“เด็กก็เป็นเหมือนผ้าขาว”
คำที่คนหลายๆ คนใช้เปรียบเทียบว่าเด็กคือผ้าสีขาวที่ผู้ใหญ่รอบตัว โดยเฉพาะผู้ปกครองต้องแต่งแต้มด้วยสีแห่งอิทธิพล และคำสอนที่ถูกต้องดีงาม ลูกหลานจะเป็นอย่างไรอยู่ที่การสอนของผู้ปกครอง และสภาพแวดล้อมที่ห้อมล้อมเขา แล้วเราจะเป็นใครหากไม่ใช่ส่วนประกอบของสิ่งรอบข้างของเรา?
ผลกระทบของสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับลูกเป็นสิ่งน่าสนใจ และได้รับความสนใจอยู่เสมอ บ่อยครั้งที่เราได้ยินเรื่องราวที่วกวนกลับไปถึงผู้ปกครองของเรา บ่อยครั้งที่การกระทำเป็นพิษของใครสักคนถูกสาวเรื่องไปได้ถึงวิธีการเลี้ยงดู เราได้ยินอยู่บ่อยๆ เรื่องของความเข้มงวดของพ่อแม่ที่ทำให้ลูกหยิบจับนิสัยที่ไม่ดีออกมาใช้ดำรงชีวิตจนโต หรือแม้แต่แผลใจที่เกิดจากความคาดหวังอันหนักอึ้งที่ติดตัวของคนบางคนไปจนโต
อย่างไรก็ตาม เมื่อลองมองไป สิ่งที่สังเกตเห็นคือเรามักรับรู้เรื่องความสัมพันธ์เช่นนี้จากมุมของลูกเสียมากกว่า ซึ่งนั่นไม่แปลก เราผู้เคยอยู่ในฐานะลูกของใครสักคน ไม่ใช่คนที่มีสิทธิ์มีเสียงเรียกร้องว่าเราอยากเป็นคนแบบไหนในอนาคต การพยายามสำรวจและเรียนรู้ เพื่อให้เด็กคนอื่นๆ มีอนาคตที่ดีกว่าเรานั้น จึงเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่นั่นคือการเห็นภาพรวมทั้งหมดจริงหรือเปล่า?
ตลอดชีวิตของเรา แม้ว่าตัวตนของเราจะชัดเจนขึ้นตามกาลเวลา แต่ปฏิเสธได้ยากว่าเราต่างเรียนรู้ชีวิตของเราตลอดการใช้ชีวิต ถ้าเราคือสิ่งที่หลอมรวมมาจากสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ที่เราพบเจอ และเราคือส่วนประกอบของคนรอบตัวของเรา เช่นนั้นแล้วจะพูดได้หรือไม่ว่า เราเองก็ยังเป็นผ้าขาวที่ไม่เคยถูกหยุดแต่งแต้ม? และใครหรือประสบการณ์อะไรกันที่จะแต่งแต้มเราไปได้มากกว่าคนเป็นลูกและการถือกำเนิดขึ้นมาของพวกเขา?
นั่นเพราะผู้ปกครองกับเด็กๆ มีผลกระทบทางใจต่อกันทั้งสองฝั่ง และผลกระทบนั้นๆ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ตรงที่ลูกออกไปจากอ้อมอกของผู้ปกครอง
การมีลูกนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ปกครองตั้งแต่ลูกยังเด็ก งานวิจัยที่พูดเกี่ยวกับประเด็นนี้มีชื่อว่า The role of child negative emotionality in parenting and child adjustment: Gene–environment interplay โดยอลิซาเบธ ชีวาร์ก (Elizabeth Shewark) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน ที่ต้องการดูว่าอารมณ์แง่ลบของลูกเล็กว่ามีผลกระทบทางใจอย่างไรต่อผู้ปกครอง
ผู้วิจัยใช้วิธีการนำข้อมูลจากสถิติชื่อ Early Growth and Development Study จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย Penn State ซึ่งเก็บข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่พันธุกรรมและสภาพแวดล้อมก่อร่างให้เด็กเติบโต โดยเขาเลือกหยิบข้อมูลมาเป็นจุดโฟกัสในงานวิจัยจากการรายงานของผู้ปกครองว่า เด็กมีความรู้สึกโกรธและเศร้าเมื่ออายุ 4 ขวบครึ่ง
