ช่วงนี้มีประกาศรางวัลเกี่ยวกับหนังสือสำคัญๆ หลายชิ้น เรามีซีไรต์ประกาศผลรอบสุดท้าย สัปดาห์ที่แล้ว อิชิกุโระ ก็เพิ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมไป โดยรวมแล้วเวลามีรางวัลเกี่ยวกับหนังสือใหญ่ๆ งานที่ถูกพูดถึงก็มักจะเป็นงานวรรณกรรม – บันเทิงคดี (fiction) – เป็นส่วนใหญ่ เป็นการเชิดชูศิลปะการเขียนในแง่ของการสร้างเรื่องแต่ง ว่าโลกของเรื่องแต่งจะนำพาเราไปได้ไกล และได้สวยงามแค่ไหน
แต่ว่าในแง่ของหนังสือ งานเขียนประเภทที่ไม่ใช่เรื่องแต่ง (non-fiction) ก็ถือเป็น ‘งานเขียน’ อีกประเภทที่ด้วยตัวมันเอง ถึงจะไม่ได้มี ‘ศิลปะการประพันธ์’ ในมิติแบบวรรณกรรม เช่น โครงเรื่อง แก่นเรื่อง การสร้างตัวละคร แต่งานเขียนประเภท non-fiction ก็ถือว่าเป็นงานเขียนที่สำคัญและต้องการความสามารถทางการประพันธ์อีกรูปแบบหนึ่ง ในการถ่ายทอด เรียงร้อย และเสนอประเด็นเรื่องราวจากการค้นคว้า จากประสบการณ์ – จะทำยังไงให้สนุก ให้น่าสนใจ จะหยิบเรื่องอะไรมาเล่า จะเอาคนอ่านให้อยู่ได้อย่างไร – ไปจนถึงว่างานเขียนประเภท non-fiction นี้อาจนำผู้อ่านไปสู่ความเข้าใจใหม่ๆ ไปเห็นอะไรที่อาจจะเป็นปัญหา หลายครั้งที่งานเขียนเหล่านี้กำลังพูดเพื่อความเป็นธรรม เพื่อความถูกต้อง และเพื่อสร้างความเข้าใจบางอย่างให้กับสังคม
ในทำนองเดียวกัน การคัดเลือกหนังสือประเภทนี้ขึ้นมาซักชุดหนึ่งเพื่อเชิดชูว่าเป็นหนังสือดี ก็ทำให้เราพอจะมองเห็นกระแสอะไรบางอย่างที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ นักเขียน นักวิชาการ ไปจนถึงผู้อ่านและสังคมกำลังสนใจอะไร และเขียนอะไรออกมาเพื่อพูดกับเราอยู่
รางวัล The Baillie Gifford Prize สำหรับงานเขียน non-fiction เป็นรางวัลที่คัดเลือกและมอบให้กับงานเขียนจากทุกสัญชาติ ผู้ได้รับรางวัลจะได้รับเงินสด 30,000 ปอนด์ (ประมาณ 1 ล้าน 3 แสนบาท) ในปี 2017 นี้ รางวัลดังกล่าวได้ประกาศรายชื่อหนังสือที่เข้ารอบสุดท้ายทั้งสิ้น 6 เล่ม ทั้งหมดมีทั้งงานเขียนแนวประวัติศาสตร์ แนว popular science รวมไปถึงบันทึกความทรงจำและบันทึกการเดินทาง แกนหลักๆ ของเรื่องมีทั้งประวัติศาสตร์และประเด็นทางอัตลักษณ์ ทางเชื้อชาติ เรื่องศรัทธาและความเชื่อ เรื่องยา ไปจนถึงเรื่องความตายและการเป็นมนุษย์ จากรายชื่อทั้ง 6 นี้ อาจจะเป็นแนวทางให้เราลองหาหนังสือแนว non-fiction มาอ่านเพิ่มพูนความรู้สนุกๆ รับงานหนังสือที่กำลังจะมาถึง
สำหรับผลผู้ชนะจะประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้
The Islamic Enlightenment: The Modern Struggle Between Faith and Reason – Christopher de Bellaigue
ประเด็นความเข้าใจเกี่ยวกับอิสลามย่อมอยู่ในความสนใจของพวกเราและของโลก แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับอิสลามมักจะค่อนข้างแบนราบและประกอบไปด้วยอคติบางประการเสมอ โลกมุสลิมมักถูกมองว่าไม่สามารถปรับตัวเองให้ทันสมัยและปรับตัวให้เข้ากับโลกได้ แต่ว่าถ้าเราลองมองไปในประวัติศาสตร์ ศูนย์กลางสำคัญๆ ดินแดนตะวันออกกลางในฐานะศูนย์กลางของโลกอิสลามต่างได้เผชิญกับโลกตะวันตกและการปรับตัวเองให้เป็นสมัยใหม่นับตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 แล้ว นับตั้งแต่การมาเยือนของนโปเลียน โลกมุสลิมก็ได้ปรับตัวและรับเอาแนวคิดและวิธีการแบบโลกสมัยใหม่เข้าไปสู่อารยธรรมของตัวเอง เช่น การรับเอาการแพทย์สมัยใหม่ การยอมรับสตรี ไปจนถึงการก่อตัวขึ้นของระบบประชาธิปไตย
Christopher de Bellaigue ผู้เขียนเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ทำงานในพื้นที่ตะวันออกกลางและเอเชียใต้ นอกจากจะมีประสบการณ์ตรงในพื้นที่เป็นเวลายาวนานแล้ว ยังมีภูมิหลังทางศึกษาด้าน Oriental Studies จาก the University of Cambridge มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ผู้เขียนตั้งคำถามว่าจากความสัมพันธ์กับอารยธรรมตะวันตก โลกอิสลามได้รับวิธีคิดทางปรัชญาจากนักปรัชญาที่เป็นรากฐานของโลกสมัยใหม่อย่างเพลโตและอาริสโตเติลหรือไม่ – คำตอบคือ ใช่ – งานเขียนชิ้นนี้นำเราไปสู่ความเข้าใจอิสลามและวัฒนธรรมมุสลิมในโลกสมัยใหม่ อันเป็นความเข้าใจสำคัญโดยเฉพาะใครที่สนใจการเมืองและความขัดแย้งในระดับโลกทุกวันนี้
How to Survive a Plague – David France
David France เป็นนักเขียนและนักทำสารคดี ในปี 2012 ได้เผยแพร่สารคดีเกี่ยวกับ HIV ในชื่อเดียวกันกับหนังสือที่เพิ่งตีพิมพ์ในปี 2016 สารคดีชิ้นนั้นสร้างความตื่นตัวและความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์ทั่วอเมริกา จากฉบับหนังสารคดีที่ได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลออสการ์สองสาขา มาสู่ฉบับหนังสือ How to Survive a Plague เป็นงานเขียนที่เขียนโดยนักเขียนผู้เฝ้าติดตามประเด็นและปัญหามาตั้งแต่ช่วงที่โรคดังกล่าวกำลังเริ่มระบาด
France ได้สร้างงานที่อุทิศขึ้นเพื่อเพื่อนผู้จากไปจากโรคร้าย หนังสือเล่มนี้เป็นนำพาเราไปสู่ประวัติสังคมอันยาวนาน เป็นงานเชิงรวบรวมเรียบเรียงที่เต็มไปด้วยข้อมูลเชิงลึก ทั้งยังเป็นเสมือนบทบันทึกความทรงจำที่จริงจังและตรงไปตรงไปของผู้เขียน งานเขียนชิ้นนี้ทำให้เราเห็นว่าการแพร่ของโรคที่เรียกได้ว่าเป็นโรคสำคัญของศตวรรษที่ 20 ส่งผลต่อมุมมองของเรา ต่อการแพทย์ และต่อปฏิบัติการ ไปจนกระทบต่อผู้คนอย่างหลากหลายลึกซึ้ง
Border: A Journey to The Edge of Europe – Kapka Kassabova
เวลาเรานึกภาพยุโรป เรานึกถึงภาพเมืองและดินแดนแห่งอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกสมัยใหม่ ไม่ก็ภาพของอารยธรรมเก่าแก่ของโลกตะวันตกที่ยาวนาน Border เป็นงานเขียนที่พูดถึงพื้นที่ ‘ชายแดน’ ที่ดินแดนสามแห่งคือบัลแกเรีย ตุรกี และกรีซมาบรรจบกัน พื้นที่ส่วนหนี่งของยุโรปที่เราจินตนาการไม่ค่อยถึง ในสมัยก่อนพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ว่ากันว่าใช้หลบหนีข้ามพรมแดนได้ง่ายที่สุดจุดหนึ่งในยุโรป ในพรมแดนดังกล่าวจึงเต็มไปด้วยทหาร สายลับ และเหล่านักโทษที่กำลังหลบหนี
Kapka Kassabova ผู้เขียนเติบโตและวิ่งเล่นอยู่ที่แถวๆ ชายหาด ที่ถัดไปอีกหน่อยก็จะเป็นลวดหนามและรั้วไฟฟ้า ทุกวันนี้พื้นที่ที่น่าพิศวงและน่าตื่นเต้นดังกล่าว อาจไม่ได้น่าตื่นเต้นและมีกำลังทหารคอยเฝ้าระวังมากมายเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว แต่พื้นที่พรมแดนดังกล่าวก็ยังเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความรุ่มรวยและอดีตที่สัมพันธ์กับอารยธรรมของทวีปยุโรปอยู่
