แม้ว่าผมจะมีสถานะเป็นพ่อพร้อมกับเป็นนักเขียนเรื่องการเงินและเศรษฐศาสตร์ แต่ก็ไม่เคยนึกถึงเลยว่าศาสตร์ที่ใช้แต่เหตุผลจนดูแข็งกระด้างจะสามารถเชื่อมโยงได้กับการเลี้ยงลูกที่ดูจะต้องใช้ความรักความเข้าใจเป็นแกนกลาง คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่าสองเรื่องนี้ดูเหมือนว่าจะอยู่คนละจักรวาลก็ว่าได้
แต่ผมก็ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่เมื่อได้อ่านหนังสือชื่อว่า Love, money & parenting: How economics explains the way we raise our kids (ความรัก เงินตรา และการเลี้ยงลูก: เศรษฐศาสตร์อธิบายวิธีที่เราเลี้ยงดูเด็กๆ ได้อย่างไร) โดย แมทเทียส โดบกี (Matthias Doepke) และ ฟาบริซิโอ ซิลลิบอตติ (Fabrizio Zilibotti) สองนักเศรษฐศาสตร์ที่ตั้งคำถามว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจจะส่งผลต่อการเลี้ยงดูเด็กๆ ของแต่ละบ้านอย่างไร
ทั้งสองหยิบกรอบคิดทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเข้ามาสวมกับการเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ภายใต้สมมติฐานว่าพ่อแม่ (ส่วนใหญ่) รักลูกและมีเป้าหมายคือการมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเจ้าตัวเล็กทั้งความสุขในปัจจุบันและการเติบโตไปเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในอนาคต แต่พ่อแม่ก็เป็นมนุษย์ปุถุชนที่ต้องเผชิญข้อจำกัดหลายประการ ทั้งทักษะความสามารถ เงินที่มีอยู่ในบัญชี และเวลาที่มี 24 ชั่วโมงเท่าเดิมแต่เพิ่มเติมคือต้องเคี่ยวเข็ญเด็กๆ ในบ้าน
ข้อจำกัดเหล่านั้นทำให้พ่อแม่ต้องตัดสินใจว่าจะเลี้ยงลูกแบบไหน ไดอานา บอมรินด์ (Diana Baumrind) นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการของเด็กจะแบ่งสไตล์การเลี้ยงลูกออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้
แบบแรกคือเลี้ยงลูกแบบเผด็จการ (authoritarian parenting) พ่อแม่สไตล์นี้จะให้ความสำคัญกับการเชื่อฟังคำสั่งสอนโดยห้ามตั้งคำถาม บังคับให้ลูกเชื่อทุกคำที่ตัวเองบอก และเน้นการลงโทษอย่างรุนแรงเมื่อลูกๆ เริ่มมีทัศนคติที่แตกต่างจากที่พ่อแม่ต้องการ พวกเขาเชื่อว่าการเลี้ยงดูที่ดีคือการบังคับไม่ให้เด็กๆ มีอิสระและต้องอยู่ในกฎระเบียบตลอดเวลา
แบบที่สองคือเลี้ยงลูกแบบปล่อยให้ทำตามใจ (permissive parenting) พ่อแม่สไตล์นี้จะเชื่อในการทำความเข้าใจความต้องการและการกระทำของเด็กๆ โดยไม่ลงโทษ พวกเขาจะไม่กำหนดกฎเกณฑ์อะไรมากนักโดยทำตัวเหมือนเป็นแหล่งทรัพยากรที่ลูกจะมาใช้ได้ตามต้องการ ไม่ได้ต้องการให้ลูกมองตนเองเป็นภาพผู้ใหญ่ที่ดีในอุดมคติ พ่อแม่กลุ่มนี้จะไม่ยุ่มย่ามกับการตัดสินใจของลูก และเปิดโอกาสให้ลูกควบคุมชีวิตของตัวเอง ตัดสินใจเอง และมีอิสระอย่างเต็มที่
แบบที่สามคือเลี้ยงลูกแบบคอยกำกับดูแล (authoritative parenting) พ่อแม่สไตล์นี้จะพยายามชี้นำพฤติกรรมและทัศนคติที่พึงประสงค์ให้กับลูกๆ โดยวิธีการพูดคุยด้วยเหตุผล เมื่อเด็กไม่เห็นด้วยก็จะถามสาเหตุเบื้องหลังเพื่อปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน พ่อแม่กลุ่มนี้จะให้ค่าความเป็นปัจเจกและระเบียบวินัยของเด็กๆ อย่างเท่าเทียมกัน พวกเขาจะแสดงความเห็นในฐานะผู้ใหญ่ แต่ก็เข้าใจว่าเด็กๆ มีเหตุผลและความต้องการของตัวเองเช่นกัน การตัดสินใจทั้งหมดจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับพ่อแม่หรือเด็กเพียงฝ่ายเดียว
