มีอีเมล์แจ้งมาว่า ‘พนักงานทุกคนต้องฉีดวัคซีนที่ทางภาครัฐจัดหามาภายในวันที่กำหนด’ หรือบางทีอาจจะเป็นเสียงลือเสียงเล่าอ้างต่อๆ กันมาว่า ทางองค์กร ‘ขอความร่วมมือ’ ให้ไปรับวัคซีน
ในช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีกระแสว่า สถานที่ทำงานของใครหลายคน เริ่มขอร้อง กดดัน ไปจนถึงขั้นบังคับให้พนักงานต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้โดยไว ซึ่งตอนนี้ก็มีเพียงวัคซีนที่มาจากภาครัฐเท่านั้น หรือบางที่ก็จัดหาวัคซีนมาให้พนักงานพร้อมแล้ว เหลือแค่จิ้มเข็มลงบนแขนของพนักงานเท่านั้น
The MATTER ไปพูดคุยกับเหล่าคนที่ถูกกดดัน หรือบังคับ ให้ต้องฉีดวัคซีนจากสถานที่ทำงาน เพื่อดูว่า พวกเขาต้องเจออะไรบ้าง แล้วเรื่องแบบนี้ผิดกฎหมายหรือไม่ ถือเป็นการละเมิดสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของเราหรือเปล่า?
เหล่าลูกจ้างโดนกดดันให้ฉีดวัคซีนกันยังไง?
“ที่องค์กรจะให้ไปเป็นอาสาประจำจุดฉีดวัคซีน เลยขอให้ทุกคนต้องฉีดวัคซีน”
คำกล่าวจากหญิงวัย 23 ปี ที่ทำงานอยู่ในองค์กรแห่งหนึ่ง ซึ่งเล่าว่า เธอโดนบังคับให้ต้องฉีดวัคซีน Sinovac เพราะต้องไปทำงาน ‘อาสา’ ประจำจุดฉีดวัคซีนต่างๆ
เธอเล่าว่า ในองค์กรมีทั้งคนที่ยินดีฉีดวัคซีน และคนที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีน ซึ่งช่วงแรกๆ ทางองค์กรมาขอความสมัครใจก่อน โดยระบุว่า เป็นสวัสดิการขององค์กร แต่สักพักก็ประกาศใหม่ว่า ทุกคนต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน เพราะว่าต้องไปทำงานอาสา และบังคับให้ลงชื่อ
“ถ้าใครลงว่า ไม่ฉีด เขาก็จะกดดันให้ฉีด ด้วยการถามจี้ๆ ย้ำๆ จนต้องยอม อย่างเราก็โดนบังคับจากหัวหน้างานมาอีกที”
หญิงคนดังกล่าว ยังคงยืนยันที่จะไม่รับวัคซีน แต่ทีมสำรวจข้อมูลก็เข้าไปคุยกับเธอ โดยบอกว่า ให้เธอแจ้งเหตุผลที่ไม่ยอมรับวัคซีน เนื่องจากเธอต้องไปทำงานอาสาประจำจุดฉีด จึงจำเป็นต้องเร่งรับวัคซีนก่อนจะเริ่มงานนี้
อย่างไรก็ดี กรณีของหญิงคนนี้ทางองค์กรจะมอบสิทธิให้พนักงานประจำก่อน แต่เธอยังไม่ได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ จึงจำเป็นต้องรอดูว่าจะมีโควต้าวัคซีนมาถึงเธอหรือไม่
เช่นเดียวกับกรณีของชายวัย 25 ปี ที่ทำงานอยู่บริษัทแห่งหนึ่งย่านชานเมือง ที่เปิดให้พนักงานลงทะเบียนรับวัคซีน AstraZeneca หรือ Sinovac กับทางบริษัท โดยรอบแรกเป็นการส่งอีเมล์มาสอบถาม แต่พอไม่มีช่องให้ตอบกลับว่า ไม่สมัครใจจะฉีดวัคซีน เขาก็เลยไม่ตอบอะไรไป
สักพักก็มีการอัพเดทแบบสอบถามใหม่ พร้อมทางเลือกที่ถามถึงการรับวัคซีนทางเลือกอื่นๆ แต่ต้องระบุวันที่จะฉีดด้วย ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีใครทราบว่าวัคซีนทางเลือกของเอกชนจะเปิดให้ฉีดได้เมื่อไหร่ เขาจึงไม่ได้ตอบแบบสอบถามอยู่ดี
