คิดว่าการทำแท้งเป็นเรื่องผิดศีลธรรมหรือไม่? และคนที่ไปทำแท้งเป็นคนใจร้ายรึเปล่า?
การต่อสู้เรื่องการทำแท้งในประเทศไทยเกี่ยวข้องกับหลักศีลธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนมาหลายสิบปีแล้ว โดยฝ่ายที่อยากให้มีการปรับปรุงกฎหมายเรื่องการทำแท้งก็จะให้เหตุผลในเรื่องของความจำเป็นและสิทธิ์ในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง ในขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายก็มักอ้างเรื่องของศีลธรรม
หากดูในตัวกฎหมาย จริงๆ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่ได้ห้ามให้มีการทำแท้งเลย กลับกันได้มีการอนุญาตให้ทำแท้งได้ในบางกรณี แต่แล้วทำไมถึงได้มีกระแสที่ออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายกันนะ
The MATTER จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจว่า กฎหมายยุติการตั้งครรภ์ในไทยเป็นอย่างไร? และทำไมถึงต้องมีการแก้ไข?
สถานการณ์การทำแท้งในประเทศไทย
ก่อนจะไปเข้าเรื่องกฎหมาย เราอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจสถานการณ์การทำแท้งในประเทศไทยก่อน
ข้อมูลการทำแท้งจากกรมอนามัยที่ได้ทำการสำรวจโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใน 24 จังหวัด เมื่อปี พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา แต่ได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยแท้งเองตามธรรมชาติ (spontaneous abortion) มากกว่าผู้ป่วยทำแท้ง (artificial abortion)
และส่วนของสาเหตุในการทำแท้ง ผู้ที่ตัดสินใจทำแท้งด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว มีจำนวนมากกว่า ผู้ที่ตัดสินใจทำแท้งด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ
เมื่อเจาะลงไปในกลุ่มผู้ป่วยที่ตัดสินใจทำแท้งด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว พบว่า คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษา รองลงมา คือ เป็นกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี และกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี ตามลำดับ
ในขณะที่รายงานการเฝ้าระวังการแท้งในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2560 จากกรมอนามัยเช่นกัน ได้ทำการสำรวจผู้ป่วยแท้ง 2,564 ราย พบว่า 51.4% เป็นผู้ที่แท้งเองตามธรรมชาติ และ 48.6% เป็นผู้ที่ตัดสินใจทำแท้ง
และหากมาดูในกลุ่มผู้ป่วยทำแท้งพบว่า ส่วนใหญ่ตั้งใจตั้งครรภ์ และส่วนที่ไม่ตั้งใจตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด และถุงยางอนามัย
กลุ่มผู้ป่วยยังสามารถแบ่งออกได้ตามเหตุผลในการทำแท้ง ได้แก่ กลุ่มที่ทำแท้งด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ และกลุ่มที่ทำแท้งด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ สังคมและครอบครัว
สำหรับกลุ่มผู้ป่วยทำแท้งด้วยเหตุผลด้านสุขภาพส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนวัยทำงานที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป กลุ่มที่ตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจส่วนใหญ่มีการใช้การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว ได้แก่ ยาเม็ดคุมกำเนิด และถุงยางอนามัย ส่วนสาเหตุในการทำแท้งมีทั้งเรื่องของ ทารกในครรภ์เสียชีวิต หรือ มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ตกเลือดมาก
ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่ทำแท้งด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ สังคมและครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 25 ปี ส่วนใหญ่ไม่ตั้งใจตั้งครรภ์และนิยมใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ส่วนสาเหตุในการทำแท้ง ที่มากที่สุด คือ มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตร รองลงมา คือ การตั้งครรภ์เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ และยังเรียนไม่จบ ตามลำดับ
ข้อมูลทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจส่วนใหญ่มีการคุมกำเนิด และถึงแม้มีการคุมกำเนิดในช่วงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วก็ตาม เช่น ทานยาคุม หรือ ใช้ถุงยางอนามัย ก็มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้ แต่การตั้งครรภ์ในกรณีนี้ อาจเกิดขึ้นได้จากการคุมกำเนิดไม่ถูกต้อง หรือ การคุมกำเนิดล้มเหลว

http://www.probation.go.th/contentdl.php?id=27939
คนพูดถึงอะไรในกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง?
ในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้ระบุให้การทำให้แท้งลูกเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและร่างกาย และมีการกำหนด 5 มาตราที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง ได้แก่มาตรา 301 – 305 แต่มาตราสำคัญที่คนพูดถึงมี 2 มาตรา ได้แก่ มาตรา 301 และมาตรา 305
มาตรา 301 ระบุว่า หญิงใดทําให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทําให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ส่วนมาตรา 305 ระบุว่า ถ้าการกระทําความผิดดังกล่าวในมาตรา 301 และมาตรา 302 นั้น เป็นการกระทําของนายแพทย์ และ (1) จําเป็นต้องกระทําเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ (2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทําความผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือมาตรา 284 ผู้กระทําไม่มีความผิด
กฎหมายมาตราดังกล่าวมีการบังคับใช้มานานกว่า 60 ปีแล้ว และที่ผ่านมาก็มีการต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้การแก้ไข ซึ่งตอนนี้ได้มาถึงจุดเปลี่ยนแล้ว
หลังจากที่ ศรีสมัย เชื้อชาติ แพทย์หญิงที่เคยโดนดำเนินคดีจากการเปิดคลินิกทำแท้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2562 ได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และมาตรา 28 หรือไม่ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 มาตรา 28 และ มาตรา 77 หรือไม่
และศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยคำร้องของ ศรีสมัย ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา มีมติให้มีการแก้ไขมาตรา 301 และมาตรา 305 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งนำไปสู่มติองคณะรัฐมนตรีที่ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงยุติธรรม ร่วมกันแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ถือเป็นความก้าวหน้าเรื่องของการแก้กฎหมายทำแท้งในรอบหลายสิบปี

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1058409964274891
เลือกปฏิบัติ – ไม่ครอบคลุม เหตุผลที่ต้องแก้กฎหมายทำแท้งไทย
The MATTER ได้พูดคุยกับ อ.กฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้ที่ผลักดันให้เกิดการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งสำหรับการแก้ไขมาตรา 301 อาจารย์กล่าวว่า ตัวกฎหมายมองผู้กระทำความผิดเป็นผู้หญิง ในขณะที่มาตราอื่นๆ ผู้กระทำความผิดจะใช้คำว่าบุคคลรวมทั้งหญิงและชาย แต่ว่ามาตรานี้ ใช้คำว่าผู้หญิงคำเดียว ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ
อ.กฤตยา เห็นว่ามาตรานี้มีความแปลก และเป็นอาชญากรรมที่ไม่มีเหยื่อ (victimless crime) เพราะการทำแท้งผู้หญิงกระทำต่อตัวเอง ไม่มีกฎหมายเอาผิดคนตัดแขนขาตัวเอง หรือเอาไตตัวเองไปขาย ทำไมกฎหมายถึงเอาผิดเมื่อผู้หญิงทำกับเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง
ส่วนการแก้ไขมาตรา 305 อ.กฤตยา เผยว่า มี 3 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นที่หนึ่ง คือ คำว่าสุขภาพในอดีตถูกตีความไว้คับแคบ เฉพาะสุขภาพกายเท่านั้น แต่เมื่อมีการออกข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วย หลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548 ได้กำหนดให้คำว่าสุขภาพครอบคลุมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต แต่นักกฎหมายบางคนคัดค้านว่า ข้อบังคับจากแพทยสภาเป็นกฎหมายที่เล็กกว่าประมวลกฎหมายอาญา เอามาบังคับใช้กับมาตรา 305 (1) ของประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้
