“เจดา รักคุณ รอดู G.I.Jane 2 ไม่ไหวแล้ว” คริส ร็อก นักแสดงตลก เล่นมุกบนเวทีเกี่ยวกับทรงผมเจดา พิงเก็ตต์ สมิธ
ก่อนที่วิลล์ สมิธ สามีของเธอจะเดินขึ้นเวทีและตบไปที่ใบหน้าของพิธีกร Academy Awards ครั้งที่ 94 น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เหวอที่สุดในงานรางวัลออสการ์หลังจากการให้รางวัลผิดเมื่อปี ค.ศ.2017 เลย
แม้ว่าความตลกเป็นเรื่องของปัจเจก แต่ขอบเขตการยิงมุกอยู่ที่ตรงไหนก่อนความตลกจะกลายเป็นอาวุธที่ทำร้ายคนอื่น?
รู้จักก่อนจะเล่น
‘G.I.Jane’ ที่คริส ร็อกหมายถึงคือคำอธิบายการทรงผมของเจดาที่คล้ายกันกับระเบียบการทำผมของทหารอเมริกัน ไม่ว่าเขาจะรู้หรือไม่ เจดาเป็นผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อม เมื่อกล้องแพนไปหาเธอเพื่อดูการตอบสนองกับมุกมุกนั้นเราเห็นได้ชัดถึงสีหน้าที่อึดอัด
หากจะต้องถอดรหัสสถานการณ์นี้ ในมุมของร็อกมุกนี้คือการ ‘เผา’ เรื่องทรงผม แต่สำหรับวิลล์และเจดา นี่คือการนำโรคที่พวกเขาต้องประสบและใช้ชีวิตกับมันมาล้อเลียน ขอบเขตแรกที่ต้องพูดถึงคือการรู้จักคือขอบเขตของความเข้าใจต่อตัวบุคคลที่กำลังจะเป็นคนที่ถูกล้อ
หากอยู่ในจุดที่เจดายืน โรคผมร่วงเป็นหย่อมที่เธอประสบนั้นย่อมเป็นหนึ่งในความเจ็บปวดที่เธอพบเจอ แต่ในขณะเดียวกันเธอสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้คนต่อโรคโรคนี้ที่พบในผู้หญิงผิวดำมากกว่ากลุ่มอื่น ผ่านการใช้พื้นที่สื่อของเธอต่อสู้และอธิบายมันมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2018 จนสำนักข่าว NBC News ยกย่องเธอว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้กับผู้หญิงผิวดำที่ป่วยเป็นโรคเดียวกัน เช่นนั้นหากผู้เล่นมุกเห็นผู้หญิงที่ไม่มีผม การพูดเช่นนี้ออกไปเป็นมุกตลกที่ดีหรือไม่?
‘แค่’ ขำๆ รึเปล่า? ในมุกตลกอาจมีลำดับชั้นของอำนาจ
ลองจินตนาการภาพการอยู่ในที่ทำงานแล้วเราเห็นหัวหน้าเล่นมุกตลกท็อกซิกกับเพื่อนร่วมงานของเราแล้วบรรยากาศของความไม่ขำเกิดขึ้น ลองจินตนาการหากเราเป็นสองคนนั้น เราจะทำยังไง ถ้าเราเป็นหัวหน้ามุกเหล่านั้นก็เป็นมุกมุกหนึ่งที่เราไม่ตั้งใจให้เกิดความตึงนี้ แต่หากเราเป็นลูกน้องล่ะ? อำนาจในการต่อรองของเรามากพอที่จะไม่พอใจกับมุกที่เขาเล่นหรือไม่? หรือแม้แต่จะมีสิทธิที่จะไม่ขำไปกับมันหรือเปล่า?
ในแบบสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมไม่เหมาะสมในที่ทำงานในปี ค.ศ.2019 โดย US Equal Employment Opportunity Commission (EEOC) พบว่าพนักงานจำนวนมากไม่ต้องการที่จะรายงานพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมโดยหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานด้วยความกลัวที่จะสูญเสียงาน เสียโอกาสการขึ้นเงินเดือน โดนลดตำแหน่ง โดนย้ายที่ทำงาน นอกจากนั้นยังมีความกลัวที่จะโดนมองว่าไม่ยอมทำงานเป็นทีมกับคนอื่น ไปจนกลัวการที่จะต้องพูดถึงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อีกครั้ง
ฉะนั้น ในการหัวเราะแห้งๆ จากลูกน้องที่ไม่ได้รู้สึกขำไปกับมุกตลกเหล่านั้นอาจมีความหมายมากกว่าความเกรงใจ แต่อาจเป็นการตอบโต้เดียวที่ทำได้จากคนที่กลัวการถูกสังคมที่ทำงานมองอย่างแปลกแยก โดนมองว่าเป็นคนไม่น่าคบหา มากไปกว่านั้นคือความกลัวที่จะถูกบีบออกจากหน้าที่ที่เขาทำอยู่ก็ได้
มุกตลกเป็นเครื่อง ‘ดันบาร์’?
อีกหนึ่งข้อที่เรามักได้ยินหลังจากนักแสดงตลกเล่นมุกที่ controversial คือคำอธิบายว่าที่พวกเขาต้องเล่นมุกนี้เพื่อให้สังคมฉุกคิด ผ่านการเสียดสีให้เจ็บจี๊ด ไม่ว่าจะการเมือง สังคม ศาสนา เชื้อชาติ หรืออื่นๆ
แต่มุกเหล่านั้นเสียดสีใคร? และเสียดสียังไง?
‘คุณสามารถใช้มันเพื่อสร้างสิ่งดีๆ ได้ หรือคุณอาจใช้มันอย่างรุนแรงและทำร้ายผู้อื่นได้เช่นกัน’ เจสสิกา มิลเนอร์ เดวิส ผู้ประสานงานเครือข่าย Australasian Humour Studies Network กล่าว เธอให้ความเห็นว่าการหยอกล้อกันภายในกลุ่มสามารถสร้างสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นให้แก่ผู้คนภายในกลุ่มนั้นๆ ได้ แต่หากพูดถึงกลุ่มผู้มีอภิสิทธิที่นำเสียงเหล่านั้นพูดกดคนผู้ถูกกดทับ (คนผิวดำ คนข้ามเพศ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ) การกระทำเช่นนี้สามารถสร้างความเจ็บปวดแก่พวกเขาได้
หนึ่งในกรณีที่มุกตลกถูกนำมาเป็นเครื่องมือการทำร้ายกลุ่มคนที่ถูกกดทับคือในโชว์ The Closer โดยเดฟ ชาปเปลล์ที่เขาใช้พื้นที่ของเขาในการสนับสนุนแนวคิดของเจ. เค. โรว์ลิง ในเรื่องการไม่มองว่าคนข้ามเพศสามารถเป็นเพศที่พวกเขาต้องการได้ “พวกเขาแคนเซิลเจ. เค. โรว์ลิง พระเจ้า เธอแค่บอกว่าเพศมีจริง แล้วพวกข้ามเพศก็โคตรโมโหแล้วเรียกเธอว่าเป็น Terf งั้นผมก็ทีม Terf ล่ะ” เขาพูด หากแต่ Terf แปลตรงตัวว่ากลุ่มเฟมินิสต์ที่กีดกันคนข้ามเพศ
คำพูดนี้อยู่ในโชว์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดของเน็ตฟลิกซ์ในช่วงเวลานั้น โดยนักแสดงตลกที่มีอิทธิพลสูงที่สุดในอเมริกา แม้ว่ามุกตลกนั้นเป็นความพยายามตั้งคำถามกับ cancel culture แต่ในประโยคเดียวกันมันพยายามลบล้างแนวคิดของกลุ่ม Terf ที่พยายามกดขี่คนข้ามเพศทุกทิศทาง ตั้งแต่เรื่องที่ไม่ยุ่งยากเช่นการใช้ preferred pronoun ไปจนถึงความต้องการที่จะทำให้การผ่าตัดแปลงเพศเป็นสิ่งที่คนส่วนมากไม่อาจเข้าถึง เหลือเพียง ‘เพศเป็นข้อเท็จจริง’
ตรงกันกับคำพูดโดยนักวิจัยเรื่องความตลก สื่อ และความพิการ ชารอน ล็อคเยอร์ ในหนังสือ Beyond a Joke: The Limits of Humour กล่าวว่า ‘อารมณ์ขันนั้นมักถูกยกย่องให้เป็นส่วนที่บอกว่าเราเป็นมนุษย์…มันทำให้เราเชื่อมต่อกันและกัน และเราต่อกลุ่มหรือสังคมอื่นๆ แต่เราไม่อาจมองอารมณ์ขันเป็นเรื่องบวกในสังคมและวัฒนธรรมได้เลย หากมันมีส่วนผสมของการเหมารวมหรือการบิดเบือนตัวตนของผู้คน หรือความใจแคบและความเกลียดชัง’
แม้จะมีเจตนาที่ดีที่สุด บางครั้งมุกตลกไม่ได้ตลกสำหรับทุกคน มันอาจนำพามาซึ่งเสียงหัวเราะและความใกล้ชิด แต่คำถามที่ตามมาคือใครเป็นผู้ที่ถูกหัวเราะใส่?
อ้างอิงข้อมูลจาก