ฤดูเกณฑ์ทหารประจำปี 2560 เพิ่งสิ้นสุดไปหมาดๆ
103,097 คน คือความต้องการ ‘ทหารเกณฑ์-ทั้งประเทศ’ ประจำปีนี้ (แบ่งออกเป็นกองทัพบก 76,953 นาย กองทัพเรือ 16,000 นาย กองทัพอากาศ 8,420 นาย กองบัญชาการทหารสูงสุด 1,173 นาย และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 551 นาย) ตัวเลขสูงลิ่วสะท้อนวิธีคิดของกองทัพไทย ที่ต้องการ ‘กำลังพลสำรอง’ ในปริมาณมากเข้าไว้ เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ความมั่นคงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
เป็นประจำทุกปีที่ ‘การเกณฑ์ทหาร’ ได้สร้างบทสนทนาในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ดาราดังยื่นใบรับรองแพทย์ว่าเป็นหอบหืด สาวประเภทสองหน้าตาดีที่มาตามหมายเรียก คลิปวีดีโอแสดงอาการดีใจสุดแรงหรือช็อกสุดขีด ไปจนถึงประเด็นแหลมคมอย่างทหารเกณฑ์ถูกซ้อมจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และนิยาม ‘การรับใช้ชาติ’ ที่ผูกขาดอยู่เพียงอาชีพทหารเท่านั้น
เมื่อฤดูเกณฑ์ทหารผ่านพ้น บนสนทนาเหล่านั้นค่อยๆ เงียบหายไป ยิ่งภายใต้บรรยากาศทางการเมืองไม่ปกติ ผู้กุมอำนาจในภาคการเมืองและภาคทหารเป็นกลุ่มเดียวกัน ทุกๆ คำถามต่อกองทัพไทยยิ่งกลายเป็นลมหายใจในมวลอากาศ เบาบาง ปลิดปลิว และลอยหายไปราวไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่สนใจและศึกษาด้านการทหารมายาวนาน ทำงานวิจัย พูด และเขียนบทความเป็นจำนวนมาก เราจึงนำความสงสัยง่ายๆ ไปถาม เช่น
ทำไมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ของแต่ละประเทศถึงไม่เท่ากันล่ะ
ทำไมคำว่า ‘รับใช้ชาติ’ ถึงต้องเป็นอาชีพทหารเท่านั้นด้วยนะ
ฯลฯ
จากคำถามง่ายๆ ถูกคลี่ขยายไปยังภาพใหญ่ของสถานการณ์ความมั่นคงในระดับโลก ก่อนจะวกมาตั้งคำถามกับขนาดของกองทัพไทย…ที่ยังใหญ่โตตามจินตนาการแบบเดิม เมื่อบริบทโลกเปลี่ยนแปลงไป ความใหญ่โตกลายเป็นความเทอะทะ ที่อาจไม่ได้สะท้อนความเข้มแข็งเสมอไป
The MATTER : อยากให้อาจารย์อธิบายว่า เหตุผลที่แต่ละประเทศมีกำลังพลและยุทโธปกรณ์แตกต่างกันคืออะไร
ศ.ดร.สุรชาติ : ถ้าเริ่มด้วยคำถามว่า ขนาดกองทัพแต่ละประเทศถูกกำหนดจากอะไร โจทย์เรื่องนี้ใหญ่มาก แทบเป็นหนังสือเล่มใหญ่ได้เลย แต่ถ้าตอบโดยพื้นฐาน คือมาจากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ เช่น กรณีของรัสเซียที่เคยผ่านสงครามขนาดใหญ่ เขาจึงมองว่ากองทัพขนาดใหญ่คือความจำเป็น แต่มากกว่าแค่เรื่องประวัติศาสตร์ ยังมีเงื่อนไขของขนาดประเทศ ต้องเป็นประเทศขนาดใหญ่ บวกกับเงื่อนไขสำคัญที่สุด คือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีอีกเรื่องที่เราไม่ค่อยได้คิดกัน คือระบบราชการต้องมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงมีเงื่อนไขต่างๆ ร้อยเรียงกัน ที่เป็นปัจจัยให้ประเทศใดประเทศหนึ่งมีกองทัพขนาดใหญ่ได้
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือที่เรียกว่า ยุคสงครามเย็น เราจะเห็นว่าประเทศต่างๆ เตรียมรับสถานการณ์สงคราม ส่งผลให้กองทัพในหลายประเทศขยาย เพราะมองว่าในอนาคตอาจเกิดสงครามได้ แต่หลังจากการแบ่งยุโรปเป็น 2 ค่าย ทุบกำแพงเบอร์ลิน สถานการณ์ความมั่นคงเปลี่ยนไป ผลพวงจากการทุบกำแพงเบอร์ลินนำไปสู่การสิ้นสุดสงครามเย็น เป็นเงื่อนไขที่ตอบว่า ภัยคุกคามในอนาคตเปลี่ยนไป หรือพูดง่ายๆ ว่าเงื่อนไขสงครามไม่อยู่ในแบบเดิม หลังปี 1990 จะเริ่มเห็นภาพชัด กองทัพของประเทศพัฒนาแล้วเริ่มลดขนาดกำลังพล เพราะมองว่าในอนาคตไม่มีความจำเป็น และเป็นการประหยัดทรัพยากรของฝ่ายทหาร โดยหวังว่าทรัพยากรนี้จะถูกนำไปพัฒนาเทคโนโลยีในกองทัพ