ผลปรากฏว่าเด็กที่ผู้ปกครองรายงานว่ามีความรู้สึกโกรธและเศร้าตอนอายุ 4 ขวบครึ่งนั้น เชื่อมโยงกันกับการเลี้ยงดูอย่างไม่เป็นมิตรจากผู้ปกครองในวัย 6 ขวบ และปัญหาเชิงพฤติกรรมและการเข้าสังคมในวัย 7 ขวบ ทั้งลูกในสายเลือดและลูกลูกบุญธรรม ซึ่งนำไปสู่การสรุปโดยผู้วิจัยว่า แม้อาจมีเรื่องการส่งต่อนิสัยผ่านยีนเข้ามาผสม แต่สภาพแวดล้อมมีส่วนมากในการเลี้ยงดู และแรงกระทบทางใจก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากทิศทางเดียว “การวิจัยนี้ทำให้เราพบว่า เด็กมีอิทธิพลต่อวิธีที่พวกเขาถูกเลี้ยงดูและปลุกปั้นโดยผู้ปกครอง หรือพูดได้ว่าทั้งผู้ปกครองและลูกมีอิทธิพลต่อการปรับตัวในเด็ก” ผู้วิจัยเขียน
แทนที่เราจะเรียกว่าผ้าขาว ผลกระทบทางอารมณ์ของการเลี้ยงดูลูกนั้นเหมือนจะเป็นลูกปิงปองเสียมากกว่า ความรู้สึกที่เด้งกลับไปกลับมาระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง ในทุกการกระทบกระทั่งเปลี่ยนแปลงท่าทีของอีกฝ่าย และวิธีการที่พวกเขาจัดการกับก้อนความรู้สึกนั้นๆ แน่นอนว่านั่นอาจไม่แฟร์เท่าไหร่กับลูก เพราะเรากำลังพูดถึงเด็กที่ยังไม่รู้เรื่องราว แต่การยกข้อมูลดังกล่าวขึ้นมาก็ไม่ได้ยกขึ้นมาเพื่อเป็นการให้ความชอบธรรมแก่ผู้ปกครอง แต่มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ เมื่อเราพูดถึงความรู้สึกของมนุษย์
พูดถึงผลกระทบต่อความรู้สึกในแง่ลบของลูกที่มีผลต่อผู้ปกครองไปแล้ว ในทางกลับกันล่ะ? งานวิจัยที่อาจช่วยตอบได้มีชื่อว่า The Long-Term Impact of Parental Mental Health on Children’s Distress Trajectories in Adulthood โดยคริสตินา คามิส (Christina Kamis) นักวิจัยจากคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยดยุค ซึ่งเป็นงานวิจัยที่พาเราไปดูว่า ลูกที่เติบโตมากับผู้ปกครองมีปัญหาสุขภาพจิตนั้น จะแตกต่างจากคนที่เติบโตมากับผู้ปกครองที่ไม่มีปัญหาเหล่านั้นหรือไม่ในระยะยาว
ผลการสำรวจพบว่า ลูกที่เติบโตมากับผู้ปกครองที่มีปัญหาสุขภาพจิต เมื่อก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้วมีโอกาสที่จะมีภาวะอารมณ์ในด้านลบมากกว่าคนที่เติบโตมากับผู้ปกครองที่ไม่มีปัญหาสุขภาพจิต (เพศของผู้ปกครองที่มีปัญหาสุขภาพจิตนั้นไม่มีผลที่แตกต่าง) คนที่ทั้งพ่อและแม่มีปัญหานั้นๆ จะมีระดับภาวะอารมณ์ลบสูงที่สุด “โดยรวมแล้วผลการทดลองพบว่า สุขภาพจิตของผู้ปกครองในช่วงพัฒนาบุคลิกภาพของลูก สามารถเป็นตัวชี้วัดสำคัญในประเด็นภาวะอารมณ์ลบที่จะเจอในชีวิต” ผู้วิจัยเขียน
ลูกปิงปองตีกลับไปมา ถึงตาของผู้ปกครองอีกครั้ง เมื่อวัยเด็กล่วงเลย สิ่งที่ตามมาคือหลักไมล์มากมาย การไปเรียนมหาวิทยาลัย การก้าวเข้าสู่วัยทำงาน การย้ายออกจากบ้าน ฯลฯ แต่ในวันที่ลูกออกจากอ้อมอกของพ่อแม่ก็ไม่ได้แปลว่าผลกระทบต่อกันและกันจะหมดสิ้นไป
ผู้ปกครองรู้สึกอย่างไรในวันที่ลูกไม่ใช่เด็กอีกต่อไป? เมื่อหันไปมองงานวิชาการที่คุยเรื่องนี้ชื่อว่า Children’s Transitions to Adulthood and Midlife Parents’ Depressive Symptoms and Activities of Daily Living Conditions in the United States นำโดยซิง จาง (Xing Zhang) จากคณะ Health Solution มหาวิทยาลัยอาริโซนา