แล้วช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทก็ส่งแบบสอบถามมาอีกครั้ง พร้อมระบุว่า ต้องการเช็คยอดคนที่จะเข้ารับวัคซีน แต่คราวนี้เป็นการส่งต่อผ่านทางไลน์กลุ่ม และให้ทุกคนตอบว่า ใครฉีดแล้ว ใครยังไม่ได้ฉีด และใครไม่อยากฉีดบ้าง เขาก็เลยทิ้งไว้ประมาณหนึ่งวัน เพื่อดูว่า จะมีใครตอบว่าไม่อยากฉีดไหม แล้วก็พบว่า ไม่มีใครเลือกตอบช่องนั้นเลย
“ประเด็นคือ เราไม่ชอบวิธีการเก็บข้อมูลของเขาที่ทุกคนจะเห็นหมดเลยว่าใครจะตอบอะไรบ้าง”
หลังจากครั้งนี้ ก็ยังมีการส่งแบบสอบถามมาอีกครั้ง เป็นการถามย้ำๆ อย่างละเอียดอย่างน้อย 4 ครั้ง และในครั้งหลังๆ ก็ไม่มีความเป็นส่วนตัว ทำให้คนอื่นสามาถเห็นข้อมูลของแต่ละคนได้หมด นอกจากนี้ ฟอร์มสอบถามที่บริษัทส่งต่อมา ยังไม่พูดถึงเรื่องของการดูแลหากแพ้วัคซีนด้วย
เขาเล่าด้วยว่า ตอนนี้ เขายังไม่ได้เป็นพนักงานประจำของบริษัทแห่งนี้ จึงไม่มั่นใจว่า หากเลือกปฏิเสธวัคซีนที่บริษัทจัดหามาให้ จะมีผลอะไรต่อการประเมินงานหรือเปล่า
ขณะที่ หญิงวัย 24 ปี ผู้ประกอบอาชีพธุรการขององค์กรแห่งหนึ่ง ก็โดนกดดันให้ต้องรับวัคซีนเช่นกัน โดยเธอเล่าว่า ทางองค์กรมีโควต้าให้กับพนักงานทุกคน แต่เธอยังเป็นลูกจ้างอยู่ จึงต้องรอดูว่าจะมีโควต้ามาถึงไหน ซึ่งในช่วงแรกก็ไม่ได้บังคับให้ลูกจ้างทุกคนต้องฉีดวัคซีน แต่พอเธอบอกว่า เธอจะไม่รับวัคซีนกับทางองค์กร เพราะจองไว้กับโรงพยาบาลเอกชนแล้ว ก็มีบุคคลระดับผู้บริหารลงมาพูดคุยด้วย
“เขาถามว่า ไม่ฉีดเหรอ เราก็บอกว่า อ๋อ ไม่อยากฉีด เพราะว่าตอนแรกมันเป็นวัคซีนจาก Sinovac เราไม่อยากฉีด เพราะเราเห็นข่าวอยู่ว่ามันเป็นยังไง เขาก็บอกว่า เขาก็ไปฉีดมาแล้วนะ มันไม่เห็นเป็นอะไรเลย เขาก็ไม่ได้บังคับนะ แต่ออกแนวโน้มน้าวมากกว่า แต่เราก็ยืนยันว่าไม่ฉีด”
“คนนึงผ่านไป อีกคนก็เข้ามาแทนแล้วพูดกับเราว่า เธอจะไม่ฉีดได้ยังไง คนอื่นเขาก็ฉีดแล้ว ถ้าทุกคนฉีดหมด แล้วเธอไม่ฉีด เธอจะไม่กลายเป็นแกะดำเหรอ”
เธอไม่ตอบอะไรกลับไป แต่ก็ยังยืนกรานปฏิเสธวัคซีนที่ทางองค์กรจัดหามาให้ แล้วเรื่องราวก็ยิ่งหนักขึ้น เมื่อองค์กรของเธอก็ประกาศว่าทุกคนจะต้องได้รับวัคซีน 100% เพราะจะมีงานกิจกรรมครั้งสำคัญที่มีผู้คนมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก กลายเป็นการบังคับให้ทุกคนต้องฉีดแบบไม่มีเงื่อนไข
“ถ้าเลี่ยงการฉีดวัคซีนไม่ได้จริงๆ เราก็คิดว่าแล้ว ทางเดียวที่จะหนีได้ก็คือ ลาออก”
ฟังเสียงคนทำงานโรงพยาบาลที่ถูกกดดัน
กรณีที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา คือการที่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งถือเป็นหน้าด่านในการรับมือกับวิกฤต และเป็นกลุ่มที่ต้องรับวัคซีนก่อนกลุ่มอื่นๆ ก็มีกระแสว่าถูกบังคับให้ต้องฉีดวัคซีนเหมือนกัน ซึ่งคนทำงานในโรงพยาบาล เป็นบุคคลสำคัญในการรับมือกับโรคระบาด จึงเหมาะสมแล้วที่จะได้รับวัคซีนก่อนใคร แต่ปัญหาก็คือ วัคซีนที่จะให้บุคคลการเหล่านี้ฉีดนั้น มีประสิทธิภาพพอให้คุ้มที่จะเสี่ยงกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหรือยัง ?