งานของ Alvin Toffler ตอบเราว่า สังคมในอนาคตจะเป็นสังคมข่าวสาร เราไม่ได้รบในภาวะที่ต้องการกองทัพใหญ่ๆ อย่างสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือ 2 สนามรบที่เปลี่ยนไปด้วยเงื่อนไขของเทคโนโลยีสารสนเทศตอบว่า กองทัพควรถูกทำให้เล็กลง ดังนั้นเราแทบเห็นเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก คือการลดขนาดกองทัพและหันไปพัฒนาเทคโนโลยี โดยมีสถานการณ์ชุดหนึ่งมารองรับ คือหลังการสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ มันเกิดสงครามในอ่าวเปอร์เซีย แล้ว Operation Desert Storm ที่สหรัฐฯ เปิดกับกองทัพอิรักที่ยึดครองคูเวต หลายประเทศในโลกตระหนักว่าถึงจุดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกองทัพ แม้กระทั่งการปรับตัวของกองทัพจีน หรือกองทัพที่ใหญ่สุดในภูมิภาคอย่างเวียดนามก็ปรับ การแบกกำลังพลเป็นจำนวนมากคือค่าใช้จ่ายที่จะเป็นปัญหากับรัฐบาลในอนาคต
บริบทแบบนี้ คำถามคือเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยบ้างไหม เพราะสงครามคอมมิวนิสต์ในไทยสิ้นสุดไปด้วย ความน่าสนใจสำหรับผม คือสงครามคอมมิวนิสต์ในไทยสิ้นสุดก่อนเวทีโลก ของไทยจบประมาณปี 2525-2526 แต่ในเวทีโลกจบปี 2532-2533 ในวงการคนสนใจการทหาร ถ้าโลกเปลี่ยน ปัญหาภัยคุกคามที่ประเทศไทยเคยเผชิญก็เปลี่ยน ไม่มีสงครามคอมมิวนิสต์แล้วเราจะปรับโครงการกองทัพไหม คำถามนี้ไม่ถูกตอบ มีแต่คำตอบในวงสัมมนา ไม่มีการนำไปใช้ในภาคปฏิบัติ
ไม่มีประเทศไหนทำรัฐประหารใกล้กัน 2 ครั้งเหมือนประเทศไทย มีเพียง 3 ประเทศในเวทีโลกที่รัฐประหารซ้ำใกล้ๆ กัน นอกจากประเทศไทย คือฟิจิและบูร์กินาฟาโซ
The MATTER : อยากให้ช่วยยกตัวอย่างว่า สงครามแบบเดิมกับแบบใหม่แตกต่างกันอย่างไร
ศ.ดร.สุรชาติ : ถ้าคนชมภาพยนตร์ ตัวแทนของสงครามสมัยใหม่ปรากฏในเรื่อง Black Hawk Down เป็นตัวอย่างของสงครามที่เห็นในเวทีโลก เราเห็นตัวอย่างไม่ต่างกันในพื้นที่การรบหลายส่วนทั่วโลก ขณะเดียวกัน สถานการณ์ยังถูกทับซ้อนด้วยเงื่อนไขของสงครามก่อการร้าย คือผลจากปฏิบัติการโจมตีสหรัฐฯ ของอัลกออิดะห์ ทำให้สหรัฐฯ ขยายสงครามเข้าไปสู่อัฟกานิสถานในปลายปี 2001 พอปี 2003 เราเห็นตัวอย่างของสงครามที่ขยายเข้าสู่อิรัก หรือการโค่นล้มรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน ถ้าเรานั่งดูภาพสงครามในมิติกว้าง เราเห็นชัดว่า สงครามไม่ได้มีตัวแบบเหมือนเดิม นั่นคือไม่มีตัวแบบอย่างในภาพยนตร์เรื่อง Saving Private Ryan
ภาพยนตร์ Saving Private Ryan กับ Black Hawk Down มีมิติของสงครามที่ต่างกันมาก สงครามขนาดใหญ่แบบเดิม คือรัฐรบกับรัฐ เป็นสงครามที่ในวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือในวิชายุทธศาสตร์ถูกสอนตลอดว่า สงครามคือการแก้ปัญหาโดยใช้กำลังระหว่างรัฐสองรัฐที่มีความขัดแย้ง แต่สิ่งที่เราเห็น เช่น เหตุการณ์ที่โมกาดิชูใน Black Hawk Down หรือสงครามในโคโซโว แม้ฝ่ายหนึ่งจะเป็นรัฐ แต่คู่สงครามไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐ หลังเหตุการณ์เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (11 กันยายน 2001) กองทัพสหรัฐฯ ปฏิบัติการโค่นล้มรัฐบาลตาลีบัน เห็นชัดว่าสงครามไม่ได้สงบหลังการล้มรัฐบาลตาลีบัน หรือสงครามในอิรักก็ไม่ได้สงบหลังการล้มรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน แต่จะเห็นเงื่อนไขการต่อสู้ กองทัพสหรัฐฯ หรือกองทัพชาติตะวันตกที่เข้าไปอยู่ในอัฟกานิสถาน หรืออิรัก รบกับกำลังพลติดอาวุธที่ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร สงครามเปลี่ยนจากแบบภาพยนตร์ Saving Private Ryan ไปสู่ภาพยนตร์แบบ Black Hawk Down
บริบทแบบนี้ยังคู่ขนานในสถานการณ์ใหม่ๆ ความใหม่ของโจทย์คือการมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ม้านอกสนามในการเลือกตั้งสหรัฐฯ คำถามคือ กระแสอย่างทรัมป์เกิดขึ้นได้ยังไง มันคือกระแสที่เกิดในการเมืองยุโรปก่อนที่ทรัมป์จะชนะ ช่วงที่ผ่านมากระแสการเมืองในยุโรปสวิงไปสู่กระแสขวามากขึ้น กระแสชุดนี้ชัดที่สุดคือชัยชนะของ Brexit ในอังกฤษ กระแสที่นักวิชาการและสื่อมีคำเรียกชัดเจนว่า ประชานิยมปีกขวา มันเกิดจากการกลัวการก่อการร้าย กลัวผู้อพยพที่เป็นชาวมุสลิม หรือปัญหาการกลัวคนนอก บริบทของความกลัวคนนอก มันถูกทับซ้อนด้วยเงื่อนไขโจทย์การก่อการร้าย ถ้าเส้นเวลาของสหรัฐฯ อยู่ที่กันยายน 2001 เส้นเวลาของยุโรปอยู่ที่มกราคม 2015 เพราะหลังจากนั้นคือการโจมตีนิตยสารชาร์ลี เอ็บโด นั่นคือเส้นเวลาหลักที่ส่งสัญญาณกับยุโรป ว่าถึงยุโรปจริงๆ แล้ว ถ้าเรานั่งดูเหตุการณ์ก่อการร้ายจากมกราคม 2015 เริ่มที่ชาร์ลี เอ็บโด ผลพวงต่อมาคือร้านขายอาหารของชาวยิวในปารีส ขณะเดียวกัน ปลายปี 2015 ฝรั่งเศสถูกโจมตีซ้ำ แต่วิกฤตการณ์ก่อการร้าย 2015 ถูกทับซ้อนด้วยเรื่องที่ใหญ่อีกเรื่อง คือวิกฤตการณ์ผู้อพยพจากแอฟฟริกาหรือชาวตะวันออกกลาง คำตอบพวกนี้ชัด ทำไม Brexit ถึงชนะ ทำไมกระแสประชานิยมปีกขวา ทั้งในฝรั่งเศสหรือหลายประเทศในยุโรปถึงขับเคลื่อนได้มาก
ปัญหาความมั่นคงที่รัฐกำลังเผชิญไม่ใช่สงครามขนาดใหญ่แบบเดิม แล้วสงครามที่ยุโรปเผชิญในมิติความมั่นคง ผมคิดว่าตอบได้ชัดคือ ‘สงครามก่อการร้าย’ หลายท่านที่ตามข่าวคงทราบดี การก่อการร้ายช่วงหลังไม่ได้มาจากอัลกออิดะห์ หลังการเสียชีวิตของบินลาดินเราเห็นภาพการเติบโตของขบวนอีกชุด ในช่วงมิถุนายน 2014 เราเห็นการเติบโตของกลุ่มอิสลามที่ติดอาวุธในอิรัก เดิมเรียกด้วยภาษาง่ายๆ ว่าอัลกออิดะห์สาขาอิรัก แต่หลังจากนั้นเขาเริ่มเปลี่ยนสถานะ ประกาศว่าเป็น ‘กลุ่มรัฐอิสลาม’ ที่เราคุ้นในชื่อกลุ่ม ‘IS’ สงครามที่หลายประเทศเผชิญเป็นสถานการณ์ก่อการร้าย เป็นขบวนที่เคลื่อนอยู่ในภาคมหภาคของการเมืองโลก สถานการณ์สงครามต่างจากจินตนาการแบบเดิมมาก แม้แต่จินตนาการแบบใน Black Hawk Down ก็ไม่ตอบโจทย์แล้ว ถ้าเรามองจากสถานการณ์ในสหรัฐฯ และยุโรป เราจะเห็นมิติของสงครามเปลี่ยนจาก 2015 เราเห็นการก่อเหตุในยุโรปเป็นระลอก ล่าสุดเราเห็นการตัวแบบการก่อเหตุใหม่ที่สุด คือการใช้รถบรรทุกเป็นเครื่องมือก่อการร้าย ซึ่งเป็นอะไรที่เราไม่เคยเห็น เริ่มจากเหตุการณ์การขับรถบรรทุกพุ่งชนคนที่ฝรั่งเศสช่วงวันชาติของปี 2016 หลังจากนั้นมีกรณีขับรถบรรทุกใหญ่ชนตลาดคริสต์มาสที่เบอร์ลิน ต้นปีเราเห็นการขับรถพุ่งชนที่รัฐสภาอังกฤษ และล่าสุดการขับรถพุ่งชนที่สต็อกโฮล์มก็เป็นอีกตัวอย่าง
เหตุการณ์ต่างๆ ตอบเราว่า กองทัพขนาดใหญ่ไม่ใช่คำตอบของสถานการณ์ความมั่นคงในอนาคต โจทย์นี้เป็นสิ่งที่สังคมไทยไม่ค่อยถก อาจเพราะหลายปีที่ผ่านมา เราติดกับปัญหาการเมืองภายในบ้าน ไม่มีประเทศไหนทำรัฐประหารใกล้กัน 2 ครั้งเหมือนประเทศไทย มีเพียง 3 ประเทศในเวทีโลกที่รัฐประหารซ้ำใกล้ๆ กัน นอกจากประเทศไทย คือฟิจิและบูร์กินาฟาโซที่รัฐประหารครั้งหลังมีอายุเพียง 7 วัน เพราะประชาชนลุกขึ้นมาล้มคณะรัฐประหาร การเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ความมั่นคงในอนาคต ผมมองว่าคนในกองทัพต้องเริ่มคิด อาวุธแบบเก่าหลายอย่างถูกซื้อมาเพื่อสงครามขนาดใหญ่ การมีกองทัพขนาดใหญ่ที่เรียกคนมามากๆ หรือในวิชาประวัติศาสตร์ทหาร คือกองทัพยุคนโปเลียน มันไม่ตอบโจทย์ในอนาคต