งานวิจัยชิ้นนี้พาเราไปดูว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านชีวิตของคนเป็นลูก เช่น การเลื่อนชั้นการศึกษา การแต่งงาน การย้ายออกไปอยู่คนเดียว การประกอบอาชีพ การมีลูก และการถูกจองจำ ส่งผลยังไงกับสุขภาพกายและใจของผู้ปกครองวัยกลางคน โดยผลการวิจัยพบว่า เมื่อเทียบกับฝั่งตรงข้าม การประสบความสำเร็จในการศึกษาของลูกจะนำไปสู่สุขภาพกายและใจที่ดีกว่าของผู้ปกครอง ส่วนการแต่งงานและการได้งานจะนำไปสู่สุขภาพกายที่ดีกว่าเท่านั้น
ความคาดหวังเป็นส่วนประกอบชิ้นใหญ่ของการเป็นมนุษย์ ในกรณีนี้เราจะเห็นได้เลยว่า การคาดหวังในอนาคตของลูกไม่ได้จบอยู่เพียงสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ แต่ยิ่งใหญ่เสียจนสามารถกระทบไปยังสุขภาพกายและใจของตัวเอง และด้วยความรู้สึกดังกล่าวจะต้องถูกส่งกลับไปหาอีกฝ่าย ลูกหลายๆ คนจึงจำต้องแบกรับความคาดหวังเหล่านั้น และแบกรับความล้มเหลวของตัวเองไปจนโต จนเรากลายเป็นพ่อคนแม่คน บางครั้งน้ำหนักของมันก็ยังไม่ออกไปจากไหล่ของเรา และบ่อยครั้งเหลือเกินที่ความคาดหวังนั้นๆ จะถูกส่งต่อจากเราสู่รุ่นลูกลงไปอีก
ความคาดหวังจากผู้ปกครองเกิดได้จากหลายปัจจัย บางครั้งคือการเผลออยากให้ลูกได้ใช้ชีวิตที่ตัวเองไม่เคยได้ใช้ หรือที่เรียกว่า Parents Projection หรืออาจจะเป็นความหวังดีที่ต้องการให้ลูกเอาชีวิตรอดได้ในระบบที่บังคับให้ทุกคนต้องปากกัดตีนถีบ และลูกเองก็อาจคาดหวังในตัวของผู้ปกครองได้เช่นกัน ภาพในหัวของเราว่าอะไรคือพ่อแม่ที่ดีนั้นแตกต่างกันออกไป อาจจะจากรุ่น จากมุมมองเพศและบทบาททางเพศ หรือจากปมบางอย่างที่เคยเกิดขึ้นและเราต้องการแก้มัน ซึ่งนี่ไม่ใช่การบอกว่าความหวังดังกล่าวดีหรือไม่ แต่คือที่มาที่ไปของมันนั้นมาจากที่ใดสักที่
คงไม่มีใครพูดแทนใครได้ว่า เราต้องจัดการอย่างไรกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างเรากับผู้ปกครอง บริบทของเรานั้นแตกต่างกันมากเกินกว่าจะพูดเหมารวมไปได้ทั้งหมด สำหรับบางคนการพูดคุยเพื่อแก้ปมในใจของกันและกันก็อาจจะช่วยให้อะไรง่ายขึ้น แต่สำหรับบางคน การรับก้อนความรู้สึกไปมานี้นับวันจะดูยิ่งยากเย็น เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมลดราวาศอก และมากเสียจนคำถามเกิดขึ้นว่าเราจะยอมแพ้ดีหรือไม่
ไม่มีใครฟันธงได้ว่าทางใดคือทางออกที่ดีที่สุด เพราะบ่อยครั้งไม่มีตัวเลือกนั้นอย่างแท้จริง สิ่งที่อาจช่วยได้คือการลองยืนมองภาพของทุกคนในความสัมพันธ์นี้ แล้วลองนึกถึงผลกระทบที่เรามีต่อกันทั้ง 2 ฝั่ง นั่นคือความคาดหวังที่เราและเขาแบกรับ การมองเช่นนั้นอาจช่วยให้เราเห็นหนทางชัดขึ้นได้บ้างเล็กน้อยว่าเราควรเดินไปทางใด บางครั้งเราอาจพบว่า บางความคาดหวังนั้นเป็นไปไม่ได้ บางสีที่โดนแต้มลงบนตัวตนนี้ ไม่ใช่สีของทั้งเราหรือเขา ก่อนจะสร้างขอบเขตของตัวเองไว้ตรงนั้น
แบบนั้นทั้งเราและเขาอาจเห็นมนุษย์ที่อยู่เบื้องหลังทุกการตัดสินใจและการตอบโต้ได้มากขึ้น
อ้างอิงจาก