ทำไมต้องใส่ชุดนักเรียน?
คำถามที่กลายมาเป็นประเด็นร้อนในรอบวันที่ผ่านมา หลังจากนักเรียนในหลายโรงเรียนทั่วประเทศชวนกันแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียน ภายใต้ธีม ‘1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ’ เพื่อเป็นการตั้งคำถามถึงการบังคับใส่ชุดเครื่องแบบนักเรียน
แน่นอนว่า การลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เคยเป็น มักมาพร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำนี้ ด้วยมุมมองและวิธีคิดที่แตกต่างกันออกไป
The MATTER ลองสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มที่สนับสนุนให้นักเรียนยังคงแต่งชุดนักเรียน แล้วนำไปพูดคุยกับตัวแทนต่างๆ ได้แก่
– ขวัญข้าว ตัวแทนนักเรียนจากภาคีนักเรียน KKC
– พลอย ตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนเลว
– นิ้ง ตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนเลว
– ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล จากกลุ่มครูขอสอน
โดยให้พวกเขาแสดงความเห็นถึงประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
ชุดนักเรียนลดความเหลื่อมล้ำ?
ขวัญข้าวกล่าวว่า ต่อให้เราใส่ชุดนักเรียน เราก็วัดความเหลื่อมล้ำได้จากอย่างอื่นเหมือนกัน เช่น นาฬิกา หรือการมาโรงเรียนด้วยรถส่วนตัวหรือรถสาธารณะ โดยตัวเขาตั้งคำถามกลับว่า ชุดนักเรียนเป็นสิ่งที่ปกปิดความเหลื่อมล้ำของนักเรียน หรือว่าเป็นสิ่งที่ปกปิดความผิดพลาดของภาครัฐที่ทำให้คนเหลื่อมล้ำกันแน่
ขณะที่ นิ้งมองว่า การบังคับให้เด็กใส่ชุดนักเรียนเป็นการซุกปัญหาความเหลื่อมล้ำเอาไว้ ไม่ได้เป็นการมองหาทางแก้ไขที่แท้จริง เช่นเดียวกับ ครูทิวที่ย้อนถามกลับไปว่า ชุดนักเรียนมันทำให้ใครมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้นเหรอ ทั้งยังบอกว่า เครื่องแบบนักเรียนของแต่ละที่ก็แสดงความเหลื่อมล้ำ ทั้งโรงเรียนเอกชน โรงเรียนสาธิต โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนวัด ที่มีเครื่องแบบแตกต่างกัน
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากสภาพัฒน์ระบุว่า ครัวเรือน 10% ที่ยากจนที่สุด มีภาระค่าเครื่องแบบนักเรียนถึง 14.6% ของค่าใช้จ่ายทางการศึกษาทั้งหมด ในขณะที่ครัวเรือนที่รวยที่สุด 10% ของประเทศ มีภาระค่าเครื่องแบบเพียง 4.3% ของค่าใช้จ่ายทางการศึกษาทั้งหมด ซึ่งแปลว่า คนจนต้องควักเงินในสัดส่วนที่มากกว่าคนรวยเพื่อจ่ายให้กับค่าเครื่องแบบนักเรียน
ชุดนักเรียนช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย?