สำนักข่าวมติชนรายงานถึง เคสของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากออกมาแชร์ประสบการณ์ว่า ถูกหน่วยงานที่สังกัดกดดันให้ฉีดวัคซีน หากปฏิเสธ ก็มักจะมีการกดดันในรูปแบบต่างๆ เช่น การลงนามสัญญาว่า หากบุคลากรติด COVID-19 หน่วยงานจะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น บางรายต้องเขียนบันทึกข้อความส่งให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ซึ่งอาจมีผลต่อการประเมินค่าจ้าง และบางรายถูกใช้คำพูดกดดันจากกลุ่มในโรงพยาบาล
“พ่อกับแม่เราเป็นแพทย์เปิดคลินิกอยู่ต่างจังหวัด แล้วเขาก็โทรตามให้ไปฉีด ทั้งหมด พยาบาล ผู้ช่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เขาจะให้ฉีดทั้งหมดเลย”
หญิงรายหนึ่งเล่าถึงกรณีของคุณพ่อวัย 65 ปี และคุณแม่วัย 50 ปีของเธอให้ฟัง พร้อมบอกว่า วัคซีนที่ทางการจัดหามาให้ทั้งคู่ได้ฉีดนั้น เป็นวัคซีนของ Sinovac
“พวกโรงพยาบาลในจังหวัดโทรมาตามแม่เราให้ไปฉีด บอกว่าไปฉีดหน่อย วัคซีนเหลือเยอะ ทั้งโรงพยาบาลเขาฉีดกันหมดแล้ว แล้วให้ไปเดี๋ยวนั้นเลย ตอนที่โทรมา ถ้าเป็นพวกหมอที่คลินิกต่างๆ ที่ไม่ใช่ในโรงพยาบาลก็จะมีคนโทรมาตามให้ไปลงชื่อฉีดวัคซีน แล้วก็ต้องมาฉีดอยู่ดี”
เธอเล่าต่อว่า แม่ของเธอแย้งไปว่าจะรอวัคซีนตัวอื่น เพราะไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีน Sinovac ซึ่งมีประสิทธิภาพในการต่อต้านเชื้อได้น้อยกว่ายี่ห้ออื่นๆ และถ้าฉีดไปแล้ว ก็อาจจะยังไม่มีภูมิคุ้มกันต้านเชื้อไวรัสอยู่ดี จึงรู้สึกว่าไม่คุ้มที่จะเสี่ยงต่ออาการแพ้ซึ่งปรากฎให้เห็นตามข่าวอยู่หลายราย
“หมอที่ไม่ฉีดก็มีนะ พวกที่เข้าแต่คลินิก เค้าก็บอกว่าจะรอ AstraZeneca แต่โรงพยาบาลก็จะโทรมาตามเรื่อยๆ แล้วบอกประมาณว่า AstraZeneca ก็ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ ให้มาฉีดอันที่มีอยู่ก่อน”
สุดท้ายทั้งพ่อและแม่ของเธอก็ต้องจำใจไปรับวัคซีน โดยทั้งคู่ได้รับวัคซีนครบสองโดสแล้ว
เช่นเดียวกับ กรณีของพนักงานบัญชีวัย 25 ปี ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ เล่าว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลที่เธอทำงานอยู่ ออกประกาศว่า อยากให้ทุกคนได้รับวัคซีน
“ไม่ได้กดดันในเชิงนโยบายอะไร แต่เน้นกดดันกันเองภายใน ถ้าใครไม่คิดจะฉีด หัวหน้าก็จะมาถามว่า เพราะอะไร ทำไมไม่ฉีด มาโน้มน้าว กดดันนิดนึง”
เธอเล่าต่อว่า รอบแรกที่โรงพยาบาลมาสอบถามความสมัครใจ ไม่มีใครไปลงชื่อ พอรอบที่สอง ฝ่ายบุคคลของโรงพยาบาลก็ส่งต่อมาให้หัวหน้าแผนกแจ้งคนในสังกัดเลยว่า ‘ต้องฉีดทุกคน’ เพียงแค่นั้น