ผู้นำทหารมีจินตนาการเหมือนยุคเก่า คืออยากมีกองทัพขนาดใหญ่ ทั้งที่คำตอบในโลกปัจจุบัน โจทย์ไม่ใช่ว่ามีหรือไม่มีสงครามโดยตรง เพราะถึงจะมีสงคราม มันก็ไม่อยู่ในรูปลักษณ์แบบเดิม
The MATTER : เพราะอะไรกองทัพไทยถึงไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบกองทัพ
ศ.ดร.สุรชาติ : เรามีเวทีคุย แต่คำตอบจบในห้องสัมมนา ไม่สามารถผลักดันคำตอบไปสู่นโยบายในภาคปฏิบัติ ถ้าสถานการณ์ความมั่นคงในอนาคตเปลี่ยน หลายฝ่ายก็ยืนยันว่าเปลี่ยน เอกสารวิชาการออกมาพอสมควร แต่คนที่ยอมรับว่าเปลี่ยนเหล่านั้นไม่ใช่คนมีอำนาจกำหนดนโยบาย คนมีอำนาจกำหนดนโยบาย ผมขอใช้คำว่า พวกเขายืนอยู่กับจินตนาการแบบเก่า สงครามยังเป็นรัฐกับรัฐ หลายปีที่ผ่านมาของประเทศไทย หลังรัฐประหาร 2549 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร 2557 ผมว่าตอบโจทย์ชัดจากการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ นั่นคือการยืนยันว่า เราเตรียมกองทัพขนาดใหญ่ สำหรับสงครามขนาดใหญ่เกือบทั้งสิ้น ทั้งการซื้อรถถังใหม่ เรือดำน้ำ หรือแม้แต่การปรับกฎหมายให้มีการเกณฑ์กำลังพลขนาดใหญ่ พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง เป็นคำตอบชัดกว่าการจัดซื้อยุทโธปกรณ์อีก เพราะเท่ากับว่าผู้นำที่มีอำนาจทางการเมืองขณะเดียวกันก็เป็นผู้นำทหารมีจินตนาการเหมือนยุคเก่า คืออยากมีกองทัพขนาดใหญ่ ทั้งที่คำตอบในโลกปัจจุบัน โจทย์ไม่ใช่ว่ามีหรือไม่มีสงครามโดยตรง เพราะถึงจะมีสงคราม มันก็ไม่อยู่ในรูปลักษณ์แบบเดิม
มองอย่างนักวิชาการ ต้องยอมรับว่าสงครามขนาดใหญ่มีค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจมหาศาล สงครามโลกครั้งที่ 2 เห็นประเด็นนี้ ยิ่งเป็นสมัยใหม่ ค่าใช้จ่ายนี้สูงมาก บวกกับเงื่อนไขทางการเมืองระหว่างประเทศในโลกสมัยใหม่ โจทย์สงครามไม่ใช่โจทย์ระยะยาว เว้นแต่เป็นความขัดแย้งของรัฐมหาอำนาจ ซึ่งหวังว่าจะไม่เกิด แต่ถ้าเป็นความขัดแย้งของรัฐมหาอำนาจ ก็หวังว่าประเทศไทยจะไม่ตัดสินใจเลือกข้าง เพราะนั่นไม่ใช่ผลประโยชน์ของไทยที่ไปเกี่ยวข้องโดยตรง ถ้ามองอย่างนี้ ผมไม่ได้บอกว่าเราไม่ต้องมีกองทัพ แต่เราอาจไม่ต้องการกองทัพขนาดใหญ่ ระบบพาคนเข้าสู่กองทัพต้องคิดใหม่ เช่น หลายปีที่ผ่านมาผมพยายามขายไอเดียชุดหนึ่ง การเกณฑ์ทหารแบบจับใบดำใบแดงเป็นสิ่งที่ล้าสมัย และไม่เหมาะสมกับโลกปัจจุบัน
The MATTER : ระบบกำลังพลสำรอง หรือการเกณฑ์ทหาร สามารถแบ่งได้กี่แบบ
ศ.ดร.สุรชาติ : ระบบเกณฑ์ทหารเป็นหลักประกันในการสร้างกองทัพโดยตรง ระบบการเอาคนเข้าสู่กองทัพ ถ้าคิดอย่างหยาบๆ มีประมาณ 4-5 แบบ หนึ่ง ทุกคนเป็นทหารหมด เช่น อิสราเอล หรือสิงคโปร์ ประเทศไทยคงทำได้ลำบาก ถ้าเอาชายไทยอายุครบเกณฑ์ทุกคน เราแบกรับไม่ไหวในทางเศรษฐกิจ สอง ระบบจับฉลาก หรือการเกณฑ์ทหารแบบบ้านเราที่จับใบดำใบแดง โดยเชื่อว่าเป็นวิธีการที่ยุติธรรมที่สุด สาม เป็นตัวแบบการพัฒนากองทัพในประเทศพัฒนาแล้ว ในสงครามเวียดนาม ตอนนั้นเห็นเรื่องๆ หนึ่งคือ การต่อต้านหมายเกณฑ์ การเผาหมายเกณฑ์ สุดท้ายกองทัพสหรัฐฯ ในช่วงปลายสงครามเวียดนามเริ่มปรับ เพราะรู้ว่าถ้าเรียกพลมารับหมายเกณฑ์ คนอาจปฏิเสธแล้วหนี