All’s well that ends well – ต้นร้ายปลายดี
เรื่องราวทั้งปวงพอเกิดขึ้นย่อมมีการจบลง…เรื่องราวในชีวิตเราก็เช่นกัน (คมทำไม)
หลังจากที่เรื่องราวเลวร้าย หรือความผิดพลาดต่างๆ เกิดขึ้น ทุกอย่างมันก็ต้องมีการคลี่คลาย ต้องนำไปสู่การสิ้นสุดลงของเรื่องแบบนั้น
บางที ชีวิตเราก็เหมือนละคร นักทฤษฎีเสนอว่าเวลาที่เรามอง หรือเล่าเรื่องชีวิตของเรา เราใช้วิธีแบบเรื่องแต่ง (fiction) เรามองชีวิตเหมือนเป็นพล็อตเรื่อง มีเราเป็นตัวหลัก ผ่านมรสุมหรือปมปัญหาจนกระทั่งถึงจุดพีค สุดท้ายปัญหาเหล่านั้นก็ผ่านไป สู่การคลี่คลาย
ล่าสุด กรณีดาราดังก็มีการนำไปสู่ ‘การจบเรื่อง’ หรือ ‘ฉากจบ’ ที่ ‘คลาสสิก’ สำหรับสังคมไทย ที่เรียกแบบฝรั่งว่า All’s well that ends well หมายความประมาณว่า ต้นร้ายปลายดี จริงๆ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิดอะไร แต่รู้สึกว่า อืม เป็นอะไรที่คุ้นเคยกันดี เหมือนดูละครไปจนถึงตอนจบ แล้วก็อมยิ้ม อนุโมทนาบุญให้กับโลกที่กลับมาใสสะอาดอีกครั้ง
ดังนี้ ด้วยความคุ้นๆ The MATTER เลยชวนมาคิดถึง ‘ฉากจบ’ แบบคลาสสิก ที่เรารู้สึกคุ้นเคยกันดี
จบแบบ…ใสสะอาด
ฉากจบที่เวรี่คุ้นเคยวนเวียนกลับมาอีกครั้ง จะมีอะไรช่วยให้ต้นร้ายกลายดีได้เท่าการเข้าสู่ร่มของพระศาสนา ในอดีตเรามีเหล่าผู้ผิดที่กลับตัวแล้วเดินหน้าเข้าสู่ทางธรรม เอาล่ะ ถึงจะมีเสียงเบาๆ ว่า เอ๊ะ นี่ใช้สถานะบางอย่างเพื่อหลบเลี่ยง ซักฟอกรึเปล่าน้อ แต่ด้วยหลักธรรมคำสั่งสอนและวัตรปฏิบัติในร่มกาสาวพัสตร์ก็อาจเป็นสิ่งที่ช่วยนำไปสู่การเรียนรู้ด้วย
จบแบบ…ไทยในแง่รับผิดชอบกับสังคม
ตามสเต็ปเซเลปไทย ทำผิด โดนประชาชนรุมประชาทัณฑ์ หนึ่งในทางออกคลาสสิกคือพอรับความโกรธเกรี้ยวเสร็จแล้ว บ้านเราถือว่า ‘ผิดเป็นครู’ อะ ไหนๆ เธอก็เคยทำผิดเรื่องนี้ เป็นไอดอล เธอก็ใช้ประสบการณ์ผิดพลาดของเธอมาสอนชี้แนะคนอื่นซะ อย่างถ้าเสพยาก็มาเป็นพรีเซนเตอร์เรื่องยาเสพติดซะ ถ้าอย่างเรื่องรถ ก็อาจกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการควบคุมความโกรธ…แต่วิธีการแบบนี้ก็อาจไม่ค่อยเป็นธรรมเท่าไหร่เนอะ เพราะแทนที่จะรับความผิดในมาตรฐานของคนทั่วๆ ไป กลับกลายเป็นสิทธิพิเศษ
จบแบบ…ตามที่ควรจะเป็น
การจบแบบที่หาได้ยากในประเทศไทย ในแง่หนึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทยเท่าไหร่ ความควรจะเป็นในสังคมมันควรว่ากันไปตามระบบกฏหมาย เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จ่ายค่าสินไหมอะไรก็ว่าไป
จบแบบ…กฏแห่งกรรม
หนึ่งในการจบเรื่องในความคิดแบบไทย เช่น ในละครไทย การจบเรื่องมักจบลงด้วยการลงโทษด้วยกฏแห่งกรรม ตัวร้ายถูกลงโทษอย่างรุนแรง เป็นบ้า ฆ่าตัวตาย มากกว่าจะได้รับโทษตามกฏหมาย เลยมีคำพูดว่า กฏแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ ซึ่งในความจริง กฏอะไรที่จับต้องได้ก็ควรจะยุติธรรมด้วยเนอะ ไม่งั้นก็หวังเป็นเรื่องของโลกหน้า บุญกรรมกันไป
จบแบบ…โลกนี้กลับมาสวยงาม
เมื่อโลกนี้ควรจะจบแบบสงบสุข วิ่งเล่นในทุ่งดอกไม้ คู่กรณีหลังจากผ่านเรื่องราวร้ายๆ มาด้วยกันก็เกิดสำนึกว่า นี่มันช่างไร้ประโยชน์เสียนี่กระไร ทุกคนในโลกนี้จึงได้เรียนรู้บทเรียนจากความขัดแย้งและหันมาคล้องแขนร้องเพลง ร่วมกันนำโลกนี้สู่ความสวยงาม
จบแบบ…ปลายเปิด
ชีวิตของเราคือความยุ่งเหยิง เราเลยอยากจะได้เรื่องราวที่มันมีตอนต้น มีตอนจบ มีการให้เหตุผล มีการลงโทษ ตอบแทน มีความจริงบางอย่างถูกเปิดเผย ซึ่งชีวิตจริงมันไม่ง่ายเหมือนในนิทาน พวกเรื่องเล่าหลังสมัยใหม่เลยเอาจุดตรงนี้มาบอกว่า ไหนใครบอกว่าตอนจบต้องตอบอะไร จะจบบริบูรณ์รึก็ไม่ แต่กำลังนำเราไปสู่เรื่องราวใหม่ๆ ที่กำลังจะมาถึงมากมายต่างหาก