เธอยังบอกอีกว่า โรงพยาบาลไม่ได้ระบุอย่างเป็นทางการว่า วัคซีนที่จะให้ฉีดนั้น เป็นวัคซีนยี่ห้อไหน แต่คนในโรงพยาบาลก็กระซิบต่อๆ กันว่า เป็นยี่ห้อ Sinovac และไม่ได้พูดถึงเรื่องอาการแพ้อะไร เพียงแค่บอกว่า เตรียมตัวให้พร้อมก่อนฉีดเท่านั้น แต่หากใครมีอาการแพ้ คนทำงานในโรงพยาบาลก็มีสิทธิของพนักงานที่จะเข้ารับรักษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
แต่เวลาต่อมา โรงพยาบาลก็ยกเลิกการฉีดวัคซีนไปแล้ว โดยฝ่ายบุคคลมาแจ้งว่า โรงพยาบาลยังไม่มีวัคซีนเข้ามาให้ จึงขอให้พนักงานไปลงทะเบียนรับวัคซีนกับภาครัฐแทน
อีกกรณีหนึ่งของทันตแพทย์วัย 27 ปีในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เล่าว่า ตนไม่อยากฉีดวัคซีนเพราะไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีนที่ไทยมี และตอนแรกองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ยังไม่รองรับวัคซีนของ Sinovac ประกอบกับ การทดลองในเฟสสามที่บราซิลเอง ก็ต้องหยุดการทดลองไปเนื่องจากมีผลข้างเคียงร้ายแรง รวมถึงข่าวว่าประเทศที่ฉีดวัคซีนจาก Sinovac ไปแล้วในสัดส่วนประกรที่สูงมาก แต่การติดเชื้อและการตายกลับไม่ลดลง ในขณะที่ตนมีน้ำหนักตัวมากและทานยาคุมกำเนิดรายเดือน เมื่อพิจารณาแล้วพบว่าประโยชน์ที่ได้กับความเสี่ยงของตัวเองยังไม่คุ้มกัน จึงเลือกไม่รับวัคซีน
“ทางโรงพยาบาลก็ส่งอีเมล์หาทุกคนในหน่วยงานเพื่อกระตุ้นให้มาฉีดวัคซีน โดยเน้นว่า ‘ทุกคน’ พร้อมโทรมาหาเพื่อพูดคุยอธิบาย อ้างอิงว่าตัวคนพูดเองเคยได้รับวัคซีนแล้ว แต่ไม่เป็นไร รอดตายมาพูดอยู่ตรงนี้ได้ แต่คนพูดฉีดวัคซีนของ AstraZeneca แล้วยังอ้างถึงพ่อแม่ของเราว่า เราอาจจะเพิ่มความเสี่ยงให้พ่อแม่ได้ และพ่อแม่เราที่อายุเกิน 60 ปีก็สามารถฉีด Sinovac ได้อย่างปลอดภัย”
อีกทั้ง เธอยังเจอกับการติดต่อจากอีกคนหนึ่งว่า สถานที่ปฏิบัติงานของเธอกำลังจะเปิดทำการ ตัวเธอและเพื่อนที่ยังไม่ได้ฉีด ก็ควรรีบฉีดวันซีนด้วย
ทันตแพทย์รายนี้เล่าด้วยว่า โรงพยาบาลได้เปิดรับลงทะเบียนล่วงหน้า แล้วกำหนดเวลาแจ้งก่อนฉีดวัคซีนไม่ถึงสองสัปดาห์ ทำให้มีคนไม่มั่นใจที่จะฉีดและผิดนัดในวันแรกเป็นจำนวนมาก จึงมีประกาศออกมาให้แจ้งยกเลิกล่วงหน้า และให้เลือกเองว่าจะฉีดหรือไม่ “take your own risk” พร้อมแจ้งว่ามีระบบรอดูอาการหลังฉีด 30 นาที มีผู้เชี่ยวชาญคอยแสตนด์บาย และมีรถพยาบาลพร้อมพาส่งโรงพยาบาล
“ในมุมมองส่วนตัว คิดว่าระบบในองค์กรมีลักษณะอำนาจนิยมสูง จึงไม่แปลกใจที่เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้แล้วเราไม่สามารถแย้งอะไรได้”
บังคับฉีดวัคซีน ผิดกฎหมายไหม?
คำถามสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ การที่ลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานหรือองค์กรใด ถูกบังคับให้ฉีดวัคซีนโดยที่ไม่ยินยอม ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักกฎหมายหรือไม่ ?
อ้างอิงจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ระบุว่า ถ้าการบังคับฉีดวัคซีนของนายจ้าง เป็นการใช้กำลังทางกายภาพเพื่อเอาตัวลูกจ้างไปฉีด โดยที่ลูกจ้างไม่ยินยอม จะถือเป็นการละเมิดสิทธิในร่างกายตามรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญา
แต่ถ้านายจ้างมีเหตุผลอันสมควรที่จะสั่งให้ลูกจ้างในโรงงานหรือบริษัทไปฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกจ้างป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 อันอาจจะเกิดขึ้นในโรงงานหรือสถานประกอบการ คำสั่งนั้นยอมชอบด้วยกฎหมาย โดยเหตุผลอันสมควรนี้อาจพิจารณาหลายส่วน เช่น มีการระบาด ติดเชื้อในที่ทำงานมาแล้ว ประเภทกิจการ ตำแหน่งหน้าที่ลักษะงานของลูกจ้างแต่ละคน ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือแพทย์ เป็นต้น
คำสั่งนั้นจะเป็นธรรมกับลูกจ้างหรือไม่ ต้องพิจารณาเหตุผลของลูกจ้างคนนั้นประกอบด้วย เช่น เหตุผลด้านสุขภาพ โรคประจำตัว ค่าใช้จ่ายในการฉีด หรือเหตุอื่นๆ ที่ปฏิเสธในการฉีด เป็นต้น ถ้าคำสั่งที่ให้ลูกจ้างไปฉีด เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกับลูกจ้างแล้วลูกจ้างไม่ทำตาม นายจ้างก็อาจจะปฏิเสธไม่ให้เข้าทำงาน หรือลงโทษทางวินัย เช่น ออกหนังสือเตือน พักงาน 7 วันโดยไม่จ่ายค่าจ้าง หรือจะเลิกจ้างจ่ายค่าชดเชย หรือเงินอื่นตามสิทธิให้ก็ได้
แต่ถ้าจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ก็ต้องพิจารณาว่าไม่ทำตามคำสั่งระเบียบที่ให้ไปฉีดวัคซีน เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมอันเป็นกรณีร้ายแรง หรือไม่ ตาม ม.119 (4) จาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ถ้าไม่เข้าก็ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ถ้าเข้ากรณีร้ายแรงก็ไม่ต้องจ่าย โดยการเลิกจ้างต้องระบุเหตุให้ลูกจ้างทราบขณะเลิกจ้างด้วย
หรือหากอิงตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ตัวกฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติว่าการรับวัคซีนพื้นฐานเป็นหน้าที่ของพลเมืองตามกฎหมาย ดังนั้น หากประชาชนไม่ได้เข้ารับวัคซีนตามที่รัฐบาลได้จัดสรรให้ ก็ไม่ถือว่ามีความผิด ทั้งยังไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายฉบับอื่นที่กำหนดว่า การฝ่าฝืนไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย นั่นแปลว่า ประชาชนมีสิทธิปฏิเสธการเข้ารับวัคซีนได้
ยิ่งกว่านั้น องค์การอนามัยโลกยังให้คำแนะนำแก่รัฐบาลทั่วโลกว่า ไม่ควรบังคับพลเมืองของประเทศให้ฉีดวัคซีน และการเข้ารับวัคซีนควรเป็นไปด้วยความสมัครใจของประชาชน ซึ่งหลักการนี้ถูกนำไปปฏิบัติต่อในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่ COVID-19 แพร่ระบาดหนัก แต่ก็ไม่บังคับให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน และใช้วิธีจูงใจต่างๆ เพื่อให้แต่ละคนมารับวัคซีนเอง
การมีวัคซีนที่ดีและตัวเลือกหลากหลาย เป็นเรื่องสำคัญ
ประเด็นเรื่องการเข้ารับวัคซีนนี้ หลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาไม่ได้ต่อต้านการฉีดวัคซีน แต่ต้องการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ วัคซีนที่คุ้มจะเสี่ยงกับผลข้างเคียง และต้องการให้มีตัวเลือกหลากหลายกว่าที่เป็นอยู่