สิ่งที่ชวนฉงนสงสัยคือปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้พ่อแม่ทั่วโลก ‘เลือก’ สไตล์การเลี้ยงดูลูกที่แตกต่างกัน ทำไมพ่อแม่ชาวสวีเดนถึงเลี้ยงลูกแบบปล่อยให้ทำตามใจ ถึงขั้นไม่สะทกสะท้านเมื่อลูกวัยหกขวบตะโกนว่าให้เงียบๆ เพราะกำลังดูโทรทัศน์อยู่ พร้อมบอกเพื่อนที่มาเยี่ยมที่บ้านให้ย้ายห้องคุยเพื่อไม่ให้ส่งเสียงรบกวนเด็กๆ ขณะที่พ่อแม่ชาวสวิตเซอร์แลนด์ให้เสรีภาพแก่เด็กๆ ตราบใดที่ยังอยู่ในกฎระเบียบ ส่วนพ่อแม่ชาวเอเชียก็อย่างที่เราทราบกันดีว่าส่วนใหญ่มักจะ ‘เข้มงวด’ และพร้อมลงโทษทันทีที่เด็กออกนอกลู่นอกทาง
สไตล์การเลี้ยงอาจมีส่วนจากวัฒนธรรม ศาสนา หรือประวัติศาสตร์การเมือง แต่ทราบไหมครับว่ามีปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญนั่นคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยการศึกษาพบว่ายิ่งความเหลื่อมล้ำสูงมากขึ้นเท่าไหร่ พ่อแม่ก็จะมีแนวโน้มเข้มงวดกับลูกมากขึ้นเท่านั้น
สังคมเหลื่อมล้ำกับการเลี้ยงดูเด็กๆ
นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองหยิบข้อมูลจากแบบสำรวจคุณค่าทั่วโลก (World Values Survey) ที่สามารถสะท้อนสไตล์การเลี้ยงลูกของแต่ละประเทศ ผลการสำรวจดังกล่าวพบว่าพ่อแม่ในแถบสแกนดิเนเวียจะให้ความสำคัญกับเสรีภาพและจินตนาการของเด็กๆ อย่างยิ่ง ดังนั้นการเลี้ยงลูกแบบปล่อยให้ทำตามใจจึงเป็นแนวทางหลัก ส่วนผู้ตอบแบบสอบถามจากประเทศ เช่น รัสเซีย จีน ตุรกี และสหรัฐอเมริกาจะให้ความสำคัญกับแง่มุมดังกล่าวค่อนข้างน้อย แต่จะสอนเด็กๆ ให้ยึดมั่นในการทำงานหนัก นำไปสู่การเลี้ยงลูกแบบคอยกำกับดูแลหรืออาจถึงขั้นการเลี้ยงลูกแบบเผด็จการ
ผลการศึกษาพบว่าแนวทางการเลี้ยงลูกนั้นมีความสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของแต่ละประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยพ่อแม่ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำก็มักจะเลี้ยงลูกแบบปล่อยให้ทำตามใจ ส่วนประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง พ่อแม่ก็มักจะเข้มงวดกับลูกๆ มากขึ้นโดยเลือกเลี้ยงลูกแบบคอยกำกับดูแลหรือเลี้ยงลูกแบบเผด็จการ
ผลลัพธ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจากการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังพบความสัมพันธ์ลักษณะนี้ในประเทศที่ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นอีกด้วย เช่น สหรัฐอเมริกาที่ตั้งแต่ พ.ศ.2538–2554 ความเหลื่อมล้ำทางรายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่ความนิยมในสไตล์การเลี้ยงลูกก็เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกันโดยในปี พ.ศ.2538 มีผู้ปกครอง 39 เปอร์เซ็นต์ที่เลี้ยงลูกแบบคอยกำกับดูแล แต่ในปี พ.ศ.2554 สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 53 เปอร์เซ็นต์
