มากเกินไปหรือถ้าคนออทิสติกคนหนึ่ง มีความตั้งใจอยากออกมาใช้ชีวิตตัวคนเดียวในเมืองกรุง ทำงานหาเลี้ยงตัวเองและมีความสุขตามอัตวิสัย?
อัษฎากรณ์ ขันตีหรืออัษ คือหนึ่งในคนออทิสติกคนดังกล่าว ที่ไม่ใช่คนออทิสติกทุกคนจะทำแบบเดียวกันกับเขาได้ ด้วยข้อจำกัดทางด้านร่างกายและโครงสร้างพื้นฐานของสังคมไทย ที่ไม่ได้เพียงพอให้คนออทิสติกสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพโดยปราศจากการดูแลของครอบครัว
ก้าวแรกที่จะไปสู่ความฝันของอัษ คือก้าวย่างที่เขาตัดสินใจเดินออกมาจากบ้านและการดูแลของผู้ปกครอง มาใช้ชีวิตทำงานอยู่ตัวคนเดียวในเมืองกรุง อัษมีความฝันว่า “อยากให้สังคมเปิดกว้าง จริงใจ เป็นมิตรกับคนออทิสติกให้มากกว่านี้ คนออทิสติกมีความสามารถ มีศักยภาพ และสามารถทำงานและเรียนร่วมกับผู้อื่นได้”
ภายใต้ความมุ่งมั่นที่เขาค่อยๆ เดินตามฝันไปที่ละก้าว เราได้มีโอกาสเข้าไปสำรวจชีวิตของอัษตั้งแต่ลืมตาตื่นในยามเช้าจนถึงหลับตาลงในยามค่ำ บนแฟลตเล็กๆ ย่านปริมณฑลที่เขาเช่าอยู่ ชีวิตอัษเริ่มต้นขึ้นในเวลาเจ็ดนาฬิกา
07.00 เริ่มต้นวันของอัษฎากรณ์
อัษเรียนจบสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เขาเกิดและเติบโตที่จังหวัดเพชรบุรี ผ่านการดูแลของปู่ ย่าและอา เมื่อพ่อกับแม่เขาตัดสินใจแยกทางกัน ช่วงมัธยมต้นอัษมีช่วงเวลาสั้นๆ ของชีวิต ย้ายตามแม่เพื่อไปอยู่ดูแลตากับยายที่จังหวัดมหาสารคาม
“พ่อกับแม่รู้ว่าผมเป็นออทิสติกตอน 2-3 ขวบ” อัษกล่าวในช่วงเช้าที่เขาเดินจากหอพักเพื่อไปทำงานที่มูลนิธิออทิสติกไทย
โรคออทิสติก (Autistic Disorder) เป็นความผิดปกติของพัฒนาการรูปแบบหนึ่ง ส่งผลต่อการพัฒนาทักษะสังคม ทักษะทางภาษา และการสื่อความหมายได้เหมาะสมตามวัย คนออทิสติกจะมีลักษณะพฤติกรรม กิจกรรม และความสนใจเป็นแบบแผนซ้ำๆ ไม่ยืดหยุ่น ออทิสติกเป็นโรคที่รู้จักมาเป็นเวลา 60 ปีแล้วแต่ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้
“ผมชอบดูหนังกับอ่านหนังสือ เพราะที่บ้านมีแต่คนชอบอ่านหนังสือ และพ่อชอบพาผมไปร้านเช่าวิดีโอ”
การ์ตูนเรื่องโปรดในวัยเด็กของอัษคือทอมแอนด์เจอร์รี่ ส่วนหนังสือนั้นเขาหยิบวิมานลอย ของมาร์กาเร็ต มิตเชลล์ (Margaret Mitchell) นวนิยายเล่มหนาปึกมาโชว์ให้ผมดู และบอกว่าคงอ่านจบช่วงเดือนตุลาคม โดยที่มีหนังสือ 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ต่อคิวอยู่เป็นเล่มถัดไปที่เขาอยากอ่าน อัษเล่าว่าเขามักขลุกตัวอยู่ในห้องสมุดตั้งแต่เด็ก วันหนึ่งเขาอยากมีห้องสมุดเป็นของตัวเอง