เสื้อนักเรียน กางเกงนักเรียน รองเท้านักเรียน อาจจะมีราคาอยู่ที่หลักร้อย แต่หากนักเรียนต้องใส่ให้ครบชุด ราคาเหล่านั้นก็รวมกันไปถึงหลักพันบาท โดยนิ้งเล่าว่า เครื่องแบบนักเรียนมีราคาประมาณ 700-1,500 บาท และใช้ได้แค่ 2-3 ปีก็ต้องเปลี่ยน เพราะแต่ละช่วงชั้นก็มีเครื่องแบบที่แตกต่างกันออกไป รวมถึง เด็กบางคนที่เติบโตขึ้นจนไม่สามารถใส่เสื้อผ้าแบบเดิมได้ ก็ต้องเปลี่ยนบ่อยครั้ง
นอกจากนี้ นิ้งยังมองว่า ชุดนักเรียนเป็น fast fashion รูปแบบหนึ่ง ที่ส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมและไม่ได้ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายอย่างแท้จริง ตรงข้ามกับชุดไปรเวทใส่ได้นานหลายปีกว่า และยังใส่ไปนอกโรงเรียนได้ด้วย ถือว่ามีโอกาสใช้งานที่หลากหลายกว่า
ประเด็นนี้ พลอยเสริมว่า ชุดไปรเวทมีหลายราคา ซึ่งแต่ละคนสามารถซื้อได้ตามกำลังจ่ายของตนเอง และถ้าใครกลัวว่าเด็กๆ จะไปซื้อชุดตามเพื่อน เธอก็มองว่า นั่นเป็นเรื่องปัจเจก และเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาที่จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจถึงความแตกต่างในสังคม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดกว่าการบังคับให้ทุกคนใส่ชุดนักเรียน
ช่วยให้มีสมาธิกับการเรียน?
ขวัญข้าวยกผลวิจัยจากต่างประเทศที่สำรวจในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผลการเรียนกับเครื่องแบบนักเรียน โดยผลวิจัยนั้นระบุว่า ผลการเรียนไม่ได้สัมพันธ์กับการใส่ชุดนักเรียนแต่อย่างใด ดังนั้น เขาจึงไม่อยากให้คนที่สนับสนุนชุดเครื่องแบบ ยกเอาเหตุผลนี้มาอ้างโดยที่ไม่มีหลักฐานอ้างอิงที่ชัดเจน
นอกจากนี้ ทั้งขวัญข้าวและครูทิว ต่างยกเรื่องการแต่งตัวไปเรียนพิเศษของเด็กๆ ที่ใส่ชุดไปรเวทกัน โดยทั้งคู่ระบุว่า เด็กๆ ก็สามารถเรียนหนังสือกันได้อย่างไม่มีปัญหา แม้จะไม่ใส่ชุดนักเรียน หรือหากมีเรื่องกวนใจทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียน ก็ไม่เกี่ยวข้องกับชุดนักเรียนเช่นกัน
ตรงจุดนี้ นิ้งเสริมด้วยว่า ผลการเรียนของเด็กๆ จะดีได้นั้น ขึ้นอยู่กับหลักสูตร การสอนของครู บรรยากาศในห้องเรียน และอุปกรณ์การเรียนมากกว่าเครื่องแบบของนักเรียน
ช่วยเสริมความเป็นวินัย?
ครูทิวตอบคำถามข้อนี้ว่า การใส่ชุดนักเรียน เป็นการตีกรอบด้วยการบังคับสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของเด็ก และเป็นการฝึกให้เด็กทำตามสิ่งที่ถูกกำหนดไว้โดยไม่คัดค้านหรือตั้งคำถาม จึงถือเป็นการทำให้เด็กเชื่องมากขึ้น
ซึ่งตรงจุดนี้ ทั้งขวัญข้าว นิ้ง และพลอย ต่างเห็นตรงกันว่า การฝึกฝนระเบียบวินัยนั้น ไม่ได้มาจากการบังคับแต่งชุดนักเรียน และเรื่องของความเป็นระเบียบวินัยนั้นสามารถสอนในรูปแบบอื่นๆ ได้ เช่น การฝึกให้รู้จักเข้าแถว ทำตามกฎจราจร ซึ่งถือเป็นการสอนเชิงบวกมากกว่าด้วย
ช่วยรักษาความปลอดภัย?
ขวัญข้าวยกตัวอย่างให้ฟังว่า เด็กใส่ชุดนักเรียนไปม็อบ แต่ก็โดนฉีดน้ำกลับมา ก็เป็นหลักฐานว่าชุดนักเรียนไม่ได้จะช่วยคุ้มครองอะไรนักเรียนเลย เช่นเดียวกับพลอยกล่าวว่า ชุดนักเรียนไม่ใช่ชุดเกราะ และการคุกคาม การล่วงละเมิดในรูปแบบต่างๆ ก็ยังเกิดขึ้นโดยที่เด็กยังใส่ชุดนักเรียน
นอกจากนี้ พลอยยังย้ำว่า ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรได้ ไม่ใช่แค่นักเรียนเท่านั้น
ขณะที่ครูทิว เล่าว่า ชุดนักเรียนช่วยให้ครูกับโรงเรียนจัดการได้ง่าย เพราะทำให้รู้ว่าใครเป็นนักเรียน แต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะอาจมีคนใส่ชุดนักเรียนเดินเข้ามาก็ได้ ทั้งยังยกตัวอย่างถึงกรณีของพนักงานบางบริษัทที่ใส่ชุดไปรเวทไปทำงาน โดยมองว่า บริษัทก็มีวิธีจัดการให้รู้ว่าใครเป็นพนักงาน โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเครื่องแบบใดๆ
ดูสุภาพเรียบร้อย?
นิ้งมองถึงประเด็นนี้ว่า ต้องเป็นการสอนให้เด็กๆ เข้าใจถึงกาลเทศะในการแต่งกาย มากกว่าจะบังคับให้ทุกคนใส่ชุดแบบเดียวกัน จนไม่เข้าใจการแต่งกายในชีวิตจริง
เช่นเดียวกับครูทิว ที่เล่าว่า มีเด็กหลายคนที่เติบโตขึ้นมาโดยไม่ได้ค้นหารูปแบบการแต่งกายที่เข้ากับตัวเอง ไม่รู้ว่าต้องแต่งแบบไหนถึงจะเหมาะสม เพราะพวกเขาไม่ได้เรียนรู้และลองผิดลองถูกมาก่อน จนกลายมาเป็นปัญหาเมื่อเด็กๆ เติบโตขึ้น และต้องออกมาเจอโลกการทำงานจริงๆ
นอกจากประเด็นที่เรารวบรวมมานี้ ยังมีอีกหลายข้อถกเถียงถึงการใส่เครื่องแบบนักเรียน โดยกลุ่มนักเรียนที่จัดกิจกรรมนี้ขึ้น ก็มองว่า พวกเขาไม่ได้ต่อต้านการใส่ชุดนักเรียน เพียงแต่ต้องการให้เปิดเสรีให้กับการแต่งกายของเด็กๆ ให้พวกเขามีสิทธิเลือกที่จะแต่งตามความต้องการและเพศวิถีของตัวเอง และเป็นการตั้งคำถามกับกฎระเบียบที่ยังไม่มีเหตุผลสนับสนุนที่ดีพอเท่านั้น
ขณะที่ ครูทิวเล่าว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ นี่คือการท้าทายอำนาจ ท้าทายกฎระเบียบของโรงเรียนที่มีอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การรุกล้ำทางกายภาพ เป็นการรุกล้ำทางความเชื่อ ความคิด วัฒนธรรม ทั้งยังกล่าวว่า ถ้าเกิดว่าโรงเรียนไม่ให้นักเรียนเข้าเรียน เพราะไม่ใส่ชุดนักเรียนมา ก็ต้องถามย้อนกลับว่า ประเด็นสำคัญของการเข้ารับการศึกษาคืออะไร เราอยากจะให้นักเรียนเรียน หรือแต่งชุดนักเรียนกันแน่?
“ถ้าสุดท้ายการใส่ชุดนักเรียนมันไม่ได้มีนัยยะสำคัญอะไร กฎที่เคยมีอยู่มันก็จะถูกลดทอนความสำคัญและความชอบธรรมลงไปเอง ด้วยคำถามที่นักเรียนตั้งกันขึ้นมา ปลายทางของสิ่งนี้อาจจะไปเปลี่ยนแปลงหรือตั้งคำถามถึงกฎและอำนาจต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่ชุดนักเรียน แต่เป็นหลายๆ อย่างที่ยังอยู่ในการศึกษา ที่ทำให้การพัฒนาการศึกษามันไม่ก้าวไปข้างหน้า”