ท้ายที่สุดคือเปิดรับคนที่อยากเป็นทหาร เป็นกำลังพลแบบทหารอาสาสมัคร หรือ All-volunteer force (AVF) โลกสมัยใหม่ในแง่การพาคนเข้ากองทัพอยู่ในตัวแบบนี้แหละ คือกำลังพลแบบทหารอาสาสมัคร สี่ เป็นระบบแบบเก่าของยุโรป เป็นการเกณฑ์ตามเงื่อนไขตามชนชั้น อันนี้คงไม่พูดถึงเพราะไม่เกี่ยวกับบ้านเรา ห้า เห็นในสวิสเซอร์แลนด์ อาจคัดเลือกหรืออาสาก็ตาม เข้ามาเป็นทหารบ้าน เข้ารับการฝึก แล้วเอาอาวุธจากการฝึกไปเก็บไว้ที่บ้าน พอมีสงครามก็แบกอาวุธออกมารบ ประมาณยุคโรม ตัวแบบพวกนี้อาจใช้กับเราไม่ได้
มองจากมุมของวิชาทหาร ขนาดกองทัพที่ใหญ่ต่างหากที่อ่อนแอ เพราะกำลังพลเยอะ คุณภาพอาจด้อยลง
The MATTER : การเกณฑ์ทหารบ้านเรา บางส่วนถือเป็นทหารอาสาสมัครไหม เพราะเห็นมีเปิดให้สมัครได้ด้วย
ศ.ดร.สุรชาติ : ก็เหมือนอาสา แต่ระบบของตะวันตก การอาสาจะมีบูธอยู่ตามเมืองต่างๆ มีทหารประจำบูธ มีคนมายื่นความจำนง จำนวนทหารต้องการปริมาณน้อยกว่า โดยพวกเขาถูกฝึกมากขึ้น และรับราชการอยู่ในกองทัพนานขึ้น ทั่วโลกการเกณฑ์ทหารจะอยู่ 2 ปี แต่ทหารอาสาอาจใช้อายุถึง 4 ปี การเป็นทหารอาสา รัฐต้องดูแลเขาดีขึ้นด้วย ถ้าตัดวิธีชายไทย 100 เปอร์เซ็นต์ต้องเป็นทหารออกไป มันเหลือ 2 ทาง คือ จะคงแบบใบดำใบแดง หรือตัดสินใจเปลี่ยนไปเป็นทหารอาสา อาจมีคนคิดว่า ทุกวันนี้กองทัพไทยก็เปิดทหารอาสา แต่ผมว่าไม่เป็นระบบ ในตะวันตกทหารอาสาเป็นระบบ คือยกเลิกการจับใบดำไปแดงไปเลย
โจทย์นี้อาจใหม่สำหรับกองทัพไทย ถ้าเราเปลี่ยนมาเป็นระบบทหารอาสา แปลว่าขนาดกองทัพอาจจะเล็กลง แต่ต้องเชื่อต่อว่า กองทัพที่เล็กนั้นสามารถสร้างให้มีประสิทธิภาพได้ ไม่ได้แปลว่าอ่อนแอ คนละประเด็น ขณะเดียวกัน ถ้ามองจากมุมของวิชาทหาร ขนาดกองทัพที่ใหญ่ต่างหากที่อ่อนแอ เพราะกำลังพลเยอะ คุณภาพอาจด้อยลง การเกณฑ์ทหารแบบบ้านเรา คนเหล่านั้นรู้ว่าอีกไม่นานจะปลดทหาร ชีวิตการฝึกสั้น แต่กองทัพอาสาสมัครชีวิตการฝึกจะยาว พวกเขาอาจมีโอกาสได้รับราชการทหารมากขึ้น ที่สำคัญคือกองทัพต้องมาดูแลชีวิตคนเหล่านี้มากขึ้น ผมไม่ได้บอกว่าไม่ต้องดูแลคนจับใบดำใบแดง แต่หมายความว่า ทหารอาสาจะได้รับค่าตอบแทนมากขึ้น
ทุกวันนี้สงครามคอมมิวนิสต์สิ้นสุดไปแล้ว กฎหมายกำลังพลสำรองกลับมีทิศทางขยายมากขึ้น เรากลับไปหาตัวแบบเก่า คือการมีกองทัพขนาดใหญ่ ขณะกองทัพทั่วโลกพยายามจะลดขนาดลง แล้วเอาเงินไปใช้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี และสร้างระบบชีวิตภายในกองทัพ
The MATTER : บ้านเราใช้วิธีจับฉลากมาตลอดเลยหรือเปล่า
ศ.ดร.สุรชาติ : ตลอดเลย การบอกว่ายังมีประเทศนั้นประเทศนี้จับฉลากอยู่ ผมว่าไม่ใช่คำตอบ
The MATTER : ปัจจุบันมีประเทศไหนใช้ทหารอาสาบ้าง
ศ.ดร.สุรชาติ : โลกตะวันตกเป็นมาตรฐานเลย ตัวอย่างที่ชัดที่สุด คือการยุติระบบเกณฑ์แบบเดิมของฝรั่งเศส เพราะเขาเป็นคนเริ่มต้นมาตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส
การเตรียมกำลังพลเพื่อรองรับสถานการณ์สงครามในอนาคต ถามว่าต้องเตรียมไหม ต้องเตรียม จะบอกเลิกทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นคำถามคือเราจะเตรียมยังไง
The MATTER : การเรียน รด. เกิดขึ้นยังไง
