การให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถึงคดี #กราดยิงหนองบัวลำภู ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะนอกจากจะพูดถึงปัญหายาเสพติดของผู้ก่อเหตุ อธิบดีโล่ห์เงินยังยืนว่าผู้ก่อเหตุใช้ปืนที่ได้มาอย่าง ‘ถูกกฎหมาย’ ในการก่อเหตุ
น่าสนใจว่าอดีตนายตำรวจที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทำไมถึงสามารถเข้าถึงปืนได้ง่ายขนาดนั้น? ขั้นตอนการขอครอบครองปืนในไทยเป็นอย่างไร ง่ายหรือยาก? และต่างประเทศมีมาตรการเกี่ยวกับปืนอย่างไรบ้าง?
#ภาพรวมปืนไทย
The MATTER ได้อธิบายข้อมูลไปเมื่อวานแล้วว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปืนมากที่สุดอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 13 ของโลก โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ Gunpolicy ระบุว่า ไทยมีปืนพลเรือนทั้งหมด 10.3 ล้านกระบอก หรือเฉลี่ยทุก 7 คนที่เราเจอบนถนนจะมีคนนึงที่มีปืน ถามว่าเยอะไหม ก็นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 13 ของโลก
โดยจากปืนทั้งหมดในประเทศ มีเพียง 6 ล้านกระบอกที่ขึ้นทะเบียน ส่วนอีก 4 ล้านกระบอกเป็น ‘ปืนเถื่อน’ หรือไม่มีข้อมูลในสารระบบ แล้วส่งผลอย่างไร ข้อมูลจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล และภาค 1-9 ช่วงปี 2559-2562 พบว่าคดีอาญาที่รัฐเป็นผู้เสียหาย เกิดจากปืนเถื่อนมากถึง 91,376 คดี เทียบกับอาวุธปืนมีทะเบียน 25,034 คดี ซึ่งนี่เป็นอีกปัญหาหนึ่งของการเข้าถึงปืนของไทย
และถ้าอยากรู้ว่าหาปืนเถื่อนยากง่ายแค่ไหน ผู้เขียนลองเสิร์ชคำว่า ‘ปืนเถื่อน’ ในกูเกิลดู พบว่ามีขายทั้งในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กในราคาหลักพันบาท และส่งสินค้าให้กันผ่านผู้ให้บริการ เช่น Kerry ด้วยซ้ำ
ข้อมูลจาก Institute for Health Metrics and Evaluation (IHME) ประจำปี 2019 พบว่า ไทยมีอาชญากรรมจากปืนสูงเป็นอันดับ 15 ของโลก และอันดับที่ 2 ของอาเซียนรองจากฟิลิปปินส์ แต่ถ้าให้แฟร์ ต้องชื่นชมผู้ปฏิบัติงานและฝ่ายนโยบายเช่นกัน เพราะย้อนกลับไปประมาณปี 2013 ไทยเคยทะยานขึ้นเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากปืนสูงที่สุดในเอเชียมาแล้ว หรือที่ 7.48 รายต่อประชากร 100,000 คน
นอกจากปืนจะส่งผลต่ออาชญกรรม มันยังเกี่ยวข้องกับอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศไทย ข้อมูลจากวารสารวิชาการอาชญาวิทยาและนิติวิทยาศาสตร์ระบุว่า การลั่นไกปลิดชีวิตตัวเองเป็นวิธีฆ่าตัวตายที่นิยมที่สุดอันดับ 3 ในประเทศไทย รองจากผูกคอและกินยาพิษ ซึ่งวิธีการกับโอกาสฆ่าตัวตายสำเร็จก็ได้รับการยืนยันแล้วว่าสัมพันธ์กัน ยกตัวอย่างการยกเลิกแก๊ซหุงต้มในครัวเรือนอังกฤษ หรือการติดตั้งราวกั้นที่สะพานโกลเด้นเกท
#อยากมีปืนสักกระบอก
The MATTER ขออธิบายหลักการครอบครองปืนในไทยให้เข้าใจง่ายๆ เล็กน้อย ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประชาชนที่อยากครอบครองปืนมี 2 ส่วน
ส่วนแรก ส่วนครอบครองปืน หากใครคิดจะครอบครองปืนในไทยต้องมีใบอนุญาต 2 ใบ ได้แก่ ใบซื้อขายอาวุธปืนส่วนบุคคล (ป.3) และใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนส่วนบุคคล (ป.4)
ในส่วนของ ป.3 ขั้นตอนง่ายๆ คือ ผู้ที่ต้องการขอซื้อปืนต้องเตรียมเอกสารพื้นฐาน อาทิ บัตรประชาชน, หลักฐานประกอบอาชีพ, หนังสือรับรองความประพฤติ และนำอาวุธปืนที่จะซื้อมาตรวจสอบ นำไปส่งไปให้เจ้าพนักงานปกครองในพื้นที่และก็จะได้รับใบ ป.3
ส่วนใบ ป.4 ใช้เอกสารใกล้เคียงกันคือ บัตรประชาชน, คู่มือและอาวุธปืน และใบอนุญาต ป.3 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะพิจารณาว่าถ้าไม่เป็นบุคคลต้องห้าม อาทิ พ้นโทษไม่เกิน 5 ปี, บุคคงยังไม่บรรลุนิติภาวะ, บุคคลไร้ความสามารถ และมีเหตุผลเพียงพอในการขอใบอนุญาต ผู้ครอบครองปืนก็จะได้ใบ ป.4 มา ที่สำคัญคือใบดังกล่าวมีอายุตลอดการใช้งานของปืนนั้น
ส่วนที่สอง ส่วนพกปืน ส่วนนี้จะเข้มข้นขึ้นมาหน่อย โดยนอกจากต้องนำเอกสารสำคัญไปยื่นให้ภาครัฐเพื่อขอใบ ป.12 จะมีการเก็บข้อมูลจากกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แก่ ต้องนำอาวุธปืนและกระสุน 5 นัดไปให้เจ้าหน้าที่, เจ้าหน้าที่จะลอกลายอาวุธปืนและรายละเอียดอาวุธปืน, ถ่ายรูปปืน และทดสอบ พร้อมเก็บหัวกระสุนและปลอกกระบอกปืน
อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้สูงว่าผู้พกพาอาวุธปืนบางรายก็เล็ดลอดสายตาเจ้าหน้าที่รัฐ โดยไม่ได้มีใบ ป.12 แต่พกอาวุธปืนติดตัวและซ่อนไว้ในที่มิดชิดที่ไม่มีใครเห็น เช่น เก๊ะหน้าที่นั่งคนขับในรถ, ใต้เบาะหลัง หรือเหน็บไว้ข้างเอว
#ปัญหากฎหมายปืนไทย
แน่นอนว่าอันดับแรก กฎหมายเรื่องปืนไทยไม่เคยถูกพูดถึงมาเป็นเวลานานมาก ดังนั้น ถ้าจะพูดถึงปัญหาข้อแรกของกฎหมายปืนไทยคือ ขาดการแก้ไขให้ทันกับบริบทสังคมปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
เมื่อปี 2546 คณะกรรมการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ได้เคยทำการศึกษากฎหมายอาวุธปืนในไทยและให้ข้อเสนอเอาไว้ว่า การอนุญาตให้ประชาชนครอบครองอาวุธปืนส่งผลเสียมากกว่าผลดี โดยให้เหตุผลว่าการรักษาควาปลอดภัยเป็นหน้าที่ของรัฐ และในข้อเท็จจริง ประชาชนที่มีอาวุธปืนก็ไม่ได้สามารถปกป้องตัวเองได้
นอกจากนี้อาวุธปืนยังเสี่ยงทำให้เหตุอุบัติเหตุ เช่น ปืนลั่น, เปิดโอกาสให้ทะเลาะวิวาท และยังเปิดทางให้เกิดกลุ่มผู้มีอิทธิพลได้ เช่น ซุ้มมือปืน ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีให้เห็นอยู่ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น
ข้อเสนอของ กมธ. ชุดดังกล่าวคือ ไม่อนุญาตให้ประชาชนพกปืนโดยเด็ดขาด (แต่ยังครอบครองได้), จัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธปืนในประเทศที่เป็นระบบ (ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มี) และข้อสุดท้ายปรับปรุงระเบียบการครอบครองปืนให้รัดกุมยิ่งขึ้น เช่น ให้มีการนำปืนมาตรวจทุก 3-5 ปี หรือจัดให้มีการอบรมผู้ที่จะครอบครองปืนในแง่ความปลอดภัย
#ต่างประเทศทำอย่างไร
ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างนึงของประเทศที่ควบคุมปืนได้ดี โดยข้อมูลจาก Gun Policy พลเรือนญี่ปุ่นครอบครองปืนเพียงแค่ 310,400 กระบอกเท่านั้น หรือคิดเป็น 1 กระบอกต่อประชากร 400 คน สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะกระบวนการขอครอบครองปืนในญี่ปุ่นยากมาก
ชาวญี่ปุ่นที่อยากมีปืนต้องผ่านกระบวนการแสนยุ่งยาก ทั้งอบรม, สอบทั้งข้อเขียนและภาคปฏิบัติ (คะแนนภาคปฏิบัติต้องมากกว่า 95%), ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสัมภาษณ์ ทดสอบสุขภาพจิต ตรวจยาเสพติด และยังถูกสืบประวัติทั้งครอบครัวว่ามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลใดไหมอีก
นอกจากนี้ เมื่อได้ใบอนุญาตครอบครองแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีสิทธิขอข้อมูลที่เก็บอาวุธและกระสุนปืน (ซึ่งห้ามเป็นที่เดียวกัน และต้องล็อคกุญแจแยกกันไว้) และยังต้องเซ็นใบที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบปืนทุกปี ยุ่งยากขนาดนี้ แต่ใบอนุญาตมีอายุ 3 ปีเท่านั้น และเจ้าของปืนต้องเข้าอบรมและทำกระบวนการซ้ำเดิมอีกครั้ง
ไม่ใช่เพียงแต่ประชาชนเท่านั้น ขนาดตำรวจญี่ปุ่นเองยังไม่ค่อยได้ใช้ปืน โดยในปี 2557 ตำรวจทั่วญี่ปุ่นยิงปืนไปแค่ 6 นัดเท่านั้น นั่นเป็นเพราะนโยบายของตำรวจญี่ปุ่นเน้นให้ฝึกการต่อสู้ประชิด ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องฝึกฝนถึงยูโดสายดำ ผสมผสานกับเครื่องมือและความคิดสร้างสรรค์ในการระงับเหตุ เช่น ต้องใช้ฟูก 2 อันหนีบคนร้ายไว้ตรงกลางแทนชักปืนข่มขู่เพื่อแสดงอำนาจ
นิวซีแลนด์เป็นอีกประเทศที่น่าสนใจ หลังเหตุกราดยิงในปี 2019 ที่มัสยิดในเมืองไครสต์เชิร์ช ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 49 คน และได้รับบาดเจ็บ 48 คน เจซินดา อาร์เดิร์น นายกฯ ประกาศนโยบายรับซื้อปืนคืนจากประชาชนทั่วประเทศ เพื่อลดจำนวนปืน (นโยบายนี้ญี่ปุ่นเคยทำตั้งแต่ปี 1685 แล้ว)
นอกจากนี้ นิวซีแลนด์ยังได้แก้กฎหมายควบคุมปืนให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น เช่น ลดอายุใบครอบครองปืนจาก 10 ปีเหลือ 5 ปี, ขึ้นทะเบียนสโมสรปืนทั่วประเทศ, ห้ามขายปืนไรเฟิล, ปืนเลียนแบบทหาร, ลูกกระสุน รวมถึงนิตยสารที่พูดถึงสินค้าเหล่านี้, ตรวจสอบประวัติการเดินทาง, สัมภาษณ์ข้อมูลของผู้ขอครอบครองและครอบครัวอย่างละเอียด นอกจากนี้ยังมีมาตรการคล้ายญี่ปุ่นคือ ขอไปเยี่ยมชมที่พักและขอข้อมูลการจัดเก็บปืนและลูกกระสุนทั้งหมดในบ้าน
ถ้าเหตุการณ์กราดยิงครั้งนี้นำไปสู่การแก้กฎหมายอาวุธปืนจริงๆ สังคมไทยควรถกเถียงกันไปให้ถึงแก่นในสิทธิถืออาวุธเลยว่า สิทธิเสรีภาพในการป้องกันตัวเอง (ด้วยอาวุธปืน) เหมาะกับสังคมไทยจริงหรือไม่
และที่สำคัญ การอนุญาตครอบครองปืนช่วยให้สังคมปลอดภัยมากขึ้นจริงหรือ?
อ่านกฎหมายควบคุมอาวุธปืนของไทยได้ที่:
http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER23/DRAWER098/GENERAL/DATA0000/00000009.PDF
อ้างอิง:
https://www.dopa.go.th/public_service/service_guide286/view289
https://www.dopa.go.th/public_service/service_guide286/view287
https://www.bbc.com/thai/features-38564099
https://www.ibanet.org/article/3e4700a8-8a7b-4766-b7cc-f59474f4a894
https://www.nytimes.com/interactive/2018/03/02/world/international-gun-laws.html
https://smallarmssurvey.org/sites/default/files/resources/SAS-Annual-Report-2021-FINAL.pdf
http://libdcms.nida.ac.th/thesis6/2557/b185263.pdf
https://www.thaipbs.or.th/news/content/320232
https://prachatai.com/journal/2016/02/64210