ประเด็นที่สอง คือ ถ้าตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด การทำแท้งตัวอ่อนในครรภ์ที่มีปัญหาต่างๆ เช่น ไม่มีกะโหลกศรีษะ ยังถือว่าผิดกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายใดถือว่าให้ทำได้ จึงต้องการให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้ครอบคลุมถึงตัวอ่อนในครรภ์ที่มีปัญหา ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้สามารถยุติการตั้งครรภ์แบบนั้นได้แล้ว
และประเด็นสุดท้าย คือ เรื่องของการคุมกำเนิดผิดพลาด ทำหมันไปแล้วก็ยังตั้งครรภ์อยู่ ซึ่งไม่มีการคุมกำเนิดแบบใดที่สามารถป้องกันได้ 100% ต่อให้ทำหมันแล้ว ก็มีโอกาสที่จะหลุดได้ แม้จะต่ำก็ตาม
อาจารย์สรุปว่า ข้อเท็จจริงเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามาตรา 305 (1) และ (2) มีความไม่ครอบคลุม ควรจะมีการแก้ไข และที่สำคัญควรจะมีการแก้ไขเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์ตามความต้องการของตัวเอง
อ.กฤตยา กล่าวเสริมว่า กลุ่มคนที่ทำงานด้านนี้ เช่น แพทย์ ได้มีความเห็นร่วมกันว่าควรจะมีการกำหนดระยะเวลาในการให้ทำแท้ง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไอซ์แลนด์ที่กำหนดว่าหากมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ แต่ถ้าเกิน 12 สัปดาห์ก็ต้องดูเป็นกรณีไป
เมื่อถามว่าการแก้กฎหมายจะทำให้คนคุมกำเนิดน้อยลงหรือไม่อย่างไร อ.กฤตยา เผยว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน ประเด็นหลักของเรื่องการทำแท้ง มันเกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษา ถ้าเราให้การศึกษาเรื่องเพศศึกษาอย่างรอบด้าน และมีประสิทธิภาพ มันจะเพิ่มอัตราการคุมกำเนิด เราจะไม่มองเรื่องเพศเป็นเรื่องสกปรกหรือเป็นเรื่องที่พูดคุยไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น มันเคยมีข้อเสนอว่า ให้ติดตู้ขายถุงยางในโรงเรียน คนก็ค้านเยอะมาก เพราะฉะนั้นถ้าเราทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการคุมกำเนิดได้ จะลดเรื่องนี้ไปด้วย มันเป็นงานอีกด้านหนึ่ง ที่จะต้องทำควบคู่กันไป

https://reproductiverights.org/worldabortionlaws
กฎหมายทำแท้งไทยอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น
ศูนย์สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ (Center for reproductive rights) ได้แบ่งสถานะของกฎหมายทำแท้งออกเป็น 5 สี ได้แก่
1.สีแดง – ห้ามทุกกรณี (Prohibited Altogether)
2.สีชมพู – เพื่อช่วยชีวิตผู้หญิง (To Save the Woman’s Life)
3.สีเหลือง – เพื่อรักษาสุขภาพ (To Preserve Health)
4.สีฟ้า – ครอบคลุมเหตุผลด้านสังคมหรือเศรษฐกิจ (Broad Social or Economic Grounds)
5.สีน้ำเงิน – ตามคำร้องขอ แต่มีการกำหนดข้อจำกัดการตั้งครรภ์ที่หลากหลาย (On Request (Gestational Limits Vary))
สำหรับการทำแท้งได้ตามคำร้องขอ (On Request) อ.กฤตยา ได้อธิบายว่า ถ้ามีปัญหาต้องการยุติการตั้งครรภ์ก็ไปขอเข้าถึงบริการได้ตามหน่วยบริการ แต่ก็มีเงื่อนไข เช่น ต้องไปที่ไหน? อายุครรภ์ต้องเท่าไหร่? เพราะฉะนั้นไม่ได้เป็นการทำแท้งเสรี ประเทศในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างประเทศในแถบสหภาพยุโรป (EU) หลายประเทศ
ส่วนประเทศไทย อ.กฤตยา เผยว่าอยู่ในกรณีรวมเหตุผลเฉพาะทางสุขภาพของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ (สีเหลือง) แต่บางประเทศในกลุ่มนี้รวมการมีความสัมพันธ์ในเครือญาติ (Incest) ด้วย ซึ่งกฎหมายไทยไม่มี ให้เฉพาะเหตุผลทางสุขภาพของผู้หญิง และยังเน้นไปที่สุขภาพทางกายที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์
อย่างไรก็ตาม อ.กฤตยา เผยว่า ประเทศไทยอยู่ในระดับกลางๆ แต่ปัญหาคือ ผู้หญิงที่เข้าข่ายขอรับบริการทำแท้งได้ หน่วยบริการหลายแห่ง แพทย์หรือพยาบาลไม่ยอมให้บริการ ในขณะที่ภาครัฐไม่เคยประชาสัมพันธ์ เพราะฉะนั้นผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และหาที่ทำแท้งไม่ได้ ในอดีตจึงมักไปหาหมอเถือน ปัจจุบันก็ยังมีบ้าง แต่น้อยกว่าในอดีต เพราะปัจจุบันผู้หญิงมักจะหาซื้อยายุติการตั้งครรภ์มากกว่า
อาจารย์ได้อธิบายถึงสาเหตุที่ผู้ให้บริการไม่ยอมให้บริการว่า ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทัศนคติ หรือ ความเชื่อ เช่น มองว่าผู้หญิงที่เขารับการทำแท้งเป็นผู้หญิงที่มีพฤติกรรมทางลบ ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่มองแบบนี้ จะเอามาตรฐานทางศีลธรรมมาเป็นตัวตัดสิน และมักจะตัดสินล่วงหน้า โดยไม่รู้รายละเอียดชีวิตของคนที่เผชิญปัญหาว่า เขามีปัญหาอย่างไร
สำหรับประเทศที่มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งที่น่าสนใจ อ.กฤตยา เผยว่า ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศแรกในโลกที่ไม่มีกฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับการทำแท้ง โดยเน้นให้การทำแท้งเป็นบริการด้านสุขภาพ

https://www.change.org/p/thai-ministry-of-health-health-department-moph-thailand-to-publicize-the-existing-safe-abortion-service
“ในโลกนี้ไม่มีการทำแท้งเสรี”
เมื่อถามว่าการทำแท้งไทยควรเปิดเสรีเลยหรือไม่ อ.กฤตยา เผยว่า ในโลกนี้ไม่มีการทำแท้งเสรี แม้แต่ในประเทศที่ให้การทำแท้งสามารถร้องขอได้ ก็มีการตั้งเงื่อนไข เช่น ต้องทำที่ไหน ทำโดยใคร ทำในอายุครรภ์ที่เหมาะสมอย่างไร ไม่เหมือนเวลาอยากจะซื้อไข่ เราเดินไปตลาดซื้อไข่ได้ หรือเหมือนเวลาซื้อพาราเซตามอล ปวดหัวก็ไปซื้อ
อ.กฤตยา ได้พูดถึงท่าทีของภาครัฐที่มีต่อเรื่องนี้ว่า ทำเยอะอยู่ อย่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็มีให้เบิกค่ายุติการตั้งครรภ์ได้รายละ 3,000 บาท และการฝั่งยาคุมกำเนิดก็ให้บริการแบบไม่คิดเงินตามสิทธิ์บัตรทอง ในขณะที่สำนักอนามัยการเจริญพันธ์ก็มีเครือข่ายแพทย์พยาบาลอาสา (RSA) ที่ให้บริการส่งต่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย แต่กระทรวงอื่น เช่น กระทรวงแรงงาน จะออกกฎระเบียบได้หรือไม่ ให้ผู้หญิงที่ไปทำแท้งสามารถเบิกเงินประกันสังคมได้ เป็นต้น
ความขัดแย้งระหว่างหลักศีลธรรมและหลักเหตุผล เป็นอุปสรรค์ต่อพัฒนาการด้านทำแท้งของประเทศไทยตลอดมา แต่จากสถานการณ์ในตอนนี้ ความขัดแย้งดูเหมือนจะเริ่มทุเลาลง หลังมีการเริ่มต้นให้มีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย และการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้การทำแท้งดูเป็นผู้ร้ายในสายตาของใครบางคนน้อยลงกว่าเดิมได้
อ้างอิง