ผู้เขียนพาเราไปสำรวจพื้นที่ชายแดนที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ภาพรวมอย่างน่าประทับใจ ตั้งแต่การไหลเข้าออกของเหล่าผู้อพยพทั้งจากยุคคอมมิวนิสต์ สมัยสงครามโลก หรือแม้แต่ตั้งแต่ยุคอาณาจักรออตโตมัน พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ลึกลับและแปลกประหลาด เป็นชายป่าชายแดนที่เต็มไปด้วยตำนานและกลุ่มคนลึกลับทั้งหลาย ดินแดนและชายป่าที่มีนักล่าสมบัติ มีนักสมุนไพร นักบำบัดด้วยพลังจิต ไปจนถึงพวกทำพิธีลุยไฟ พื้นที่ดูเหนือจริงและเหนือจินตนาการ แถมยังสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ยุโรปอีกต่างหาก
An Odyssey: A Father, A Son and an Epic – Daniel Mendelsohn
ลองนึกภาพเมื่อคุณพ่อนักวิทยาศาสตร์หลังเกษียณ ทดลองเข้าไปนั่งเรียนวิชาวรรณคดีที่ลูกชายตัวเองสอน แค่ไอเดียแค่นี้ก็รู้สึกว่าช่างคิดจัง Jay Mendelsohn เป็นอดีตนักวิจัยที่มองสิ่งต่างๆ ผ่านมุมมองของตัวเลขและคณิตศาสตร์ ถือโอกาสสุดท้ายมาละลายและเรียนรู้โลกในมุมมองใหม่ๆ ในวิชาสัมนาวรรณคดีเรื่อง An Odyssey ของลูกชาย Daniel Mendelsohn อาจารย์สาขาคลาสสิกที่ Bard College บทบันทึกความทรงจำนี้เป็นจึงทั้งการเรียนรู้โลกในมุมมองของแขนงวิชาไม่คุ้นเคย เป็นการเปิดใจทั้งในทางวิชาการ และเปิดใจเรียนรู้ทำความเข้าใจลูกชายของตัวเองอีกด้วย น่าสนุก เมื่อลูกชายต้องสอนพ่อ เรื่องราวการเรียนรู้ซึ่งกันและคนของคนสองวัย และคนจากสองโลกของสาขาวิชา
To Be A Machine: Adventures Among Cyborgs, Utopians, Hackers, and the Futurists Solving the Modest Problem of Death – Mark O’Connell
‘ความตาย’ จะเป็นอย่างไร ในโลกที่เทคโนโลยีอาจจะทำให้เราก้าวไปสู่ภาวะอื่นๆ เมื่อเราอาจจะกลายเป็นหุ่นยนต์ กลายเป็นมนุษย์ดัดแปลง และจะเกิดปัญหาอะไรบ้างถ้าด้วยพลังของเทคโนโลยีที่สามารถดัดแปลงร่างกายของเรา ไปจนถึงดัดแปลงสมองและจิตใจของเรา จนกระทั่งเราก้าวผ่านซึ่ง ‘ความตาย’ ไปได้ งานเขียนชิ้นนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระแส transhumanism กระแสที่พูดถึงความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ที่อาจจะกำลังเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ ความเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อเราในฐานะ ‘มนุษย์’ อย่างพลิกโฉมหน้า … นั่นสินะ ท่ามกลางการต่อสู้กับความตาย – ใครๆ ก็ไม่อยากตาย – จะเป็นยังไง ถ้าวันนึงเราสามารถ ‘ไม่ตาย’ ได้จริงๆ ด้วยการกลายเป็นไซบอร์ก กลายเป็นคอมพิวเตอร์ … งานเขียนชิ้นนี้พาเราไปสำรวจความปรารถนาในอดีต ไปจนถึงความเป็นไปได้และข้อถกเถียงสำคัญต่างๆ บนความตายและความไม่ตายที่มนุษย์เราหมกมุ่นหลงใหลมาช้านาน
Belonging: the Story of the Jews, 1492-1900 – Simon Schama
เมื่อพูดถึงยิวเราอาจจะมีภาพของผู้คนซ้ำๆ มีเรื่องราวทั้งของการเป็นผู้ถูกกระทำทั้งในเชิงศาสนาและในทางชาติพันธุ์ การเป็นนักคิดและนักปรัชญา งานเขียนชิ้นกลับมาพูดถึงชนชาติยิวในมิติอื่นๆ พูดถึงคนยิวที่กระจัดกระจายและมีบทบาทอยู่ทั่วโลก ตั้งแต่นักมวยชาวยิวในอังกฤษ นายพลในอาณาจักรจีน นักแต่งเพลงโอเปร่าในเยอรมันช่วงศตวรรษที่ 19 งานเขียนชิ้นนี้ค่อยๆ เล่าและคลี่คลายเรื่องราวของชาวยิวในฉากหลังอันหลากหลาย จากหน้าผา จากห้องครัวในเมืองใหญ่ ไปจนถึงขบวนรถม้าและรถไฟ เรื่องราวของชาวยิวเล็กๆ ถูกนำกลับมาเรียงร้อยใหม่และทำให้เราเห็นภาพใหญ่ของการก่อตัวขึ้นของชาวยิว และในที่สุด คือการเป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติและโลกใบนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก