หลายคนมักบอกว่า เลือกผู้ว่าฯ จากนโยบาย ..แล้วนโยบายอะไรล่ะ ที่คุณชื่นชอบ ?
กาหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เข้าสู่โค้งสุดท้ายแล้ว ก่อนจะถึงวันลงคะแนน 22 พ.ค. 2565
หลายคนอาจตัดสินใจได้แล้วว่าจะกาเลือกใครเข้าไปทำงาน แต่ก็คงมีอีกหลายคนที่ยังคิดไม่ตก-ตัดสินใจไม่ได้ ..เพราะนโยบายคนนู้นก็ดี นโยบายคนนี้ก็น่าสนใจ
The MATTER จึงขอรวบรวมนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ใน 3 ปัญหาหลักที่กวนใจคน กทม. ได้แก่ ‘พื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะ’ ‘การเดินทางและขนส่งสาธารณะ’ และ ‘การแก้ปัญหาน้ำท่วม’ ของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 7 คนหลักมาประชันกัน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
และชวนให้ทุกคนสำรวจว่า คนที่เราอยากเลือก (หรือลังเลอยู่) มีนโยบายพัฒนาเมืองที่เหมือนและแตกต่างจากผู้สมัครคนอื่นอย่างไรบ้าง
[ หมายเหตุ : นโยบายทั้งหมดที่เรานำมาประชันกัน เกิดจากการรวบรวมผ่านการประชาสัมพันธ์ของผู้สมัครในโซเฃียลมีเดีย และข่าวสารต่างๆ ที่ปรากฎตามสื่อ หากตกหล่นข้อมูลใด สามารถทักท้วงเข้ามาได้ ]
ยกแรก : พื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะ
นโยบายด้านพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะ เป็นสิ่งที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทุกคนให้ความสำคัญ จะเห็นได้ว่า ทั้ง 7 คนล้วนมีเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ
อย่างไรก็ดี ผู้สมัครแต่ละคนก็มีไม้เด็ดและโดดเด่นแตกต่างกันไป
‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล ชูนโยบายเปลี่ยนพื้นที่ไร่กล้วยไร่มะนาว ให้กลายเป็นสวนสาธารณะโดยใช้กลไกภาษีที่ดิน ในขณะที่ ‘สกลธี ภัททิยกุล’ ผู้สมัครอิสระประกาศชูนโยบาย 50 เขต 50 สวน ส่วนตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ ‘สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ จะโด่ดเด่นเป็นพิเศษด้วยนโยบายเพิ่มสวนสาธารณะสำหรับสัตว์เลี้ยงในพื้นที่
สำหรับอดีตผู้ว่าฯ ที่เพิ่งพ้นตำแหน่งมา ‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’ ชูนโยบายที่จะมุ่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เป็น 10 ตร.ม. ต่อคน ขณะที่ผู้สมัครอิสระตัวจริง ‘รสนา โตสิตระกูล’ มีนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียว และเสนอให้นำพื้นที่นั้นๆ มาทำเกษตรเพื่อประโยชน์ของประชาชน
ในขณะที่ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ชูนโยบายสร้างสวน 15 นาทีที่ประชาชนเข้าถึงสวนได้ภายใน 15 นาที ส่วน ‘น.ต.ศิธา ทิวารี’ ผู้สมัครจากพรรคไทยlสร้างไทย เสนอเพิ่มสวนสาธารณะ พื้นที่ออกกำลังกาย และขยายเวลาให้บริการ
ยกสอง : การเดินทางและขนส่งสาธารณะ
ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 7 คนล้วนให้คำมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ
โดย ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ จากพรรคก้าวไกล ชูนโยบายตั๋วคนเมือง ที่จ่าย 70 บาท ขึ้นได้ 100 บาท ส่วน ‘สกลธี ภัททิยกุล’ ชูนโยบายเชื่อมล้อ ราง เรือ และให้บริการ feeder หรือขนส่งสาธารณะเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางในระบบหลักฟรี ในขณะที่ ‘สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ จากพรรคประชาธิปัตย์ มีนโยบายที่จะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ AI ควบคุมและแก้ไขปัญหาจราจร
ด้าน ‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’ ชูนโยบายเชื่อมต่อการเดินทางล้อ ราง เรือเช่นกัน และ ‘รสนา โตสิตระกูล’ จะโดดเด่นเป็นพิเศษด้วยนโยบายลดค่าโดยสารบีทีเอสให้เหลือ 20 บาทตลอดสาย ในขณะที่ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ มีนโยบายทำให้การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะถูกลง ส่วน ‘น.ต.ศิธา ทิวารี’ ชูนโยบายสร้างรถเมล์ไฟฟ้าใต้ทางด่วนเพื่อให้ประชาชนเดินทางเข้าเมืองได้สะดวกสบายขึ้น
ยกสาม : การแก้ปัญหาน้ำท่วม
ฤดูฝนกำลังมา แน่นอนว่าน้ำท่วมก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้สมัครทุกคนล้วนมีนโยบายเพื่อแก้ปัญหา
จากการสำรวจพบว่าผู้สมัครทั้ง 7 รายมีนโยบายขุดลอกทำความสะอาดท่อระบายน้ำและคูคลอง โดย ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ จากพรรคก้าวไกล ชูนโยบายเพิ่มการลอกท่อลอกคลองจากการปรับงบอุโมงค์ยักษ์ ในขณะที่ ‘สกลธี ภัททิยกุล’ เสนอนโยบายรื้อระบบท่อระบายน้ำทั้งหมด ส่วน ‘สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ วิศวกรจากพรรคประชาธิปัตย์ มุ่งสร้างแก้มลิงใต้ดินเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก
‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’ จะต่างออกไป เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งมาก่อน จึงให้คำมั่นว่าจะไปต่อเพื่อลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมที่เหลืออยู่อีก 9 จุด ในขณะที่ ‘รสนา โตสิตระกูล’ ชูนโยบายขุดลอกคลองแบบที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม กล่าวคือ จ้างงานให้ประชาชนมาขุดลอก
สำหรับ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ มีนโยบายที่จะติดตั้งระบบเปิดปิดระบบประตูระบายน้ำและเครื่องสูบน้ำอัตโนมัติ ด้าน ‘น.ต.ศิธา ทิวารี’ ชูนโยบายที่จะสร้างการแจ้งเตือนน้ำท่วมให้กับประชาชน
ลองพิจารณากันดูว่า ชอบนโยบายไหนของใครมากที่สุด เผื่อจะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่จะมาถึง