“สมัยประถมผมไม่ชอบไปโรงเรียน ตอนนั้นอยากอยู่บ้านและมีความวิตกว่าจะมีคนมาแกล้ง”
อัษไม่ต่างจากคนออทิสติกโดยทั่วไปที่มักมีปัญหาในการเข้าสังคม แต่อัษก็พยายามปรับตัว วันนี้เขาสามารถใช้ชีวิตด้วยตนเอง สื่อสารกับคนรอบข้างบอกกล่าวในสิ่งที่เขาต้องการ แม่ค้าในละแวกที่พักเห็นอัษจนคุ้นตา โดยเฉพาะร้านข้าวราดแกงที่อัษมักสั่งไข่พะโล้มากินเป็นประจำ
“เขาก็มาพูดใส่เราว่าไอ้ติงต๊อง ไอ้ปัญญาอ่อน ผมก็มองเป็นเรื่องเฉยๆ พอโตขึ้นทุกคนก็เข้าใจเอง” อัษกล่าวถึงความทรงจำในวัยเรียน
เราใช้เวลาเดินไม่ถึง 10 นาทีจากร้านข้าวอัษก็เดินทางมาถึงที่มูลนิธิออทิสติกไทยก่อนเวลาแปดโมงเช้า ที่แห่งนี้เป็นสถานที่ทำงานแรกของชีวิตเขา และเป็นสถานที่เติมความฝันตั้งแต่วัยเด็กที่เขาชอบอ่านนิตยสารคอมพิวเตอร์ จนทำให้เขาหลงใหลในเรื่องของคอมพิวเตอร์
08.00 ตอกบัตรเข้างาน
“ทั้งหมดแถวตรง เตรียมตัวเคารพธงชาติ” เสียงแปร่งๆ จากคนออทิสติกบอกทุกคนให้เตรียมยืนเคารพธงชาติ
ที่มูลนิธิออทิสติกไทยมีคนออทิสติกหลายสิบคนที่ถูกแบ่งตามกลุ่มต่างๆ กลุ่มเสื้อสีเทาเช่นอัษ คือกลุ่มที่อยู่ศูนย์ฝึกอบรม เป็นกลุ่มที่เตรียมความพร้อมที่จะเข้าไปทำงานและต้องการเสริมทักษะเฉพาะ รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมกับคนทั่วไป กลุ่มต่อมาคือกลุ่มที่ทำอาชีพอิสระ เช่น บาริสต้า คนออทิสติกกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เรียนจบชั้นมัธยมปลาย แต่ไม่ได้เรียนต่อด้วยภาระทางบ้านจึงเริ่มทำงาน และกลุ่มเสื้อสีชมพูคือคนออทิสติกที่ยังต้องฝึกฝนทักษะพื้นฐานต่างๆ สุดท้ายคือกลุ่มเด็กศูนย์ศิลปะที่รับงานต่างๆ ผ่านบริษัท ออทิสติกไทย วิสาหกิจเพื่อสังคม จํากัด
“การปรับตัวในการใช้ชีวิตในสถานศึกษายอมรับว่ายากและต้องใช้เวลา” อัษเล่าย้อนถึงช่วงเวลาที่เขาเรียนรวมกับเด็กปกติ และด้วยเหตุผลดังกล่าว ที่แห่งนี้รองรับเด็กออทิสติกหลายคนที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา เพียงเพราะว่าสถานศึกษาไม่มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กออทิสติก
“เพื่อนที่เรียนด้วยกันผมก็เข้าใจ เราอยู่ในระบบที่แข่งกันเรียน ให้เขามาช่วยเรามันก็เป็นไปไม่ได้ แต่ก็มีความน้อยใจว่าทำไมไม่มีใครเข้าหาเลย ไม่มีเพื่อนมาคุย บางคนก็มองเราเป็นตัวตลก”
หลังจากจบกิจกรรมเข้าแถว ในวันดังกล่าวอัษมีประชุมในหัวข้อเรื่องแนวทางการพัฒนาการมีส่วนร่วมของคนพิการ โดยในเรื่องการศึกษาอัษกล่าวว่า อยากให้ระบบการศึกษากลับมาดูที่สมรรถนะของนักศึกษาเป็นหลัก ไม่ใช่ประเมินหลักสูตรกันที่เนื้อหาอย่างเดียว ควรมีวิธีติดตามประเมินผลการศึกษาที่ใส่ใจผู้เรียน
แม้ว่าการออกแบบหลักสูตรจะไม่ได้เอื้อต่อคนออทิสติกเช่นอัษ แต่เขาเรียนจบปริญญาตรี หลังจากเรียนจบอัษเล่าว่าเขาจำได้ว่า เมื่อสมัยมัธยมปลาย เขาได้เจอกับผู้ก่อตั้งมูลนิธิออทิสติกไทย อัษได้บอกว่าวันหนึ่งเมื่อเขาเรียนจบเขาจะกลับไปหา และเขาก็ทำตามสัญญานั้นด้วยการเดินทางมาที่มูลนิธิออทิสติกไทยหลังเรียนจบได้ 1 เดือน จนท้ายที่สุดเขาก็ได้รับตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประสานงานองค์กร ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงวันนี้เขาก็ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มาได้เกือบ 4 ปีแล้ว อัษบอกว่าถ้าเลือกได้เขาอยากใช้ชีวิตอยู่ จังหวัดเพชรบุรีมากกว่า แต่ที่นั่นไม่มีงานสำหรับคนออทิสติกแม้แต่น้อยเลย
ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในประเทศไทย แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหราชอาณาจักร งานวิจัย The Buckland Review of Autism Employment: report and recommendations ระบุว่ามีเพียง 3 ใน 10 คนเท่านั้นที่เป็นออทิสติกในวัยทำงานที่มีงานทำ ทั้งผู้ที่เป็นออทิสติกเผชิญกับช่องว่างรายได้ที่มากที่สุดในบรรดากลุ่มผู้พิการทั้งหมด โดยได้รับค่าจ้างน้อยกว่าผู้ไม่มีความพิการถึงหนึ่งในสามโดยเฉลี่ย
และแม้ว่าจะหางานได้แล้วแต่การรักษางานระยะยาวยังคงเป็นความท้าทายสำหรับผู้ที่เป็นออทิสติก พวกเขามักไม่ได้รับการสนับสนุนเพื่อให้สามารถทำหน้าที่ของตนได้เมื่อเผชิญกับสภาพแวดล้อมทางประสาทสัมผัสและสังคมที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงทำให้มีพนักงานที่เป็นออทิสติกเพียงประมาณ 35% เท่านั้นที่เปิดใจอย่างเต็มที่เกี่ยวกับการเป็นออทิสติกของตน และ 1 ใน 10 คนไม่เปิดเผยเรื่องภาวะออทิสติกให้กับคนที่ทำงานได้รับรู้
12.00 พักเที่ยง-จิบชากาแฟสนทนากับบาริสต้าออทิสติก
“It is OK to be different. (มันไม่เป็นอะไรที่เราจะแตกต่าง)” คือสโลแกนที่ชูศักดิ์ จันทยานนท์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิออทิสติกไทย ตั้งขึ้นมาบนพื้นฐานที่อยากให้ทุกคนยอมรับในเรื่องความหลากหลายและความแตกต่างของแต่ละคน เขาก่อตั้งมูลนิธิออทิสติกไทย ที่มีศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับคนออทิสติกโดยเฉพาะ เพื่อมาลดช่องว่างของระบบการศึกษาของไทยที่เป็นแบบ ‘One size fit all’
ข้อมูลจากชูศักดิ์ได้ระบุว่าวันนี้มีเด็กพิการเรียนอยู่ในระบบการศึกษาเกือบ 360,000 คน แต่มีเพียง 50,000 กว่าคนเท่านั้นที่ได้รับโอกาสศึกษาต่อในชั้นมัธยมต้น คำถามที่ตามมาคือเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน โดยส่วนหนึ่งราว 1 หมื่นคนได้ศึกษาต่อภายใต้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ หรือกศน.เดิม โดยภายในศูนย์การเรียนรู้ทั่วประเทศก็มีศูนย์ส่งเสริมทักษะชีวิตบุคคลออทิสติก 40 กว่าแห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของมูลนิธิออทิสติกไทย
“เราถามเด็กนักเรียนเสมอว่าอยากเป็นอะไร บางคนบอกอยากทำงานปั๊มน้ำมัน นักเขียน นักท่องเที่ยว มันเป็นความฝันของเขา หน้าที่ของเราคือทำให้เขาไปถึงความฝันนั้น”
ชูศักดิ์กล่าวในตอนท้ายว่า การดูแลและอยู่ร่วมกับคนออทิสติกนั้น เราต้องอย่าคิดแทนและทำทุกอย่างให้กับเขา ต้องมีพื้นที่ให้พวกเขาได้คิด โดยคนรอบข้างมีหน้าที่สนับสนุนเพื่อให้พวกเขาไปถึงเป้าหมาย
เฉกเช่นพนักงานภายในร้านกาแฟภายในมูลนิธิ แหม่ม, บี และเกด คือคนออทิสติกที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบร้าน ทุกๆ เช้าแหม่มจะมาเปิดร้านตั้งแต่ 6.45 น. นับตั้งแต่วันแรกที่เธอได้เข้ามาเรียนที่มูลนิธิก็เป็นเวลากว่า 11 ปีแล้วที่สถานที่แห่งนี้ให้โอกาสเธอมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว
“รายได้ที่ได้เราก็จะเอาไปจ่ายค่าเช่าบ้านให้ครอบครัว”
แหม่มเล่าว่าเดิมทีเธอเกิดและเติบโตที่ จ.สกลนคร เธอย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ เมื่อตอนอายุ 14 ปี โดยปัจจุบันแม่ของเธอทำอาชีพขับรถแท็กซี่ และพ่อของเธอทำอาชีพเก็บของเก่า รวมทั้งขี่รถมอเตอร์ไซต์มารับส่งเธอไปทำงานในทุกวัน
ในขณะที่แหม่มกำลังนั่งทำบัญชีสรุปยอดรายวัน บีก็กำลังขะมักเขม้นอยู่กับการล้างจานและทำความสะอาดร้าน เธอเล่าด้วยความภูมิใจว่าตอนนี้เธอหัดชงเครื่องดื่มได้ 2 เมนูแล้วคือลิ้นจี่โซดา และเมนูยอดนิยมของร้านอย่าง ‘สมรัก’ เป็นเมนูเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของลิ้นจี่ นม และสตรอว์เบอร์รี
ในขณะที่ทั้ง 3 คนปิดร้านใกล้เสร็จแล้ว เกดก็เตรียมตัวเดินทางกลับบ้าน บ้านของเธออยู่ที่อ้อมใหญ่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เธอต้องนั่งรถเมล์สาย 84 มาลงที่บางหว้า จากนั้นต่อรถเมล์ 208 มาลงที่หน้าปากทางถนนใหญ่ จากนั้นจึงต่อมอเตอร์ไซต์เพื่อมาถึงที่ทำงานของเธอในทุกๆ วัน
17.00 ขอเพียงใครสักคนอยู่เคียงข้างคนออทิสติก
“กลับถึงห้องหกโมงเย็น ส่วนใหญ่ก็นอนพัก อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูหนัง ฝึกทักษะคอมพิวเตอร์ มันก็มีเหงาบ้างอยู่แล้วเป็นธรรมดา”
หลังเสร็จสิ้นงานและพูดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา อัษกล่าวว่าแม้ตัวเองจะมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ แต่คนออทิสติกก็จำเป็นต้องมีคนคอยดูแลและให้คำแนะนำอยู่เสมอจึงยังคงต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษา อัษจะรับหน้าที่ปิดประตู เขาเดินออกจากมูลนิธิเป็นคนท้ายๆ เมื่อมาถึงห้องเขาเปิดแอร์และล้มตัวลงนอนพร้อมกองหนังสือที่วางเรียงรายอยู่รอบตัว สักพักก็จะมีสายเรียกเข้าโทรมาหาเขาอยู่เรื่อยๆ
“อัษเป็นคนนิสัยดีเขาไม่คิดร้ายกับใคร ในวันที่เรารู้สึกท้อแท้มีครั้งหนึ่งอัษบอกว่า ‘ฝนไม่ต้องไปคิดอะไรมาก สักวันคนที่เขาทำไม่ดีเขาจะเสียใจเอง’ มันเป็นคำพูดง่ายๆ จากเขาแต่มันดีต่อใจเรา”
สุชาดา ป้อมใหญ่ หรือฝน เป็นเพื่อนสนิทของอัษในช่วงมหาวิทยาลัย เธอกล่าวว่าช่วงแรกที่รู้จักอัษจะเป็นคนอยู่ไม่นิ่งและพูดแต่เรื่องเดิมๆ เพราะอาการของออทิสติกทำให้เขาลืมว่าได้พูดเรื่องนั้นไปแล้ว
“วันนี้เขามีความเป็นผู้ใหญ่ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้มากขึ้น” ฝนกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เธอเห็นในตัวเพื่อนของเธอ “เขาสามารถบอกข้อจำกัดของตัวเองได้ว่าเช่นเขาเคยบอกว่า ‘ถ้าอัษจะไปเที่ยวกับฝน อัษก็คงจะขับรถไปไม่ได้หรอก ต้องนั่งรถไป’”
ในอีกฟากหนึ่งพิสิษฐ์ ทรัพย์ศุททา หรือแฮปปี้ เป็นเพื่อนสมัยประถมของอัษ เขาเป็นคนหนึ่งที่ชอบแกล้งอัษในวัยเยาว์ เพราะเขาเคยเชื่อว่าคนออทิสติกคือเด็กมีปัญหา คือคนที่ดูด้อยกว่าตัวเขา ในอีกนัยหนึ่งมันก็คือความไม่พึงพอใจที่คนออทิสติกมีทักษะบางอย่างที่โดดเด่นกว่าคนทั่วไป
“อัษเป็นคนคิดเลขเร็วมาก” แฮปปี้กล่าวถึงเพื่อนของเขา “อัษเป็นคนที่มีความโดดเด่น สมัยเด็กเขาจะชอบทำกิจกรรมลุกขึ้นเต้น ทำให้เขาเป็นที่รู้จักของเพื่อนๆ”
แฮปปี้กลับมาเจออัษอีกครั้งในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เขามีโอกาสได้นั่งคุยกับอัษ จนตระหนักได้ว่าสิ่งที่เขาเคยทำไม่ถูกต้อง
“คือไม่มีใครอยากเกิดมาเป็นคนออทิสติก การเป็นออทิสติกที่เรามองว่าเขาพิเศษกว่าคนอื่น มันทำให้คนรอบตัวมองเขาด้วยสายตาแปลกแยก ผมอยากให้เปิดใจฟังพวกเขา หาโอกาสคุยกับเขาแม้บางมุมเราอาจจะมีรำคาญไปบ้าง แต่ถ้าเราพยายามเข้าใจเขามันก็ดูน่ารักดี (หัวเราะ) คนกลุ่มนี้เขาไม่มีพิษมีภัย”
และคงไม่มีใครที่จะเข้าใจอัษได้ดีคนหนึ่งเท่ากับแว่วเสียง แทนกลาง ผู้เป็นแม่ของอัษ เธอกล่าวว่ารู้สึกภูมิใจที่ลูกของเธอสามารถออกไปใช้ชีวิตได้ด้วยตนเอง
“วันหนึ่งเราก็คงไม่มีโอกาสได้อยู่กับเขา
เขาต้องใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเองโดยที่ไม่มีเรา
ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย”
ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก คาดว่าทั่วโลกมีเด็กออทิสติกประมาณ 1 ใน 100 คน และการดูแลผู้ที่เป็นออทิสติกต้องมาพร้อมกับการสนับสนุนในระดับชุมชนและสังคมเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และทำให้คนออทิสติกได้รับการสนับสนุนการใช้ชีวิตมากขึ้น
แว่วเสียงยอมรับว่าเป็นห่วงลูกของเธอที่ต้องใช้ชีวิตคนเดียว แต่เธอก็ได้ฝึกให้อัษได้ใช้ชีวิตด้วยตนเองตั้งแต่ช่วงมัธยมต้น ด้วยการให้เดินทางไป-กลับโรงเรียนด้วยตนเอง แว่วเสียงเชื่อมั่นว่าอัษมีศักยภาพมากพอที่จะดำเนินชีวิต เพียงแค่เขาต้องการสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและผู้คนที่สามารถช่วยเหลือเขาได้ในบางสถานการณ์
“ต่อให้ยากแค่ไหนเราต้องพาเขาออกไปใช้ชีวิต” แว่วเสียงกล่าว “ให้เขาได้รู้จักกฎเกณฑ์ พยายามให้เขาได้ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ ความคิดของเราคือลูกปกติสำหรับเราแต่แตกต่างจากคนทั่วไป แต่เราเชื่อมั่นว่าเขาสามารถอยู่ในสังคมได้”
แต่สังคมไทยก็ยังไม่ได้เอื้ออำนวยให้กับคนออทิสติกเท่าใดนัก โดยเฉพาะคนออทิสติกที่ต้องอาศัยอยู่ในต่างจังหวัด อัษอาจจะโชคดีที่มีครอบครัวที่มีต้นทุนในการสนับสนุนและตั้งใจที่จะดูแลเขา แต่แว่วเสียงก็กล่าวว่าปัจจัยภายนอกในสังคมไทยยังไม่ได้สนับสนุนคนออทิสติกให้ออกไปใช้ชีวิตเท่าที่ควร
“เราพยายามพัฒนาเขาให้เป็นที่ยอมรับของสังคม และสังคมก็ต้องโอบกอดคนออทิสติกด้วย รวมทั้งคนพิการประเภทอื่นๆ” เสียงจากแม่ของอัษที่ส่งเสียงให้สังคมและผู้ปกครองของคนออทิสติกปรับตัวเข้าหากัน
20.00 ก่อนถึงวันพรุ่งนี้ของคนออทิสติก
เมื่อหมดเสียงสายเรียกเข้าและข้อความที่ส่งมาถึงอัษ ชีวิตโดยส่วนใหญ่ของเขาก็มักจะต้องอยู่คนเดียว ถ้าเป็นวันหยุดอัษมักจะโดยสารมอเตอร์ไซต์รับจ้างจากหอพักไปลงที่สถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุดในราคา 50 บาท จากนั้นจึงต่อรถไฟฟ้าไปยังห้างสรรพสินค้าที่อยู่ใกล้ที่สุด หาอาหารอร่อยๆ กิน และไม่ลืมที่จะเข้าร้านหนังสือเพื่อซื้อหนังสือสัก 1 เล่มติดมือกลับบ้าน
“อย่าปล่อยให้พวกผมโดดเดี่ยวไปมากกว่าอีกเลย” อัษบอกว่านี่เป็นคำขาดของเขา
“ต่อให้ผมทำงานแล้ว ผมก็ต้องการคนดูแล
อย่าปล่อยให้พวกผม (คนออทิสติก) อยู่กันอย่างโดดเดี่ยว
ขอแค่คนเคียงข้างเป็นมิตรกับพวกเราก็พอ”
อัษเล่าให้ฟังว่าเขาเคยมีเพื่อนออทิสติกคนหนึ่งที่เคยทำงานด้วยกันที่มูลนิธิฯ วันหนึ่งพ่อแม่ของเพื่อนคนดังกล่าวเสียชีวิต ทำให้ตัวเขาขาดคนดูแล ท้ายที่สุดถูกส่งตัวไปอยู่สถานสงเคราะห์ กลายเป็นความโดดเดี่ยวที่คนออทิสติกหลายคนต้องเผชิญเมื่อผู้ปกครองเสียชีวิต
“ข้อจำกัดมันมัดมือชกให้ผมต้องมาอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ” อัษกล่าวพร้อมบอกความฝันที่เขาอยากเป็น อยากทำ “ผมอยากกลับไปอยู่บ้านที่เพชรบุรี ผมอยากเป็นวิศวกร ผมอยากเป็นคนขับเคลื่อนสิทธิเพื่อคนออทิสติก ผมอยากเป็นนักเขียน ผมอยากไปเที่ยวต่างประเทศ ผมอยากมีครอบครัว ผมอยากให้คนในสังคมได้รู้จักคนออทิสติกมากขึ้น”
หลายความฝันของอัษก็เป็นไปได้ยากเมื่อเขาเป็นคนออทิสติก แต่สิ่งหนึ่งที่อัษเป็นอยู่และทำอยู่เสมอคือ การที่เขาเป็นกระบอกเสียงเผยแพร่เรื่องราวต่างๆ ให้คนในสังคมรู้จักคนออทิสติกมากขึ้น
คืนวันอาทิตย์ดังกล่าวอัษสิ้นสุดวันของเขาที่ร้านข้าวหมูทอดฝั่งตรงข้ามหอพักของเขาที่มีถนนใหญ่กั้นอยู่ อัษบอกว่าแม้ศูนย์อาหารตรงนี้จะใกล้ที่พักเขา แต่เขาก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้มาเพราะไม่สามารถข้ามถนนมาได้ ต้องอาศัยเรียกรถเพื่อให้มาส่ง
อัษได้บอกว่าคำว่าออทิสติก มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกกว่า ‘Auto’ ซึ่งแปลว่า ‘Self’ ที่หมายถึงตัวเอง
“ถ้าแปลง่ายๆ ก็คือการอยู่ในโลกของตัวเอง” อัษกล่าว “เขาจะอยู่ในความคิด จินตนาการ ที่ตัวเองนึกขึ้นมา”
ตลอดช่วงเวลาที่ได้เข้ามาสำรวจชีวิตของอัษทั้งในวันทำงานและวันหยุด อัษมักกล่าวอยู่เสมอว่า ขอให้สังคมอย่าไปปิดกั้นคนออทิสติก เพียงแค่พวกเขาแสดงออกไม่เหมือนคนอื่น อาจจะทำอะไรรุ่มร่ามไปบ้าง อยากให้อะลุ่มอล่วยเพราะพวกเขาจะได้มีโอกาสได้ลองออกมาใช้ชีวิต
“อันไหนที่ผมทำผิดพลาดก็ขออภัยนะครับ” คือคำกล่าวติดปากของอัษที่เขาพูดบ่อยครั้ง “ผมอยากให้โอกาสพวกเขา (คนออทิสติก) ได้อยู่ในสังคมเดียวกันกับเรา”
ผลงานชิ้นนี้ถูกผลิตภายใต้โครงการ UNDP Media Fellowship on Sustainable Development