หลายคนอาจฉงนสงสัยว่าความเหลื่อมล้ำจะไปส่งผลต่อสไตล์การเลี้ยงลูกได้อย่างไร ผมมีคำอธิบายสั้นๆ ที่หากอ่านแล้วนึกภาพประกอบคือสังคมไทยซึ่งเหลื่อมล้ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก รับรองว่าจะเห็นความสมเหตุสมผลของผลลัพธ์ดังกล่าว
ในสังคมที่ขาดแคลนความเท่าเทียม การที่เด็กๆ จะเติบโตมามีรายได้ในระดับที่ลืมตาอ้าปากได้ในสังคม การกระทำในวัยเด็กจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากทำคะแนนไม่ดีในโรงเรียนหรือไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมร้อยแปดพันเก้ามาประดับเรซูเม่ก็อาจไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยแนวหน้าในคณะชั้นนำ นี่คือคำพิพากษาว่าเขาหรือเธอนั้นจะเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจในอนาคต เพราะนอกจากงานที่สงวนไว้สำหรับผู้มีการศึกษาสูงแล้ว งานอื่นๆ ก็ทั้งไม่มั่นคงและมีรายได้ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน พ่อแม่จึงต้องทำทุกอย่างเพราะกลัวว่าลูกจะพลาดโอกาสที่อาจเป็นตัวกำหนดชีวิตทั้งชีวิต
หากเทียบสังคมบนย่อหน้าข้างบนกับอีกสังคมหนึ่งซึ่งมีความเท่าเทียมมากกว่า สารพัดวิชาชีพเงินดีไม่ว่าจะเป็นหมอ ทนายความ หรือนักบัญชีถึงจะมีรายได้มากกว่า แต่ไม่ได้มากกว่ามากๆ (ๆๆๆ อย่างที่เป็นอยู่ในไทย) เมื่อเทียบกับอาชีพสุจริตอย่างอื่น เช่น คนงานในโรงงาน คนขับแท็กซี่ หรือช่างซ่อมรถยนต์ ในบริบทนี้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กๆ อาจไม่สลักสำคัญมากนักต่อคุณภาพชีวิตหลังเรียนจบ เด็กที่อาจเรียนไม่เก่งนักก็ยังสามารถออกไปมีอาชีพที่มีความมั่นคงและมีรายได้ประมาณชนชั้นกลาง หากสภาพสังคมเป็นเช่นนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่พ่อแม่จะเลี้ยงลูกแบบสบายๆ
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่าการเลี้ยงลูกโดยการเคี่ยวเข็ญผ่านการกำกับดูแลหรือบังคับฉบับเผด็จการจะทำให้เด็กๆ มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีกว่าการเลี้ยงแบบปล่อยตามสบาย นักเศรษฐศาสตร์จึงสรุปว่าในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง พ่อแม่ที่มีเหตุมีผลและหวังให้ลูกได้ดิบได้ดีในอนาคตก็ย่อมเข้มงวดกับลูกเป็นธรรมดา
ปัจจุบัน เราเริ่มเห็นเทรนด์โลกที่ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยพิจารณาจากช่องว่างรายได้ระหว่างคนที่จบระดับมัธยมศึกษากับระดับปริญญาตรีที่กว้างขึ้น แนวโน้มดังกล่าวย่อมทำให้พ่อแม่เลือกเลี้ยงลูกเข้มงวดมากขึ้นเป็นเงาตามตัวและอาจส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างในระยะยาว
การเลี้ยงลูกกับปัญหาเชิงโครงสร้าง
แต่ความเหลื่อมล้ำไม่ได้ส่งผลต่อแนวทางการเลี้ยงลูกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะวิธีเลี้ยงลูกยังตอกย้ำให้ช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างกว้างขึ้นไปอีกด้วย
หากยังจำกันได้ พ่อแม่ที่มาจากฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกันย่อมมีทรัพยากรที่จะทุ่มเทให้ลูกไม่เท่ากัน มีการศึกษาพบว่าพ่อแม่ชนชั้นกลางที่มีการศึกษาสูงจะพร้อมจ่ายทั้งเงินและเวลาให้ลูกมากกว่า ทั้งพาลูกไปเที่ยวนอกบ้าน ลงทะเบียนเรียนพิเศษ หรือใช้เวลาเล่นด้วยกันที่บ้าน พ่อแม่กลุ่มนี้จึงมักเลือกวิธีเลี้ยงลูกแบบคอยกำกับดูแลหรือเลี้ยงลูกแบบเผด็จการไปโดยปริยาย ขณะที่พ่อแม่หาเช้ากินค่ำจะมีแนวโน้มปล่อยให้ลูกจัดการชีวิตตัวเองมากกว่าเพราะมีทรัพยากรจำกัด
ผลลัพธ์ที่ได้คือความเหลื่อมล้ำทางระดับการศึกษาและระดับรายได้ที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นซึ่งผู้เขียนเรียกว่า ‘กับดักการเลี้ยงลูก’ (parenting trap) คือเด็กในครอบครัวที่ยากจนจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ยากจนเพราะพ่อแม่ไม่มีเวลาหรือทรัพยากรสนับสนุน ส่วนเด็กในครอบครัวที่ร่ำรวยก็จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ได้ดิบได้ดีเพราะพ่อแม่ผลักดันทุกย่างก้าวโดยไม่ปล่อยให้คลาดสายตา
เพื่อตัดตอนวงจรอุบาทว์ ภาครัฐสามารถดำเนินนโยบายเพื่อให้ประเทศหลุดจากกับดักการเลี้ยงลูก แนวทางแรกคือการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นรากของปัญหาการเลี้ยงลูก เช่น การสร้างโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม และจัดหาสวัสดิการเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับทุกคน ส่วนแนวทางที่สองคือการสนับสนุนเด็กจากครอบครัวด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงศูนย์ดูแลเด็กเล็กที่มีคุณภาพสูงในราคาประหยัดเพื่อแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ผู้ปกครอง
อย่างไรก็ดี ความเหลื่อมล้ำเป็นเพียงหนึ่งในคำอธิบายการเลือกวิธีเลี้ยงลูกที่เหมาะสมของแต่ละครอบครัว นักเศรษฐศาสตร์ยังพบว่าโครงสร้างของโรงเรียนและระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยเองก็มีส่วนไม่ใช่น้อย เช่น ในประเทศจีนซึ่งนักเรียนจะต้องใช้คะแนนสอบระดับชาติเป็นเกณฑ์สำคัญในการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย การที่มีโอกาสเพียงน้อยครั้งทำให้พ่อแม่โดยเฉพาะกลุ่มที่ร่ำรวยมีแนวโน้มเลี้ยงลูกแบบเข้มงวดเพื่อให้มั่นใจว่าลูกจะประสบความสำเร็จในอนาคต
ขอย้ำอีกครั้งว่าบทความนี้ไม่ได้พยายามตอบโจทย์ว่าวิธีการเลี้ยงลูกแบบไหนคือทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะการศึกษาโดยเหล่านักเศรษฐศาสตร์มักมองความสำเร็จในเชิงปริมาณ เช่น รายได้ หรือความมั่งคั่ง แต่ไม่ได้พิจารณาความสุขหรือความพึงพอใจในชีวิตของเด็กๆ ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่สิ่งที่ผมต้องการนำเสนอคือ ‘เหตุปัจจัย’ ที่ทำให้พ่อแม่เลือกใช้วิธีเข้มงวดกับลูกๆ ซึ่งอาจเกิดจากความเหลื่อมล้ำในสังคมที่กดทับทำให้พวกเขาต้องเลือกสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับลูก แต่ลูกอาจไม่ได้คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
แต่ไม่ว่าโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมจะเป็นอย่างไรก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่พ่อแม่ผู้ปกครองในฐานะผู้ใหญ่ที่มีอำนาจเหนือกว่าจะละเมิดร่างกายและจิตใจของเด็กๆ ด้วยเหตุผลว่าปรารถนาดี
อ้างอิงข้อมูลจาก
Love, Money, and Parenting: How Economics Explains the Way We Raise Our Kids
Illustration by Waragorn Keeranan