เคยรู้สึกว่าตัวเองขอโทษบ่อยเกินไปหรือเปล่า?
การขอโทษไม่ใช่สิ่งแย่เลย หากเรารู้ตัวว่าเราทำอะไรผิด อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่เราทำได้ก็คือการขอโทษ แต่ปัญหาคือ แล้วทำไมเราถึงรู้สึกว่าทุกอย่างที่เราทำมันผิดไปหมดเลยล่ะ? เราอาจจะอยากขอโทษ เมื่อเราไม่ทำงานตามคำบอกของหัวหน้าเป๊ะๆ แล้วแต่ผลลัพธ์ก็ยังไม่แตกต่างกัน เราอาจพยักหน้าขอโทษรถยนต์ที่หยุดให้เราเดินข้ามทางม้าลาย ก่อนจะรีบวิ่งสุดใจเพื่อให้การมีอยู่ของตัวเราเองไม่ไปขัดขวางการจราจร นิสัยที่อยู่ในตัวเราเหล่านี้มาจากไหนกัน?
ปัจจัยที่สร้างให้เราแต่ละคนเป็นตัวเราในแบบที่เป็นตอนนี้คงแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม บางปัจจัยเช่นวัฒนธรรม หรือโครงสร้างสังคมบางประการ ก็ส่งผลกระทบวงกว้างกว่าแค่ที่ตัวเรา หนึ่งในปัจจัยที่เราจะพูดถึงในวันนี้ คือวิธีการที่เราถูกสอนมาในวัยเด็ก ทั้งจากครูและผู้ปกครองของเรา วิธีการที่เมื่อผสมเข้ากับระบบการศึกษาของเรา บริบททางสังคมของเรา และวิธีการมองคนอายุน้อยกว่าของเรา มันอาจทำให้สังคมบังเอิญสร้างคนขี้รู้สึกผิดออกสู่สังคมอยู่เรื่อย
นักจิตวิทยาพัฒนาการไดอาน่า บอมรินด์ (Diana Baumrind) พัฒนาทฤษฎีรูปแบบการเลี้ยงดู (Parental Style) 4 แบบ คือรูปแบบการเลี้ยงดูกว้างๆ ที่ผู้ปกครองมักใช้เลี้ยงดูลูกของตัวเอง ดังนี้
- การเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ (Authoritative)
- การเลี้ยงดูแบบควบคุม (Authoritarian)
- การเลี้ยงดูแบบตามใจ (Permissible)
- การเลี้ยงดูแบบทอดทิ้ง (Neglectful/Indulgent)
ทั้ง 4 รูปแบบดังกล่าว นอกจากจะถูกใช้ในบริบทของการเลี้ยงดูลูกแล้ว มันยังวิวัฒนาการกลายเป็นรูปแบบที่ครูใช้จัดการนักเรียนในห้องเรียนอีกด้วย หลายปีผ่านไป วิธีการเลี้ยงดูเหล่านี้มีเฉดสีและแยกย่อยออกมามากขึ้น แต่วันนี้เราจะโฟกัสไปที่การเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ และการเลี้ยงดูแบบควบคุม เนื่องจากหลายๆ ครั้งที่เรารู้สึกกลัวการผิดกลัวพลาดนั้น แปลว่าเราต้องถูกควบคุมโดยอะไรสักรูปแบบ
ในภาษาอังกฤษคำว่า Authoritative กับ Authoritarian เป็นคำ 2 คำที่คล้ายกันมาก แต่จะแตกต่างกันขนาดไหน? เพราะหากแปลตรงตัวตามภาษาไทย ยังแปลเป็นคำเดียวกันว่า “เผด็จการ” เลย
วิธีการที่เราแยกรูปแบบการเลี้ยงดู หรือการจัดการห้องเรียนออก ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยใหญ่ๆ นั่นคือ การควบคุม และการตอบสนองความต้องการ ในกรณีของการเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ คือมีการควบคุมและตอบสนองความต้องการของเด็ก ส่วนรูปแบบการเลี้ยงดูแบบควบคุม คือมีการควบคุมเหมือนกัน แต่จะไม่ตอบสนองความต้องการของเด็กเลย
หากจะมองให้เห็นภาพชัดๆ ให้เราลองนึกภาพครูที่บอกเราแน่ชัดว่า เขาจะสอนอะไรกับเรา เราทำอะไรได้หรือไม่ได้ ครูที่ทำให้เรารู้สึกได้จริงๆ ว่าการเรียนของเราในวิชานั้นๆ เป็นสิ่งที่จริงจังและจำเป็น พร้อมทั้งยังเป็นคนที่พร้อมตอบคำถามของเรา รับฟังข้อติชม คอยยื่นมือช่วยในวันที่เราและเพื่อนเจอเข้ากับสิ่งที่ไม่เข้าใจ ซึ่งนั่นคือครูในรูปแบบ Authoritative หรือการสอนแบบดูแลเอาใจใส่
มองไปอีกฟาก ครูดุๆ ที่มีกฎเกณฑ์เช่นเดียวกันกับครูแบบก่อนหน้า แต่กลับไม่ยืดหยุ่น หากนักเรียนออกนอกแถวจากกฎที่เขาวางไว้ ก็จะถือว่าผิดทันที อาจจะเป็นครูที่ตีเด็กเมื่อสอบได้ไม่ถึงเกณฑ์ หรืออาจเป็นครูที่ไม่ยอมให้เด็กไปเข้าห้องน้ำ เนื่องจากมองว่านั่นกำลังเสียเวลาเรียน กฎเกณฑ์ การลงโทษ และความเด็ดขาดในอำนาจมาพร้อมกับครูคนนี้เสมอ และนี่คือครู Authoritarian หรือครูที่ใช้รูปแบบการสอนแบบควบคุม
