1
ละครเวทีเรื่องแรกที่ผมเคยเล่น คือละครเรื่องใหญ่ที่มีบทยาวยืด
ละครเรื่องนั้นมีชื่อว่า – ‘ราโชมอน’ ใช่แล้ว มันคือละครที่สร้างจากงานของริวโนะสุเกะ อะคุตางะวะ ซึ่งเขียนขึ้นจากเรื่องเล่าที่มีชื่อว่า คนจะคุ โมะโนะกาตาริชู ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Anthology of Tales from the Past ซึ่งก็หมายถึงการรวมตัวของ ‘เรื่องเล่า’ แห่งอดีต
ละครเรื่องนี้มีความยาวมากกว่าสามชั่วโมง พล็อตเรื่องนั้นซับซ้อนอย่างยิ่ง ผมรับบท ‘คนตัดฟืน’ ซึ่งเป็นตัวละครหนึ่งในสามที่นั่งสนทนากันอยู่ที่ประตูราโชมอน หรือ ‘ประตูผี’ ซึ่งเป็นประตูสำหรับขนศพออกไปนอกเมือง ตัวละครอีกสองตัวคือพระและคนทำช้อง (ซึ่งก็คือวิกผม) แต่ละตัวเป็นตัวแทนของมนุษย์คนละรูปแบบกัน พระอาจจะเป็นตัวแทนของคนดีหรือความดี หรืออีกนัยหนึ่งคือศาสนา ในขณะที่คนทำช้องเป็นพวกที่ถูกเหยียดว่าต่ำต้อย เนื่องจากต้องมาเก็บผมของศพเอาไปทำเป็นวิกผมอีกทีหนึ่ง คนจึงรังเกียจและดูถูกว่าเป็นพวกหากินกับศพ
ละครเรื่องนี้ไม่ได้มีตัวละครเพียงสามคนนี้เท่านั้น แม้พล็อตหลักของเรื่องคือบทสนทนาของคนสามคนนี้ แต่พวกเขาพูดคุยกันถึง ‘ความสิ้นหวัง’ ในฐานะมนุษย์ ที่มองเห็นว่ามนุษย์เราต่างมี ‘เรื่องเล่า’ ของตัวเอง จากเหตุการณ์ฆาตกรรมหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเพราะ ‘เพียงลมพัดมาวูบหนึ่ง’ แล้วผ้าคลุมหน้าหญิงสาวของซามูไรก็เปิดออก ทำให้โจรร้ายมองเห็นใบหน้านั้น และตรงเข้าจู่โจมซามูไรเพื่อแย่งชิงหญิงสาว เมื่อมีความตาย มีโจรร้าย มีพยานหลักฐาน สุดท้ายก็มีการไต่สวน ทว่าเป็นการไต่สวนนี้เอง ที่สร้างความพิศวงงงงวยให้กับทุกผู้คนในเมือง เพราะไม่มีใครเลยที่อยู่ในเหตุการณ์เดียวกันจะให้การ ‘เหมือนกัน’
ละครใช่ไหม – มันคือละครใช่ไหม เขาจึงเขียนบทและเล่าเรื่องให้ออกมาเป็นเช่นนี้ ตั้งแต่ตัวโจรร้าย คนเห็นเหตุการณ์ ไล่ไปจนถึงหญิงสาว และกระทั่งการว่าจ้างคนทรงมาดึงเอาวิญญาณของซามูไรที่ตายลงกลับมาให้การ ก็ไม่มีใครเล่าเรื่องเดียวกันเลย ทุกคนให้การแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว เป็นคำให้การที่ ‘มอง’ จากมุมของตัวเอง จึงมีความสามารถในการ ‘เห็น’ ได้เฉพาะรูปแบบที่ตัวเองเห็นเท่านั้น นั่นทำให้เรื่องเล่านี้กลายเป็นละครโด่งดัง และตอนหลังก็ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์โดยฝีมือของ อากิระ คุโรซาว่า
ละครราโชมอนแปลเป็นภาษาไทยด้วยฝีมือของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ยังเก็บกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่นเอาไว้ครบถ้วน ฉากบนเวทีมีด้วยกันสองถึงสามฉาก (แล้วแต่คนออกแบบฉากจะจัดการ) ได้แก่ฉากที่ประตูผีสำหรับคนสามคนนั่งสนทนากัน ฉากในป่า อันเป็นที่เกิดเหตุฆาตกรรมโหด และฉากการให้การในศาล ซึ่งเมื่อแต่ละคนขึ้นให้การ ภาพในป่าก็จะผุดขึ้นมาราวภูตพราย
ละครคือเรื่องแต่ง ละครคือความคิด ละครคือความฝัน แต่เรื่องแต่ง ความคิด และความฝัน กลับสะท้อนสภาพอันเป็นจริงออกมาได้อย่างน่าทึ่ง
2
ความจริงแล้ว ละครอย่างราโชมอนไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อบอกเล่าว่ามนุษย์นั้นปลิ้นปล้อนและโกหก มากเท่ากับความพยายามจะบอกว่า เพราะความทรงจำของมนุษย์เราเล่นตลกกับตัวเองต่างหาก จึงทำให้เราคิดว่า ‘ความทรงจำ’ ที่มีต่อเหตุการณ์หนึ่งๆ นั้น ต้องเป็นความทรงจำ ‘ของเรา’ เท่านั้นที่แม่นยำถูกต้องที่สุด แต่เราล้วนรู้ ว่าความทรงจำของมนุษย์ไม่ได้สมบูรณ์แบบ และความทรงจำส่วนใหญ่ล้วนแตกต่างกันไปในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทว่าเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ นี้เอง ที่ทำให้เราบันทึกเรื่องราวลงไปในสมองแตกต่างออกไป
ความจริงแล้ว โจรร้ายถูกมองว่าเป็นโจรร้ายก็เพราะเขามีชื่อเสียงว่าเป็นโจรร้าย ดังนั้น ผู้หญิงจึงตกเป็นเหยื่อของการถูกทารุณกรรมร้ายกาจ ทว่าคำให้การของโจรร้ายกลับบอกว่า ผู้หญิงไม่ได้มีความสุขกับการอยู่กับซามูไรเลย การถูกโจรชิงตัวมาทำให้เธอมีความสุขมากกว่าด้วยซ้ำ ในขณะที่ซามูไรในร่างทรงก็ให้การอีกแบบหนึ่ง ปรักปรำ กล่าวหา และรักษาศักดิ์ศรีของตัวเองเอาไว้ ด้วยการบอกว่าเขาไม่ได้ถูกแทงตาย ทว่าเป็นผู้ ‘ล้ม’ ลงไปทับดาบจนเสียบทะลุร่างต่างหาก เพราะถ้าวัดกันด้วยฝีมือเพลงดาบแล้ว ซามูไรย่อมไม่มีวันพ่ายให้กับโจรร้าย ในขณะที่ฝ่ายหญิงก็พยายามรักษาชื่อเสียงและศักดิ์ศรีของตน โดยบอกว่าเธอไม่ปรารถนาในชายใด
ความจริงของคำให้การจึงผิดแผกแตกต่างออกไป ยากนักที่ผู้พิพากษาจะตัดสินอะไรได้ ว่าแต่เพราะเหตุใด ความจริงจึงเป็นเช่นนั้น หรือว่าความจริงไม่ใช่ความจริง
ความจริงคือความลวง? แต่ละครคือความจริง?
3
กระบวนการสั่งสมความทรงจำของมนุษย์มีสามขั้นตอน ขั้นแรกคือกระบวนการ ‘เข้ารหัส’ (encoding) ซึ่งก็คือการที่เราใส่ข้อมูลเข้าไปในสมอง ขั้นตอนที่สองคือเก็บรักษา (storage) ซึ่งก็คือการที่เราสามารถรักษาความทรงจำนั้นเอาไว้เมื่อเวลาผ่านไป ส่วนขั้นตอนที่สามคือการเรียกใช้ (retrieval) นั่นคือการที่เรานำข้อมูลนั้นๆ ออกมาจากสมอง
ไม่มีกระบวนการไหนเลยที่เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ขณะเข้ารหัสเก็บข้อมูล โจรร้ายอาจเห็นภาพแบบหนึ่ง ใบหน้า เสียงร้อง และท่าทีของหญิงสาว อาจทำให้เขาเผลอคิดไปว่าเธอกำลังยั่วยวนหรือร้องขอให้เขาช่วยปลดเปลื้องตัวเธอจากซามูไร ในขณะที่ซามูไรย่อมเห็นภาพอีกแบบ และหญิงสาวก็เห็นภาพที่แตกต่างกันออกไป
แม้อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ม็อบเดียวกัน ณ ที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน เราก็มีวิธี ‘เข้ารหัส’ ความทรงจำที่แตกต่างกันไปหมด บางคนอ่อนไหวกับบางคำพูดมากกว่าบางคำพูด บางคนอ่อนไหวกับกลิ่นบางกลิ่น บางคนเมื่ออยู่กับบางคนจะทำให้ความรู้สึกต่อความทรงจำนั้นแตกต่างออกไป ดังนั้น การ‘เข้ารหัส’ ความทรงจำจึงเป็นเรื่องที่ผิดแผกแตกต่างกันไป ไม่มีความทรงจำไหนหรอกที่สามารถเข้ารหัสได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วนทุกประการ
ส่วนการเก็บรักษาความทรงจำยิ่งเป็นเรื่องประหลาด เพราะเราไม่ได้จดจำเรื่องต่างๆ เป็นเรื่องๆ ทว่าสมองของเราจัดการตัดแบ่งหั่นสับเรื่องต่างๆ ออกเป็นท่อนๆ เป็นเสี้ยวส่วน เรารักษาสีสันไว้ที่หนึ่ง เก็บเสียงในเรื่องเล่านั้นๆ ไว้ที่หนึ่ง ความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้นๆ ไว้ที่หนึ่ง เหมือนการนำรถยนต์หนึ่งคันมาแยกชิ้นส่วน แล้วเก็บรักษาล้อ พวงมาลัย เครื่องยนต์ เบาะนั่ง ฯลฯ เอาไว้คนละที่กัน
แน่นอน ยิ่งเก็บไว้นานเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้ก็ย่ิงตกหล่นสูญหายมากขึ้นเรื่อยๆ บางอย่างอาจเสื่อมสภาพลง บางอย่างก็สูญหายไปเลย ในขณะที่บางอย่างอาจสดใหม่กว่าบางอย่าง เพราะมันถูกฝังอยู่ในความทรงจำที่แจ่มชัด จะเห็นได้ว่า ในขั้นตอนการเก็บรักษา เราก็ไม่สามารถเก็บมันไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบอีกเช่นกัน มีความบกพร่องเว้าแหว่งที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา
และเมื่อจะรื้อฟื้นความทรงจำนั้นขึ้นมา เราก็จะต้องนำชิ้นส่วนความทรงจำเหล่านั้นมา ‘ประกอบ’ กันให้กลับมาเป็นเรื่องเล่าอีกครั้ง แต่เมื่อขั้นตอนการเข้ารหัสและการเก็บรักษาไม่สมบูรณ์เสียแล้ว การประกอบกลับให้กลายมาเป็นเรื่องเล่าอีกครั้งก็ย่อมทำได้ไม่สมบูรณ์ด้วย แต่เราอยากให้มันสมบูรณ์ ดังนั้น สมองจึงสร้างตัวเชื่อมต่อบางอย่างขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เราเชื่อมส่วนที่ขาดหายไป ปะตรงโน้น ปิดตรงนี้ เพื่อให้เรื่องเล่านั้นรัดกุมที่สุดเท่าที่สมองจะทำได้
ความทรงจำของแต่ละคนจึงไม่เคยเหมือนกันเลย แม้คนสองคนจะยืนอยู่ตรงนั้น ในสถานที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน แต่เพียงแผกมุม การมองก็ต่างออกไป เศษเสี้ยวการเห็นเพียงแวบที่ต่างกันอาจทำให้สมองตีความแตกต่างกันไป ยิ่งประกอบกับ ‘ต้นทุน’ อันแตกต่างที่มีอยู่ในตัว ก็จะยิ่งทำให้การเข้ารหัส การเก็บรักษา และการรื้อฟื้นความทรงจำแตกต่างกันมากขึ้นไปอีก
สภาวะ ‘ราโชมอน’ จึงมักไม่ได้เกิดขึ้นเพราะใครจงใจ ‘โกหก’ แต่เกิดขึ้นเพราะพวกเขา ‘เชื่อ’ อย่างที่ตัวเองเชื่อจริงๆ
ประวัติศาสตร์ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน –
โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ประเภทที่ ‘เห็นด้วยตาตัวเอง’ นี่แหละ
4
เรื่องเศร้าที่เกิดขึ้นในแผ่นดินนี้หรือแผ่นดินไหนๆ ก็มักเกิดขึ้นเพราะสภาวะ ‘ราโชมอน’ แบบนี้นี่เอง
เราเห็นโลกและเก็บรักษาความทรงจำของเราแตกต่างกัน มันต่างมีริ้วรอยชำรุดทรุดโทรมคนละแบบ แต่ปัญหาอยู่ที่ ‘อำนาจ’ อยู่ในมือของใคร
เพราะอำนาจมักอยากสถาปนา ‘ความทรงจำ’ ของตัวเองให้ไปสถิตย์อยู่ในหัวสมองของคนอื่นๆ ทั้งปวง เพื่อจะได้มี ‘ความทรงจำร่วม’ เดียวกัน จะได้เข้าใจแบบเดียวกัน คิดเห็นแบบเดียวกัน มีชีวิต ความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์แบบเดียวกัน
แต่อำนาจแบบนั้นไม่เข้าใจสภาวะราโชมอนในตัวมนุษย์
มันจึงไม่อาจพิพากษาเป็นอื่นได้ นอกจากพิพากษาให้ตายตกไปตามกัน – หากคิดเห็นไม่เหมือนกับความเชื่อของอำนาจ
นั่นจึงก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า
Illustration by Kodchakorn Thammachart