เหตุสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ในปี 2553 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ผ่านไป 9 ปีแล้ว จนสถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลาย ความจริงในคดีความต่างๆ เริ่มปรากฎ แต่สิ่งที่ยังไม่มีความคืบหน้า คือการหาตัวผู้รับผิดชอบต่อความตายของผู้คนจำนวนมากมาลงโทษได้
เหตุความสูญเสียในปี 2553 เริ่มต้นขึ้นจากการชุมนุมใหญ่ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ที่เคยเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่เรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งพวกเขามองว่าขึ้นมามีอำนาจอย่างไม่ชอบธรรม ในเดือน เม.ย.2552 มาแล้ว แต่ครั้งนั้นถูกสลายการชุมนุมไปก่อน
การชุมนุมของ นปช. ในปี 2553 เริ่มต้น 12 มี.ค. โดยตั้งเวทีใหญ่ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ด้วยข้อเรียกร้องคือให้รัฐบาลขณะนั้นยุบสภาภายใน 24 ชั่วโมง จากนั้นการชุมนุมก็ทวีความเข้มข้นขึ้น (โดยบางช่วง ว่ากันว่ามีผู้ร่วมชุมนุมหลักแสนคน) เมื่อมีการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลด้วยวิธีการต่างๆ คู่ขนานกัน ก็มีกองกำลังไม่ทราบฝ่าใช้อาวุธสงครามยิงเข้าใส่สถานที่ราชการหรือบ้านบุคคลสำคัญอยู่บ่อยครั้ง จนต้องมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง พร้อมตั้ง ศอ.รส.มาดูแลสถานการณ์ ก่อนจะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตั้ง ศอฉ. เข้ามาควบคุมการชุมนุมในเวลาต่อมา
ความจริงการชุมนุมเกือบจะยุติลงได้ด้วยดี เมื่อแกนนำรัฐบาลนำโดยอภิสิทธิ์ และแกนนำ นปช.นำโดยวีระ มุสิกพงศ์ เปิดเจรจาถึง 2 ครั้งที่สถาบันพระปกเกล้า แต่ก็ไม่สามารถตกลงช่วงเวลาในการยุบสภาได้
และความรุนแรงก็เริ่มต้นขึ้น ในวันที่ 10 เม.ย.2553 เมื่อทหารออกมาสลายการชุมนุม จนเกิดเหตุปะทะกัน (พร้อมการปรากฎตัวของผู้ใช้อาวุธในหมู่ผู้ชุมนุมที่ฟากรัฐบาลเรียกว่า ‘ชายชุดดำ’) มีผู้เสียชีวิตทั้งฝ่ายทหารและผู้ชุมนุมถึง 27 คน และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน ต่อมาแกนนำ นปช.ได้ย้ายเวทีใหญ่ไปตั้งที่สี่แยกราชประสงค์ พร้อมกับตั้งบังเกอร์รอบๆ สถานที่ชุมนุม ระหว่างนั้นภาครัฐที่ให้ทหารใช้กระสุนจริงเข้าปฏิบัติการได้ ก็เริ่มกระชับพื้นที่ชุมนุม ก่อนเริ่มปฏิบัติการสลายการชุมนุม ในวันที่ 19 พ.ค.2553 ซึ่งแกนนำ นปช.ประกาศยุติการชุมนุมและมอบตัวต่อตำรวจราวบ่ายสองโมง โดยมีผู้เสียชีวิตตลอดทั้งระยะเวลาการชุมนุม เกินกว่า 90 คน และบาดเจ็บอีกหลักพัน
ถือเป็นเหตุชุมนุมทางการเมืองที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และชวนให้ตั้งคำถาม รวมถึงหาวิธีป้องกันการใช้อาวุธสงครามในสถานการณ์การชุมนุม ทั้งในฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐและฝั่งผู้ชุมนุมเอง รวมถึงชวนให้ทุกคนร่วมกันขบคิดหาวิธีออกจากความขัดแย้งโดยไม่สูญเสียเลือดเนื้ออีก
ผู้เสียชีวิต 99 ศพ?
จำนวนผู้เสียชีวิต จากเหตุสลายการชุมนุมในปี 2553 มีเท่าใดกันแน่? บางสื่อมักพาดหัวว่ามี ’99 ศพ’ แต่จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า น่าจะมีผู้เสียชีวิตราว 95 คน โดยเสียชีวิตในช่วงระหว่างเกิดเหตุการณ์ 94 คน และเสียชีวิตภายหลัง 1 คน
ทั้งนี้ ในจำนวนผู้เสียชีวิต เป็นพลเรือน 89 ราย (รวม พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล) และเป็นทหารอีก 6 ราย
จากการชันสูตรพลิกศพ 33 กรณี มีอย่างน้อย 17 รายที่เสียชีวิตจากทหาร/กระสุนที่มาจากฝั่งทหาร/ระหว่างปฏิบัติการของทหาร โดยเฉพาะผู้เสียชีวิตทั้ง 6 คนในวัดปทุมวนาราม หลังการชุมนุมยุติแล้วในวันที่ 19 พ.ค.2553
ส่วนทหารที่เสียชีวิต 5 รายถูกระเบิด ในเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.2553 บริเวณถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา อีก 1 รายถูกกระสุนจากทหารด้วยกันเอง
รายชื่อผู้เสียชีวิต อ้างอิงจากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 และเว็บไซต์ประชาไท (อัพเดทข้อมูลเมื่อปี 2560) ประกอบด้วย
- นายเกรียงไกร คำน้อย (ชันสูตรพลิกศพ / กระสุนมาจากฝั่งทหาร)
- นายอนันท์ ชินสงคราม
- นายมนต์ชัย แซ่จอง
- นายธวัฒนะชัย กลัดสุข
- นายไพรศล ทิพย์ลม
- นายอำพน ตติยรัตน์
- นายอนันต์ สิริกุลวาณิชย์
- นายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์
- นายสวาท วางาม
- นายบุญธรรม ทองผุย
- นายสมิง แตงเพชร
- นายสมศักดิ์ แก้วสาร
- นายนภพล เผ่าพนัส
- นายบุญจันทร์ ไหมประเสริฐ
- นายยุทธนา ทองเจริญพูลพร
- นายวสันต์ ภู่ทอง (ชันสูตรพลิกศพ / ไม่ทราบใครยิง)
- นายสยาม วัฒนนุกุล (ชันสูตรพลิกศพ / กระสุนมาจากฝั่งทหาร)
- นายจรูญ ฉายแม้น (ชันสูตรพลิกศพ / กระสุนมาจากฝั่งทหาร)
- Hiroyuki Muramoto (ชันสูตรพลิกศพ / ไม่ทราบใครยิง)
- นายทศชัย เมฆงามฟ้า (ชันสูตรพลิกศพ / ไม่ทราบใครยิง)
- นายคนึง ฉัตรเท
- พลทหาร ภูริวัฒน์ ประพันธ์ *ทหาร
- พลทหาร อนุพงษ์ เมืองรำพัน *ทหาร
- พ.อ. ร่มเกล้า ธุวธรรม *ทหาร
- พลทหาร สิงหา อ่อนทรง *ทหาร
- พลทหาร อนุพงศ์ หอมมาลี *ทหาร
- นายมานะ อาจราญ (ชันสูตรพลิกศพ / ไม่ทราบใครยิง)
- นางธันยนันท์ แถบทอง
- ร้อยตรีณรงค์ฤทธิ์ สาละ *ทหาร (ชันสูตรพลิกศพ / กระสุนมาจากปืนทหาร)
- ส.ต.อ. กานต์ณุพัฒน์ เลิศจันทร์เพ็ญ
- จ.ส.ต.วิทยา พรมสารี
- พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล
- นายชาติชาย ชาเหลา (ชันสูตรพลิกศพ / กระสุนมาจากฝั่งทหาร)
- นางสาวละอองดาว กลมกล่อม
- นายเสน่ห์ นิลเหลือง
- นายอินแปลง เทศวงศ์
- นายบุญมี เริ่มสุข (ชันสูตรพลิกศพ / ไม่ทราบใครยิง)
- นายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง (ชันสูตรพลิกศพ / ไม่ได้ตายจากการถูกยิง)
- นายประจวบ ศิลาพันธ์ (ชันสูตรพลิกศพ / ไม่ทราบใครยิง)
- นายปิยะพงษ์ กิติวงศ์ (ชันสูตรพลิกศพ / ไม่ทราบใครยิง)
- นายสมศักดิ์ ศิลารักษ์ (ชันสูตรพลิกศพ / ไม่ทราบใครยิง)
- นายทิพเนตร เจียมพล
- นายกิติพันธ์ ขันทอง
- นายชัยยันต์ วรรณจักร
- นายธันวา วงศ์ศิริ
- นายบุญทิ้ง ปานศิลา
- นายสรไกร ศรีเมืองปุน
- นายเหิน อ่อนสา
- น.ส.สัญธะนา สรรพศรี
- นายมนูญ ท่าลาด
- นายพัน คำกอง (ชันสูตรพลิกศพ / กระสุนจากฝั่งทหาร)
- ด.ช. คุณากร ศรีสุวรรณ (ชันสูตรพลิกศพ / กระสุนจากฝั่งทหาร)
- นายวารินทร์ วงศ์สนิท
- นายพรสวรรค์ นาคะไชย (ชันสูตรพลิกศพ / ไม่ทราบใครยิง)
- นายมานะ แสนประเสริฐศรี (ชันสูตรพลิกศพ / ไม่ทราบใครยิง)
- นายเกรียงไกร เลื่อนไธสง
- นายวงศกร แปลงศรี
- นายสมาพันธ์ ศรีเทพ
- นายสุภชีพ จุลทัศน์
- นายอำพล ชื่นสี
- นายชาญณรงค์ พลศรีลา (ชันสูตรพลิกศพ / กระสุนจากฝั่งทหาร)
- นายธนากร ปิยะผลดิเรก
- นายอุทัย อรอินทร์
- นายสมชาย พระสุพรรณ (ชันสูตรพลิกศพ / ไม่ทราบใครยิง)
- นายสุพรรณ์ ทุมทอง
- นายเฉลียว ดีรื่นรัมย์
- นายวุฒิชัย วราคัม
- นายประจวบ ประจวบสุข (ชันสูตรพลิกศพ / ไม่ทราบใครยิง)
- นายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล (ชันสูตรพลิกศพ / ไม่ทราบใครยิง)
- นายสมัย ทัดแก้ว
- นายสุพจน์ ยะทิมา
- จ.ส.อ.พงศ์ชลิต ทิพยานนทกาญจน์ (ชันสูตรพลิกศพ / ไม่ทราบใครยิง)
- นายสมพาน หลวงชม
- นายเยื้อน โพธิ์ทองคำ
- นายมูฮัมหมัด อารี (ออง ละวิน ชาวพม่า)
- นางประจวบ เจริญทิม
- นายปรัชญา แซ่โค้ว
- น.ส.วาสินี เทพปาน
- นายถวิล คำมูล (ชันสูตรพลิกศพ / กระสุนจากฝั่งทหาร)
- นายธนโชติ ชุ่มเย็น
- นายนรินทร์ ศรีชมภู (ชันสูตรพลิกศพ / กระสุนจากฝั่งทหาร)
- ส.อ. อนุสิทธิ์ จันทร์แสนตอ
- ชายไม่ทราบชื่อ (ชันสูตรพลิกศพ / ถูกยิงระหว่างทหารเข้าปฏิบัติการ)
- Fabio Polenghi (ชันสูตรพลิกศพ / กระสุนมาจากฝั่งทหาร)
- นายมงคล เข็มทอง (ชันสูตรพลิกศพ / กระสุนมาจากฝั่งทหาร)
- นายสุวัน ศรีรักษา (ชันสูตรพลิกศพ / กระสุนมาจากฝั่งทหาร)
- น.ส. กมนเกด อัดฮาด (ชันสูตรพลิกศพ / กระสุนมาจากฝั่งทหาร)
- นายอัครเดช ขันแก้ว (ชันสูตรพลิกศพ / กระสุนมาจากฝั่งทหาร)
- นายอัฐชัย ชุมจันทร์ (ชันสูตรพลิกศพ / กระสุนมาจากฝั่งทหาร)
- นายรพ สุขสถิตย์ (ชันสูตรพลิกศพ / กระสุนมาจากฝั่งทหาร)
- นายกิตติพงษ์ สมสุข
- นายทรงศักดิ์ ศรีหนองบัว
- นายเพิน วงศ์มา
- นายอภิชาติ ระชีวะ
- ประชา ศรีคูณ *บาดเจ็บจากการชุมนุม เป็นอัมพาต และเสียชีวิต (เสียชีวิตภายหลัง)
ใครเผาห้าง-สถานที่ราชการ
หลังเหตุการณ์ไม่นาน พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงว่า มีอาคารสถานที่ใน กทม. ถูกเผารวม 39 แห่ง ขณะที่สื่อบางสำนักก็รายงานว่า มีการเผาอาคารสถานที่อื่นในต่างจังหวัด โดยเฉพาะการเผาศาลากลางในภาคอีสานอีกหลายจุด
ก่อนหน้าชุมนุมในเดือน มี.ค.-พ.ค.2553 แกนนำ นปช.บางคนก็เคยพูดถึงการเผาอาคารสถานที่ ทำให้หลายๆ คนมองว่า อาจเป็นฝีมือของผู้ชุมนุมหรือไม่ (และวาทกรรม ‘เผาบ้านเผาเมือง’ ก็ถูกนำมาใช้ทางการเมือง)
จนถึงบัดนี้ มีคดีเผาอาคารสถานที่สำคัญๆ หลายคดีที่ได้บทสรุปแล้ว เช่น
– คดีเผาอาคารสำนักงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย – ในปี 2562 ศาลฎีกาตัดสินว่า การเข้ามาเผาเกิดขึ้นในวันที่ 19 พ.ค.2553 ตอนราวบ่ายสามโมง หลัง นปช.ยุติการชุมนุมราวบ่ายโมงวันเดียวกัน โดยฝีมือของผู้ปิดบังอำพรางใบหน้า 10 คน จึงไม่ใช่การก่อการร้าย ให้บริษัทประกันภัยจ่ายเงินชดใช้
– คดีเผาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ 2 คดี – ในปี 2557 ศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้องจำเลยที่เป็นผู้ชุมนุม นปช. ทั้ง 2 คน คือสายชล แพบัว และพินิจ จันทร์ณรงค์ เนื่องจากพยานโจทก์ยังให้การที่มีเหตุอันควรสงสัย ทั้งอยู่การเห็นจำเลยด้วยระยะห่าง 30 เมตร หรือการใช้ภาพถ่ายจำเลยที่ในมือถือถังดับเพลิง ไม่ใช่อุปกรณ์ในการเผา และก่อนหน้านี้ ในปี 2555 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ก็ยกฟ้องเยาวชน 2 คน เพราะไม่มีพยานโจทก์ยืนยันว่าทั้งคู่เป็นผู้เผา
– ศาลเผาศาลากลางจังหวัด 4 จังหวัดในภาคอีสาน – ในปี 2558 คดีเผาศาลากลาง จ.อุบลราชธานี ศาลฎีกาตัดสินจำคุกพิเชษฐ ทาบุดดา หรือดีเจต้อย ตลอดชีวิต รวมถึงแนวร่วม นปช.อีก 12 คน ในปี 2557 คดีเผาศาลากลาง จ.อุดรธานี ศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุกจำเลยแนวร่วม นปช. 9 คน โทษสุงสุดจำคุก 22 ปี 6 เดือน (คดีสิ้นสุดแล้ว) ในปี 2558 คดีเผาศาลากลาง จ.ขอนแก่น ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยแนวร่วม นปช. 4 คน โทษสูงสุด 13 ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างอุทธรณ์ คดีเผาศาลากลาง จ.มุกดาหาร ศาลอุทธรณ์จำคุกแนวร่วม นปช. 13 คน โทษสูงสุด 15 ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างฎีกา
คดีเอาผิดรัฐบาล ทหาร แกนนำ
หลังเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ ก็มีเสียงเรียกร้องให้เอาผิดกับผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้สั่งการให้สลายการชุมนุม
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนคดีเอาผิดผู้สั่งการระดับนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผบ.ทบ.ขณะนั้นจะยุติลงไปแล้ว หลังจากในปี 2560 ศาลฎีกายกคำฟ้องที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอให้เอาผิดอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. เนื่องจากศาลขั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ชี้ว่าคดีเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่มิชอบต้องเป็นของ ป.ป.ช.
ส่วนคดีที่ยื่นร้องให้ ป.ป.ช. เอาผิดอภิสิทธิ์ สุเทพ รวมถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ก็ยกคำร้องไปตั้งแต่ปี 2558 โดย ป.ป.ช.ชี้ว่าการสลายชุมนุม เป็นไปตามหลักสากล การชุมนุมของ นปช. ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ และหากจะเอาผิดกับทหารที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตก็สามารถยื่นฟ้องเป็นรายๆ ไปได้
แต่ล่าสุด อัยการทหารก็เพิ่งมีมติไม่สั่งฟ้องคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม กับ 8 ทหารสไนเปอร์ที่อยู่บนรางรถไฟฟ้า BTS วันที่ 19 พ.ค.2553 โดยอ้างว่า ไม่มีพยานบุคคลให้การว่าทหารทั้งหมดยิงเข้าไปในวัดปทุมฯ
ขณะที่คดีกล่าวหา แกนนำ นปช. มีพฤติกรรมก่อการร้าย จากการชุมนุมขับไล่รัฐบาลเมื่อปี 2553 สืบพยานทั้งหมดเสร็จสิ้น รอฟังคำพิพากษาในวันที่ 14 ส.ค.นี้ ส่วนคดีกล่าวหาว่าทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มีความผิดฐานก่อการร้าย กรณีโฟนอินมาในสถานที่ชุมนุม อัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้องไปตั้งแต่ปี 2556
ความยุติธรรมที่ล่าช้า ก็คือความอยุติธรรม ไม่รู้อีกนานแค่ไหน กว่าผู้ควรจะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้จริงๆ จะถูกลงโทษ