ศ.ดร.สุรชาติ : ในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ เราต้องการกองทัพขนาดใหญ่ รด. เป็นระบบกำลังพลสำรองอีกแบบ เป็นความหวังดีให้คนรับการศึกษาสูงมีทางเลือก ไม่ต้องฝึกทหารโดยตรง ไม่ต้องเป็นทหารเกณฑ์ พอมีสถานการณ์สงคราม คนเหล่านี้เป็นอีกส่วนที่ถูกระดมพลเข้าสู่กองทัพ พูดกันตรงๆ รด. เป็นช่องทางของการไม่ต้องรับหมายเกณฑ์ของชนชั้นกลาง แต่ลูกหลานในชนบทที่ไม่ได้รับการศึกษาสูง ประมาณยุคผม พวกเขาผ่อนผันไม่ได้ แต่ชนชั้นกลางที่เข้ามหาวิทยาลัย ถึงเวลาก็เรียน รด. ฐานคิดของระบบกำลังพลสำรอง คือการเตรียมกำลังพลเพื่อรองรับสถานการณ์สงครามในอนาคต ถามว่าต้องเตรียมไหม ต้องเตรียม จะบอกเลิกทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นคำถามคือเราจะเตรียมยังไง โจทย์ทั้งหมดนี้ กลับมาสู่ที่เราคุยกัน นั่นคือจินตนาการต่อความมั่นคงที่โยงกับการพัฒนากองทัพ
The MATTER : ในทางปฏิบัติ การเรียน รด. สามารถทำการรบได้ไหม
ศ.ดร.สุรชาติ : ผมไม่กล้าตอบ สถานการณ์ไม่เคยถูกทดสอบในความจริง
The MATTER : คำว่า ‘รับใช้ชาติ’ เกิดขึ้นได้ยังไง แล้วทำไมคำๆ นี้ถึงผูกกับแค่ทหาร เราแทบไม่เห็นการนิยามว่า หมอ ครูอาจารย์ หรือนักข่าวกำลังรับใช้ชาติเลย
ศ.ดร.สุรชาติ : มันคือวาทกรรมของยุคชาตินิยม มีมานานพอสมควร ในยุคประมาณจอมพล ป. ก็มีแล้ว เป็นวาทกรรมที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย มันมาจากจินตนาการว่า สงครามคือปัญหาภัยคุกคามที่ใหญ่สุดของประเทศ ทุกคนเชื่อว่าการเป็นทหารคือการรับใช้ชาติที่ชัดเจนที่สุด เปรียบเทียบกับภาพยนตร์เรื่อง 300 พวกเขาก็รับใช้ชาติ ยุคนั้นคอนเซ็ปต์เรื่องชาติยังไม่มีหรอก แต่นักรบสปาตัน 300 คนรับใช้อะไร ก็รับใช้รัฐของเขาที่เข้าสู่สงคราม จินตนาการรับใช้ชาติผูกโยงตั้งแต่สังคมโบราณดั้งเดิมยาวมาจนปัจจุบัน เป็นวาทกรรมที่อิงกับสงคราม อิงกับลัทธิชาตินิยม อิงกับปัญหาความขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่บางบริบทอิงกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายใน การกระทำบางอย่างคือรักชาติหรือไม่รักชาติ เป็นวาทกรรมที่ยากที่จะถอนออก
ฟันเฟืองตัวเดียวหมุนนาฬิกาไม่ได้ ทุกอาชีพมีหน้าที่รับใช้รัฐและสร้างรัฐด้วยกันทั้งหมด ทุกอาชีพคือหนึ่งฟันเฟืองในนาฬิกาที่ต้องหมุนไปด้วยกัน
The MATTER : ถ้าให้อาจารย์นิยามคำว่า ‘รับใช้ชาติ’ ที่เหมาะกับปัจจุบัน เราควรนิยามว่าอะไร
ศ.ดร.สุรชาติ : เวลาเรียนรัฐศาสตร์ ผมพูดกับลูกศิษย์เสมอว่า วิชารัฐศาสตร์ไม่มีคำว่า ‘ชาติ’ หรือ ‘Nation’ อย่าตกใจนะครับ วิชารัฐศาสตร์มีแต่คำว่า ‘State’ หรือ ‘รัฐ’ ถ้าพูดในความหมายว่า การรับใช้รัฐ ในความเป็นพลเมือง เรามีสถานะผูกพันกับรัฐ มีสถานะต้องรับใช้รัฐ นี่แหละพื้นฐานของกฎหมายเกณฑ์ทหาร การรับใช้รัฐคือการไปรบให้รัฐ ตอบเรื่องเดิมเลย แต่ประกาศในยุคนโปเลียน เขาไม่ได้เรียกร้องทุกคนไปรบ ผู้หญิงก็มีหน้าที่รับใช้ชาติ เช่น วันที่ขบวนทหารไปรบ ผู้หญิงต้องออกมาที่จตุรัสแล้วเชียร์ ย้อนกลับไป คำว่ารับใช้รัฐ มันไม่ได้แปลว่าต้องเป็นทหารอย่างเดียว แต่วาทกรรมในอดีตที่เล่ามา มันติดสืบเนื่องกันมา จนดูเหมือนคำว่ารับใช้รัฐ มีมิติเดียวคือการเป็นทหาร
โลกสมัยใหม่ สังคมไม่ได้อยู่ได้ด้วยอาชีพเดียว ความซับซ้อนของสังคมเหมือนเป็นนาฬิกาที่มีฟันเฟืองหลายอันซ้อนอยู่ ฟันเฟืองตัวเดียวหมุนนาฬิกาไม่ได้ ทุกอาชีพมีหน้าที่รับใช้รัฐและสร้างรัฐด้วยกันทั้งหมด ทุกอาชีพคือหนึ่งฟันเฟืองในนาฬิกาที่ต้องหมุนไปด้วยกัน ภาษาพวกนี้เป็นวาทกรรม ถูกสร้างเป็นจินตนาการว่า รับใช้รัฐคือการช่วยรัฐในการทำหน้าที่ต่างๆ มันถกได้อีกเยอะ บริบทของการเป็นพลเมือง เราต้องเชื่อฟังทุกอย่างไหม
The MATTER : ในโลกโซเชียล การเกณฑ์ทหารยังถูกพูดถึงด้วยอารมณ์ว่าคือการรับใช้ชาติ รักชาติ แต่ในทางปฏิบัติ น้อยคนที่จะพาตัวเองมาสมัครเป็นทหาร อาจารย์มองว่าปรากฏการณ์แบบนี้บอกอะไร
ศ.ดร.สุรชาติ : ในโลกสมัยใหม่ วาทกรรมเหล่านี้อยู่ได้ด้วยโซเชียลมีเดีย ผมผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เคยมีคำถามว่า ถ้าตอนนั้นมีโซเชียลมีเดีย พวกผมจะหนักกว่านั้นไหม ผมเชื่อว่าหนักกว่า การปลุกระดมจะรุนแรงกว่า เหมือนที่เราเห็น Bangkok Shutdown ยุคสมัยของผม วาทกรรมเกี่ยวกับชาติมันมี แต่ไม่แพร่กระจายมาก ปี 2519 เราเห็นสังคมไทยแบ่งเป็น 2 ขั้วความคิด แต่ในปัจจุบัน วาทกรรมหลายอย่างอยู่ได้ด้วยการขับเคลื่อนในโลกโซเชียล คนรักชาติเชียร์อย่างนั้นอย่างนี้ ถามว่าไปทำไหม ก็อาจไม่ทำ คนรักชาติก็รักบนโซเชียล ใครที่ไม่พูดรักชาติเหมือนในกระแส ใครที่แปลกแยกจะถูกถามว่า “เป็นคนไทยหรือเปล่า”
สังคมไทยอยู่ในยุคหลังความจริง คือ ‘Post Truth’ คือทุกอย่างติดอยู่กับความคิดที่เป็นจินตนาการ ไม่ใช่เรื่องของความจริง
The MATTER : เป็นการผลิตซ้ำความคิดแบบหนึ่ง จนคนที่เห็นต่างไม่สามารถถกเถียงได้เลย
ศ.ดร.สุรชาติ : ใช้คำว่าผลิตซ้ำชัดที่สุด วาทกรรมถูกสร้าง ผลิตซ้ำๆๆ จนเราไม่สามารถถอนวาทกรรมนั้นออกจากความคิดได้
The MATTER : คนจำนวนมากรู้ว่าการเกณฑ์ทหารเหนื่อย หนัก บางครั้งอาจถูกซ้อม ไปจนถึงลงเอยที่การรับใช้นายพล แต่การวิพากษ์วิจารณ์มักถูกติดกรอบความคิดว่า เป็นทหาร คือ รักชาติ รับใช้ชาติ เลยหยุดความคิดตัวเองไว้แค่นั้น
ศ.ดร.สุรชาติ : ใช่ คิดแบบสังคมตะวันตก สังคมไทยอยู่ในยุคหลังความจริง คือ ‘Post Truth’ คือทุกอย่างติดอยู่กับความคิดที่เป็นจินตนาการ ไม่ใช่เรื่องของความจริง
The MATTER : เราจะแงะจินตนาการนี้ออกได้ยังไง
ศ.ดร.สุรชาติ : ผมไม่กล้าตอบนะ มันเป็นเรื่องใหญ่ Post Truth ในตะวันตกสู้กันพอสมควร แต่การต่อสู้ของกระแสความคิดในตะวันตก มันมีเวที ไม่ถูกปิดกั้น แต่ของเวทีของสังคมไทยไม่เปิดด้วยเงื่อนไขการเมืองไม่ปกติ ดังนั้น Post Truth จึงอยู่ได้นานกว่า เข้มแข็งกว่า ทำให้การถอนความคิดที่ผิดพลาดเป็นเรื่องยาก
ผมอยากเห็นการพัฒนากองทัพ หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาระบบกำลังพลสำรอง มาตรฐานโลกในปัจจุบันคือระบบอาสาสมัคร แม้วันนี้มีช่องเปิดให้คนอาสาเป็นทหาร แต่ยังไม่เป็นระบบ
The MATTER : อาจารย์เคยพูดว่า ถ้าเราจะปรับเปลี่ยนระบบการเกณฑ์ทหารแบบจับฉลาก มันไม่ใช่แค่การเกณฑ์ทหาร แต่สิ่งที่เชื่อมโยงต่อไปหมายถึงการต้องปฏิรูปกองทัพ อยากให้ช่วยขยายความประเด็นนี้
ศ.ดร.สุรชาติ : ถ้าต้องปฏิรูประบบกำลังพลสำรองด้วยการจับใบดำใบแดง มันจะโยงไปสู่ปัญหาอื่นๆ ถ้าไม่เอาใบดำใบแดง แล้วเปิดระบบทหารอาสา แต่ละอำเภอมีการรับอาสาสมัครมาฝึกแบบในสังคมตะวันตก ถ้าเกิดขึ้น สภาพการจัดกองทัพต้องเปลี่ยนหมด การรื้อเพียงจุดเล็กๆ อย่างกำลังพลสำรอง ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้เล็กนะครับ มันจะลามไปสู่ปัญหาอื่นๆ เพราะทั้งหมดคือปัญหาโครงสร้างกองทัพ เมื่อลดปริมาณกำลังพลสำรอง มันคือการลดโครงสร้างกองทัพโดยตรง พอถูกลด คำถามคือกองทัพจะจัดยังไง ทั้งงบประมาณ ระบบการฝึก ระบบอาวุธ โจทย์เหล่านี้จะเปลี่ยนหมด ทันทีที่ระบบการเกณฑ์คนเปลี่ยน ระบบการฝึกก็จะเปลี่ยน
The MATTER : ถ้าตั้งต้นจากการเกณฑ์ทหาร แล้วรื้อไปเรื่อยๆ สุดท้ายเราจะเจออะไร
