#โรงเรียนดังย่าน… #โรงเรียนสี… เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้น เมื่อเราเห็นแฮชแท็กของโรงเรียนต่างๆ ติดเทรนด์ในโซเชียลมีเดีย จนตามไม่ทันว่าโรงเรียนไหน มีประเด็นอะไรกันมา
แต่ก็เรียกได้ว่า เป็นกระแสที่นักเรียนออกมาส่งเสียง เล่าถึงเหตุการณ์ และประสบการณ์ในโรงเรียนที่แตกต่างกันไปในแต่ละโรงเรียน บ้างก็ต้องการเปิดเผยเรื่องราวที่เกิดขึ้น และบ้างก็เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน
ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว ประเด็นที่มีการพูดถึงในแต่ละโรงเรียนนั้น ต่างก็มีจุดร่วมที่คล้ายคลึงกัน The MATTER ได้ลิสต์ประเด็นที่เราพบเห็นในแฮชแท็กของโรงเรียนต่างๆ และเข้าไปดูว่านักเรียนแต่ละโรงเรียนพูดคุยอะไรกันบ้าง ในแฮชแท็กเหล่านี้
คุณครู
หลายแฮชแท็กที่เกี่ยวกับโรงเรียน เริ่มขึ้นจากการตั้งสเตตัส หรือคอมเมนต์กันของคุณครู จนเกิดเป็นการโต้ตอบกันระหว่างคุณครู และนักเรียนในโซเชียลมีเดียในประเด็นที่เห็นแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎระเบียบ หรือกิจกรรมในโรงเรียน ทำให้แฮชแท็กเหล่านั้น กลายเป็นการพูดถึงพฤติกรรมของคุณครูในโรงเรียนไป ทั้งในเรื่องการสอน ไปถึงพฤติกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจนิยม การที่คุณครูบางคนเคยลวนลามนักเรียน ใช้คำพูดที่กระทบจิตใจ ล้อเลียน ไปถึงการ body shaming ด้วย
ซึ่งหลายข้อความก็เรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบคุณครูขึ้น ให้โรงเรียนรับผิดชอบในการจัดการกับครู โดยหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นด้วย
กิจกรรม หรือกฎระเบียบโรงเรียนที่ล้าหลัง
ประเด็นเรื่องกิจกรรม และกฎระเบียบที่ล้าหลังของโรงเรียน เรียกได้ว่าเป็นประเด็นหลักๆ ที่พบเห็นได้ในแฮชแท็กของเกือบทุกโรงเรียน โดยเฉพาะในเทอมนี้ ที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ที่มีการระบุให้นักเรียนทั้งชาย และหญิงสามารถเลือกไว้ผม ไม่ว่าจะสั้นหรือยาวได้ แต่กลับมีบางโรงเรียนที่ไม่เปลี่ยนกฎตามระเบียบของกระทรวง ซึ่งทำให้นักเรียนออกมาเรียกร้องว่ากฎของโรงเรียนล้าหลัง และไม่มีการปรับตาม
ทั้งยังมีการพูดถึงกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน ที่ไม่ถามความสมัครใจของนักเรียนในการเลือกเข้าร่วม หรือกิจกรรมบางอย่าง ที่มีการแสดงความเห็นว่าควรปรับ เช่นการเข้าแถวกลางแดด เป็นต้น รวมถึงยังมีการออกกฎของบางโรงเรียน ที่ห้าม หรือกีดกันเพศที่ 3 และใช้คำเรียกที่เหยียดเพศที่ 3 จนเกิดเป็นประเด็นถกเถียงด้วย
ค่าเทอม
ค่าเทอม เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีการพูดถึงในแฮชแท็กโรงเรียนต่างๆ ทั้งการจ่ายค่าเทอมที่แพงกว่าของเด็กนักเรียนในห้องพิเศษ แต่กลับถูกให้ไปเรียนในห้องธรรมดา หรือได้สวัสดิการเท่าห้องทั่วไป จนเกิดเป็นเรียกร้องความยุติธรรม ไปถึงการที่นักเรียนหลายคนมองว่า ตนไม่ได้รับสวัสดิการ หรือคุณภาพจากโรงเรียนเท่าที่คาดว่าควรจะได้รับ โดยประเด็นที่พบเห็นมีทั้งเรื่องของอุปกรณ์ต่างๆ เสีย ไม่ว่าจะแอร์พัง หรือล็อกเกอร์ไม่ได้ใช้
นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงค่าเทอมที่แพงขึ้น ในช่วงการเปิดเทอมหลัง COVID-19 ที่บางโรงเรียนมีการปรับไปเรียนแบบออนไลน์ประกอบ หรือไม่ได้มาเรียนประจำทุกวัน ซึ่งเด็กนักเรียนมองว่าสวนทางกับสิ่งที่จะได้รับที่ไม่เต็มที่ด้วย
แต่การแสดงความคิดเห็นของนักเรียน และแฮชแท็กที่พูดถึงโรงเรียน บางครั้งก็เกิดขึ้นเมื่อเด็กจะถูกลงโทษ เมื่อออกมาตั้งคำถามกับโรงเรียนด้วย โดยบางโรงเรียนได้เลือกที่จะจัดการกับนักเรียนซึ่งออกมาวิจารณ์ด้วยการจะตัดคะแนนจิตพิสัย การนำทนายมาให้ความรู้เรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไปถึงบางโรงเรียนที่เคยขู่จะฟ้อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กับนักเรียน ทั้งยังมีการถูกคุกคามจากบุคลากรในโรงเรียน และการถูกล่าแม่มดด้วย
ซึ่งการจัดการเหล่านี้ ยิ่งทำให้แฮชแท็กของโรงเรียนเป็นกระแส ยิ่งมีคนออกมาพูดถึง และบางแห่งถึงกับมีแคมเปญผ่าน change.org เพื่อเคลื่อนไหวด้วย
รุ่นพี่ออกมาพูดถึงประสบการณ์นั้นๆ ด้วย
ไม่เพียงนักเรียนที่ออกมาร่วมพูดคุยกัยในแฮชแท็กแล้ว หลายๆ ครั้งก็มักมีรุ่นพี่ในโรงเรียนที่มาร่วมจอย ซึ่งมีทั้งเห็นด้วย และเล่าเรื่องประสบการณ์ของตัวเองด้วย แต่ก็มีทั้งที่ไม่เห็นด้วย และมองว่าตนก็เคยผ่านประสบการณ์เหล่านั้นมาได้ เช่นกัน
Fact ต่างๆ ในโรงเรียน เช่นร้านอาหาร
นอกจากนี้ แฮชแท็กต่างๆ ของโรงเรียน ยังมักมีการพูดถึง fact ของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของร้านอาหาร ห้องสมุด หรือเกร็ดต่างๆ ของโรงเรียน
ซึ่งกระแสแฮชแท็กเรื่องโรงเรียนต่างๆ ที่เกิดถี่ขึ้น นักเรียนหลายคนก็ย้ำว่าไม่ได้ต้องการสร้างความเสียหายให้กับชื่อเสียงของโรงเรียน แต่ต้องการใช้สิทธิของตัวเองในการออกมาพูด สะท้อนปัญหา และคาดหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง และโรงเรียนจะนำเสียงที่ออกมาพูดถึงไปปรับปรุงด้วย