อ่านมาถึงตรงนี้ดูก็รู้อยู่แล้วว่า ครูหรือผู้ปกครองในฝันของใครหลายๆ คนน่าจะตกอยู่ภายใต้การใช้การเลี้ยงดูแบบ Authoritative ซึ่งงานวิจัยจำนวนมากก็ยังสนับสนุนรูปแบบการเลี้ยงดูและการสอนรูปแบบนี้ ทั้งในด้านการศึกษาและด้านการสร้างตัวตน
The Effects of Classroom Management Styles on Students’ Motivation and Academic Achievement in Learning English โดย Thoung Tran Thi นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Hanoi Law พาเราไปดูการเรียนการสอนของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 6 จำนวน 398 คน และครูผู้สอน 14 คน เพื่อหาผลกระทบของรูปแบบการสอนต่อแรงบันดาลใจในการเรียน และผลการเรียนภาษาอังกฤษ ผลปรากฏว่า รูปแบบการจัดการห้องเรียนด้วย Authoritative Style นำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจ และผลการเรียนต่อนักเรียนแง่บวกมากที่สุด ซึ่งผู้วิจัยยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ไม่ว่าครูที่สอนจะเป็นแบบใด แต่อย่างน้อยก็ควรพิจารณาการหยิบยืมชิ้นส่วนของการสอนรูปแบบดังกล่าวเข้าไปใช้ด้วย
นอกจากนั้นเมื่อมองไปยังมุมของการสร้างตัวตน ในงานวิจัย Examining The Long-Term Effects of Authoritative Parenting On The Development of Adolescents’ Self-Esteem and Emotional Regulation โดยโมฮัมมัด ฮัสเซน (Muhammad Hussain) อาจารย์วิชาจิตวิทยา จาก Baluchistan University of Information Technology ที่เก็บข้อมูลจากเด็กที่พ่อแม่เลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ พบว่าเด็กๆ จะมีความมั่นใจในตัวเอง และมีความสามารถในการจัดการอารมณ์ได้ในระดับดี ผ่านวิธีการสอนให้สร้างขอบเขตของตัวเอง และการเปิดพื้นที่ให้สื่อสารกับพ่อแม่ ทำให้เด็กเหล่านั้นสามารถค้นพบตัวเองและเข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้น
สุดท้ายในงานวิจัยชื่อ Classroom-Level Authoritative Teaching and Its Associations with Bullying Perpetration and Victimization โดยมาไทอัส คลู (Mattias Kloo) นักวิจัยจากคณะพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย Linköping พบว่าการเรียนการสอนภายใต้รูปแบบการจัดการห้องเรียนแบบเอาใจใส่นั้น อาจเป็นตัวช่วยสำคัญในการลดจำนวนเด็กเกเรที่ชอบรังแกเพื่อน (Bully) และเหยื่อของพวกเขา นั่นแปลว่าการใช้กฎเกณฑ์เด็ดขาด โดยไร้การตอบสนองความต้องการของเด็ก ด้วยความหวังว่าจะขจัดพฤติกรรมดื้อด้านและรุนแรงของเด็ก อาจไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม เราต้องเดินก้าวเข้ามาสู่โลกจริง การอ่านบทความเกี่ยวกับการสอนและการเลี้ยงดูใครสักคนอาจเป็นเรื่องง่าย แต่เมื่อพูดถึงมนุษย์ การแปลงตัวหนังสือเหล่านี้เป็นการกระทำจริงๆ โหดหินกว่ามาก เด็กในห้องเรียนจะเอื้อให้เราไม่ใช้อำนาจเด็ดขาดหรือเปล่า? เราต้องทำขนาดไหนถึงจะเรียกว่าเราเข้าใจเด็กคนหนึ่งได้? และที่สำคัญต้องลองมองไปรอบๆ ตัวของเด็กคนนั้นว่าเขาเจออะไรอยู่บ้าง
เราเรียนรู้หลายๆ อย่างนอกโรงเรียน เราอาจจะเจอครูที่เอาใจใส่เราหนึ่งคน แต่ถ้าส่วนมากแล้วครูที่เหลือเป็นครูที่จะใช้อำนาจควบคุมเราล่ะ? ด้วยค่านิยมทางสังคมของเรา คนที่อายุมากกว่ามองเราเท่ากับพวกเขาหรือเปล่า? แล้วทำอย่างไร ถ้าเราเจอครูที่ตอบสนองความต้องการของเรา แต่ก็ยังอยู่ในโลกที่มองทุกอย่างเป็นขาวกับดำ และสิ่งที่สังคมมองว่าดำต้องถูกลงโทษ แบบนั้นคงไม่ต่างอะไรจากการเจอผู้สอนที่ใช้อำนาจเด็ดขาด? เราอาจเรียนรู้ที่จะทำตามกฎ และกลัวคนที่มีอำนาจสูงกว่า ทว่านั่นอาจเพียงทำให้เราเกรงกลัวต่อกฎที่มี ไม่ใช่เข้าใจว่าทำไมเราต้องทำแบบนั้น
การสอนคนอย่างเข้าอกเข้าใจ อาจช่วยให้คนคนนั้นรู้จักการสร้างตัวตนที่ดีขึ้นของตัวเองได้ แต่ทั้งนี้โลกโดยรอบของเขาเองก็อาจมีส่วนในการทุบทำลายเขาได้ด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก