตามได้ที่
หากใครสนใจเทคนิคการวาดแบบนี้ มีช่องสอนวาดรูปด้วยนะ
BOBBY phobia
วาดให้ผ่อนคลายจึงจะสนุกไปกับมัน
ทุกครั้งที่ลงมือวาดยังอยากให้มันเป็นสิ่งที่เราสบายใจกับมันเสมอ มากกว่าการคาดหวังให้มันออกมาเป็นมาสเตอร์พีซ ทุกอย่างจึงไม่มีกฎตายตัว ชอบอะไรหยิบใส่ลงไปจนเกิดเป็นงานคอลลาจที่รวมเอาความชอบในช่วงนั้นไว้ด้วยกัน ราวกับเป็นบันทึกอีกหนึ่งหน้าให้ชีวิต
“เวลาที่ได้ทำงานด้วยความสนุกและความสบายใจมันทำให้สามารถค้นพบตัวเองไปเรื่อยๆ คิดว่ามันก็คงเป็นเรื่องของความเป็นกันเองกับงานของตัวเอง เรามักจะบอกตัวเองก่อนทำงานเสมอว่าไม่ต้องเครียด
ดังนั้น เวลาที่เราวาดรูปเรามักจะไม่ย้ำเส้น ไม่เป๊ะตรงสเกลก็ไม่โทษใคร ส่วนตัวเรารู้สึกว่ามันไม่ได้ผิดขนาดนั้น อยากปล่อยให้มันสบายๆ ไป ยิ่งงานชิ้นไหนที่มีจุดประสงค์เพื่อ ‘พักผ่อน’ เราจะยิ่งไม่คิดอะไรมากเลย (ก็ทำเพื่อผ่อนคลาย ทำไมต้องเครียด)
โดยส่วนตัวแล้วแรงขับเคลื่อนใดๆ มักจะมาจากความชอบกับสิ่งนั้นๆ แต่มันกระจัดกระจายเอามากๆ เราวาดที่อยากวาดบนกระดาษยุกยิกๆ แต่พอวาดเสร็จเหมือนอารมณ์ยังค้างอยู่ ประมาณว่าเรายังอยากไปต่อกับภาพวาดชุดนี้ เอาไปทำอะไรต่อดีนะ แล้วก็คิดได้ว่ามีสิ่งที่เรียกว่าคอลลาจ (Collage) อยู่ ดังนั้นก็เลยเอาภาพวาดมาตัดแปะบนฉากหลังชิ้นใหม่อีกที
มันเหมือนรวมอะไรที่กระจัดกระจาย รวมเทคนิกที่หลายหลาย แม้แต่ภาพที่วาดค้างเอาไว้ หน้าที่ชอบในนิตยสารหรือเศษเทปแปะซองใส่หนังสือ ก็สามารถนำมาจอยเป็นหนึ่งงานที่น่าสนุกได้ค่ะ”
ติดตามได้ที่ bobbyyphobia
wawawawin
สัมผัสพื้นผิวได้จากดวงตา
นักวาดภาพประกอบที่มีลายเส้นอันชัดเจน ไม่ว่าจะในชิ้นงานหรือผลงานส่วนตัว ด้วยการปรับเปลี่ยนคาแร็กเตอร์ให้กลายเป็นรูปแบบของเขาเอง รวมทั้งการลงสีที่ทำให้เราสัมผัสพื้นผิวได้จากการมองเห็น แม้จะไม่ได้ใช้มือจับด้วยตัวเองก็ตาม จึงทำให้ผลงานของเขาเป็นเอกลักษณ์ คอยย้ำเตือนถึงเจ้าของฝีแปรงอยู่เสมอ
เราอาจจะเคยเห็นผลงานของเขามาบ้างกับการหยิบจับเอาป็อปคัลเจอร์มาปรับแต่งเป็นคาแร็กเตอร์ของเขาเอง อย่างภาพยนตร์เรื่อง Pulp Fiction, Trainspotting และวงดนตรีอย่าง Blur แต่คาแร็กเตอร์ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่นั้นก็มีเอกลักษณ์มากพอที่จะทำให้เราจำลายเส้นของเขาได้จากผลงานไม่กี่ชิ้น
ติดตามได้ที่ wawawawin
Baphoboy
รอยยิ้มที่ซ่อนความจริงไว้ข้างหลัง
เรามักจะคุ้นกับงานของ Baphoboy ในรูปแบบของภาพเสียดสี ล้อเลียนการเมือง ด้วยรอยยิ้มแบบไร้ที่มา ยิ้มอยู่อย่างนั้นราวกับไม่ได้รับอนุญาตให้มีอารมณ์ความรู้สึกอื่น จนกลายเป็นตลกร้ายที่เสียดแทงความรู้สึกของคนดู
“รอยยิ้มจริงๆ มันเป็นในเชิงจิตวิทยาด้วย ถ้าคนนึงยิ้มให้เรา แค่เขาทำหน้าปกติแล้วยิ้มให้เรา เราจะรู้สึกดีด้วย แต่ถ้าคนนั้นยิ้มไม่หยุด เราจะรู้สึกไม่โอเคกับเขาแล้ว”
“งานที่ใช้เวลาคิดนานๆ สำหรับผมค่อนข้างจะมีน้อย อาจจะเกิดข่าวตอนเช้าแล้วทำเลย เกิดจากการรู้สึกว่าไม่โอเค เราอยากถ่ายทอด message นี้ออกไปให้คนส่วนมากเห็นก็เลยต้องทำเลย
มันเป็น message ที่เราพูดได้มากกว่าที่เราจะพูดได้ สมมติในเมืองไทยจำกัดเรื่องการพูด แต่การแสดงออกทางศิลปะหรือคนแชร์ไปแล้วเห็น มันเป็นเหมือน message นึงที่ทำให้เขาตั้งคำถาม ถ้ามันปล่อยออกไปแล้วทำให้คนกล้ามันก็สำเร็จในแบบของผมแล้ว”
ติดตามได้ที่ kenserkago