ศ.ดร.สุรชาติ : สุดท้ายคงเจอตอ (ยิ้ม) เพราะทำอะไรไม่ได้ หลายปีที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องของผมชัดเจน พูดมาเป็นสิบๆ ปี ผมอยากเห็นการพัฒนากองทัพ หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาระบบกำลังพลสำรอง มาตรฐานโลกในปัจจุบันคือระบบอาสาสมัคร แม้วันนี้มีช่องเปิดให้คนอาสาเป็นทหาร แต่ยังไม่เป็นระบบ อย่างที่ผมเปิดประเด็นว่าถ้าทหารอาสาอยู่ 4 ปี การฝึกเปลี่ยนหมดเลย ปัจจุบันฐานเวลาคือ 2 ปี การอยู่นานก็ต้องจัดระบบใหม่ ดูแลชีวิตมากขึ้น ฝึกมากขึ้น โดยการฝึกจะสร้างให้เป็นทหารอาชีพมากขึ้น ในต่างประเทศบางส่วนก็เป็นทหารต่อ บางส่วนจบไปก็ไปเป็นตำรวจ มันเป็นอาชีพที่ต่อเนื่องกัน เป็นตำรวจที่มีคุณภาพ
การปฏิรูปกองทัพทั่วโลกไม่ได้มาจากฝ่ายทหาร ฝ่ายการเมืองต้องเป็นฝ่ายเริ่ม ขับเคลื่อน แล้วฝ่ายทหารปรับเพื่อเดินไปทิศทางเดียวกัน
The MATTER : อาจารย์พูดเรื่องปฏิรูปกองทัพมาเป็นสิบปี เห็นอะไรดีขึ้นบ้างไหม
ศ.ดร.สุรชาติ : เป็นอะไรที่ได้แต่นั่งดู ข้อดีคือยังมีพื้นที่ให้ผมเขียนได้อีก (หัวเราะ) ผมพูดมาทั้งชีวิต อายุก็เกษียณแล้ว เรื่องยังไม่ไปไหน ถ้าเปลี่ยนรายละเอียดบางส่วนของบทความเมื่อสิบปีก่อน ก็ยังเป็นปัญหาเดิม ข้อเรียกร้องไม่ต่างจากเดิม การปฏิรูปกองทัพต้องเกิด มันจะเป็นเงื่อนไขของการพัฒนากองทัพเอง
The MATTER : เคยมีคนจากฟากทหารติดต่อมาปรึกษาอาจารย์บ้างไหม
ศ.ดร.สุรชาติ : เรื่องนี้เล่าได้ เพราะเป็นประวัติศาสตร์ หลังพฤษภาคม 2535 มีความพยายามของนายทหารระดับบนๆ ที่ได้อ่านบทความของผม แล้วสนใจอยากผลักดัน แต่ในทางปฏิบัติคงเป็นไปไม่ได้ โจทย์นี้เป็นเรื่องการเมือง ฝ่ายการเมืองต้องคิดคู่ขนาน การปฏิรูปกองทัพทั่วโลกไม่ได้มาจากฝ่ายทหาร ฝ่ายการเมืองต้องเป็นฝ่ายเริ่ม ขับเคลื่อน แล้วฝ่ายทหารปรับเพื่อเดินไปทิศทางเดียวกัน ถ้าบอกว่าแนวโน้มประเทศไทยจะมีโอกาสเผชิญภัยคุกคามสงครามแบบเดิมน้อยลง มันผูกพันกับอีกหลายเรื่อง เช่น ตกลงจะซื้ออาวุธอะไร ถ้าสงครามเปลี่ยนรูปและลดลง อาวุธใหญ่ๆ ที่ซื้อต้องมีคำตอบมากกว่าที่เราเห็น ปัจจุบันเราตอบว่า ซื้อเพราะประเทศเพื่อนบ้านมี ถ้าตอบแบบนั้น แปลว่าประเทศไทยเตรียมพร้อมเข้าสู่สงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าจะซื้อเรือดำน้ำ แล้วมีรัฐมนตรีบางคนบอกว่า เรือดำน้ำจะช่วยในการสำรวจทรัพยากรใต้สมุทร เรื่องเหล่านี้เหลวไหลทั้งเพ เพราะเรือดำน้ำใช้เพื่อการรบ มันคนละประเด็น
ถ้าจะปฏิรูปกองทัพได้ ต้องปฏิรูปการเมือง ถ้าจะปฏิรูปการเมืองได้ ต้องปฏิรูปกองทัพ
The MATTER : สื่อสารเรื่องเดิมๆ มานาน อะไรคือสิ่งที่อาจารย์อยากเห็นก่อนตาย
ศ.ดร.สุรชาติ : เคยคิดว่า อายุสัก 60 ผมอยากเห็นระบบการเลือกตั้งที่มีเสถียรภาพในการเมืองไทย ตอนเป็นนิสิตปี 1 ผมผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ พอเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ผมเป็นนิสิตปี 4 พอเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ผมผ่านเหตุการณ์รัฐประหารปี 2534 อยู่ในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เหตุการณ์รัฐประหารทั้งปี 2549 และ 2557 สำหรับผมเป็นเรื่องช็อกทางความคิด สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังบอกว่า งานที่เราเคยคิดเขียนตั้งแต่เป็นนิสิต ผู้นำนักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย มันไปไหนไม่ได้ ผมเคยคิดว่าเมื่อสงครามคอมมิวนิสต์สิ้นสุดจะเป็นโอกาสพัฒนากองทัพไทย หรือการปฏิรูปกองทัพไทยจริงๆ ซึ่งก็ไม่เห็น ท้ายที่สุด ทั้งสองโจทย์นี้เป็นโจทย์เดียวกัน ถ้าจะปฏิรูปกองทัพได้ ต้องปฏิรูปการเมือง ถ้าจะปฏิรูปการเมืองได้ ต้องปฏิรูปกองทัพ พออายุเยอะ ผมอยู่กับโลกที่เป็นจริงมากขึ้น เลยไม่กล้าตอบคำถามนี้