“ช่วงนั้นท่วมครึ่งคันรถอะ ประมาณเลยเข่าขึ้นมาอีก” วินมอเตอร์ไซค์ในซอยรามอินทรา 39 หนึ่งในจุดที่มีรายงานว่าน้ำท่วมสูงสุดถึง 50 ซม. “ท่วมจนชินแล้ว ลอกท่อยังไงก็แก้ไม่ได้หรอก”
เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา บางเขนเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมหนักและนาน อีกทั้งถ้าย้อนกลับไปดูตามข่าว บางเขนเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เผชิญน้ำท่วมบ่อยครั้งที่สุดอยู่แล้ว
เกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่แห่งนี้ ทำไมถึงมีปัญหาน้ำท่วมเรื้อรังมาตลอด ทำไมในปีนี้ถึงกลับมารุนแรงอีกครั้ง และมันสะท้อนวิกฤตโครงสร้างระบายน้ำของ กทม. ที่สุดท้าย อาจเป็นคำเตือนให้เรากลับไปคิดถึงเรื่องย้ายเมืองหลวงอีกครั้งหรือไม่
สาเหตุน้ำท่วมหนักบางเขน (อีกแล้ว)
อันที่จริง บางเขนเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากอยู่แล้ว เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ แต่นอกจากปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์มีปัจจัยอื่นร่วมไหม ที่ทำให้ปีนี้บางเขนเผชิญอุทกภัยรุนแรง The MATTER พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ สรุปสาเหตุของปัญหาได้ดังนี้
ประการแรก ปริมาณน้ำฝนใน กทม. จนถึงวันที่ 22 ต.ค. ปริมาณน้ำฝนสะสมใน กทม. อยู่ที่ 2,155 มม. (ยังไม่หมดปี) ซึ่งนับว่ามากกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีที่ 1,689.7 มม. และมากกว่าปริมาณน้ำฝนใน กทม. ช่วงปี 2554 เช่นกัน
และในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เขตบางเขนเผชิญฝนตกหนักกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี โดยปริมาณฝนสะสมในเดือนกันยายนปีนี้ ของเขตบางเขนอยู่ที่ 801.5 มม. ขณะที่ค่าเฉลี่ยตลอด 30 ปีของเดือนกันยายนอยู่ที่ 322.6 มม. เท่านั้น โดยวันที่ปริมาณน้ำฝนตกลงมาสูงสุดคือ วันที่ 7 ก.ย. ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนสูงถึง 178 มม.
ปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก ยังส่งผลให้คลองหลักทั้ง 2 แห่งที่เขตบางเขนใช้ระบายน้ำสู่เจ้าพระยา ได้แก่ คลองบางเขนและคลองหลุมไผ่ (ฝั่งทิศตะวันตกแถวเวียนบางเขนใช้คลองลาดพร้าว ฝั่งตะวันออกบริเวณถนนรามอินทราใช้คลองหลุมไผ่) มีปริมาณน้ำฝนมหาศาลทำให้ระบายน้ำออกได้ยาก
ประการที่สอง ระบบระบายน้ำ ปกติระบบระบายน้ำของ กทม. จะเป็นท่อรวมระหว่างน้ำฝนและน้ำเสีย สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ที่ 60 มม./ ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัย ‘Udnoon Pilailar Bangkhen FVI 2017’ พบว่า ประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่บางเขนนั้นเหลือเพียง 25-50% เท่านั้น หรือระบายได้เพียง 30 มม./ ชั่วโมงเท่านั้น เนื่องจากปริมาณน้ำที่ขังอยู่ด้านใน
ประการที่สาม การเปลี่ยแปลงของที่ดิน สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลกับ The MATTER ว่า ในช่วงปี 2556-2564 พื้นที่รองรับน้ำในเขตบางเขนลดลง โดยพื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นประมาณ 3-4% พื้นที่นาลดลง 3-4% และพื้นที่สำหรับเก็บน้ำ เช่ง หนอง, บึง, บ่อ ลดลง 1-2%
สอดคล้องกับงานวิจัย ‘Evaluation of Bangkok Flood Vulnerability Index Using Fuzzy Inference System’ ซึ่งชี้ว่า ความสามารถในการไหลของน้ำ (FVI) ของเขตบางเขนมาแตะที่ 1 หรือค่าที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมมากที่สุด
นอกจากนี้ สิตางศุ์ ยังให้ข้อมูลว่า ปริมาณขยะ, น้ำในคลอง รวมถึงสาเหตุอื่นๆ ล้วนเสริมปัญหาน้ำท่วมเขตบางเขนในครั้งนี้ทั้งสิ้น
ก่อนและหลังฝนมา
ในช่วงก่อนที่ฝนจะตกในปีนี้ พิศมัย เรืองศิลป์ ผอ.เขตบางเขน ได้ยืนยันกับ The MATTER ว่า ได้มีการจ้างภาคเอกชนลอกท่อระบายน้ำ และมีการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปเก็บผักตบชวาในพื้นที่อยู่แล้ว ซึ่งตรงกับคำให้สัมภาษณ์ของชาวบ้านในซอยรามอินทรา 39 รวมถึงซอยอัมรินทร์นิเวศและพหลโยธิน 51 ใกล้วงเวียนบางเขน
อย่างไรก็ตาม ผอ.เขตบางเขตยอมรับว่า งบประมาณของเขตไม่เพียงพอต่อการลอกคลองทั้งหมด และโดยเฉลี่ยเพียงพอทำได้ปีละ 1-2 คลองเท่านั้น และปัญหาผักตบชวาเองก็ไม่สามารถแก้ได้ขาด
และล่าสุด กทม., สำนักโยธา และสำนักระบายน้ำได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อถอดบทเรียนปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ และทางเขตบางเขนมีแผนจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเพิ่มเติม ดังนี้
- สร้างสถานีสูบน้ำโคกคราม ตรงส่วนต่อเขตลาดพร้าว
- ทำบ่อสูบน้ำ บริเวณวัดไตรวัตนาราม
- สร้างแก้มลิงบริเวณวงเวียนบางเขน โดยเจ้าภาพสำนักระบายน้ำ
- ปรับปรุงซอยและแก้ไขปัญหาถนนบริเวณสุขาภิบาล 5
- พิจารณาซื้อเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมสำหรับเขตบางเขน (ก่อนหน้านี้ต้องยืมหน่วยงานอื่น)
อุโมงค์ยักษ์ – การลงทุนขนาดใหญ่ที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วม?
กทม. มีแผนจะลงทุนในโครงสร้างระบายน้ำครั้งใหญ่ระหว่างปี 2565-2569 โดยวางแผนจะสร้างอุโมงค์ระบายน้ำทั้งหมด 6 แห่ง แบ่งเป็นฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา 4 แห่ง และฝั่งตะวันตะของแม่น้ำเจ้าพระยา 2 แห่ง
สำหรับในเขตบางเขนจะมีการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากคลองเปรมประชากร (ผ่านคลองบางบัว) ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยมันจะครอบคลุมพื้นที่เขตบางเขน, ดอนเมือง, สายไหม, หลักสี่ และจตุจักร มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.70 ม. ยาว 13.5 กม. ประสิทธิภาพระบายน้ำ 60 ลบ.ม./ วินาที และใช้วงเงินลงทุน 9,800 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2569
โดย เจษฎา จันทรประภา รองผู้อำนวยการด้านปฏิบัติการ สำนักระบายน้ำระบุว่า อุโมงค์ดังกล่าวได้เริ่มสร้างแล้ว และคาดว่ามันจะช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทางของน้ำในพื้นที่บางเขนให้ลดลง และจะแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากของบางเขนในระยะยาว
อย่างไรก็ดี สิตางศุ์ให้ความเห็นถึงโครงการนี้ว่า “ถ้ามีก็ดี”
เธอเปรียบว่าระบบระบายน้ำของ กทม. เหมือนรถเมล์เก่าในกรุงเทพฯ ที่แม้ทาสีใหม่แต่ตัวเครื่องก็ยังคงเก่าและชำรุดทรุดโทรม
ตอนนี้ กทม. เหมือนเป็นรถเมล์แดงคันหนึ่ง เราพยายามนำสติกเกอร์มาแปะด้านนอก เพื่อไม่ให้เห็นความเก่าด้านใน ซึ่งมีทั้งดินทรุด, การรุกล้ำและเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน, ระบบท่อไม่เต็มประสิทธิภาพ เราพยายามสร้างนู้นนี่แต่ปัญหาที่มียังพร้อมเผยออกมาตลอด
เธอให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า ระบบระบายน้ำของกรุงเทพฯ ยังขาดการดูแลที่ดีพอ มีทั้งปูน, ทราย และนานาสิ่งอุดอยู่ด้านใน ซึ่งสุดท้ายน้ำอาจไปไม่ถึงอุโมงค์ และประชาชนต้องเผชิญน้ำท่วมอยู่ดี “เพราะฉะนั้นต้องแก้ต้นทางด้วย ทำอย่างไรให้ฝนตกแล้วท่อระบายพาน้ำไหลไปลงอุโมงค์ได้ มันต้องเป็นทอดๆ แบบนั้น” สิตางศุ์แสดงความเห็น ซึ่งตรงกับนโยบายเส้นเลือดฝอยของ กทม.
ทุกคนต้องช่วยกันแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
“อย่างบางเขน ถ้าเรายอมรับสภาพระบบระบายน้ำและที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องเข้าใจว่ามันจะท่วมขังในระยะเวลาประมาณนึง เราจึงต้องช่วยกันหาที่หน่วงน้ำก่อน”
ข้อเสนอจากนักวิชาการในเบื้องต้นคือ ต้องหาพื้นที่หน่วงน้ำ บางเขนในฐานะ ‘เขตทหาร’ ควรจะมีการประสานงานและวางแผนร่วมกันระหว่าง กทม. กับกองทัพ แต่ในปัจจุบัน มักจะเห็นว่ากองทัพใช้เครื่องสูบน้ำออกจากพื้นที่ของตัวเองเพื่อไปลงคลอง จนเต็มไปหมดและชาวบ้านไม่สามารถสูบน้ำไปลงคลองได้
“แทนที่จะสูบน้ำลงคลอง กองทัพสูบน้ำจากข้างนอกเข้าไปข้างในดีไหม เพราะเขตทหารมีพื้นที่ว่างเยอะและถ้าท่วมจะไม่เดือดร้อน ดังนั้น ถ้ารู้แล้วว่าฝนกำลังจะมา เอาน้ำเข้าไปหน่วงไว้ในบิ๊กแบ๊คเลย แล้วพอน้ำข้างนอกเริ่มลด คลองเริ่มแห้ง ค่อยสูบน้ำจากค่ายมาลง”
เช่นเดียวกันในสถาบันการศึกษา เช่น ม.เกษตรฯ และสถานที่ราชการควรมีปรับระบบการจัดการน้ำให้เป็นแบบแก้มลิง มากกว่าปล่อยไว้แค่เป็นบึงรับน้ำเช่นในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ไม่สามารถรองรับน้ำฝนได้
นอกจากนี้ เธอยังเสริมว่าในภาคครัวเรือน และโรงเรียน รวมถึงวัดเอง ยังสามารถช่วยกันนำโอ่งมารองรับน้ำฝนไว้ได้
“วิธีพวกนี้มันดูเฉยๆ แต่ถ้าลองบวกลบตัวเลขดู ทุกคนช่วยหน่วงน้ำได้นะ” สิตางศุ์ประเมินว่าโอ่งทั่วไป 1 ใบ สามารถรับน้ำได้ประมาณ 1 ลบ.ม. และถ้าทุกบ้านมีคนละใบจะสามารถลดระดับน้ำได้แน่นอน
อีกประเด็นหนึ่งที่เธอคิดว่า กทม. ควรทำคือนำระบบ AI เข้ามาจัดระเบียบการจราจรทางน้ำ ซึ่งในปัจจุบันแต่ละเขตต่าบริหารจัดการน้ำของตัวเอง จนสุดท้ายน้ำที่หวังให้ไหลออกเจ้าพระยาเต็มแม่น้ำ มันก็ไหลกลับมาทางเดิมจนท่วมอยู่ดี
และข้อเสนอสุดท้ายที่เธอพบในงานวิจัยคือ พื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมได้ โดยเธอยกตัวอย่างพื้นที่สวนลุมที่ถูกล้อมด้วยพื้นที่เสี่ยง (ค่า FVI สูง) แต่กลับไม่เผชิญน้ำท่วม รวมถึงพื้นที่ใกล้วังบริเวณท่าพระจันทร์ที่มีสนามหลวงรองรับ
ต้องยอมรับว่าทำได้แค่บรรเทา
(แก้ปัญหา) ไม่ขาดหรอก กรุงเทพฯ ยังไงก็ท่วม ที่เราพยายามอยู่มันทำได้แค่บรรเทา
สิตางศุ์กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ก่อนให้เหตุผลว่าสภาวะโลกร้อนส่งผลต่อสภาพอากาศทั้งโลก และมีแนวโน้มทำให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้น บวกกับพฤติกรรมของฝนที่เปลี่ยนไป เป็นไปได้ที่ภายใน 10 ปีข้างหน้าจะมีช่วงเวลาที่ “กรุงเทพฯ จมลงไปทั้งเมือง”
เธอมองว่าในที่สุดแล้วเราควรคิดถึง “การขยายความเจริญ” เพื่อนำคนออกจากกรุงเทพฯ และลดผลกระทบที่เกิดจากอุทกภัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
“เราต้องพูดถึงการขยายความเจริญบ้าง ต้องให้คนออกไปอยู่ต่างจังหวัด เพื่อไม่ให้คนมากระจุกตัวในเมืองหลวง ซึ่งทำให้เกิดวิกฤตเวลาที่มีภัยพิบัติด้านน้ำ”
“มันต้องคิดถึงกรณีที่แย่ที่สุดเอาไว้ด้วย เราไม่ควรรอให้ถึงวันที่ธรรมชาติบังคับให้เราต้องย้ายเมืองหลวง เราควรมีแผนไว้ก่อนเลย” เธอทิ้งท้าย