นี่คือประเด็นหลักๆ ที่ประชาชนต่างเรียกร้องกันมาตลอด ซึ่งจะเห็นได้ว่า จากคนที่ให้สัมภาษณ์เรื่องการถูกกดดันให้รับวัคซีนนี้ โดยมากต้องรับวัคซีน Sinovac บางรายอาจมี AstraZeneca เข้ามาในชอยส์บ้าง แต่ก็ไม่สามารถเลือกตามความต้องการของตัวเองได้อยู่ดี
ผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนจาก Sinovac ชี้ว่า มีประสิทธิภาพป้องกันอาการป่วยหนักอยู่ที่ 50-84% แตกต่างกันไปตามบริบทและประเทศที่ทำการทดลอง โดยตอนนี้วัคซีนของ Sinovac ถูกรับรองให้ใช้แล้วอย่างน้อย 32 ประเทศ และล่าสุดก็ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลกให้ใช้วัคซีนตัวนี้ได้ในภาวะฉุกเฉินแล้วเช่นกัน
แต่ถึงจะได้รับการรับรองแล้ว หลายคนก็ยังไม่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้ เนื่องจากกระแสข่าวถึงอาการแพ้ที่แพทย์เองก็ยังยืนยันสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ รวมไปถึงกรณีของผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน ซึ่งมีอย่างน้อย 9 รายด้วยกัน
ยิ่งกว่านั้น ยังมีผลการศึกษาที่ชี้ชัดว่า วัคซีนของ Sinovac มีผลลัพธ์ในระดับป้องกันอาการหนักและการเสียชีวิต แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อได้ด้วย ยิ่งสร้างความลังเลของผู้คนจำนวนมากเข้าไปใหญ่
ขณะเดียวกัน วัคซีนที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุขบอกไว้ว่า จะเป็นวัคซีนหลักที่ใช้ในไทยอย่าง AstraZeneca เอง นอกจากจะมีประเด็นเรื่องความล่าช้าแล้ว ก็ยังมีข้อกังวลเรื่องลิ่มเลือด ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า มักเป็นอาการที่เกิดในกลุ่มเพศหญิง อายุต่ำกว่า 50 ปี ทำให้มีอย่างน้อย 15 ประเทศที่ระงับการฉีดวัคซีนจาก AstraZeneca แล้ว และหันไปหาวัคซีนตัวอื่นที่มีผลข้างเคียงหรือข้อกังวลน้อยกว่า อย่างวัคซีนจำพวก mRNA แทน
ตอนนี้ ประเทศไทยเดินหน้าฉีดวัคซีนกันมาเกือบครบ 100 วันแล้ว แต่ยอดผู้รับวัคซีนครบทั้งสองโดส อยู่ที่ 1.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 1.84% เท่านั้น นับว่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ อยู่มาก โดยเฉพาะเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ที่มียอดผู้รับวัคซีนครบสองโดสอยู่ที่ 31% ของประชากรทั้งหมด หรือลาวซึ่งมียอดฉีดวัคซีนครบสองโดสอยู่ที่ 3.2% ของประชากรทั้งหมด
นายแพทย์ปวิน นำธวัช เคยให้สัมภาษณ์กับเราไว้ว่า คนยังกังวลกับการฉีดวัคซีน เพราะข่าวเรื่องผลข้างเคียง ซึ่งจริงๆ มีข้างเคียงน้อยถ้าเทียบกับคนที่ฉีดไปทั้งหมด แต่ก็เข้าใจว่าไม่มีใครที่อยากเป็นคนโชคร้ายคนนั้น ก็ต้องลองพิจารณาดูจากตัวเลข ถ้ามีวัคซีนให้เลือกเยอะกว่านี้ คิดว่าคนจะลังเลน้อยลง
“ยิ่งมีตัวเลือกให้มาก ก็จะจูงใจให้คนฉีดวัคซีนได้มากขึ้นด้วย และจะทำให้จำนวนคนฉีดวัคซีนโดยรวมเพิ่มขึ้นแน่นอน”
ดังนั้นแล้ว หากอยากให้ประชาชนสามารถกลับไปใช้ชีวิตกันคล้ายดังเดิมมากที่สุด ภาครัฐก็ควรจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ หลากหลาย และให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งถือเป็นวิธีจูงใจให้คนเข้ารับวัคซีนที่ดีที่สุด และเป็นสิทธิที่พลเมืองของประเทศนี้ควรได้รับ
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก
สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน