หลังจากนักแสดงสาว เอ็มม่า วัตสัน (Emma Watson) ออกมาป่าวประกาศว่า เธอเป็นคู่ใจกับตัวเอง (self-partnered) ก็ได้ชี้ทางสว่างให้ใครหลายคนเริ่มหันมาอยู่คนเดียวมากขึ้น เพราะดูจะเป็นอะไรที่กิ๊บเก๋ดีเวลาบอกกับคนอื่นว่า
“ฉันไม่ได้โสด แค่มีคนโปรดเป็นตัวเองเฉยๆ จ้า”
ใครเคยอยากแต่งงานกับตัวเองบ้าง? หรือรู้สึกว่าในชีวิตนี้ ไม่น่าจะมีใครรักและเข้าใจเราได้มากเท่าตัวเองอีกแล้ว ถ้าเคย แสดงว่า self-partnered อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับเราก็ได้นะ เพราะการมีตัวเองเป็นคู่ใจ คือนิยามของความสัมพันธ์ที่จะส่งผลดีทางตรงต่อตัวเราเองและทางอ้อมต่อผู้อื่น โดยเฉพาะในช่วงที่ชีวิตพบเจอวิกฤต หรือช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ดันไม่มีใครสักคนคอยอยู่เคียงข้าง
รักตัวเองยังไงให้มากพอ
หัวใจของ self-partnered เกิดจากคอนเซ็ปต์ง่ายๆ อย่างการที่เรามี self-love หรือ ‘ความรักต่อตนเอง’ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตนเอง การมีเมตตาต่อตนเอง การเห็นอกเห็นใจต่อตนเอง หรืออะไรก็ตามที่เราสามารถทำได้ เพื่อนำตัวเองไปสู่ความสุข และความสบายใจ
แต่การมี self-love จนทำให้เรากลายเป็น self-partnered ไม่ใช่เวทมนตร์วิเศษที่จู่ๆ ก็เสกให้เรารักตัวเองได้ภายในพริบตา แต่เกิดจากทัศนคติและมุมมองที่เราจำเป็นต้องฝึกฝน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของเรานัก เพราะการรักตัวเองเริ่มได้จากวิธีง่ายๆ อย่างการ ‘หันกลับมาสำรวจตัวเอง’
เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราควรจะรับรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร อยากได้อะไร คิดอะไร และคาดหวังอะไรอยู่ หรือที่เรียกว่ามีการตระหนักรู้ต่อตนเอง (self-awareness) เพราะทุกวันนี้ สังคมเป็นฝ่ายที่คาดหวังในตัวเราสูงมากกว่าตัวเราเองเสียอีก สังคมมักจะคาดหวังว่าเราจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ จะต้องดันตัวเองไปให้ถึงมาตรฐานที่คนอื่นสร้างไว้ จนบางครั้งสูญเสียตัวตนหลายๆ อย่างไป แต่ถ้าเราเงียบแล้วหันกลับมาฟังเสียงของตัวเองบ้าง ก็จะรู้ว่าสิ่งที่เราต้องทำจริงๆ นั้น คนละเรื่องกับสิ่งที่สังคมบอกให้ทำเลยล่ะ
ถ้าเรามอบความรักให้กับตัวเองแล้วจะเกิดอะไรขึ้น? ที่ชัดที่สุดคือความเครียดและความวิตกกังวลต่างๆ จะลดลงและหายไป โดยเฉพาะความกลัวในการล้มเหลว
เพราะเมื่อเรามี self-love นั่นหมายถึง
เรารู้สึกซาบซึ้งและพึงพอใจในการเป็นตัวเอง
มากพอที่จะไม่กลัวการถูกปฏิเสธ
อีกทั้งไม่ยึดติดกับความสุขที่ต้องรอให้คนอื่นหยิบยื่นให้ หากแต่เป็นความสุขที่เราเองสร้างขึ้นมา ซึ่งดูจะเป็นความสุขที่ถาวรและยั่งยืนกว่า ในทางเดียวกันเมื่อเกิดความล้มเหลว หรือความผิดพลาดที่เลี่ยงไม่ได้ เราจะรู้ดีว่า สิ่งที่ควรทำคือการให้อภัยตัวเอง ไม่ใช่การลงโทษตัวเองให้รู้สึกแย่ไปมากกว่าเดิม
ความรักและความสุขที่เรามี ไม่เพียงแค่ส่งผลดีกับสภาพจิตใจเท่านั้น แต่ยังแผ่ออกมาภายนอกผ่านรูปลักษณ์ เพราะ self-love ขึ้นชื่อว่าเมื่อมีแล้ว จะทำให้เรามั่นใจในตัวเองมากขึ้นจนไม่แคร์กรอบความงามที่สังคมตีไว้ เราจะเห็นว่าคนที่รักตัวเองมากๆ มักมีสไตล์ของตัวเองที่แน่ชัด และไม่แปรผันไปตามกระแสสังคมง่ายๆ นั่นก็เพราะพวกเขาเรียนรู้และรู้จักคุณค่าที่แท้จริงของตัวเองดีกว่าคนอื่นๆ นั่นเอง
อีกทั้งเมื่อเรามีความรักต่อตัวเอง ก็จะส่งผลให้มีแรงกระตุ้นที่จะทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น เช่น เราอาจท้อกับการออกกำลังกาย หรือเหนื่อยล้ากับงานตรงหน้า แต่ถ้าฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า สิ่งที่เรากำลังทำนั้นก็เพื่อมอบสิ่งที่ดีกว่าให้กับตัวเอง ก็จะเป็นการชาร์จพลังให้กับร่างกายและจิตใจได้เป็นอย่างดี
เห็นเรารักและใจดีกับตัวเองแบบนี้ ก็ไม่แปลกที่ ‘คู่ใจที่ดีที่สุด’ จะเป็นตัวของเราเองใช่มั้ยล่ะ?
เมื่อรักตัวเองมากพอ ก็ทำให้รักคนอื่นได้ดียิ่งขึ้น
การรักตัวเองไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องปิดกั้นชีวิต ชนิดที่ว่าครองโสดไปจนวันตาย หรือเห็นแก่ความสุขของตัวเองมากไป เกินกว่าจะมอบให้คนอื่น เพราะหากวันหนึ่งเราเจอคนที่ใช่ และพร้อมจะลงเอยในความสัมพันธ์ การรักตัวเองจะเหมือนเป็น ‘การลงทุน’ ครั้งใหญ่อย่างหนึ่ง คล้ายกับการที่เราตุนสิ่งหนึ่งไว้กับตัว แล้วพร้อมจะแชร์ไปให้อีกคน เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนให้แข็งแรงมากกว่าเดิม ด้วยความที่ว่า วิธีที่เราปฏิบัติต่อตัวเอง จะสามารถกำหนดว่าเราจะปฏิบัติต่ออีกคนที่ในความสัมพันธ์นั้นยังไง
ตามกฎของแรงดึงดูด (law of attractive)
เมื่อเรามั่นใจและเชื่อในคุณค่าของตัวเองอย่างแท้จริง
ก็จะดึงดูดพลังบวกและความรักที่ดีเข้ามาในชีวิตได้เช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้คนที่มี self-love มีแนวโน้มที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดี อันเนื่องมาจากความรักที่เขามอบให้ตัวเองก่อนนั่นเอง
การรักตัวเองยังช่วยลดสิ่งที่เป็นพิษในความสัมพันธ์ให้หายไปด้วย ทั้งความรู้สึกไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย โดย ‘ความหึงหวง’ ที่มักจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคู่รักหลายคู่ ที่จริงๆ แล้วเป็นความรู้สึกที่เกิดจาก ‘ความไม่มั่นใจในตัวเอง’ ที่ทำให้เราคิดว่าเราไม่ดีพอ ไม่เก่งพอ ไม่สวยไม่หล่อพอที่เขาจะรัก แล้ววันหนึ่งเขาก็จะเลือกไปหาใครที่ดีกว่า
แต่ถ้าเรารู้วิธีที่จะซาบซึ้งในการเป็นตัวเอง เราก็จะรู้ว่า best version ของเรานั้นเป็นยังไง และมันจะไม่หายไปง่ายๆ เพียงเพราะคนอื่นมองไม่เห็น อีกทั้งยังทำให้เรารู้จักการซาบซึ้งรวมถึงยอมรับในสิ่งที่คนอื่นเป็น จนความคาดหวังว่าเขาจะต้องเป็นแบบนั้นสิ ทำแบบนี้สิ ลดลงไปด้วยเช่นกัน และถ้าวันหนึ่งความสัมพันธ์จบลง อย่างน้อยๆ สิ่งที่เหลืออยู่ก็ยังเป็นตัวเราเอง ที่ไม่เคยจมหายไปไหน
เมื่อเรารักตัวเองมากพอ เราจะหลุดพ้นจากบ่วงของความคาดหวังในตัวผู้อื่น และไม่ต้องการปัจจัยภายนอกใดๆ เพื่อมายืนยันคุณค่าของตัวเอง เพราะเรารู้ดีว่ามาตรฐานของเราคืออะไร เราไม่กลัวการถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว เราไม่กลัวการถูกบอกเลิก และเราจะตระหนักได้ว่า ‘เราคู่ควรกับสิ่งที่ดีที่สุด’ เสมอ
อ้างอิงข้อมูลจาก