So God created man in his own image – Genesis 1:27
Star Trek เข้าโรงแล้ว จิตนาการของมนุษย์เราเกี่ยวกับดินแดนอื่นๆ สายพันธุ์อื่นๆ ในจักรวาลจะได้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง
ว้าว เจ๋งสุดๆ จากมนุษย์ที่ตาดูดาว เท้าติดดิน ใช้ชีวิตตามเข็มนาฬิกาจะได้ถูกพาไปยังดินแดนที่แสนไกล ไปสู่อาณาจักรและดินแดนที่เราแค่คิดถึงก็โคตรจะสนุก ตื่นตาตื่นใจสุดๆ แล้ว
แต่… อะไรๆ ก็ล้ำ อะไรๆ ก็ดูแปลกตาน่าตื่นเต้น แต่ไหง สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น หรือที่เราเรียกว่ามนุษย์ต่างดาวเนี่ย
ทำไมมันหน้าตาเหมือนเราจังวะ
หรือแม้ว่าเราจะมีห้วงสุญญากาศแสนไกลขวางกัน แต่เราก็ยังมีสายสัมพันธุ์กับสายพันธุ์อื่นๆ
โรแมนติก
ทำไมมนุษย์ต่างดาวใน Star Trek หน้าตาเหมือนคนจัง?
อย่าง Star Trek เองก็มีแฟนๆ สงสัยไปถามกันว่า ทำไมวะ เอเลี่ยนในเรื่องมันถึงได้หน้าตาเหมือนคนนัก ในจักรวาลของ Star Trek ก็พยายามอธิบายไอ้ปรากฏการณ์ ‘มนุษย์เอเลี่ยน’ เช่น มีตอนหนึ่งที่ว่าจริงๆ แล้วสิ่งมีชีวิตในจักรวาลนี้น่ะก็เป็นพี่น้องร่วมกันทั้งนั้น อาดัมกับอีฟของมนุษย์ก็คือหนึ่งในนักเดินทางข้ามห้วงอวกาศของเราเองจ้า
หลังๆ เราจะเริ่มมี ‘ความเชื่อ’ ประมาณว่ามนุษย์เรานี่มีแหล่งกำเนิดมาจากนอกอวกาศ ในทางวิทยาศาสตร์มีแนวคิดที่เรียกว่า Panspermia คือเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตต่างๆ บนโลก ทั้งโลกสีเขียวของเราและในดินแดนของจักรวาลอื่นๆ มันเกิดจากการตกลงมาของอุกกาบาตที่มีแบคทีเรียบางอย่าง จนพัฒนากลายมาเป็นมนุษย์ ดังนั้นเอง เลยเป็นไปได้ว่า ไอ้แบคทีเรียแบบเดียวกัน หรือ DNA ตั้งต้นก่อนที่จะวิวัฒน์กลายมาเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญาได้ ด้วยความที่มี DNA ตั้งต้นแบบเดียวกัน เลยเป็นไปได้ว่า ‘มนุษย์’ เลยจะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนๆ กัน ไม่ว่าจะดาวไหน
ซึ่ง ก็เป็นแค่ทฤษฏีหนึ่งอะนะ
จริงๆ มีคำอธิบายที่ง่ายกว่านั้น ที่ว่าทำไมมนุษย์ต่างดาวถึงมีหน้าตาเหมือนมนุษย์ ตอบแบบกวนตีนคือ ก็คนที่เอามาแสดงมันคือมนุษย์ไงเล่า และก็ถ้ามันต้องโผล่ทั้งเรื่อง คิดดูว่าถ้าสร้างของแปลกๆ ขึ้นมาเยอะแยะ มันจะเปลืองงบแค่ไหน สุดท้ายก็นี่แหละ เอาคนมาแต่งหน้าเอา ประหยัด ง่ายดายกว่า เข้าใจง่ายกว่าด้วย
คำอธิบายที่กวนตีนน้อยกว่านั้น คือ อย่าเพิ่ง งง นะ คือมนุษย์ต่างดาวเนี่ยมันก็เป็นสิ่งที่มนุษย์คิดฝันถึงใช่มั้ย ในด้านหนึ่งเราก็อยากลองเข้าใจหรือวาดภาพสิ่งมีชีวิตในโลกอื่น แต่ในขณะเดียวกัน ถ้ามัน ‘อื่น’ ซะจนเกินไป เราเองก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจมันได้ และเชื่อมโยงตัวเราเข้ากับตัวละคร หรือสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ไม่ได้
มนุษย์? ต่างดาว : เราในคนอื่น
Michael H. New นักดาราชีวศาสตร์ (แปลว่าคนที่สนใจศึกษาสิ่งมีชีวิตในอวกาศ) แห่งนาซ่าบอกว่า ในขณะที่เราสนใน ‘คนอื่น (other)’ แต่ในขณะเดียวกันแนวคิดเกี่ยวกับ ‘ความเป็นอื่น (otherness)’ ของเรากลับมีจำกัด
พูดอย่างร้ายๆ ก็คือ ในที่สุดแล้วมนุษย์เราก็เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลอยู่ดี คือเราเอาตัวเองเป็นหลัก ในการอธิบายสิ่งอื่นๆ ในแง่ของสายพันธุ์ เราแค่ลองมองคำว่า ‘มนุษย์ต่างดาว’ ดูก็ได้ คำว่า Extraterrestrial โดยคำมันหมายถึงอะไรที่อยู่นอกโลก แต่ในนัยของคำว่า ET เรากลับมี ‘คอนเซปต์ของมนุษย์’ แอบแฝงอยู่ในนั้นเสมอ
ET ในจินตนาการของเราไม่ได้หมายถึงแค่สิ่งมีชีวิตทั่วๆ ไปในอวกาศ แต่หมายถึงสิ่งมีชีวิตที่ ‘มีสติปัญญา’ หรือ ‘ทรงภูมิ’ และภาพสลัวๆ ของสิ่งมีชีวิตที่มีอารยธรรมนี้ก็จะมีสภาพเหมือนเงาลางๆ ของมนุษย์เราเสมอ คือมีสองแขน สองขา และมีหนึ่งหัว เดินตัวตั้งตรง ส่วนรายละเอียดจะประหลาดยังไง จะตัวสีเทา ตาโต พูดภาษาประหลาด (แต่มีอารยธรรมนะ คือมียานอวกาศ มีวิทยาการ) แต่สุดท้ายมันก็ยังเป็นสิ่งที่มนุษย์จินตนาการขึ้นโดยมีเผ่าพันธุ์ของเราเองเป็นต้นแบบ
การที่มนุษย์ ไม่อาจก้าวพ้นไปจากความเป็นมนุษย์ เพื่อเชื่อมโยงเข้าใจคนอื่น โดยที่ไม่มีสายพันธุ์ตัวเองเป็นตัวเทียบเคียง เป็นสิ่งที่น่าคิดไปจนถึงให้เราได้กลับมาทบทวนสู่ความเป็นมนุษย์ของเรา
คำพูดของคุณ Michael New เลยชวนให้กลับมาคิดถึงการนำเสนอเอเลี่ยน หรือสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ รวมไปถึงในหนังด้วย เช่นว่า หนังไซไฟมีแนวโน้วที่จะให้เอเลี่ยนที่เป็นตัวเอกมีลักษณะคล้ายมนุษย์ ทำให้มนุษย์ผู้ชมรู้สึกเชื่อมโยงหรืออินกับตัวละครนั้นๆ ได้ คำว่าอิน หมายถึงเกิดความรู้สึกเข้าอกเข้าใจ รู้สึกเห็นอกเห็นใจ และมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครนั้นๆ
อย่างโยดานี่ถึงจะดูประหลาด แต่มีความเป็นมนุษย์สูงนะ
พวกเอเลี่ยนร้ายๆ ที่เป็นศัตรู ถ้าวาดให้ดูไม่ค่อยเป็นมนุษย์ อย่างแจปป้า อะไรพวกนี้ ดูเป็นก้อนๆ หรือไม่ก็เป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไปเลย ไม่มีสติปัญญา พูดไม่ได้ เหมือนสัตว์ ถ้าเราจะกำจัดพวกนี้ไปก็ง่ายนิดเดียว ไม่ต้องทำใจเยอะ
ลองนึกถึงอีทีแบบคลาสสิก ตัวสีเทาๆ ตาโตๆ ด้วยความที่รูปร่างมันคล้ายมนุษย์ แต่ก็ไม่เป็นมนุษย์ซะทีเดียว โดยเฉพาะผิวหนังที่เป็นสีเทา การไม่มีเลือดเนื้อสีแดงเหมือนเรา หรือใบหน้าที่ดูจะแสดงอารมณ์ไม่ได้ ในจินตนาการช่วงหนึ่งของมวลมนุษย์ เราจะมีการคิดถึงการเจออีที และ อาจจะถึงขนาดมีการนำเอาอีทีเหล่านี้มาทำการทดลอง มาผ่าตัด หรือจับคุมขังไว้
ความรู้สึกของเราที่มีต่อสายพันธุ์อื่น ที่ดูไม่เหมือนเรา แสดงความรู้สึกได้ไม่คล้ายเรา ไม่มีเลือดเนื้อ การที่เราจะไปผ่าตัดจัดการ เราก็จะไม่ค่อยรู้สึกอะไรเท่าไหร่ ผ่าก็ผ่าไป ตายก็ตายไป
ไม่ต้องไปไกถึงอีทีหรือสายพันธุ์นอกโลก ถ้าเราทบทวนความรู้สึกร่วมที่เราจะเลือกเข้าใจหรือเห็นใจสายพันธุ์อื่นๆ การเทียบเคียงสิ่งมีชีวิตใดๆ เข้ากับลักษณะที่ ‘คล้ายมนุษย์’ ก็ดูจะเป็นกระบวนการคิดที่บางทีเราก็ไม่ทันรู้ตัว เช่น เรามีแนวโน้มที่จะเห็นใจสิ่งมีชีวิตที่มีเลือดเนื้อเหมือนเรา หรือบ่อยครั้งที่เรามักเอาความเป็นมนุษย์ของเราไปใส่ให้สัตว์ เช่น วัวที่ร้องไห้ หมาที่เสียใจเพราะถูกพรากลูกเล็กๆ ความรู้สึกเห็นใจของเรามีลักษณะที่สัมพัทธ์ไป จากสัตว์มีเลือดเนื้อ หมู ไก่ ปลา ไส้เดือน และกุ้งเต้น ต่างมีความเข้มข้นในความเห็นใจในระดับต่างๆ กัน