ทุกครั้งที่มีการก่อเหตุใช้อาวุธปืนในสังคมไทย สำนักข่าวแต่ละแห่งก็ไม่พลาดที่จะหยิบยกตัวเลขการครอบครองอาวุธปืนขึ้นมารายงาน นั่นจึงทำให้เราได้รู้ว่า จากข้อมูลล่าสุดในปี 2564 พลเรือนไทยครองปืนอยู่ 7,223,455 กระบอก ในประเทศที่มีประชากรราว 70 ล้านคน
ในจำนวนนี้ เป็นปืนถูกกฎหมายที่จดทะเบียนกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย 6,019,546 กระบอก เมื่อปี 2564 จึงหมายความว่า ส่วนที่เหลือที่คาดว่ามีอยู่ราว 1.2 ล้านกระบอก เป็นปืนผิดกฎหมาย
แต่ใช่ว่าปืนที่ถูกนำมาก่อเหตุ จะต้องเป็น ‘ปืนเถื่อน’ เสมอไป
ปืนที่ใช้ในเหตุกราดยิงโคราช เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 คืออาวุธสงคราม HK33 และ M60 ที่ปล้นจากค่ายทหาร
ปืนที่ใช้สังหาร พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว ในคดี ‘กำนันนก’ คือ ‘ปืนสวัสดิการ’
และปืนที่ใช้ก่อเหตุกราดยิงที่หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ก็คือปืนพกประจำกาย ที่ซื้อผ่านโครงการสวัสดิการตำรวจเช่นกัน
6 ตุลาคม – วันครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์กราดยิงที่หนองบัวลำภู – The MATTER พูดคุยกับ อ.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองศาสตราจารย์ด้านอาชญาวิทยา ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ถึงทางออกของปัญหาอาวุธปืน
ปืนเถื่อนมีเกลื่อน?
ปืนเถื่อนหลักล้านกระบอก จากตัวเลขข้างต้น (ซึ่งด้วยความเป็นปืนผิดกฎหมาย ก็ทำได้เพียงคาดการณ์ และปริมาณจริงๆ อาจจะมีน้อยหรือมากกว่านี้ก็ได้) ถ้าว่ากันด้วยจำนวนง่ายๆ ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับสังคมไทย
สอดคล้องกับที่ อ.กฤษณพงค์ บอกกับ The MATTER ว่า “ปืนเถื่อน จริงๆ แล้วเป็นปัญหาสำคัญ เพราะว่ารัฐควบคุมไม่ได้ ไม่รู้เขาจะนำไปก่อเหตุที่ไหน แล้วก็ไม่รู้ใครเป็นคนซื้อไป ต่างจากปืนที่ถูกกฎหมายมีทะเบียน ที่จะต้องตีทะเบียนไว้ เอาไปใช้ อยู่ที่ไหน ก็ต้องทราบได้ว่าเป็นปืนของใคร”
ที่สำคัญ การเข้าถึงปืนเถื่อนก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร
“ปืนผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นไทยประดิษฐ์ ขายทางออนไลน์ ออฟไลน์ ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรมากเลย ขอแค่มีตังค์”
และอาวุธปืนผิดกฎหมายมีแหล่งที่มาจากไหนบ้าง?
มีตั้งแต่ “ปืนที่มีการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน อาจจะมาตั้งแต่สมัยสงครามโลก หรือปืนที่ได้มาแบบไม่ถูกต้อง จากกลุ่มกระทำความผิดกฎหมายต่างๆ แล้วก็เอาเข้ามาประเทศ ลักลอบจำหน่าย หรือปืนที่เป็นไทยประดิษฐ์ ที่ประดิษฐ์เอง” อ.กฤษณพงค์ เล่า
อีกส่วนหนึ่งก็มาจากปืนถูกกฎหมายที่มีทะเบียนเสียเอง แต่เกิดจากการขโมย หรือขายต่อ ซึ่งอาจจะขูดลบขีดฆ่าทะเบียน เพื่อให้ตรวจสอบไม่ได้ ก็จะเริ่มกลายเป็นปืนผิดกฎหมาย หรืออีกกรณีหนึ่ง คือ ปืนผิดมือ ที่ผู้ถือปืนไม่ใช่คนเดียวกับที่ได้รับใบอนุญาต แต่มีปืนกระบอกดังกล่าวไว้ในครอบครอง
‘ปืนสวัสดิการ’ ส่วนหนึ่งของปัจจัยเสี่ยงก่ออาชญากรรม
โครงการปืนสวัสดิการที่จัดหาอาวุธปืนให้กับตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ข้าราชการอื่นๆ ด้วยราคาพิเศษ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มจำนวนปืนในสังคมไทยอยู่เรื่อยๆ ซึ่ง อ.กฤษณพงค์ เปรียบเทียบว่าเหมือนการ ‘เทน้ำเติมไปเรื่อยๆ’ ในถังน้ำ
อ.กฤษณพงค์ เล่าที่มาที่ไปของโครงการปืนสวัสดิการว่า “เหตุผลก็เพราะว่า เจ้าหน้าที่จะต้องมีอาวุธใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ จับกุมคนร้าย อาวุธปืนที่ทางการมีอาจจะไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้น สิทธิก็จะให้กับข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง ความมั่นคง
“เวลามีเจ้าหน้าที่ประสงค์จะซื้ออาวุธปืนกี่กระบอก เขาก็จะสำรวจรายชื่อ และแจ้งรายชื่อไป เช่น ผ่านไปยังมหาดไทย และจะสั่งนำเข้าจากต่างประเทศมา [เช่น] สหรัฐอเมริกา ปืนสวัสดิการจะขอยกเว้นภาษีนำเข้า พอเข้ามาแล้ว ก็จะแจกจ่ายตามชื่อ ตามหน่วยงาน”
แต่ด้วยราคาพิเศษ พร้อมลดภาษี ยกตัวอย่างเช่น ปืนในราคาท้องตลาด 80,000-100,000 บาท ถ้าซื้อจากโครงการสวัสดิการ ก็จะถูกกว่ากันครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 40,000-50,000 บาท ก็อาจทำให้มีจำนวนปืนในสังคมไทยเพิ่มขึ้น และด้วยช่องโหว่บางอย่าง ก็กลายมาเป็นเครื่องมือที่ใช้ก่อความรุนแรง เช่นกรณี ‘กำนันนก’ ที่มีตำรวจซื้อตามสิทธิสวัสดิการที่ตัวเองมี แต่เมื่อได้ปืนมา กลับนำไปให้ลูกน้องกำนันใช้
อีกประเด็นหนึ่ง คือ การซื้อปืนเก็งกำไร แม้จะกำหนดข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนภายใน 5 ปี แต่ อ.กฤษณพงค์ เล่าว่า “คนซื้อมาก็รู้สึกว่า โอเค ไม่เป็นไร 5 ปีค่อยขาย ราคาก็ยังไม่ได้ต่างจากเดิมมาก ก็อาจจะเป็นเหตุผลให้เขาสั่งเข้ามา โดยใช้สิทธิสวัสดิการ แต่วัตถุประสงค์เพื่อจะจำหน่ายหลังจาก 5 ปี ก็มีความเป็นไปได้”
“ยิ่งมีอาวุธปืนนำเข้ามาในสังคมไทยมาก ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการมีอาชญากรรมร้ายแรงจากอาวุธปืนมากขึ้น” คือข้อสังเกตของ อ.กฤษณพงค์
เมื่อจำนวนปืนเพิ่มขึ้น ทั้งที่ผ่านโครงการสวัสดิการหรือไม่ก็ตาม ก็กลายเป็นความเสี่ยงที่มีเพิ่มมากขึ้น เรื่องนี้ นักอาชญาวิทยาจาก ม.รังสิต เปรียบเสมือนปัจจัยเสี่ยงของคนที่อาจเป็นมะเร็ง “เปรียบเสมือนคนเป็นมะเร็ง เราจะรู้ได้ไงว่าคนนี้จะเป็นมะเร็งหรือไม่เป็น บอกไม่ได้นะ แต่ปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการนำไปสู่มะเร็ง ต้องลดให้ได้มากที่สุด”
หาทางออกให้ปัญหาอาวุธปืน
สรุปแล้ว ปัญหาปืน เราต้องเอาไงต่อ? อ.กฤษณพงค์ อธิบายโดยแบ่งออกเป็นกรณีของปืนถูกกฎหมาย และปืนผิดกฎหมาย
สำหรับ ปืนถูกกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีของโครงการสวัสดิการ เขามองว่า หลักการของตัวโครงการนั้นดี แต่ปัญหาอยู่ที่การกำกับดูแล
“ไม่ได้อยากให้มองว่า ถึงขนาดไม่ให้มี ยกเลิกไปทั้งหมด เพราะในบางหน่วยงาน เขายังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ แต่ผมว่าเราควรจะมีมาตรการกำกับติดตามผู้ที่สั่งและเอามาใช้นี่แหละ สำคัญ”
ในเรื่องของจำนวนปืน ก็จำเป็นที่จะต้องชะลอการนำเข้า ซึ่งเขาระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ก็เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว อีกประเด็นหนึ่ง คือ ต้องทบทวนจำนวนการครอบครองปืนของแต่ละคน “เช่น มีปืนอยู่แล้ว จะสั่งผ่านโครงการปืนสวัสดิการอีก อย่างนี้มีความจำเป็นไหม เพราะว่าตัวเองก็ไม่ได้อยู่ไปอีก 50 ปี 100 ปี วันหนึ่งเสียชีวิต อาวุธปืนก็ต้องตกอยู่กับทายาท”
ส่วนเรื่องมาตรการกำกับดูแล อ.กฤษณพงค์ เสนอว่า นอกจากต้องเช็คประวัติอาชญากรรมของผู้ขอใบอนุญาต ก็ต้องเช็คสุขภาพจิต มีการติดตามประเมินปืนที่ได้รับอนุญาตแล้วเป็นระยะ เช่น 3-5 ปี รวมถึงเช็คว่ามีพฤติกรรมก้าวร้าว ต่อต้านสังคมหรือไม่ โดยเช็คจากคนรอบข้าง เพื่อนบ้าน ขณะที่เจ้าหน้าที่เองก็ต้องมีอำนาจในการเพิกถอนใบอนุญาต ด้วยขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก
ส่วนการปราบปราม ปืนผิดกฎหมาย เขาระบุว่า “การสืบสวนจับกุมทางออนไลน์ ออฟไลน์ การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งที่อาจจะรู้เห็นเป็นใจในขบวนการเหล่านี้ ต้องดำเนินการทั้งหมด” ซึ่งครอบคลุมถึงการปิดกั้นเว็บไซต์หรือ URL ต่างๆ ขณะเดียวกัน ก็ต้องสาวขบวนการหรือเครือข่ายจำหน่ายอาวุธปืนให้ได้
เรื่องหนึ่งที่นักวิชาการรายนี้เห็นด้วย คือ การออกกฎหมายนิรโทษกรรมปืน เพื่อช่วยดึงปืนเถื่อนให้เข้ามาอยู่ในการควบคุม
“ในต่างประเทศก็ใช้แนวคิดนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่อังกฤษ ออสเตรเลีย ก็เคยทำ เหตุผลก็เพราะว่า อาวุธปืนเถื่อนในตลาดมืด หรือในความครอบครองของคน รัฐบาลเองไม่มีตัวเลขที่ชัด มีแนวคิดที่ว่า ถ้าออกนิรโทษกรรม ก็จะทำให้คนที่ครอบครองอาวุธปืนเถื่อนรู้สึกว่า เขาจะได้ไม่ต้องมาครอบครองอาวุธปืนเถื่อนอีกต่อไป รัฐก็จะได้เก็บอาวุธปืนจากตลาดมืดได้”
กรณีของ แบลงค์กัน (blank gun) ซึ่งกลายมาเป็นอุปกรณ์ที่ผู้ก่อเหตุดัดแปลงและนำมาใช้ก่อความรุนแรงในเหตุการณ์ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา จนมีผู้เสียชีวิต 2 ราย อ.กฤษณพงค์ เสนอว่า ควรจะต้องแก้ไขกฎหมาย ซึ่งก็คือ พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ศ. 2490 เพื่อให้สามารถควบคุมอาวุธชนิดนี้ได้ด้วย
“กฎหมายอาวุธปืนมันเก่ามาก มันควรจะถูกแก้ให้ทันสถานการณ์” เขาระบุ “ก็ต้องแก้ไขกฎหมาย อาวุธปืนแบลงค์กันที่ดัดแปลงได้พวกนี้ ก็ต้องยกเลิก ไม่อนุญาตให้มี เราสังเกตดู อินเทอร์เน็ตตอนนี้ เข้าไปดูสิครับ ปืนที่เหมือนปืนจริงเยอะแยะไปหมดเลย”
สุดท้าย เขามองว่า มาตรการทางสังคมก็สำคัญ เช่น การไม่ปลูกฝังค่านิยมที่เน้นความรุนแรง ความก้าวร้าว ต้องทำทั้งในสถาบันครอบครัว หรือแม้แต่รัฐบาลเองก็ตาม
“รัฐบาลเองก็ต้องไม่เป็นโมเดลที่เน้นการใช้ความรุนแรง ความก้าวร้าว เช่น ยืนพูด ไม่พอใจเดี๋ยวทุ่มด้วยโพเดี้ยม เด็กเยาวชนเขาดูอยู่นะ เขาจะซึมซับโดยอัตโนมัติ เรื่องการใช้ความรุนแรง ความก้าวร้าว”
แล้วภาครัฐจะทำอะไรบ้าง
ข้อเสนอจำนวนหนึ่งของผู้ช่วยอธิการบดี ม.รังสิต อันที่จริงก็สอดคล้องกับสิ่งที่ภาครัฐประกาศว่าจะทำหรือแก้ไข
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 หรือ 2 วันหลังจากเกิดเหตุยิงที่สยามพารากอน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แถลงผลการประชุมร่วมกับอธิบดีกรมการปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สตช. ซึ่งมีมาตรการระยะสั้นออกมา 8 ข้อ สรุปได้ดังนี้
- ให้นายทะเบียนอาวุธปืนทั่วประเทศงดการออกใบอนุญาตให้สั่ง นำเข้า หรือค้า ซึ่งสิ่งเทียมอาวุธปืนทุกชนิด และไม่อนุญาตให้รายใหม่ขออนุญาตเป็นผู้ค้า สั่งนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืนเพิ่ม
- ขอให้ผู้ครอบครองแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่อาจจะดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ ไปแสดงและทำบันทึกต่อนายทะเบียนอาวุธปืนตามภูมิลำเนาซึ่งตนมีทะเบียนบ้านอยู่
- ให้กรมศุลกากรตรวจสอบการนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แบลงค์กัน และบีบีกัน ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืน ให้เข้มงวด
- ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย กวดขัน ตรวจสอบสนามยิงปืนที่จดทะเบียนทั่วประเทศ เช่น ห้ามผู้มีอายุไม่เกิน 20 ปี เข้าสนาม ยกเว้นได้รับอนุญาตตามระเบียบ อาวุธปืนที่ใช้มีทะเบียนถูกตรง และตรงตัวกับผู้ใช้ ห้ามนำกระสุนปืนออกนอกสนาม
- ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศงดออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว
- กระทรวงมหาดไทย ไม่มีนโยบายดำเนินการโครงการอาวุธปืนสวัสดิการให้กับประชาชนทั่วไป แต่เจ้าพนักงานของรัฐที่มีความจำเป็นจะต้องใช้ในการป้องกันปราบปราม จะมีได้คนละ 1 กระบอก และห้ามโอน
- ให้นายทะเบียนงดการออกใบอนุญาตสั่งนำเข้าอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนของร้านค้าอาวุธปืนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป (หมายถึง ไม่อนุญาตให้เปิดร้านค้าอาวุธปืนรายใหม่)
- ขอความร่วมมือ สตช. (กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปราบปรามและปิดเว็บไซต์ เพจออนไลน์ซื้อขายอาวุธปืนเถื่อน สิ่งเทียมอาวุธปืนดัดแปลงเป็นอาวุธปืน โดยขอให้รายงานผลการปฏิบัติให้กระทรวงมหาดไทยทราบทุก 15 วัน
แต่คำถามที่ยังคงต้องถามต่อไป คือ แล้วการปราบปราม ควบคุม กำกับดูแลอาวุธปืน ในระยะยาวจะได้ผลแค่ไหน เพราะคงไม่มีใครในสังคมไทยอยากเห็นการใช้อาวุธปืนก่อเหตุจนมีผู้เสียชีวิตขึ้นอีกครั้ง ที่แม้แต่นักอาชญาวิทยาอย่าง อ.กฤษณพงค์ ยังเปิดเผยกับเราว่า “รู้สึกสะเทือนใจ” ทุกครั้งที่ได้ยินข่าว